เราเตอร์จำนวนมากใช้เว็บเซิร์ฟเวอร์มีบั๊กตั้งแต่ปี 2002 ในไทยยังระบาดเป็นวงกว้าง

หัวข้อกระทู้ ใน 'เทคโนโลยี' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 7 มกราคม 2015.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    ที่งาน 31C3 นักวิจัย Lior Oppenheim และ Shahar Tal นำเสนองานวิจัยช่องโหว่ของเว็บเซิร์ฟเวอร์ RomPager 4.07 ที่วางตลาดมาตั้งแต่ปี 2002 ทำให้แฮกเกอร์สามารถข้ามระบบล็อกอินของเราเตอร์จำนวนมาก

    ทีมงานสแกน HTTP บนพอร์ต 7547 ที่ใช้ในมาตรฐาน TR-069 และพบว่ามีไอพีถึง 1.18% หรือมากกว่า 46 ล้านไอพี ที่ฟัง HTTP บนพอร์ตนี้ และเว็บเซิร์ฟเวอร์ที่ให้บริการบนพอร์ตนี้ถึง 52% เป็นเซิร์ฟเวอร์ RomPager เกือบทั้งหมดเป็นรุ่น 4.07 (98.04%)

    ทีมงานหาช่องโหว่ของ RomPager 4.07 และพบว่ามีช่องโหว่มากมาย ระบบ cookie ของ RomPager 4.07 เป็นเพียงค่าอาเรย์ง่ายๆ ทำให้ง่ายต่อการเจาะระบบอย่างมาก ทีมงานสาธิตกระบวนการข้ามการล็อกอินหน้าจอแอดมินด้วยส่วนขยายของ Chrome เพียงตัวเดียว

    ปัญหาสำคัญคือรอมจำนวนมากไม่ยอมปิดการทำงานของ RomPager ออกจากอินเทอร์เน็ตแม้จะเลือกปิดการทำงานของ TR-069 ไปแล้ว การเปิดเว็บเซิร์ฟเวอร์ที่มีช่องโหว่ทิ้งเอาไว้ทำให้เป็นไปได้ที่จะเจาะเราเตอร์ไปมากกว่าการเข้าถึงหน้าจอแอดมินได้อีกมาก

    ช่องโหว่นี้แสดงปัญหาของความซับซ้อนในการส่งอัพเดตของสินค้าขนาดเล็กที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ผู้ผลิต RomPager พบบั๊กนี้เองในกระบวนการตรวจสอบโค้ดมานานแล้ว และออกรุ่นแก้ไขไปตั้งแต่ปี 2005 แต่กระบวนการส่งแพตช์ที่ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ต้องส่งซอฟต์แวร์ให้ผู้ผลิตชิปเพื่อออก SDK รุ่นใหม่ จากนั้นผู้ผลิตเราเตอร์จึงนำ SDK รุ่นใหม่ไปคอมไพล์รอม กระบวนการนี้กินระยะเวลาหลายปี และบางรุ่นก็ไม่เคยได้รับการอัพเดตเลย ซอฟต์แวร์ RomPager 4.07 วางตลาดตั้งแต่ปี 2002 และแพตช์ในรุ่นปี 2005 ก็ยังไม่ได้ถูกรวมไปในเราเตอร์ที่วางตลาดทุกวันนี้

    ทีมงานเรียกร้องให้อุตสาหกรรมอุปกรณ์ขนาดเล็กเหล่านี้แก้ปัญหากระบวนการปล่อยแพตช์ที่ล่าช้าเช่นนี้ และแนะนำว่าระหว่างนี้ให้เลือกใช้รอมอื่นๆ นอกจากรอมของผู้ผลิตเอง หรือไม่ใช้เราเตอร์จากผู้ผลิตเหล่านี้จนกว่าผู้ผลิตจะแก้ปัญหาเหล่านี้

    หลายประเทศมีอุปกรณ์มีช่องโหว่นี้และสามารถเข้าถึงได้จากอินเทอร์เน็ตเป็นจำนวนมาก บางประเทศมากถึง 50% ของไอพีประเทศ ส่วนของประเทศไทยทีมงานแสดงแผนที่เป็นสีแดงเข้ม อยู่ในกลุ่มมีอุปกรณ์ที่มีช่องโหว่จำนวนมากเช่นกัน

    ที่มา - YouTube: CCCen

    [​IMG]

    [​IMG]



    CCC, Security
     

แบ่งปันหน้านี้