ดีเดย์2ก.พ.แอลพีจีราคาเดียว "ขนส่ง-ครัวเรือน-อุตสาหกรรม" เฉลี่ย 16.11บาท/กก. หวังจูงใจโรงแยกก๊าซ-โรงกลั่น ผลิตเพิ่ม ลดการนำเข้า เล็งปรับราคา"เอ็นจีวี" แตะเพดานไม่เกิน 16 บาท ชี้กลุ่มปตท.-โรงกลั่นได้ประโยชน์ คาดปตท.มีกำไรเพิ่มปีละกว่าพันล้าน ขณะนักวิเคราะห์ ชี้พยุงราคาหุ้น ชดเชยผลกระทบน้ำมันร่วงหนัก นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 7 ม.ค. ที่ผ่านมา เห็นชอบการกำหนดแนวทางปรับโครงสร้างราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือ แอลพีจีทั้งระบบให้สะท้อนต้นทุนที่เหมาะสม สอดคล้องกับตามมติ ของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2557 โดยสูตรโครงสร้างราคาแอลพีจีใหม่ จะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 2 ก.พ. 2558 ซึ่งจะไม่กระทบกับราคาขายปลีกในปัจจุบัน สูตรโครงสร้างราคาแอลพีจีใหม่ จะกำหนดราคาต้นทุน แอลพีจี ของผู้ใช้ทุกกลุ่ม ทั้งภาคครัวเรือน ขนส่ง อุตสาหกรรม และปิโตรเคมี ให้เป็นราคาเดียวกัน โดยเป็นราคาเฉลี่ยของแอลพีจีที่ผลิตได้จากโรงแยกก๊าซธรรมชาติของปตท. โรงกลั่นน้ำมัน และ จากแอลพีจีนำเข้า ที่มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 488 ดอลลาร์ต่อตัน หรือประมาณ 16.11 บาท/ต่อกิโลกรัม และจะมีการบวกเพิ่มภาษีสรรพสามิต ,กองทุนแอลพีจี ที่มีการแยกบัญชีออกมา จากกองทุนน้ำมันเดิม และค่าการตลาด เพื่อกำหนดเป็นราคาขายปลีก "กบง.จะมีการประกาศราคาทุกๆ เดือน ในขณะที่ข้อมูลราคาที่ใช้ในการคำนวณ จะมีการปรับเปลี่ยนทุกๆ ไตรมาส" นายณรงค์ชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาโครงสร้างราคาแอลพีจี มีการบิดเบือนมานาน เนื่องจากรัฐไปกำหนดราคาต้นทุนตามราคาหน้าโรงแยกก๊าซที่ 333 เหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริงในปัจจุบันมาก ทำให้ปริมาณการใช้แอลพีจีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และ รัฐต้องใช้เงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เก็บจากทั้งผู้ใช้แอลพีจีและผู้ใช้น้ำมัน มาชดเชยส่วนต่างของราคานำเข้า และโรงกลั่นน้ำมันในขณะที่ ยอมให้โรงแยกก๊าซซึ่งขายแอลพีจีต่ำกว่าต้นทุนให้กับภาคครัวเรือน ,ภาคขนส่งและภาคอุตสาหกรรม ใช้กำไรจากการขายกับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมาชดเชย เล็งขยับเอ็นจีวีไม่เกิน16บาท/กก. นายณรงค์ชัย กล่าวว่า ส่วนราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) นั้น จะปรับขึ้นราคาอย่างแน่นอน แต่ไม่เกิน 16 บาทต่อกิโลกรัม จากปัจจุบันตรึงราคาไว้ที่ 12.50 บาท/กิโลกรัม ส่วนกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เช่น รถโดยสารสาธารณะ รถแท็กซี่ ที่ปัจจุบันได้รับการช่วยเหลือให้ซื้อในราคาถูกแค่ 9.50 บาท/กิโลกรัมนั้น ในอนาคตหากปรับราคาใหม่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยดังกล่าวจะต้องซื้อเอ็นจีวีในราคาที่ปรับขึ้นเท่ากับผู้ใช้เอ็นจีวีรายอื่นด้วย ไม่มีการยกเว้น ด้านนายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่าการปรับสูตรราคาแอลพีจีใหม่ จะทำให้โรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมัน ได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น และมีแรงจูงใจที่จะขยายกำลังการผลิตแอลพีจีในประเทศออกมา เพื่อลดการนำเข้า ในอนาคต ในขณะที่กองทุนน้ำมันที่เคยใช้มีภาระชดเชยแอลพีจีปีละ 20,000 ล้านบาท ก็จะมีรายได้จากแอลพีจีประมาณ 2,400 ล้านบาทต่อปี ชี้กลุ่มปตท.ได้ประโยชน์ในระยะสั้น นายพรายพล คุ้มทรัพย์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กลุ่มปตท.จะได้ประโยชน์จากการปรับสูตรราคาแอลพีจีในระยะสั้น จากเคยที่เป็นผู้แบกรับภาระต้นทุนเอาไว้ก่อนหน้านี้เป็นเวลานาน แต่จะต้องเป็นผู้รับภาระการช่วยครัวเรือนที่มีรายได้น้อย และร้านค้าหาบเร่แผงลอย แทน กระทรวงพลังงาน เพื่อให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบสามารถเข้าถึงสิทธิ์มากขึ้น ทั้งนี้ ในระยะต่อไป เชื่อว่า ราคาขายปลีกแอลพีจี จะปรับลดลงได้อีกเนื่องจาก ต้นทุนราคาโรงแยกก๊าซจะต้องปรับลดลงตามราคาน้ำมัน แต่จะทิ้งช่วงประมาณ 3-6 เดือน สำหรับตัวเลขปริมาณการใช้ในการคำนวณสูตรราคาครั้งนี้ โรงแยกก๊าซมีการผลิตแอลพีจี 299,000 ตันต่อเดือน ,โรงกลั่นน้ำมัน 155,000 ตันต่อเดือน,และแอลพีจีนำเข้า 172,000 ตันต่อเดือน ปตท.ได้ส่วนต่างเพิ่ม 38ดอลลาร์/ตัน นายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวยอมรับว่า ปตท.เป็นผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากการปรับสูตรราคาแอลพีจีครั้งนี้ ซึ่งเป็นการชดเชยกับการที่ต้องแบกภาระที่ต้องขายต่ำกว่าต้นทุนเป็นเวลานาน ที่ผ่านมาโรงแยกก๊าซต้องขายแอลพีจีให้กับภาคครัวเรือน ,ขนส่งและอุตสาหกรรม ในราคาควบคุมประมาณ 333 ดอลลาร์/ตัน และขายแอลพีจีให้ปิโตรเคมีที่ราคาประมาณ 600 ดอลลาร์/ตัน ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 460 ดอลลาร์ ในขณะที่ต้นทุนจริงของโรงแยกก๊าซอยู่ที่ 498 ดอลลาร์/ตัน ดังนั้นส่วนต่างที่ปตท.จะได้รับเพิ่มขึ้น จะอยู่ที่ประมาณ 38 ดอลลาร์ แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า เฉพาะในส่วนของโรงแยกก๊าซซึ่งผลิตแอลพีจีประมาณ 3 แสนตันต่อเดือน จะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการปรับสูตรราคาครั้งนี้ ประมาณ 370 ล้านบาทต่อเดือน หรือประมาณ 4,500 ล้านบาทต่อปี แต่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) กบง. มอบหมายให้ ปตท. รับผิดชอบโครงการบรรเทาผลกระทบจากการปรับราคาขายปลีกก๊าซLPG ภาคครัวเรือนทั้งหมดแทนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งมีภาระชดเชยผู้มีรายได้น้อยประมาณ 200 ล้านบาทต่อปี คาดส่งผลดีปตท.กำไรกว่าพันล้าน นายสุทธิชัย คุ้มวรชัย ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า หากคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติปรับราคาก๊าซแอลพีจีขึ้นจริง จาก 333 ดอลลาร์ต่อตัน ให้สะท้อนต้นทุนราคาตลาดโลกซึ่งอยู่ที่ประมาณ 450 ดอลลาร์ต่อตัน จะส่งผลบวกต่อบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เป็นหลัก เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติในขณะนี้ ต่ำกว่าต้นทุนและราคาตลาดโลกอย่างมาก เบื้องต้นคาดว่าหากมีการปรับราคาขึ้นจริง น่าจะส่งบวกต่อกำไรของบริษัทกว่า 1,000 ล้านบาท ขณะที่ธุรกิจโรงกลั่นนั้นน่าจะได้ผลบวกเพียงเล็กน้อย เพราะก๊าซธรรมชาติที่ได้จากการกลั่นนั้นมีสัดส่วนน้อย ซึ่งบริษัทที่สามารถกลั่นได้เยอะที่สุดน่าจะเป็นบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ซึ่งกลั่นได้ประมาณ 4-5% จากผลิตภัณฑ์ทั้งหมด “หากมีการปรับขึ้นราคาก๊าซหน้าโรงกลั่นจริง จะส่งผลบวกต่อบริษัท ปตท. เป็นหลัก ซึ่งคาดว่าน่าจะสามารถชดเชยความเสียหายจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลงได้ แต่อย่างไรก็ตามคงต้องติดตามข้อสรุปจากกบง.ก่อน ว่าจะปรับขึ้นจริงหรือไม่ และจะปรับขึ้นไปอยู่ที่ราคาเท่าไร” นายสุทธิชัย กล่าว แนวโน้มส่งผลบวกโรงกลั่น ด้านนักวิเคราะห์จากบล.ฟิลลิป ระบุว่าหากมีการปรับราคาก๊าซธรรมชาติหน้าโรงกลั่นขึ้นจริง น่าจะส่งผลบวกต่อหุ้นกลุ่มโรงกลั่น เพราะเป็นผู้ผลิตโดยตรง แต่ราคาหุ้นในกลุ่มนี้จะยังคงถูกกดดันจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลงอย่างมาก ส่วนราคาขายปลีก ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 24 บาทต่อลิตร จะมีการปรับขึ้นตามหรือไม่ ต้องติดตามนโยบายของกระทรวงการคลังประกอบด้วย เพราะหากมีการปรับลดภาษี และค่าธรรมเนียมเข้ากองทุนลง อาจจะทำให้ต้นทุนของผู้ขายลดลง และไม่จำเป็นต้องปรับราคาขึ้นได้เช่นกัน “เชื่อว่าหุ้นในกลุ่มพลังงานน่าจะยังถูกกดดันจากราคาน้ำมันดิบต่อไป หากราคาน้ำมันดิบยังไม่ปรับตัวขึ้น แต่หากมีการปรับราคาก๊าซธรรมชาติขึ้นจริง น่าจะช่วยส่งผลบวกต่อหุ้นกลุ่มนี้ได้บ้างเล็กน้อย” นักวิเคราะห์ บล.ฟิลลิป กล่าว Tags : ณรงค์ชัย อัครเศรณี • แอลพีจี • ราคาเดียว • ขนส่ง • ครัวเรือน • อุตสาหกรรม • กบง. • เอ็นจีวี • ปตท. • แหล่งข่าว • กระทรวงพลังงาน • โรงกลั่น