"ปรีดิยาธร" สั่งรื้อตัวเลขงบปี 59 ใหม่ หลังคลังตั้งเป้ารายได้ต่ำ ขณะที่สำนักงบฯตั้งรายจ่ายคืนหนี้จำนำข้าวต่ำ ถกครั้งหน้า 13 ม.ค. ด้าน "สศค." ปรับลดเป้าจัดเก็บปีงบ 58 หลังราคาน้ำมันปรับลด ส่งผลฐานคำนวณภาษีน้ำมันลดลง เผยยอดจัดเก็บจริงต่ำเป้า 2 แสนล้านบาท "ประยุทธ์"สั่งตั้ง 6 บอร์ดเคลื่อนภารกิจสำคัญพร้อมสั่งลดมท.-พาณิชย์หาแนวทางลดราคาสินค้า การประชุม 4 หน่วยงานเศรษฐกิจวานนี้ (6 ม.ค.) เพื่อพิจารณากรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงบประมาณ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังประชุมว่า การประชุมครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกของการพิจารณากรอบงบประมาณรายจ่ายดังกล่าว ซึ่งยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากยังมีอีกหลายประเด็นที่ยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องของรายได้และรายจ่ายในด้านการชำระหนี้โครงการจำนำข้าว นัดประชุมรอบใหม่ 13 ม.ค. ส่วนการประชุมครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวันอังคารที่ 13 ม.ค.นี้ โดยตนได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาใน 2 ประเด็นที่ต้องมีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งในส่วนของรายได้นั้น ตนเห็นว่า ได้มีการประเมินรายได้ที่ต่ำไป ซึ่งควรที่จะมีการนำผลของการปรับขึ้นอัตราภาษีต่างๆ โดยเฉพาะภาษีสรรพสามิตหลังการปรับอัตราภาษีน้ำมันที่ควรนำมาประเมินรวมด้วย ส่วนรายจ่ายชำระด้านการชำระหนี้โครงการจำนำข้าวนั้น ตนเห็นว่า ได้มีการเสนองบชำระหนี้ที่ต่ำไป และขอให้ตั้งงบชำระหนี้เพิ่มเติม เพราะหากทิ้งไว้นานจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของต่างชาติ "ไทยไม่ควรหมกหนี้ไว้นาน ฐานะเราแข็งแรงพอที่จะจัดการเรื่องหนี้ได้ ฉะนั้น เราก็ควรจัดการให้ชัดเจน" ระบุเน้นขาดดุลระดับเหมาะสม สำหรับรูปแบบการจัดทำงบประมาณนั้น จะเป็นแบบขาดดุลต่อเนื่อง โดยพยายามดูแลให้เหมาะสม ทั้งนี้ กรอบการจัดทำงบประมาณนั้น จะมีสัดส่วนงบลงทุนที่เพิ่มจากปีงบ 2558 เพราะต้องการที่จะใช้งบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยจะมีโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในงบประมาณดังกล่าวด้วย ส่วนสมมติฐานจีดีพีนั้น ที่ประชุมได้ประเมินว่า ระดับจีดีพีในปี 2559 จะขยายตัวประมาณ 4.2% จากปี 2558 ที่ขยายตัวประมาณ 4% เผย2ปัจจัยลบกดดันรายได้วืด นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า สศค. กำลังพิจารณาปรับลดประมาณการตัวเลขการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2558 ใหม่ หลังจากที่มีปัจจัยลบเข้ามากระทบใน 2 ประเด็นหลักจากประมาณการรายได้เดิมอยู่ที่ 2.325 ล้านล้านบาท โดยประมาณการรายได้ใหม่นี้จะนำไปเป็นฐานในการคำนวณประมาณการรายได้ในปีงบประมาณ 2559ด้วย สำหรับ 2 ปัจจัยลบที่มีผลต่อรายได้รัฐบาลในปีงบประมาณ 2558 คือ 1.การประมาณการจัดเก็บรายได้ในปี 2558 คิดบนฐานการประเมินยอดจัดเก็บรายได้ในปี 2557 ซึ่งขณะนั้นประเมินว่า การจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2557 จะอยู่ในระดับสูงตามเป้าหมาย คือ 2.275 ล้านล้านบาท แต่ผลปรากฏว่า ยอดการจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการถึง 2 แสนล้านบาท ดังนั้น จึงทำให้การประมาณการรายได้ในปีงบประมาณ 2558 สูงตามปี 2557 2.ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับลดลง ซึ่งกระทบต่อการจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าน้ำมันให้ปรับลดลง โดยไทยมียอดการนำเข้าน้ำมันในระดับสูง เมื่อราคาน้ำมันนำเข้าลดลง ก็ทำให้ฐานในการคำนวณภาษีนำเข้าลดลงด้วยเช่นกัน ดึงเงินคงคลังมาใช้ทดแทน เมื่อตัวเลขการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2558 ไม่เป็นไปตามประมาณการ ขณะที่เป้าหมายงบประมาณรายจ่ายยังอยู่ในจำนวนเดิม ดังนั้น แนวทางในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้งบประมาณรายจ่ายเป็นไปตามเป้าหมายเดิม คือ การดึงเงินคงคลังมาใช้ทดแทน ซึ่งถือว่า เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ โดยในปีงบประมาณ 2557 ที่รัฐบาลมีรายได้ต่ำเป้าไป 2 แสนล้านบาท ระดับเงินคงคลังก็หายไปจำนวน 2 แสนล้านบาทในสิ้นปี 2557 เป็นต้น ธปท.เกาะติดราคาน้ำมัน นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท. กำลังติดตามราคาน้ำมันในตลาดโลกอีกครั้งว่า จะอยู่ในระดับที่ประเมินไว้หรือไม่ เพราะล่าสุดราคาน้ำมันได้ต่ำกว่า 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หากราคาน้ำมันต่ำกว่ากรอบที่ ธปท. กำหนด จะมีผลต่อเป้าหมายเงินเฟ้อด้วย กนง.เห็นว่าขณะนี้ดอกเบี้ยอยู่ในภาวะผ่อนคลาย มีประสิทธิผลเอื้อต่อการฟื้นตัวประเทศ แต่การฟื้นตัวของประเทศในขณะนี้ยังค่อนข้างอ่อนแอ แต่ยังมีการฟื้นตัวต่อเนื่อง เห็นได้จากเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้จะฟื้นช้ากว่าที่คาด แต่ไม่น่ากังวลและนักธุรกิจไม่เห็นว่า เงินเฟ้อเป็นอุปสรรคต่อการลงทุน ส่วนการจัดงบประมาณ 2559 ว่า การจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลต่อเนื่อง นั้นมีความเหมาะสม เพราะตอนนี้เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงจุดเริ่มต้นของการฟื้นตัว แต่การจัดงบขาดดุลต้องอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ ทั้งนี้ ไทยจำเป็นต้องลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน "เป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2.5% นั้น เพียงพอที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวในระดับ 4% ตามเป้าหมายได้โดยไทยต้องการเติบโตอย่างต่อเนื่องในระยะยาว 5-6 ปี" ประยุทธ์สั่งตั้ง6บอร์ดเคลื่อนศก. แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้สั่งการในที่ประชุม ครม.ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)ไปศึกษารูปแบบการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญๆของรัฐบาลจำนวน 6 เรื่อง ได้แก่ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ การบริหารจัดการน้ำ การจัดการที่ดินทำกิน การพัฒนาพื้นที่เรียบฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายด้านต่างๆที่สำคัญเพื่อให้เรื่องต่างสามารถดำเนินการได้ภายใน 1 ปี "ก่อนหน้านี้นายกฯมีแนวคิดจะตั้งเป็นซูเปอร์บอร์ด 2 โดยนายกฯนั่งเป็นประธานเอง แต่เห็นว่ารูปแบบซูเปอร์บอร์ดจะเป็นเหมือนกับการบริหารราชการทั่วไปซึ่งขับเคลื่อนช้า จึงสั่งการให้สภาพัฒน์ไปหาแนวทางคาดว่าน่าจะเสนอให้พิจารณาได้ในสัปดาห์หน้า"แหล่งข่าวกล่าว บี้เอกชนลดราคาสินค้า พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในที่ประชุมครม.นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงพาณิชย์ ไปหามาตรการในการกำหนดราคาสินค้าให้ลดลง โดยให้กำหนดสัดส่วนต้นทุนของสินค้าต่อสัดส่วนราคาน้ำมันให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันเนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงมีการปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ "พาณิชย์"รับลูกนัดถกผู้ประกอบการ นางดวงกมล เจียมบุตร โฆษกกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์จะนัดหารือผู้ประกอบการสินค้ากลุ่มต่างๆ เพื่อหารือถึงการปรับลดราคาสินค้า หลังจากที่ราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตและการขนส่งได้ปรับลดลงมามาก โดยล่าสุดได้ปรับลงมาแล้วลิตรละ 3.60 บาทไปอยู่ที่ 26.39 บาทต่อลิตร ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าที่จะขอความร่วมมือให้ปรับลดราคา เช่น กลุ่มเหล็ก ปูนซีเมนต์ วัสดุก่อสร้าง และปุ๋ยเคมี เพราะแม้ผลการวิเคราะห์จะได้รับผลดีจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ไม่มาก แต่หากซื้อเยอะ ซื้อทีละมากๆ ราคาก็ลดลงมาก ซึ่งต้องมาดูว่าจะปรับลดได้มากน้อยแค่ไหน รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภครายการอื่นๆ ที่มีน้ำหนักเบา หากเห็นว่าลดราคาลงมาได้ ก็จะขอให้ลดลง ธุรกิจยันไม่ลดราคาสินค้า นายวิเชียร กันตถาวร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทเกอร์ ดิสทริบิวชั่น แอนด์ โลจิสติกส์ จำกัด ธุรกิจบริการขนส่งในเครือสหพัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้หารือกับคู่ค้าภาคขนส่งสินค้าทางบกที่เป็นบริษัทจัดจ้างภายนอก(เอาท์ซอร์ส) ซึ่งเป็นรถขนาดใหญ่ ที่มีสัดส่วนราว 30% เพื่อลดค่าบริการขนส่งลงประมาณ 30% ส่วนจะทำให้ผู้ผลิตสินค้าลดราคาสินค้าลงหรือไม่นั้น ไม่สามารถบอกได้ เนื่องจากโครงสร้างการผลิตสินค้าแต่ละรายการ มีห่วงโซ่การผลิต (ซัพพลายเชน) ที่แตกต่างกัน แต่ยอมรับว่าต้นทุนการผลิตที่ลดลง อาจทำให้ผู้ผลิตสินค้านำเงินส่วนต่างของต้นทุนที่ลดลง ไปใช้จัดกิจกรรมการตลาดและโปรโมชั่นมากขึ้น ไลอ้อนฯแจงวัตถุดิบไม่ลด นายบุญฤทธิ์ มหามนตรี ประธานกรรมการ บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคในเครือสหพัฒน์ กล่าวว่า แม้ราคาน้ำมันจะทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าลดลง แต่ในขณะนี้ บริษัทยังไม่มีแผนลดราคาสินค้า เนื่องจากราคาวัตถุดิบ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของต้นทุนการผลิตยังไม่มีแนวโน้มลดลงตามราคาน้ำมัน "ถ้าเมื่อไหร่ราคาวัตถุดิบลดลง ก็มีแนวโน้มจะพิจารณาลดราคาสินค้าเช่นกัน" ด้านนายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร สายธุรกิจการค้าในประเทศและส่งออก บริษัท ซีพีเอฟ เทรดดิ้ง จำกัด ธุรกิจการค้าในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) กล่าวว่า บริษัทยังไม่มีแผนลดราคาสินค้า เป็นผลมาจากสินค้าส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นสินค้าควบคุมราคาอยู่แล้ว Tags : ปรีดิยาธร • สศค. • ราคาน้ำมัน • เศรษฐกิจ • จำนำข้าว • ธปท. • ประสาร ไตรรัตน์วรกุล • แหล่งข่าว • ทำเนียบรัฐบาล • ส่งรายได้คลัง