"คลัง" ประเดิมปี 58 ออกบอนด์ออมทรัพย์รุ่นพิเศษ "สุขกันเถอะเรา" วงเงิน 1 แสนล้านบาท อายุ 5-10 ปี ชูดอกเบี้ยสูงเฉลี่ย 3.8-4% เปิดขาย 12-23 ม.ค.นี้ หวังระดมเงินรีไฟแนนซ์เงินกู้ระยะสั้นโครงการรับจำนำข้าว และลดภาระการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายแต่ละปี เผยรัฐค้างหนี้ ธ.ก.ส. วงเงิน 2.3 แสนล้าน กระทรวงการคลัง กำลังทยอยออกพันธบัตร เพื่อนำเงินที่ได้ไปรีไฟแนนซ์หนี้เงินกู้ที่เกิดจากโครงการจำนำข้าวในรัฐบาลชุดที่แล้ว ซึ่งขณะนี้เหลือวงเงินกู้ที่รอการชำระจำนวน 4.93 แสนล้านบาท โดยล่าสุดได้ประกาศเสนอขายพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษ รุ่น "สุขกันเถอะเรา"วงเงิน 1 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ 5 หมื่นล้านบาท จะนำไปรีไฟแนนซ์เงินกู้ระยะสั้นจากสถาบันการเงินในโครงการรับจำนำดังกล่าว การทยอยออกพันธบัตร เพื่อรีไฟแนนซ์หนี้เงินกู้จำนำข้าวดังกล่าว เพื่อลดภาระการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายในแต่ละปีเพื่อมาชำระหนี้ เนื่องจากรัฐบาลต้องการจัดสรรงบประมาณเพื่อการลงทุนให้มากขึ้น ขณะที่วงเงินงบประมาณมีจำกัด โดยรัฐบาลมีแผนจะใช้เวลาในการรีไฟแนนซ์หนี้ก้อนนี้ยาวถึง 30 ปี โดยระยะเวลาดังกล่าว จะขึ้นอยู่กับเม็ดเงินชำระหนี้ที่ได้จากการระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาลด้วย เน้นกลุ่มผู้ซื้อไม่แสวงหาผลกำไร นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ออกพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษ รุ่น "สุขกันเถอะเรา" วงเงิน 1 แสนล้านบาท เปิดขายแก่ประชาชนและนิติบุคคล ที่ไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไร โดยจะเปิดเสนอขายช่วงแรกในวันที่ 12-18 ม.ค.นี้ วงเงินซื้อขั้นต่ำ 1 พันบาท สูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาทต่อรายต่อธนาคาร หากวงเงินยังเหลือจากการจำหน่ายช่วงแรกจะเปิดจำหน่ายในช่วงที่ 2 คือ ระหว่างวันที่ 19-23 ม.ค.2558 วงเงินขั้นต่ำ 1 พันบาทต่อรายต่อธนาคาร และไม่จำกันวงเงินขั้นสูงในการซื้อ ทั้งนี้ พันธบัตรออมทรัพย์พิเศษดังกล่าวจะแบ่งออกเป็น 2 รุ่น คือ 1.พันธบัตรออมทรัพย์พิเศษ รุ่น "สุขกันเถอะเรา" ของกระทรวงการคลัง อายุ 10 ปี วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ 4% แบ่งเป็น ขั้นบันได โดยปีที่ 1-3 อัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี ปีที่ 4-7 อัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี และ ปีที่ 8-10 อัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปี โดยรุ่นนี้ ออกเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 2.พันธบัตรออมทรัพย์พิเศษ รุ่น"สุขกันเถอะเรา" ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) อายุ 5 ปี วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3.80% ต่อปี โดยรุ่นนี้ ออกเพื่อรีไฟแนนซ์เงินกู้ระยะสั้นจากสถาบันการเงินในโครงการจำนำข้าว เปิดขายผ่าน 4 แบงก์ใหญ่ สำหรับธนาคารผู้จัดจำหน่ายพันธบัตรทั้ง 2 รุ่นดังกล่าว ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และ สำหรับพันธบัตรรุ่นของธ.ก.ส.จะมีธ.ก.ส.