เดินทางปลอดภัย

หัวข้อกระทู้ ใน 'ยานยนต์' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 6 มกราคม 2015.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    ปี2557กำลังจะผ่านพ้นไป ช่วงนี้หลายคนเตรียมพร้อมรับวันหยุดยาว บางคนวางแผนพักผ่อน

    ขณะที่เชื่อว่าอีกจำนวนมาก หรือเตรียมตัวเดินทางไกล ทั้งการกลับภูมิลำเนา เยี่ยมครอบครัว และท่องเที่ยวในช่วงที่อากาศดี หลายพื้นที่เย็นสบาย โดยเฉพาะภาคเหนือและอีสาน

    ปีนี้คาดว่าการเดินทางทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวจะมีมากขึ้น ทั้งจากจำนวนประชากรรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น ถนนหนทางสะดวกขึ้นทั่วประเทศ น้ำมันปรับราคาลดลงอย่างมาก และสภาพอากาศที่น่าท่องเที่ยว รวมไปถึงความไม่สะดวกในการใช้บริการของระบบขนส่งสาธารณะ

    เมื่อประชากรรถบนท้องถนนมากขึ้น ความเสี่ยงในการใช้รถใช้ถนนก็เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการเดินทางจึงควรเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้นเช่นกัน

    และก่อนที่จะเริ่มต้นล้อหมุน การเตรียมความพร้อมของรถและคนก็เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรจะมองข้ามไป

    เป็นที่เข้าใจช่วงนี้ใครก็อยากเที่ยว แต่ขณะเดียวกันงานก็ยังค้างคาอีกพอควร อาจทำให้เวลาพักผ่อนน้อย ดังนั้นหากจะยืดเวลาออกเดินทางสักหน่อยก็คงไม่เสียหายอะไร หรือมีมือขับคอยสลับกันก็น่าจะดี

    ในส่วนของรถ ช่วงนี้จะนำไปซ่อมบำรุงตามศูนย์บริการหรืออู่คงจะไม่ทัน แต่ถ้าหากช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ช่วงเดือนที่ผ่านมา ไม่มีอะไรผิดปกติ ก็ไม่ต้องกังวล ใช้งานได้ตามปกติ เพียงแต่ตรวจสอบรายละเอียดทุกอย่างก่อนออกเดินทาง เช่น ล้อ มีร่องรอยฉีกขาด มีวัสดุทิ่มแทง มีรอยบวมหรือไม่ อย่าลืมมุดดูด้านในด้วย และที่สำคัญอีกอย่าง ก่อนจะขนสัมภาระใส่ท้ายรถ อย่าลืมตรวจความพร้อม เติมลมยางอะไหล่ให้เรียบร้อยเสียก่อน

    จากนั้นก็ตรวจดูอุปกรณ์ประจำรถ ว่ายังอยู่ครบ ทั้งประแจ ไขควง (รถรุ่นใหม่ๆบางรุ่นอาจไม่มีให้) แม่แรง สายลาก สายพ่วงซึ่งควรเป็นแบบสายไฟเส้นใหญ่ เพราะขนาดที่ใช้ๆ กัน ส่วนใหญ่ใช้ไม่ได้ผล เล็กเกินไป หากหาไม่ได้ แนะนำให้ติดไป 2 ชุด เมื่อจะใช้งานให้เดินขั้วละ 2 เส้นคู่กันไปเลย

    ตรวจดูห้องเครื่องยนต์ เช็คสายพาน ของเหลวต่างๆ ทั้งหมด ทั้งน้ำมันหล่อลื่น น้ำมันเกียร์น้ำมันพาวเวอร์ หม้อน้ำ น้ำล้างกระจก

    น้ำมันเชื้อเพลิง หรือ แก๊ส ถ้ามีโอกาสควรเติมให้เต็มถังไว้เสมอ อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจปั๊มข้างหน้า

    ส่วนสิ่งเสริมที่ควรจะมีติดรถไว้ เช่น ไฟฉาย แผ่นสามเหลี่ยมสะท้อนแสง กรณีรถเสียต้องจอดข้างทาง อาหาร เครื่องดื่มสำรอง หากเกิดปัญหารถติดรุนแรง หรือ ร้านอาหารระหว่างทางลูกค้าแน่นเกินไป

    หาพื้นที่ปลอดภัย หมั่นใช้สายตา

    องค์ประกอบของความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน คือ คน รถ และสภาพแวดล้อม เช่น ถนน สิ่งป้องกัน ป้าย สัญญาณไฟ รวมถึงรถคันอื่นๆ ซึ่งแน่นอนว่าบางอย่างเราคุมได้ บางอย่างอยู่เหนือการควบคุมโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเทศกาลที่ปริมาณรถมากขึ้น

    ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือ เพิ่มสมาธิในการขับขี่มากกว่าปกติ คอยสังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัว ดูพฤติกรรมของรถที่อยู่โดยรอบ และพยายามนำพาตัวเองไปอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัยที่สุด เช่น อยู่ห่างจากรถที่ชอบขับจี้ หรือน่าหวาดเสียวอื่นๆ ซึ่งทางออกที่ดีที่สุด คือปล่อยให้เขาแซงไปไกลๆ

    สิ่งที่จะทำให้เห็นและประเมินสถานการณ์รอบข้างได้ดีที่สุด คือ สายตา และกระจกต่างๆ พยายามมองให้บ่อย เพราะนอกจากจะได้เห็นสิ่งต่างๆ แล้ว ยังช่วยกระตุ้นตัวเองให้ตื่นตัว ลดการง่วงได้อีกทางหนึ่งด้วย

    และการเปลี่ยนช่องทางแต่ละครั้ง เช่น จะออกไปทางเลนขวาให้ระวังจุดบอดของการมองผ่านกระจกข้าง ซึ่งมีในรถทุกคัน สิ่งที่ควรคือการใช้หางตามองผ่านหน้าต่างรถออกไป

    ระยะห่าง เรื่องสำคัญ

    การรักษาระยะห่างจากคันหน้าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะมีเวลาในการเตรียมตัว หรือแก้ไขสถานการณ์ได้ทัน มีเกณฑ์คร่าวๆ ว่าหากขับรถด้วยความเร็วเท่าไร ให้ห่างจากคันหน้าเท่านั้น เช่น ขับ 100 กม./ชม. ให้อยู่ห่างคันหน้า 100 เมตร เป็นต้น แต่หากกะยากเกินไป ให้นับในใจ 1-3 โดยกำหนดตำแหน่งรถคันหน้าให้ชัด เช่น อยู่ตรงศาลาริมทาง ก็เริ่มนับ และเมื่อรถเราถึงศาลาหลังดังกล่าวตรงที่นับ 3 ถือว่าใช้ได้ แต่หากถึงเร็วเกินไป แสดงว่าใกล้เกินไป ทำไปสักพัก ก็จะกะระยะได้ โดยไม่ต้องนับ

    การรักษาระยะห่าง นอกจากจะทำให้เบรกได้ทันท่วงที หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดกับรถคันหน้า ก็ยังหลบเลี่ยงได้ทัน

    ส่วนใครที่ขับรถขึ้นดอยไปตามหาอากาศเย็น แม้ว่ารถจะมาก ขับได้ช้า หรือรถติดๆ ในช่วงเทศกาลเช่นนี้ ระยะห่างก็มีความจำเป็นไม่น้อย เพราะโอกาสที่คันหน้า โดยเฉพาะรถเกียร์ธรรมดา จะเสียจังหวะขึ้นไม่ได้ ทำให้ค้าง หรือถอยหลังลงในช่วงพยายามออกตัวเกิดขึ้นได้เช่นกัน

    เช่นเดียวกับผู้ขับโดยเฉพาะเกียร์ธรรมดาที่ไม่คุ้นเคยการขับขึ้นเขา หากอยู่ใกล้คันหน้ามากเกินไป ถ้าคันหน้าแค่ชะลอความเร็ว อาจทำให้ท่านเสียจังหวะจนต้องจอดหรือเครื่องยนต์ดับได้ แต่ถ้ามีพื้นที่ด้านหน้า ก็ยังไหลไปได้ โดยไม่ต้องหยุดรถ

    และสำหรับผู้ที่ขับรถขึ้นลงเขา อย่าลืมว่าเมื่อจะขับลงให้ใช้เกียร์ต่ำ ใช้เบรกให้น้อยที่สุด เพราะหากใช้มากไป อาจจะทำให้เบรกร้อน และเสียประสิทธิภาพการทำงานได้

    แซงให้ปลอดภัย

    การแซงรถคันอื่นโดยเฉพาะในเส้นทางแบบ 2 เลนสวนทาง มีหลายองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง ทั้งสภาพเส้นทาง ต้องมองเห็นไปข้างหน้าได้ไกล สมรรถนะรถที่ผู้ขับขี่จะต้องรู้จักดีพอ ตัวผู้ขับเอง และเพื่อนร่วมทาง

