กกร.จี้รัฐเร่งดันนโยบายศก.

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 6 มกราคม 2015.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    กกร.ถกวันนี้ประเมินแนวโน้มปี58 คาดโต4% นายกฯสั่งเดินหน้าเต็มที่ "ปรีดิยาธร"มั่นใจเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว

    นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่าวาระการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) วันที่ 6 ม.ค.นี้ ว่า การประชุม กกร. ในครั้งนี้จะมีการพิจารณาภาวะเศรษฐกิจภาพรวมปี 2557 และคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2558 ที่คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)จะเติบโตได้ระดับประมาณ 3.5-4% ภายใต้เงื่อนไขมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐที่สำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ

    มาตรการสนับสนุนภาครัฐที่สำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ 1. การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศที่จะต้องดำเนินการหลายๆ ส่วนเช่น การวางโครงสร้างพื้นฐาน การเชื่อมโยงไทยกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี การปฏิรูปการศึกษา 2. การผลักดันราคาสินค้าภาคการเกษตรโดยรัฐควรจะจัดโซนนิ่งพื้นที่เพาะปลูกด้วยการลดพื้นที่พืชเกษตรที่มีแนวโน้มราคาตกต่ำ และเพิ่มพื้นที่สินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาสูงขึ้นแทน

    3. การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนภายในประเทศให้เป็นรูปธรรมเพื่อกระจายเม็ดเงิน 3-4 แสนล้านบาทสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว

    นายวัลลภ กล่าวว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเหล่านี้ จะมีส่วนสำคัญในการขยายอัตราการเติบโตของจีดีพี ที่ต้องพึ่งพิงทั้งส่งออก การลงทุน การท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศ

    "การส่งออกในปีนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงมาก ส่วนตัวมองว่าปี 2558 ส่งออกคงโตได้ 2.5-3%"

    ห่วงราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

    นายวัลลภ กล่าวว่าปัจจัยเสี่ยงปี 2558 ในด้านปัจจัยภายในประเทศที่น่าเป็นห่วงสุด คือ ราคาสินค้าภาคการเกษตรที่ยังคงมีแนวโน้มตกต่ำเกือบทุกรายการ ซึ่งยังไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะมีแนวทางในการดูแลอย่างไรเพราะจะมีผลต่อกำลังซื้อหรือการบริโภคภายในประเทศพอสมควร

    ส่วนปัจจัยภายนอกประเทศ มีหลายปัจจัยที่สำคัญได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจแม้สหรัฐฯอาจจะเริ่มฟื้นตัวอบย่างเห็นได้ชัด แต่ยุโรป จีนและญี่ปุ่นยังคงชะลอตัว นอกจากนี้ยังมีปัญหาค่าเงินของรัสเซียที่จะต้องติดตามว่าจะกระทบต่อภูมิภาคเอเชียมากน้อยเพียงใด ขณะเดียวกันราคาพลังงานโลกเองที่อาจถึงจุดต่ำสุดแล้วหรือไม่และอาจจะกลับมาผันผวนได้

    กรอ.ถกพัฒนาเศรษฐกิจชายแดน

    นอกจากนี้ กกร.ยังจะหารือถึงมาตรการสนับสนุนด้านเศรษฐกิจที่ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ในภาพรวม รวมถึงการรายงานผลการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

    “เวที กรอ.ปี 2558 คาดว่าประเด็นที่จะมีการหยิบยกหารือ คือ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่รัฐบาล กำลังผลักดันและส่งเสริมในการนำร่อง 5 จังหวัดได้แก่ อ.แม่สอด จ.ตาก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว พื้นที่ชายแดน จ.ตราด พื้นที่ชายแดน จ.มุกดาหาร และ อ.สะเดา จ.สงขลา โดยเห็นว่าแต่ละพื้นที่นั้นคงไม่สามารถสนับสนุนให้เกิดการลงทุนภาคอุตสาหกรรมได้ทั้งหมดเพราะปัจจัยแรงงานบางพื้นที่ไม่สามารถรองรับได้ เช่น จ.ตราด จึงต้องหารือถึงแนวทางการพัฒนาให้เหมาะสม” นายวัลลภ กล่าว

    ทั้งนี้ อ.แม่สอด จ.ตากถือเป็นพื้นที่เหมาะสมที่จะเกิดการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมมากสุดขณะนี้เพราะมีปัจจัยแรงงานที่จะเอื้อได้ดีสุด แต่จ.ตราดควรจะเป็นการลงทุนประเภทกระจายสินค้าและการท่องเที่ยว เป็นต้น ดังนั้นควรจะต้องมาหารือร่วมกันเพื่อให้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ

