แบงก์ชาติจีนดันตั้ง'ไอซีบีซี'

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 7 มกราคม 2015.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    ธนาคารกลางจีน ประกาศตั้ง ไอซีบีซี (ไทย) หวังช่วยเพิ่มช่องทางชำระดุลเงินหยวนให้สถาบันการเงินในไทย

    รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 ม.ค.2558 ธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (พีบีซี) ได้ประกาศแต่งตั้ง ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นธนาคารชำระดุลเงินหยวน (Clearing Bank) เพื่อทำหน้าที่ชำระดุลเงินหยวนในประเทศไทยตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการแต่งตั้งธนาคารชำระดุลเงินหยวนในประเทศไทย ซึ่ง ธปท. ได้ลงนามร่วมกับ พีบีซี ไปเมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2557 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

    การแต่งตั้งธนาคารชำระดุลเงินหยวนในครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มช่องทางในการชำระดุลเงินหยวนให้แก่สถาบันการเงินในประเทศไทย นอกเหนือจากการชำระเงินผ่านธนาคารตัวแทนต่างประเทศ (Corresponding Bank) ซึ่งจะเพิ่มโอกาสเข้าถึงสภาพคล่องเงินหยวนในประเทศจีนได้โดยตรงอีกช่องทางหนึ่ง

    ด้าน รายงานข่าวจาก ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ธนาคารได้รับเลือกให้เป็นธนาคารชำระดุลเงินหยวนในประเทศไทย ตามที่ พีบีซี ประกาศไว้เมื่อวันที่ 6 ม.ค.2558 ว่า บริษัทลูกของธนาคารไอซีบีซี (จีน) ได้รับเลือกให้เป็นธนาคารชำระดุลเงินหยวนอีกแห่งหนึ่ง หลังจากได้รับแต่งตั้งมาแล้วในประเทศสิงคโปร์ ลักแซมเบิร์ก เมืองโดฮา ประเทศกาตาร์ และเมืองโทรอนโต ประเทศแคนาดา

    การได้รับเลือกนี้นับได้ว่าเป็นอีกก้าวหนึ่งของธนาคารไอซีบีซี (จีน) ในการสร้างเครือข่ายธนาคารชำระดุลเงินหยวนไปในระดับสากล และไปในทุกๆ เขตแบ่งเวลาของโลก เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้สกุลเงินหยวนเป็นสกุลเงินกลางไปทั่วโลก โดยเฉพาะการใช้สกุลเงินหยวนในการค้าข้ามแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศสมาชิกอาเซียน

    หลังจากได้รับแต่งตั้งให้เป็นธนาคารชำระดุลเงินหยวนในประเทศไทยแล้ว ไอซีบีซี (ไทย) จะปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้โดยทางการของทั้งประเทศไทย และประเทศจีน โดยจะให้บริการชำระดุลที่มีประสิทธิภาพ และปลอดภัย เนื่องจากธนาคารมีศักยภาพเหนือธนาคารอื่น จากเครือข่ายที่แข็งแกร่ง และยังเป็นการสนับสนุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และการค้าระดับทวิภาคี ระหว่างไทยกับจีน และประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วย

    ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และเป็นประเทศอาเซียนที่เป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดอันดับสามของจีน ขณะที่จีนเป็นประเทศที่ไทยส่งออกสินค้ามากที่สุด และไทยนำเข้าสินค้าจากจีนสูงสุดเป็นอันดับสอง ในช่วงเวลาหลายปีมานี้ ไทยและจีนความสัมพันธ์อันดี มีความร่วมมือทางการค้าและการเงินอย่างแนบแน่น

    ในด้านการเงินนั้นสถาบันการเงินของทั้งสองประเทศได้มีความร่วมมือใหม่ๆ ในหลายมิติ โดยในปี 2556 มูลค่าการค้าระหว่างทั้งสองประเทศสูงถึง 71,260 ล้านดอลลาร์ และคาดหวังว่าจะสูงถึง 1 แสนล้านดอลลาร์ ภายในปี 2558

    เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2557 ทางการไทยและจีนได้ลงนามในข้อตกลงทวิภาคีเพื่อแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลเงินบาทและหยวน (Bilateral Local Currency Swap Agreement) ซึ่งกำหนดวงเงินไว้ที่ 70,000 ล้านหยวน หรือ 370,000 ล้านบาท ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อแทนข้อตกลงฉบับเดิมที่หมดอายุลง การอนุมัติแต่งตั้งไอซีบีซี (ไทย) ให้เป็นธนาคารชำระดุลเงินหยวนในประเทศไทยดังกล่าวข้างต้น จะช่วยให้การทำธุรกรรมการเงินระหว่างทั้งสองประเทศ รวมถึงประเทศในอาเซียนสะดวกยิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นการสนับสนุนการค้าระหว่างทั้งสองประเทศ และเขต ด้วย

    ไอซีบีซี (ไทย) เดิมชื่อ ธนาคารสินเอเซีย จำกัด (มหาชน) โดยกลุ่มไอซีบีซีได้เข้ามาซื้อกิจการเมื่อ เดือนเม.ย.2553 ปัจจุบันไอซีบีซี (ไทย) มีสาขาทั้งหมด 20 สาขา ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

    ในระยะหลัง ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และการค้าระหว่างประเทศจีน และประเทศไทย รวมถึงประเทศในกลุ่มอาเซียนได้ยกระดับสูงขึ้น ไอซีบีซี (ไทย) จึงมีโอกาสขยายธุรกิจเงินหยวน ซึ่งมีสินค้าและบริการหลากหลาย รวมถึง บริการซื้อขายเงินหยวน การออกหนังสือค้ำประกันในสกุลเงินหยวน เงินฝากสกุลเงินหยวน บริการธุรกิจระหว่างประเทศสกุลเงินหยวน และเงินกู้ต่างประเทศ ดังนั้น ไอซีบีซี (ไทย) จึงยังคงมุ่งมั่นขยายธุรกิจเงินหยวนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของข้อตกลงทางการค้าของทั้งสองประเทศ

    Tags : ธนาคารกลางจีน • เงินหยวน • ไทย

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้