ไทยพาณิชย์หวั่นธุรกิจแบงก์ป่วน

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 6 มกราคม 2015.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    ไทยพาณิชย์หวั่นธุรกิจแบงก์ป่วน "กรรณิกา" ยอมรับห่วงเอสเอ็มอีและเช่าซื้อที่พึ่งการค้ำประกันจำนวนมาก

    "ไทยพาณิชย์" ชี้ พรบ.ค้ำประกันป่วนวงการแบงก์แน่ หลังต้องปรับกระบวนการทำงานและต้นทุนมหาศาล หวั่นลูกค้าปรับโครงสร้างหนี้ไม่ได้ เพิ่มภาระให้ศาลงานล้นมือ ส่งผลยอดเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น ส่วนแผนสินเชื่อปีหน้าคาดโต 5-6% รับตัวแตะเบรกสินเชื่อรายย่อยที่เป็นแชมป์มาตลอด หันมุ่งธุรกิจ"รายใหญ่-เอสเอ็มอี"

    ธนาคารไทยพาณิชย์ ตั้งคณะทำงานขึ้นมาในทุกแผนกทำงานร่วมกับฝ่ายกฎหมายของธนาคาร เพื่อศึกษาและปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานให้เข้ากับ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 ว่าด้วยการค้ำประกันและจดจำนอง ที่จะมีผลในวันที่ 11 ก.พ.2558 ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้น น่าจะอยู่กับสินเชื่อเอสเอ็มอีและสินเชื่อเช่าซื้อเป็นหลัก โดยสินเชื่อเช่าซื้อ เป็นการกู้แบบมีผู้ค้ำประกันกว่า 60-70% ของพอร์ต

    นางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้น นอกจากจะกระทบกับกระบวนการปล่อยสินเชื่อทั้งระบบ ตั้งแต่ขั้นตอนเอกสาร การวิเคราะห์สินเชื่อ ยังรวมไปถึงการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลมากกว่า เพราะการปรับโครงสร้างหนี้ ตามกฎหมายใหม่ ต้องได้รับการยินยอมจากผู้ค้ำประกัน หากเราส่งจดหมายแจ้งผู้ค้ำประกันแล้ว แต่ไม่มีการตอบกลับ หรือไม่สามารถตามตัวผู้ค้ำประกันมาเซ็นยินยอมค้ำประกันต่อได้ ตามกระบวนการธนาคาร ต้องไปฟ้องร้องดำเนินคดี กลายเป็นภาระของศาลที่เพิ่มขึ้น

    จำนวนลูกหนี้ที่ต้องเข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้มีจำนวนมาก โดยเฉพาะเมื่อเกิดปัญหาในอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งขึ้นมา เช่น วิกฤติรัสเซียที่กระทบกับภาคท่องเที่ยวปีหน้า หากต้องเข้าไปช่วยผ่อนปรนการชำระหนี้ให้ลูกค้า จะไม่สามารถทำได้คล่องตัว แม้ต้องการช่วยเหลือลูกค้าแค่ไหนก็ตาม ขณะเดียวกันงานที่ล้นศาล จะทำให้กระบวนการพิจารณาล่าช้าออกไป หากเกินกำหนด 90 วันลูกหนี้ที่ดีกลายเป็นเอ็นพีแอลในที่สุด และส่งให้เอ็นพีแอลในระบบปรับเพิ่มขึ้น

    ดังนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้น คือ ธนาคารจะระมัดระวังลูกค้า ที่อยู่ในกลุ่มเอสเอ็มอี รวมถึงสินเชื่อเช่าซื้อด้วยที่จะขอสินเชื่อใหม่ลำบาก โดยเฉพาะเอสเอ็มอีเป็นกลุ่มที่ควรสนับสนุนหลัก เพราะมีบทบาทต่อเศรษฐกิจไทย ระหว่างที่ ธปท.เสนอกระทรวงการคลังให้พิจารณาเลื่อนการบังคับใช้กฏหมายออกไป ในส่วนธนาคารต้องดำเนินการไปบนพื้นฐานว่ากฎหมายยังไม่เลื่อนเวลาออกไป แม้ไม่ถึงกับทำให้แผนรุกสินเชื่อเอสเอ็มอีของธนาคารชะงัก แต่ยอมรับเป็นอุปสรรคบ้าง เพราะธนาคารต้องพิจารณาสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น

    “ดูเผินๆ ไม่มีอะไร แต่ต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานของทุกกลุ่มธุรกิจทั้ง รายใหญ่ เอสเอ็มอีและรายย่อย ทุกคนบอกว่ากฎหมายนี้ดีกับคนค้ำ หากกฎหมายใหม่บังคับใช้ ธนาคารพร้อมทำตาม เพราะเราต้องทำธุรกิจ แต่ผลกระทบเยอะกว่าที่คิด ไม่ใช่แค่ต้นทุนแบงก์ที่เพิ่มขึ้น สินเชื่อหมุนเวียนทั้งหลายไม่สามารถให้ต่อไปได้ ต้องเรียกผู้ค้ำมาทำสัญญาใหม่ทุกครั้ง ถ้าผู้ค้ำไม่มา ก็จะหลุดจากภาระการค้ำประกัน กรณีที่ลูกค้าที่มีหลักประกันก็ต้องมาเสียค่าต๋งใหม่ทุกครั้ง หรือเศรษฐกิจไม่ดี ก็ต้องปรับโครงสร้างหนี้ แต่ละช่วงมีจำนวนมากเพราะแบงก์ต้องช่วยลูกค้าตลอด เรียกว่าการปฏิบัติงานของธนาคารต้องเปลี่ยนมหาศาล เชื่อต้นปีหน้าก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้จะเกิดความปั่นป่วนในวงการน่าดู”