    นายกฯสั่งเร่งขับเคลื่อนนโยบาย

    ด้าน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วานนี้ (5 ม.ค.) เข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2558 ให้กับนายกรัฐมนตรีรับทราบ ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีไม่ได้แสดงความเป็นห่วงเรื่องใดเป็นพิเศษ แต่ให้ขับเคลื่อนเดินหน้านโยบายเศรษฐกิจต่างๆตามที่ได้มีการออกมาก่อนหน้านี้ให้เต็มที่

    ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวมั่นใจว่าเศรษฐกิจในปีนี้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในปี 2558 จะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 4% โดยสมมุติฐานดังกล่าวอยู่บนตัวเลขการส่งออกที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเท่ากับในปี 2557 ซึ่งมองว่าในปี 2558 หากการส่งออกขยายตัวได้ที่ 3 - 4% ก็ถือว่าน่าพอใจเพราะว่าภาวะเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวได้เต็มที่ ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังปรับตัวลดลง

    คาดว่าราคาน้ำมันจะทรงตัวในระดับต่ำไปอีก 7-8 เดือน ซึ่งราคาน้ำมันที่ลดลงก็จะส่งผลให้มูลค่าการส่งออกน้ำมันที่ไทยนำเข้ามากลั่นและส่งออกลดลงไปด้วย ซึ่งตัวเลขประมาณการส่งออกที่ชัดเจนจะต้องรออีก 3 สัปดาห์โดยขณะนี้กำลังรวบรวมข้อมูล

    "ผมกับทีมงานที่เกี่ยวข้องก็นั่งดูข้อมูลเศรษฐกิจอยู่ ซึ่งตัวเลขทุกอย่างก็ดีขึ้นเรื่อยๆ บรรยากาศการใช้จ่ายก็คึกคัก แต่ข่าวที่ออกไปกลับเป็นเรื่องที่มีความกังวลกัน ผมก็ไม่รู้ว่าเกิดจากอะไร อาจเป็นเพราะการสื่อสารลำเลียงข้อมูลออกไปยังไม่ดีพอ" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว

    ยันไม่จำเป็นออกมาตรการกระตุ้น

    ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่าในปี 2558 ไม่จำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม เนื่องจากมีแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภายในประเทศโดยมีผลดีต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน พ.ย. - ธ.ค.ปีที่ผ่านมาที่ตัวเลขการบริโภคภาคครัวเรือนที่ได้รับรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน ขณะที่การลงทุนของภาคเอกชนก็ได้รับผลดีจากการเร่งรัดออกใบอนุญาต รง.4 ที่กระทรวงอุตสาหกรรมมีการออกใบอนุญาตไปแล้วกว่า 2,900 ใบ ซึ่งส่วนนี้จะช่วยให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น

    ส่วนการเร่งรัดการจ่ายเงินให้กับเกษตรกรก็มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องโดยในส่วนของการจ่ายเงินให้กับชาวสวนยางไร่ละ 1,000 บาท ขณะนี้มีการจ่ายเงินให้กับเกษตรกรแล้วประมาณ 3.5 แสนราย และคาดว่าอีกไม่เกิน 10 วันจะสามารถจ่ายเงินให้กับเกษตรกรได้ครบทั้ง 8.5 แสนราย ซึ่งการจ่ายเงินให้กับเกษตรกรในส่วนนี้เท่ากับว่ารัฐบาลได้ช่วยเหลือเงินเพิ่มให้กับเกษตรกรอีก 4.5 บาทต่อกิโลกรัมซึ่งเชื่อว่าจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรได้

    “เรื่องราคายางรัฐบาลก็พยายามช่วยเต็มที่ตอนนี้เราก็พยายามดันราคายางแผ่นดิบชั้น 3 ให้อยู่ที่ราคา 60 บาทต่อกิโลกรัม และยันราคานี้ให้อยู่ซึ่งก็ไม่ง่ายเพราะราคาน้ำมันปรับลงตลอดและมีผลกดราคายาง ตอนนี้ก็เร่งจ่ายเงินให้กับเกษตรกรไร่ละ 1,000 บาทให้เร็วที่สุด คาดว่าอีก 10 วันจะจ่ายได้ครบ ระหว่างนี้คุณอำนวย รัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตรฯก็ลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจกับเกษตรกรโดยตลอด” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว

    รัฐบาลเล็งลงทุนระบบน้ำ7แสนล.

    ด้านนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่ารัฐบาลมีแผนที่จะเดินหน้าลงทุนโครงการบริหารจัดการทั้งระบบใหม่ และ เพื่อให้การลงทุนเป็นไปอย่างสมบูรณ์ คาดว่า จะใช้เงินมากกว่ารัฐบาลที่แล้วถึงเท่าตัว หรือ ประมาณ 7 แสนล้านบาท ซึ่งจะใช้เวลาลงทุน 8-9 ปี

    "รัฐบาลที่แล้วตั้งวงเงินไว้ 3.5 แสนล้านบาท แต่เราได้ยกเลิก เพราะกระบวนการเร่งรัด ไม่มีรายละเอียดโครงการ รัฐบาลนี้จะใช้วงเงินมากกว่าเท่าตัว และเราจะใช้วงเงินกู้ใหม่ เพราะอยากทำให้ถูกต้อง"

    ทั้งนี้ เม็ดเงินที่จะนำมาใช้นั้น จะเน้นเงินกู้จากในประเทศเป็นหลัก และอีกส่วนจะนำมาจากงบประมาณปกติ โดยในปี 2558-2559 มีแผนใช้เงินเพื่อบริการจัดการทำประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท ซึ่งได้มีการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้รับทราบแล้ว และกระทรวงการคลังได้เตรียมเงินไว้พร้อมแล้ว

    สั่งยกเลิกกู้เงินแบงก์3.5แสนล้าน

    นายสมหมาย กล่าวด้วยว่าได้สั่งการให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ส่งหนังสือไปยกเลิกสัญญาเงินกู้ระยะสั้นกับธนาคารที่ได้ทำสัญญาเงินกู้ตามพ.ร.ก.โครงการบริหารจัดการน้ำวงเงิน 3.5 แสนล้านบาทแล้ว เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลไม่มีความจำเป็นต้องใช้วงเงินกู้ก้อนนี้ เพราะยกเลิกแผนการลงทุนไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับการลงทุน

    เมื่อไทยยังมีความจำเป็นต้องใช้เงินลงทุน ดังนั้น รูปแบบการจัดทำงบประมาณรายจ่ายของประเทศในระยะจากนี้ไป จะเป็นการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล ทำให้เป้าหมายงบประมาณสมดุลในปี 2560 ต้องชะลอออกไปก่อน ขณะเดียวกัน การลงทุนในโครงสร้างก็จำเป็นต้องใช้เงินกู้ ซึ่งจะใช้ในประเทศเป็นหลัก และอาจกระทบต่อทุนสำรองระหว่างประเทศบ้างเล็กน้อย จากการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ

    หารือปรีดิยาธรจัดทำงบขาดดุล

    สำหรับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายในปี 2559 นั้น ตนเตรียมที่จะหารือกับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เพื่อเสนอแนวทางการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล ซึ่งจะเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2558 ที่ขาดดุลจำนวน 2% ของจีดีพี หรือวงเงิน 2.5 แสนล้านบาท เป็น 2.5% หรือประมาณกว่า 3 แสนล้านบาท เพื่อนำเงินจำนวนดังกล่าวไปใช้เพื่อดูแลสวัสดิการของคนในประเทศ

    นายสมหมาย กล่าวว่า เมื่อแนวทางการจัดทำงบประมาณเป็นแบบขาดดุล ฉะนั้น รายได้ของประเทศก็ต้องเพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งจะมาจากการอุดช่องโหว่ของการจัดเก็บภาษี และ การปฏิรูปโครงสร้างภาษี ซึ่งผลของการปฏิรูปนี้ จะส่งผลต่อรายได้อย่างเต็มที่นับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป ซึ่งน่าจะเป็นปีที่กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีผลบังคับใช้ แต่จะเก็บภาษีได้มากหรือไม่จะขึ้นอยู่กับการขยายตัวของจีดีพีเป็นหลัก

    "การทำงบประมาณแบบขาดดุลนั้น เราจะต้องมีรายได้เพิ่มควบคู่ไปด้วย ถ้ารายได้ไม่เพิ่มและเราอยู่เฉยๆ จะเป็นอันตราย" นายสมหมาย กล่าว


    Tags : ส.อ.ท. • สภาอุตสาหกรรม • เศรษฐกิจ • กกร. • เออีซี • โครงสร้างพื้นฐาน • สินค้าเกษตร • ชายแดน • ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล • สมหมาย ภาษี • หนี้สาธารณะ

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้