ธปท.อนุญาตให้ธนาคารถ่ายโอนความเสี่ยงเครดิต

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 8 มกราคม 2015.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    ธปท. ออกประกาศ การอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ทําธุรกรรมการถ่ายโอนหรือรับโอนความเสี่ยงด้านเครดิต

    เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา (8ม.ค.) เผยแพร่ ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่ สนส. ๙/๒๕๕๗เรื่อง การอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ทําธุรกรรมการถ่ายโอนหรือรับโอนความเสี่ยงด้านเครดิต(Risk participation)

    ๑. เหตุผลในการออกประกาศ

    การพัฒนาประเทศและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมีความสัมพันธ์กับการพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าสูงหรือการค้าระหว่างประเทศ ที่ต้องอาศัยธนาคารพาณิชย์เป็นตัวกลางในการระดมเงินทุน ให้สินเชื่อแก่โครงการลงทุนขนาดใหญ่ (project finance) หรือให้สินเชื่อเพื่อการค้า (trade finance) เพื่อการเชื่อมโยงการลงทุนและค้าขายทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ดี การทําธุรกรรมทางการเงินดังกล่าวอาจมีข้อจํากัดจากมาตรการกํากับดูแล ส่งผลให้ธุรกิจขนาดใหญ่ได้รับสินเชื่อในปริมาณจํากัด และส่งผลต่อเนื่องถึงการเจริญเติบโตของประเทศทําให้ไม่สามารถแข่งขันกับทั่วโลกได้

    เพื่อลดอุปสรรคที่กล่าวข้างต้นและส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์มีเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงด้านเครดิตที่หลากหลายขึ้นนอกเหนือจากการทําธุรกรรมอนุพันธ์ด้านเครดิต (credit derivatives)ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์สามารถทําธุรกรรมการถ่ายโอนหรือรับโอนความเสี่ยงด้านเครดิต (Risk participation) ได้ทั้งในฐานะผู้โอนความเสี่ยงและผู้รับโอนความเสี่ยง เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงด้านเครดิตของธนาคารพาณิชย์อีกรูปแบบหนึ่งและเพื่อให้ธนาคารพาณิชย์สามารถขยายขอบเขตการทําธุรกรรมภายใต้การบริหารความเสี่ยงด้านเครดิตเช่นเดียวกับกรณีที่ธนาคารพาณิชย์มีการทําธุรกรรมให้สินเชื่อโดยตรง โดยกําหนดคุณสมบัติของธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับอนุญาตให้ทําธุรกรรมขอบเขตของการทําธุรกรรม ประเภทของธุรกรรม ประเภทของสินทรัพย์อ้างอิง และหลักเกณฑ์ในการกํากับดูแล ได้แก่ การบันทึกบัญชีและการเปิดเผยข้อมูล การกํากับลูกหนี้รายใหญ่ การกันเงินสํารองและการคํานวณสินทรัพย์เสี่ยงด้านเครดิตไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถติดตามความเสี่ยงที่ธนาคารพาณิชย์มีได้อย่างเหมาะสม ภายใต้หลักเกณฑ์การกํากับดูแลที่พิจารณาความเสี่ยงและผลตอบแทนเป็นสําคัญ รวมถึงธนาคารพาณิชย์ต้องพิจารณาคุณสมบัติของคู่สัญญาและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการทําธุรกรรมดังกล่าวด้วย

    ๒. อํานาจตามกฎหมาย

    อาศัยอํานาจตามความมาตรา ๒๙ มาตรา ๓๐ มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๖ มาตรา ๕๐มาตรา ๕๒ มาตรา ๖๐ มาตรา ๖๑ และมาตรา ๗๑ แห่งพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. ๒๕๕๑ธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ทําธุรกรรมการถ่ายโอนหรือรับโอนความเสี่ยงด้านเครดิตได้ตามหลักเกณฑ์ในประกาศนี้

    ๓. ขอบเขตการบังคับใช้

    ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับกับธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงินทุกแห่ง ยกเว้นธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย

    ๔. เนื้อหา

    ๔.๑ ในประกาศฉบับนี้

    “การถ่ายโอนหรือรับโอนความเสี่ยงด้านเครดิต (Risk participation)” หมายความว่าการถ่ายโอนหรือรับโอนความเสี่ยงด้านเครดิตทั้งหมดหรือบางส่วนของสินทรัพย์อ้างอิง ระหว่างผู้โอนความเสี่ยงและผู้รับโอนความเสี่ยง โดยผู้โอนความเสี่ยงยังคงเป็นผู้มีสิทธิและหน้าที่ในสินทรัพย์อ้างอิง“สินทรัพย์อ้างอิง” หมายความว่า สินทรัพย์หรือภาระผูกพันของผู้โอนความเสี่ยงตามที่ระบุในสัญญาธุรกรรมการถ่ายโอนหรือรับโอนความเสี่ยงด้านเครดิต“ผู้โอนความเสี่ยง” หมายความว่า ผู้ซึ่งโอนความเสี่ยงด้านเครดิตของสินทรัพย์อ้างอิงให้แก่ผู้รับโอนความเสี่ยง