เป็นผู้จัดจำหน่ายด้วย นายสมหมาย มั่นใจว่า การเสนอขายพันธบัตรออมทรัพย์รุ่นพิเศษนี้ จะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เนื่องจากให้อัตราผลตอบแทนสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในช่วงเวลาเดียวกัน โดยพันธบัตรดังกล่าวมีรัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกันทั้งดอกเบี้ยและต้นเงิน "ผมมั่นใจว่า พันธบัตรล็อตนี้จะขายได้หมด เพราะอัตราดอกเบี้ยจูงใจ อย่างไรก็ดี เราแผนที่จะออกพันธบัตรออมทรัพย์อีกรอบในช่วงที่เหลือของปีนี้" นายสมหมาย กล่าว รับภาระดอกเบี้ยสูงขึ้นเล็กน้อย ด้านนายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ส่วนของภาระหนี้จากการดำเนินโครงการจำนำข้าว ส่วนที่เป็นเงินกู้ 4.93 แสนล้านบาทนั้น มีหนี้ที่ครบกำหนดปีนี้ 1.54 แสนล้านบาท โดยที่ผ่านมาได้ออกพันธบัตรรีไฟแนนซ์หนี้ไปแล้ว 5.33 หมื่นล้านบาท ล่าสุดออกพันธบัตรออกทรัพย์รุ่นพิเศษอีก 5 หมื่นล้านบาท จึงเหลืออีก 5.07 หมื่นล้านบาท ที่ต้องพิจารณารูปแบบการกู้เงินต่อไป ซึ่งจะเน้นปรับโครงสร้างหนี้จากระยะสั้นที่กู้แบบเทอมโลนจากสถาบันการเงิน มาเป็นพันธบัตรระยะยาวมากขึ้น ขณะนี้มีสัดส่วนของพันธบัตรเพิ่มจาก 46% มาอยู่ที่ 64% หลังจากที่ออกบอนด์ออมทรัพย์ล่าสุด ทั้งนี้ หลังออกพันธบัตรออมทรัพย์รุ่นพิเศษที่มีดอกเบี้ยสูง ทำให้ต้นทุนดอกเบี้ยเงินกู้โครงการนี้สูงขึ้นเล็กน้อย จากปัจจุบันที่มีเงินกู้เฉลี่ย 3% ต่อปี รัฐค้างหนี้ธ.ก.ส. 2.3 แสนล้าน ส่วนการชำระคืนเงินต้นทั้งจากการกู้ยืมและการใช้สภาพคล่องของธนาคาร ซึ่งขณะนี้ มียอดรวมที่รัฐบาลต้องใช้หนี้ธ.ก.ส.อยู่จำนวน 2.3 แสนล้านบาท ก็ต้องรอเงินจากการขายข้าวและการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายในปีต่อไป หลังจากที่ปี 2558 ได้รับจัดสรรงบชะคืนเงินต้น 3 หมื่นล้านบาท และชำระดอกเบี้ยประมาณ 2 หมื่นล้านบาท สำหรับการขายข้าว ล่าสุดหลังจากสอบถามไปยังกฤษฎีกา และได้รับการยืนยันให้ขายข้าวในสต็อกรัฐบาลได้ เพื่อไม่ให้ข้าวมีคุณภาพเสื่อมลงไปอีก หากเก็บไว้นาน และเป็นภาระต้นทุนในการจัดเก็บ ทำให้ทางกระทรวงพาณิชย์ เริ่มระบายข้าวออกมาบางส่วนแล้ว น่าจะได้รับเงินเข้ามาอีกทางหนึ่ง แต่ต้องทยอยขาย เพื่อไม่ให้กระทบกับข้าวใหม่ที่ออกสู่ตลาดให้มีราคาลดลง จ่ายชดเชยเกษตรกรวงเงิน3พันล้าน ด้านการจ่ายเงินชดเชยชาวสวนยางไร่ละ 1,000 บาท นายลักษณ์ กล่าวว่า ล่าสุด ธ.ก.ส.สามารถจ่ายเงินให้เกษตรกรได้แล้วว่า 3 แสนรายวงเงิน 3 พันล้านบาท ซึ่งขณะนี้สามารถจ่ายเงินได้เร็วขึ้น หากเทียบกับระยะแรกๆ หลังจากที่ได้มีการหารือกับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี และได้ปรับกระบวนการทำงานใหม่ลดขั้นตอนการทำงานลงในบางส่วน แต่ยังคงเน้นการตรวจสอบในระดับอำเภอและการทำประชาคมที่เข้มงวดเหมือนเดิม โดยคาดว่าเงินจำนวนที่เหลืออีกประมาณ 5 พันล้านบาทจะสามารถจ่ายให้เกษตรกรได้ครบทุกรายภายในกลางเดือนมกราคมนี้ ส่วนการจ่ายเงินชดเชยชาวนาไร่ละ 1,000 บาทไม่เกินครัวเรือนละ 15,000 บาทนั้นขณะนี้จ่ายไปได้แล้วกว่า 3.4 ล้านราย คิดเป็นเงิน 3.7 หมื่นล้านบาท หรือกว่า 96% คาดกว่าภายในสัปดาห์นี้จะสามารถจ่ายเงินได้ครบทั้ง 4 หมื่นล้านบาท Tags : กระทรวงการคลัง • พันธบัตร • รีไฟแนนซ์ • หนี้เงินกู้ • จำนำข้าว • สุขกันเถอะเรา • สมหมาย ภาษี • ออมทรัพย์ • ดอกเบี้ย • ลักษณ์ วจนานวัช • ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล