"แบงก์ชาติ" แจงกรอบเงินเฟ้อทั่วไป สะท้อนค่าครองชีพได้ดีกว่า สื่อสารกับสาธารณชนง่ายกว่า ยอมรับผันผวนสูง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกรายงานเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชน หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินประจำปี 2558 โดยเปลี่ยนจากกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อพื้นฐาน โดยยึดค่าเฉลี่ยรายไตรมาสระหว่าง 0.5%-3% มาเป็นกรอบเงินเฟ้อทั่วไป ยึดค่าเฉลี่ยรายปี มีค่ากลางที่ 2.5% บวก ลบ ไม่เกิน 1.5% หรืออยู่ในกรอบระหว่าง 1-4% รายงานของ ธปท. ระบุว่า กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ดีกว่ากรอบเดิมตรงที่ การพิจารณาความเหมาะสมของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ต้องพิจารณาองค์ประกอบในภาพรวมว่ามีความสอดคล้องและร่วมสนับสนุนให้การยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อในระบบเศรษฐกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ กรอบเงินเฟ้อใหม่ ที่ยึดเงินเฟ้อทั่วไป ถือเป็นดัชนีราคาที่สะท้อนค่าครองชีพได้ดีกว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เพราะเงินเฟ้อพื้นฐานไม่นับรวมราคาอาหารสด ซึ่งคิดเป็น 27% ของตะกร้าสินค้าของผู้บริโภค อัตราเงินเฟ้อทั่วไป จึงสอดคล้องกับความเข้าใจของประชาชนทั่วไป และมีผลต่อการตัดสินใจบริโภคและการออมของประชาชน การตัดสินใจลงทุนและตั้งราคาของภาคธุรกิจ จึงง่ายต่อการสื่อสารนโยบายการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กับสาธารณชน ซึ่งจะช่วยยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อในระบบเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันยังสอดคล้องกับหลักปฏิบัติสากล ที่ขณะนี้ทุกประเทศใช้เป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไป เป็นเป้าหมายของนโยบายการเงิน รายงานธปท. ระบุว่า เงินเฟ้อทั่วไปมีข้อดี คือ เข้าใจง่าย แต่มีข้อเสียเรื่องความผันผวนสูง จึงยอมรับว่า เงินเฟ้อทั่วไป อาจไม่อยู่ในเป้าหมายตลอดเวลา เพราะเงินเฟ้อทั่วไปถูกกระทบโดยภาวะช็อกจากฝั่งอุปทาน(SUPPLY SHOCK) ซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของนโยบายการเงิน ดังนั้นในกรณีที่เงินเฟ้อออกนอกเป้า ธปท.จะให้ความสำคัญต่อการสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนถึงเหตุผล ในการหลุดเป้าและแนวทางในการทำให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้าหมาย เพื่อยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อของประชาชนไว้ ซึ่งหลายประเทศที่ใช้เงินเฟ้อทั่วไปเป็นเป้าหมาย มีการพลาดเป้าเป็นครั้งคราวจากปัจจัยชั่วคราว แม้แต่ประเทศที่มีพัฒนาการการใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อมาเป็นเวลานานอย่างอังกฤษที่กำหนดเป้าเงินเฟ้อทั่วไปที่ 2% ต่อปี ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ก็หลุดเป้าบ่อยครั้ง แต่ธนาคารกลางอังกฤษ ให้ความสำคัญต่อการอธิบายให้สาธารณชนเข้าใจถึงสาเหตุของการพลาดเป้า และแนวทางการดึงเงินเฟ้อให้กลับสู่เป้าหมายซึ่งในภาพรวม ธนาคารกลางอังกฤษ ยังสามารถดูแลการคาดการณ์เงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และรักษาไม่ให้การพลาดเป้าหมายจากเหตุสุดวิสัยกระทบต่อความน่าเชื่อถือของการดำเนินนโยบายการเงิน ส่วนสาเหตุที่ ธปท. ปรับค่ากลางของเป้าเงินเฟ้อใหม่จาก 3% มาเป็น 2.5% เพื่อสะท้อนแนวโน้มเงินเฟ้อโลก ที่คาดว่า จะมีแนวโน้มต่ำลงเมื่อเทียบกับทศวรรษที่ผ่านมา ขณะเดียวกันเป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไปที่ 2.5% ยังใกล้เคียงกับระดับคาดการณ์เงินเฟ้อของสาธารณชนในปัจจุบัน และสอดคล้องกับค่าเฉลี่ยของเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงที่ใช้ INFLATION TARGETING (นับตั้งแต่เดือนพ.