    “ผู้รับโอนความเสี่ยง” หมายความว่า ผู้ซึ่งรับโอนความเสี่ยงด้านเครดิตของสินทรัพย์อ้างอิงมาจากผู้โอนความเสี่ยง

    “Credit event” หมายความว่า เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการชําระหนี้ของลูกหนี้หรือการปฏิบัติตามสัญญาของสินทรัพย์อ้างอิง ซึ่งเป็นผลให้ผู้รับโอนความเสี่ยงต้องชําระเงินในจํานวนที่ตกลงกัน ตามที่กําหนดไว้ในสัญญาธุรกรรมการถ่ายโอนหรือรับโอนความเสี่ยงด้านเครดิต

    “ธุรกรรม Unfunded risk participation” หมายความว่า ธุรกรรมที่ผู้โอนความเสี่ยงได้โอนความเสี่ยงด้านเครดิตของสินทรัพย์อ้างอิงที่ตนเองมีอยู่ไปยังผู้รับโอนความเสี่ยงทั้งหมดหรือบางส่วนและผู้รับโอนความเสี่ยงจะจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้โอนความเสี่ยงตามจํานวนที่ตกลงกันในสัญญาธุรกรรมการถ่ายโอนหรือรับโอนความเสี่ยงด้านเครดิตเมื่อเกิด credit event ขึ้นกับสินทรัพย์อ้างอิง

    “ธุรกรรม Funded risk participation” หมายความว่า ธุรกรรมที่ผู้โอนความเสี่ยงได้โอนความเสี่ยงด้านเครดิตของสินทรัพย์อ้างอิงที่ตนเองมีอยู่ไปยังผู้รับโอนความเสี่ยงทั้งหมดหรือบางส่วนและผู้โอนความเสี่ยงจะได้รับเงินจากผู้รับโอนความเสี่ยงในจํานวนที่ตกลงกันในสัญญาธุรกรรมการถ่ายโอนหรือรับโอนความเสี่ยงด้านเครดิตก่อนเกิด credit event

    “ธนาคารพาณิชย์” หมายความว่า ธนาคารพาณิชย์ตามพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. ๒๕๕๑ ทั้งน ี้ ไม่รวมถึงธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย“คณะกรรมการธนาคารพาณิชย์” หมายความว่า คณะกรรมการของธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศ หรือคณะผู้บริหารที่มีอํานาจหน้าที่ความรับผิดชอบที่เกี่ยวข้องในกรณีของสาขา

    ของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ

    ๔.๒ หลักการ

    ธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ทําธุรกรรมการถ่ายโอนหรือรับโอนความเสี่ยงด้านเครดิต โดยธุรกรรมดังกล่าวต้องเป็นไปตามหลักการในประกาศฉบับนี้ และธนาคารพาณิชย์ต้องปฏิบัติ ดังนี้

    ๔.๒.๑ ธนาคารพาณิชย์ต้องบริหารความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการทําธุรกรรมได้อย่างเหมาะสม มีฐานะการดําเนินงานที่มั่นคง สามารถกันเงินสํารองได้อย่างครบถ้วน มีเงินกองทุนเพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงจากธุรกรรมดังกล่าวได้ ปฎิบัติตามมาตรฐานการบัญชีและมาตรฐานการรายงานทางการเงิน (มาตรฐานการบัญชีฯ) และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การกํากับดูแลที่เกี่ยวข้อง เช่น หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการดํารงฐานะเงินตราต่างประเทศ การป้องปรามการเก็งกําไรค่าเงินบาท มาตรการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกําหนดอย่างเคร่งครัด

    ๔.๒.๒ ธนาคารพาณิชย์ที่เป็นผู้รับโอนความเสี่ยงต้องวิเคราะห์และติดตามความเสี่ยงจากการทําธุรกรรมการถ่ายโอนหรือรับโอนความเสี่ยงด้านเครดิตเสมือนเป็นผู้ทําธุรกรรมโดยตรงโดยเฉพาะการรับโอนความเสี่ยงจากบริษัทแม่ บริษัทลูก บริษัทร่วม ผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธนาคารพาณิชย์ จะต้องไม่เป็นการเอื้อประโยชน์แก่บุคคลดังกล่าว เช่น จะต้องไม่มีเงื่อนไขหรือข้อกําหนดพิเศษผิดไปจากธรรมเนียมปฏิบัติปกติ

    ๔.๒.๓ ธนาคารพาณิชย์ต้องไม่เสนอธุรกรรมดังกล่าวในลักษณะที่อาจทําให้เกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ระบบการเงิน และระบบสถาบันการเงินในประเทศได้

    ๔.๒.๔ ธนาคารพาณิชย์ต้องจัดให้มีเอกสารประกอบการทําธุรกรรมอย่างเพียงพอมีระบบการจัดเก็บข้อมูลและการจัดทํารายงานเพื่อติดตาม วิเคราะห์ และประเมินผลการทําธุรกรรมเพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถตรวจสอบหรือจัดส่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อมีการร้องขอได้

    ๔.๓ ขอบเขตของธุรกรรมธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ทําธุรกรรมการถ่ายโอนหรือรับโอนความเสี่ยงด้านเครดิตได้ทั้งในฐานะผู้โอนความเสี่ยงและผู้รับโอนความเสี่ยง โดยมีขอบเขตของธุรกรรม ดังนี้

    ๔.๓.๑ ประเภทของธุรกรรม

    (๑) Unfunded risk participation

    (๒) Funded risk participation

    ๔.๓.๒ สินทรัพย์อ้างอิง

    ธนาคารแห่งประเทศไทยจํากัดประเภทสินทรัพย์อ้างอิงสําหรับการทําธุรกรรมการถ่ายโอนหรือรับโอนความเสี่ยงด้านเครดิตของธนาคารพาณิชย์ไว้ ๒ ประเภท ดังนี้

    (๑) เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้รายใดรายหนึ่ง (single loan) หรือลูกหนี้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และsyndicated loan

    (๒) ธุรกรรมสินเชื่อเพื่อการค้า (trade finance) เช่น การออกเล็ตเตอร์ออฟเครดิต (issuing letter of credit) การรับรองเล็ตเตอร์ออฟเครดิต (confirming letterof credit) การรับช่วงซื้อลดเอกสารตามเงื่อนไขของเล็ตเตอร์ออฟเครดิต (negotiating letter of credit)และการรับรองตั๋วสินค้า (bank acceptance) เป็นต้น

    ๔.๓.๓ สัญญา

    ธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ทําธุรกรรมการถ่ายโอนหรือรับโอนความเสี่ยงด้านเครดิตกับคู่สัญญาดังต่อไปนี้

    (๑) ธนาคารพาณิชย์

    (๒) ธนาคารพาณิชย์ในต่างประเทศที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตเป็นระดับที่สามารถลงทุนได้ โดยสถาบันจัดอันดับเครดิตภายนอก (External Credit AssessmentInstitutions: ECAIs) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความเห็นชอบตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การคํานวณสินทรัพย์เสี่ยงด้านเครดิตสําหรับธนาคารพาณิชย์โดย StandardisedApproach (วิธี SA) หรือโดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบจากสํานักงานคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

    (๓) ธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (Multilateral DevelopmentBanks: MDBs) ที่มีน้ําหนักความเสี่ยงร้อยละ ๐ ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การคํานวณสินทรัพย์เสี่ยงด้านเครดิตสําหรับธนาคารพาณิชย์โดย Standardised Approach (วิธ ีSA)

    ๔.๔ หลักเกณฑ์ในการทําธุรกรรม

    ธนาคารพาณิชย์ที่ทําธุรกรรมการถ่ายโอนหรือรับโอนความเสี่ยงด้านเครดิตจะต้องมีการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสม สอดคล้องกับลักษณะและปริมาณของธุรกรรมโดยธนาคารพาณิชย์ต้องปฏิบัติตามข้อกําหนด ดังต่อไปนี้

    ๔.๔.๑ ธนาคารพาณิชย์ต้องมีนโยบายในการทําธุรกรรมที่เป็นลายลักษณ์อักษร

    และได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการธนาคารพาณิชย์ โดยนโยบายดังกล่าวต้องครอบคลุมถึงกระบวนการและระเบียบวิธีปฏิบัติในการทําธุรกรรม การบริหารความเสี่ยง การรายงานและติดตามฐานะความเสี่ยงที่เกิดจากการทําธุรกรรม การจัดทําบัญชีและการควบคุมภายในที่เหมาะสม โดยมีการทบทวนนโยบายอย่างสม่ําเสมอหรือทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสําคัญ

    ๔.๔.๒ คณะกรรมการธนาคารพาณิชย์และผู้บริหารระดับสูง ต้องมีความรู้ความเข้าใจในธุรกรรมและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง และมีหน้าที่ต้องพิจารณาความมีประสิทธิภาพของระบบการบริหารความเสี่ยงที่รองรับการทําธุรกรรม รวมถึงความพร้อมของบุคลากรในการทําธุรกรรม

