(สัมภาษณ์พิเศษ) เอเฟทพร้อมควบ "ทีเฟ็กซ์" ปีนี้เร่งสร้างสภาพคล่อง จากกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการให้ควบรวมตลาดอนุพันธ์ (TFEX) กับ ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) เข้าด้วยกัน โดยแผนดังกล่าว จะช่วยกระตุ้นปริมาณการซื้อขายสินค้าในตลาดเกษตรล่วงหน้าคึกคักมากขึ้น หลังจากอนุมัติหลักการควบรวมแล้ว ต้องดูถึงแนวทางปฏิบัติจริง ได้แก่ การร่างกฎหมายใหม่ การนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ประเทศไทย) หรือ สนช. นายวิวัฒน์ ตีระวนิชพงศ์ กรรมการและผู้จัดการคนใหม่ ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย หรือ ต.ส.ล. (AFET) กล่าวว่า หลังจากหลักการผ่านไป คงต้องรอดูหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงพาณิชย์ เสนอร่างกฎหมายใหม่ จากนั้นเสนอให้ สนช. ซึ่งต้องใช้เวลาในการแก้ไขกฎหมาย ถ้าการควบรวมเกิดขึ้น จะช่วยกระตุ้นปริมาณการซื้อขายตลาดเกษตรเพิ่มขึ้น ส่วนกรณีกระทรวงการคลัง ศึกษาการจัดตั้งตลาดกลางยางพาราแห่งใหม่ ที่จะทำให้เกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ซื้อยางโดยตรงได้พบ และเจรจาตกลงซื้อขายกันจริง ไม่ใช่เป็นเพียงการซื้อขายผ่านกระดาษ หากเกิดขึ้นจริงจะช่วยสนับสนุนเอเฟทมากขึ้น หากผู้ประกอบการซื้อขายยางกันมากขึ้น เอเฟทจะเป็นสิ่งสำคัญ ในการช่วยประกันความเสี่ยงด้านราคา ให้กับผู้ประกอบการหันมาซื้อขายในเอเฟทเพิ่มขึ้น สำหรับผลการดำเนินงานของเอเฟท 10 ปีที่ผ่านมา (2547-2557) ต้องยอมรับว่า นักลงทุนให้ความสนใจทำธุรกรรมค่อนข้างน้อย โดยตั้งแต่เปิดตลาดในปี 2547 จนถึงปัจจุบันมีทั้งสิ้น 1,137,276 สัญญา เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 9,030 สัญญา หรือ 446 สัญญาต่อวัน สินค้าหลักที่ซื้อขาย คือ สินค้ายางพารา ข้าว และมันสำปะหลัง และหากประเมินปริมาณสัญญาซื้อขายตั้งแต่ม.ค.-ต.ค.2557 มีการซื้อขายเฉลี่ย 331 สัญญาต่อวัน ขณะที่เอเฟทกับประเทศอื่น อาทิ ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าสิงคโปร์ (SICOM) ซื้อขายเฉลี่ย 1,912 สัญญาต่อวัน หรือญี่ปุ่น มีปริมาณสัญญาซื้อขายเฉลี่ยอยู่ที่ 83,664 สัญญาต่อวัน จะเห็นว่าปริมาณสัญญาซื้อขายของตลาดเอเฟท มีการทำธุรกรรมน้อยมากเรียกได้ว่า "ไร้สภาพคล่อง" นายวิวัฒน์ ประเมินสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้ผลการดำเนินงานไม่ประสบผลสำเร็จ ได้แก่ 1.ค่าใช้จ่ายในการเทรด (Transaction Fee) ไม่จูงใจ เมื่อเทียบกับตลาดที่ขายสินค้ากลุ่มเดียวกัน 2.ให้ความรู้กับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าน้อยเกินไป และ 3. แทรกแซงตลาดสินค้าเกษตรโดยภาครัฐในอดีตมากเกินไป ทำให้ตลาดถูกบิดเบือนมาก ดังนั้น นายวิวัฒน์ จึงวางกลยุทธ์สำคัญ เพื่อดึงความสนใจจากผู้เกี่ยวข้องกลับมาปีนี้ โดยแบ่งออกเป็น 3 กลยุทธ์หลัก อย่างแรก คือ ปรับเวลาซื้อขายให้เท่ากับตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าสิงคโปร์ หรือเปิดทำการ 8.00 น. จากเดิมที่เปิดการซื้อขาย 10.00 น. ซึ่งจะทำให้เอเฟท มีเวลาเปิดทำการในเวลาเดียวกันกับตลาดของเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าที่ได้รับความนิยมอย่างมาก มีปริมาณสัญญาซื้อขายต่อวันมากกว่า 100,000 สัญญา ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาด้านเทคนิคและนำเสนอ ก.