ค.2543 ถึงปัจจุบัน) ที่ประมาณ 2.5% ด้วย รายงานของธปท. ย้ำว่า การปรับเป้าหมายนโยบายการเงิน ไม่ได้ทำให้การตัดสินใจด้านนโยบายการเงินเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เนื่องจากค่ากลางที่ 2.5% สามารถเทียบเคียงกับค่ากลางเป้าหมายเงินเฟ้อพื้นฐานที่ 1.75% นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ เป็นไปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสารนโยบายการเงินเป็นสำคัญ ในทางปฏิบัติ กระบวนการตัดสินใจในการดำเนินนโยบายการเงินยังเหมือนเดิม กล่าวคือ ประเด็นทั้งความเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและความเสี่ยงต่อเสถียรภาพด้านราคา โดยเน้นการมองไปข้างหน้า เพื่อตอบสนองต่อความเสี่ยงต่อเสถียรภาพด้านราคาที่มาจากแรงกดดันด้านอุปสงค์และการคาดการณ์เงินเฟ้อเป็นสำคัญ ผ่านการพิจารณาทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เงินเฟ้อพื้นฐาน นอกจากนั้นกรอบใหม่ยังเป็นค่าเฉลี่ยรายปีและมีความยืดหยุ่น บวก ลบ 1.5% ซึ่งจะช่วยรองรับความผันผวนจากปัจจัยชั่วคราวด้วย “ไม่ว่าเป้าหมายนโยบายการเงินจะเป็นเงินเฟ้อทั่วไปหรือเงินเฟ้อพื้นฐาน ในเชิงนโยบายไม่ต่างกัน แม้เงินเฟ้อทั่วไปจะผันผวนมากกว่า แต่ไม่ได้แปลว่านโยบายการเงินจะต้องตอบสนองมากขึ้น บทบาทของนโยบายการเงินยังคงมุ่งเน้นดูแลที่การส่งผ่านรอบที่สอง ผ่านแรงกดดันด้านอุปสงค์และการคาดการณ์เงินเฟ้อ” ในกรณีที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลง การพิจารณาทิศทางนโยบายการเงินจะต้องขึ้นกับหลายปัจจัย โดยเฉพาะแนวโน้มเศรษฐกิจและแรงกดดันเงินเฟ้อในช่วงนั้น หากอุปสงค์มีแนวโน้มฟื้นตัว ขณะที่เครื่องชี้แรงกดดันด้านราคาต่างๆ ยังสะท้อนว่าเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคต ก็ไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนการดำเนินนโยบายการเงินแต่อย่างใด หากราคาน้ำมันที่ลดลงเกิดความคู่กับแนวโน้มเศรษฐกิจ ที่มีแรงขับเคลื่อนด้านอุปสงค์ที่ลดลงมาก และเกิดสัญญาณของการลดลงของราคาสินค้าในวงกว้างจนมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินฝืด นโยบายการเงินอาจจำเป็นต้องมีบทบาทในการกระตุ้นอุปสงค์ และช่วยสนับสนุนให้เงินเฟ้อกลับมาอยู่ในระดับที่เหมาะสม รายงานธปท.ระบุด้วยว่า แม้เงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มอยู่ระดับต่ำ แต่ยังไม่มีสัญญาณของการเข้าสู่ภาวะเงินฝืด เนื่องจากไม่ได้เกิดจากการปรับลดลงของราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปแบบ BROAD-BASED หรือเกิดควบคู่กับการหดตัวของอุปสงค์ แต่เป็นผลจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงเท่านั้น ขณะที่อุปสงค์ยังคงขยายตัว ประกอบกับการคาดการณ์เงินเฟ้อยังอยู่ระดับต่ำ และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเริ่มปรับสูงขึ้นได้ในช่วงครึ่งหลังของปี ตามทิศทางของอุปสงค์ในประเทศที่ทยอยปรับตัวดีขึ้น ซึ่งจะเอื้อให้ผู้ประกอบการปรับขึ้นราคาสินค้าได้มากขึ้น รวมทั้งผลของฐานในช่วงครึ่งแรกของปีก่อนที่มีการส่งผ่านต้นทุนก๊าซหุงต้มไปยังราคาอาหารสำเร็จรูปที่ค่อยๆ หมดไป Tags : ธปท. • เงินเฟ้อ • ค่าครองชีพ • แบงก์ชาติ