    ๔.๔.๓ ธนาคารพาณิชย์ต้องพิจารณาความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการทําธุรกรรมดังกล่าวให้ครบถ้วน รวมถึงต้องพิจารณาความแตกต่างของอายุสัญญา (maturity mismatch)กับสินทรัพย์อ้างอิงด้วย โดยอายุของสัญญาธุรกรรมการถ่ายโอนหรือรับโอนความเสี่ยงด้านเครดิตต้องไม่น้อยกว่าอายุคงเหลือของสัญญาสินทรัพย์อ้างอิง

    ๔.๔.๔ ธนาคารพาณิชย์ต้องดูแลให้ข้อตกลงในสัญญาธุรกรรมการถ่ายโอนหรือรับโอนความเสี่ยงด้านเครดิตมีการทบทวนเป็นระยะตามความเหมาะสม และมีลักษณะอย่างน้อย

    ดังต่อไปนี้

    (๑) เป็นข้อตกลงที่มีผลบังคับใช้ได้ตามกฎหมาย และไม่ฝ่าฝืนข้อตกลงตามสัญญาของสินทรัพย์อ้างอิง

    (๒) มีการกําหนดขอบเขตความรับผิดชอบของผู้โอนความเสี่ยงและผู้รับโอนความเสี่ยงอย่างชัดเจน

    (๓) มีการกําหนดประเภทของสินทรัพย์อ้างอิงที่สามารถใช้ทําธุรกรรมการถ่ายโอนหรือรับโอนความเสี่ยงด้านเครดิตได้

    (๔) มีการระบุถึงสินทรัพย์อ้างอิงที่นําไปทําธุรกรรมการถ่ายโอนหรือรับโอนความเสี่ยงด้านเครดิตอย่างชัดเจน

    (๕) มีการระบุ credit event ที่ทําให้ผู้รับโอนความเสี่ยงต้องชําระเงินในจํานวนที่ตกลงกันในสัญญาให้แก่ผู้โอนความเสี่ยงทั้งนี้ คุณลักษณะตาม (๔) และ (๕) ธนาคารพาณิชย์อาจจัดทําเป็นเอกสารแนบท้ายสัญญาอันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาธุรกรรมการถ่ายโอนหรือรับโอนความเสี่ยงด้านเครดิตได้

    ๔.๕ หลักเกณฑ์การกํากับดูแล

    ธนาคารแห่งประเทศไทยกํากับดูแลธุรกรรมการถ่ายโอนหรือรับโอนความเสี่ยงด้านเครดิตโดยพิจารณาจากความเสี่ยงและผลตอบแทนเป็นสําคัญ โดยธนาคารพาณิชย์ต้องตรวจสอบดูแลให้มีการปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีฯ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และให้ถือปฏิบัติตามรายละเอียดของการกํากับดูแลที่กําหนดในเอกสารแนบ นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ว่าด้วยการกํากับลูกหนี้รายใหญ่ การจัดชั้นและการกันเงินสํารอง และการคํานวณสินทรัพย์เสี่ยงด้านเครดิตรวมถึงการสอบทานเงินให้สินเชื่อและภาระผูกพัน และรายงานข้อมูลตามแบบรายงานที่เกี่ยวข้อง ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกําหนด

    ๔.๖ ข้อกําหนดอื่น

    หากธนาคารพาณิชย์ประสงค์จะทําธุรกรรมการถ่ายโอนหรือรับโอนความเสี่ยงด้านเครดิตที่มีลักษณะแตกต่างจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตตามประกาศฉบับนี้ โดยมีเหตุผลอันสมควรให้ธนาคารพาณิชย์ทําหนังสือโดยแสดงเหตุผลความจําเป็น และรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมมายังสายกํากับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

    ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจพิจารณาเปลี่ยนแปลงกรอบหรือหลักเกณฑ์ในการทําธุรกรรมหรือการกํากับดูแลธนาคารพาณิชย์ในการทําธุรกรรมการถ่ายโอนหรือรับโอนความเสี่ยงด้านเครดิตรวมทั้งอาจระงับการทําธุรกรรม จํากัดปริมาณธุรกรรม กําหนดการกันเงินสํารองเพิ่มเติม หรือมาตรการอื่นใดในอนาคตตามความเหมาะสม

    ๕. วันเริ่มต้นบังคับใช้

    ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

    ประกาศ ณ วันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๗

    ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

    ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

    Tags : ธปท. • แบงค์ • ธุรกรรม • ธนาคารพาณิชย์ • เครดิต

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้