    นางกรรณิกา ยังกล่าวถึงการขยายธุรกิจปีนี้ ธนาคารจะบุกตลาดมากขึ้น หลังจากปี 2557 ธนาคารเพิ่มความระมัดระวังในการขยายธุรกิจ เพราะเห็นสัญญาณแล้วว่า เอ็นพีแอลต้องมาแน่ และเห็นการเพิ่มขึ้นจริง ขณะนี้เห็นชัดแล้วว่าลูกหนี้รายได้ที่ยังทนทานต่อภาวะเศรษฐกิจได้ โดยคาดสินเชื่อทั้งระบบปีนี้จะอยู่ที่ 5% เป้าการขยายสินเชื่อของธนาคารจึงอยู่ที่ 5-6% เทียบกับปีก่อน ที่คาดจะขยายตัวเพียง 2-3% ซึ่งโอกาสขยายสินเชื่อปีนี้จะมาจากธุรกิจขนาดใหญ่และเอสเอ็มอีเป็นสำคัญ ส่วนสินเชื่อรายย่อยจะชะลอตัวลงจากปัญหาหนี้ครัวเรือนและยอดขายรถรวมถึงคอนโดมิเนียมที่ยังไม่ดีนัก

    ทั้งนี้เป้าสินเชื่อดังกล่าวมาจากประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้ ที่ธนาคารคาดว่า ขยายตัวได้ 3.5% เทียบกับปีที่ผ่านมาที่ขยายตัวได้เพียง 1% จากแรงผลักในประเทศจากโครงการลงทุนภาครัฐที่จะต้องเกิดขึ้นจริงจัง ขณะที่ความเสี่ยงจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์และราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง รวมถึงเศรษฐกิจโลกและการเมืองระหว่างประเทศยังส่งผลถึงไทย โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวทั้งภูเก็ตและพัทยาที่พึ่งพิงนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียจำนวนมาก

    “ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาสินเชื่อรายย่อยเติบโตด้วยเลข 2 หลักตลอด แต่ปี 2557 เหลือโตแค่หลักเดียว และปีนี้ยังจะเหลือหลักเดียวเช่นกัน สินเชื่อรายย่อยยังโตต่อเนื่อง แต่จะช้าลง สินเชื่อบ้านก็ยังไปได้แต่ไม่ควรหวือหวา เน้นระบายของเก่าออกไปดีกว่า โครงการรถคันแรกทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นและสินค้าโภคภัณฑ์ยังไม่ดี”

    นางกรรณิกา กล่าวว่า ยุทธศาสตร์การลงทุนในกลุ่มซีแอลเอ็มวีนั้นธนาคารมองว่าหากใช้รูปแบบของการเป็นผู้ถือหุ้นทั้ง 100% จะมีความคล่องตัวมากกว่า โดยในขณะนี้อยู่ระหว่างรอทางการเวียดนามอนุมัติให้ธนาคารเป็นผู้ถือหุ้นหลักในธนาคารร่วมทุนวีนาสยาม เต็ม 100% หากทางการอนุมัติ ธนาคารจะเข้าไปเจรจาซื้อหุ้นจากผู้ร่วมทุน อีก 2 ราย คือ กลุ่มซีพี และอกริแบงก์ของเวียดนาม (Vietnam Bank for Agriculture and Rural Development : AGRIBANK) เพราะต้องเป็นราคาที่เหมาะสม ซึ่งโอกาสในเวียดนามยังมีอยู่มากจากตลาดที่ใหญ่ และมีแนวโน้มเติบโตสูง

    ส่วนธุรกิจในกัมพูชา มีธนาคารในเครืออยู่แล้ว คือ ธนาคารกัมพูชาพาณิชย์ โดยเชื่อมระบบคอร์แบงกิ้งเป็นระบบเดียวกับไทย ขณะที่พม่า ยังต้องการเปิดสาขาอยู่ หากทางการอนุญาต ปัจจุบันธนาคารปล่อยสินเชื่อในพม่าบ้าง แต่เป็นการให้สินเชื่อจากไทยเข้าไปทำธุรกิจในพม่า ส่วนรูปแบบการเป็นพันธมิตรกับธนาคารท้องถิ่น หลังจากธนาคารได้พันธมิตรกับธนาคารมิซูโฮ ของญี่ปุ่น ขณะนี้กำลังมองหาพันธมิตรธนาคารของจีนอยู่ แม้จะมีสาขาอยู่แล้วก็ตาม

    Tags : นางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ • ธนาคารไทยพาณิชย์ • ธุรกิจแบงก์

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้