ส.ล. อย่างที่ 2 คือ การปรับลดค่าธรรมเนียมต่างๆ ได้แก่ 1.ปรับลดค่าธรรมเนียมการซื้อขายต่อสัญญาใกล้เคียงหรือต่ำลงกับตลาดสิงคโปร์ (อยู่ระหว่างการเสนอบอร์ด เพื่ออนุมัติ) 2.ยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปี เป็นเวลา 2 ปี ตั้งแต่ปี 2558-2559 3. ยกเว้นค่าขึ้นทะเบียนบุคลากรเป็นเวลา 1 ปี และ 4. ยกเว้นค่าอบรมและทดสอบหลักสูตรสำหรับผู้ที่ต้องการขอใบอนุญาตขึ้นทะเบียน และหลักสูตร Refresh 1 ปี อย่างที่ 3 คือ ปรับปรุงสัญญาของสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ซื้อ และผู้ขาย ล่าสุดสินค้ามันเส้นที่ปรับสัญญาใหม่ ได้เริ่มเข้าซื้อขายปลายปีก่อน "3 กลยุทธ์ อยู่ภายใต้วัตถุประสงค์เดียวกัน คือเพิ่มสภาพคล่องให้เอเฟท โดยการปรับเวลาให้ทัดเทียมตลาดประเทศอื่น ทำให้ปริมาณการซื้อขายในต่างประเทศ ไหลเข้าสู่ตลาดสินค้าเกษตรของไทยได้มากขึ้น ซึ่งไทยมีจุดเด่นเรื่องการเป็นประเทศเกษตรกรรม เป็นผู้ผลิตยางพารา และข้าวรายใหญ่ของโลก การเข้ามาเก็งกำไรในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าของไทยย่อมเป็นที่น่าสนใจมากกว่า เมื่อเทียบกับสิงคโปร์ ส่วนการปรับลดค่าธรรมเนียมเป็นการเปิดทางให้"ผู้เล่น"ในตลาดมีมากขึ้น" นายวิวัฒน์ กล่าวว่า จากการให้ข้อมูลนักลงทุนสถาบันในประเทศ ส่วนมากมองตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าเป็น "ความเสี่ยง" ซึ่งบิดเบือนไปจากวัตถุประสงค์ของตลาดที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่ง "ป้องกันความเสี่ยง" ดังนั้นการเพิ่มแรงจูงใจ จึงต้องดำเนินการเร่งด่วน เพื่อให้ต้นทุนผู้เล่นฝั่งป้องกันความเสี่ยงและเก็งกำไรต่ำลง และขยับเพดานกำไรเพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกัน การปรับขนาดสัญญาของสินค้า ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ซื้อและผู้ขาย เป็นอีกช่องทางที่ดึงนักลงทุนจากภาคเกษตรเข้ามาลงทุนมากขึ้น ที่ผ่านมามีจุดยืนการเป็นผู้สร้างกลไกราคาสินค้าเกษตรชัดเจน แต่วัตถุประสงค์นี้กลับไม่ได้สร้างประโยชน์ให้กับเกษตรมากนัก เพราะถูกแทรกแซงด้วยนโยบายทางการเมือง รวมถึงผู้ซื้อ-ผู้ขาย ไม่สนใจเข้าลงทุน เพราะมีต้นทุนซื้อขายสูง รวมถึงขนาดสัญญามีขนาดใหญ่ อาทิ ข้าว 50 ตัน เท่ากับ 1 สัญญา ซึ่งขนาดของสัญญาเป็น 1 ในอุปสรรคที่ทำให้ผู้ที่จะเข้ามาเก็งกำไรลังเลที่จะเข้าลงทุน เพราะต้นทุนที่ใช้วางมาร์จินซื้อขายสูง จนทำให้ไม่มีผู้เล่นรายย่อยในตลาด แรงเหวี่ยงของราคาจึงไม่เกิดขึ้น และปัญหาจะวนมาที่เดิมคือ ตลาดไร้สภาพคล่อง "การลดขนาดสัญญาลง เช่น ปรับสัญญาซื้อขายข้าว จาก 50 ตันเท่ากับ 1 สัญญา เป็น 5 ตันต่อ 1 สัญญา ทำให้ปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้น ผู้ประกันความเสี่ยงและผู้ลงทุนที่เป็นรายย่อยจะเพิ่มขึ้น ซึ่งกลุ่มนี้เป็นผู้เล่นหลัก ที่จะทำให้ราคาสินค้าในตลาดเกิดแรงเหวี่ยง การลดขนาดสัญญาจะเรียกกลุ่มนักลงทุนดังกล่าวมาลงทุนในตลาดสินค้าเกษตรได้ ตอบโจทย์เรื่องการสร้างสภาพคล่องได้ดี" Tags : ครม. • ตลาดอนุพันธ์ • ตลาดสินค้าเกษตร • สนช.