    หลายคนชอบขับจี้ท้ายคันหน้าก่อนแซง ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะต้องเรียกกำลังเครื่องยนต์ขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ซึ่งบางทีอาจจะไม่พอ โดยเฉพาะรถที่เรี่ยวแรงไม่มากนัก ลองทิ้งระยะสักหน่อย และเมื่อเห็นรถที่สวนทางมา ใกล้เข้ามา ก็สามารถเติมคันเร่ง ส่งแรงไปล่วงหน้าได้ทันที

    และนอกจากประเมินรถที่สวนทางมาแล้ว ต้องประเมินรถคันที่จะแซงด้วย เช่น พื้นที่ด้านหน้าของคันที่จะแซงมีมากน้อยแค่ไหน อย่าคิดแค่พอสำหรับแซงแล้วแทรกเข้าไป ต้องคิดถึงระยะเบรกของรถคันที่ถูกแซงด้วย โดยเฉพาะรถใหญ่ที่มีน้ำหนักมาก หรือกำลังเร่งส่ง ซึ่งแน่นอนว่าเขาไม่อยากจะเบรกให้เสียจังหวะสักเท่าใด

    จะไปทางไหน ทำอะไร บอกคันอื่นด้วย

    พื้นฐานที่สำคัญอย่างยิ่งของการขับรถก็คือ ต้องทำให้คันอื่นรู้ว่าเรากำลังจะทำอะไร ไปทางไหน ผ่านอุปกรณ์ที่รถมีมาให้ทุกคัน นั่นก็คือสัญญาณไฟต่างๆ เมื่อจะหยุดหรือชะลอความเร็ว ไฟเบรกจะทำงานหลังเหยียบเบรก เพราะโรงงานตั้งมา แต่การจะเลี้ยว หรือเปลี่ยนช่องทางเป็นเรื่องของคนขับที่จะต้องเป็นผู้ควบคุม ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมทุกวันนี้เห็นรถจำนวนมากไม่ยอมใช้ไฟเลี้ยว

    การให้สัญญาณไฟเลี้ยว ช่วยลดอุบัติเหตุได้มาก เพราะรถคันอื่นจะรู้ล่วงหน้าว่าจะไปทางไหน เขาจะได้รู้ว่าต้องไปในพื้นที่ที่ปลอดภัย หรือผ่อนคันเร่ง ไม่เสี่ยงต่อการเฉี่ยวชน

    ไม่ต้องกลัวว่า เปิดไฟเลี้ยวแล้วรถคันอื่นรู้จะรีบมาปิดทางบังทาง ซึ่งคนจำพวกนี้มีอยู่จริง แต่เชื่อเถอะคนดีๆ ที่พร้อมเปิดทางให้ หากว่าท่านขอทางในจังหวะที่เหมาะสม เช่น ไม่กระชั้นชิด ไม่เบียด ไม่ปาด มีอยู่มากกว่า

    ส่วนไฟ ฮาร์ซาร์ด หรือ ไฟฉุกเฉิน ถ้ารถยังเคลื่อนที่ไม่ต้องเปิด โดยเฉพาะเมื่อจะข้ามทางแยก เพราะหากเปิด รถบางคันอาจเข้าใจผิดได้ โดยเฉพาะที่มาจากทางซ้ายหรือขวา เพราะอยู่ในมุมที่มองไม่เห็นไฟกะพริบทั้ง 2 ด้าน

    กลับมาที่ไฟเบรกอีกครั้ง มันมีประโยชน์มากกว่าแค่เหยียบเบรกแล้วไฟติดขึ้นมา แต่สามารถใช้เตือนรถที่ตามได้ เช่น เมื่อจะเบรก แต่รถคันหลังอยู่ตามมากระชั้นชิดเกินไป แทนที่เราจะเบรกในระยะปกติ ก็ให้แตะคันเร่งล่วงหน้าเพื่อให้ไฟเบรกทำงาน แต่เบรกยังไม่ทำงาน เป็นการเตือนคันหลังให้ช้าลง

    หรือเมื่อจอดจะติดไฟแดงหรือติดรถคันหน้า ซึ่งหลายคนนิยมเปลี่ยนเกียร์ว่าง หรือ P เพื่อไม่ให้เมื่อยขา ก็ทำได้ แต่แนะนำว่าให้กดเบรกค้างไว้ก่อน จนกว่ารถคันหลังจะมาจอดต่อท้าย เพราะบางเวลา โดยเฉพาะช่วงดึก ถนนโล่ง คันหลังเริ่มง่วงหรือไม่ทันระวัง ก็อาจเข้าใจผิดว่ารถกำลังเคลื่อนที่

    และเมื่อจอดต่อท้ายคันหน้า เว้นที่ว่างไว้บ้างก็ดี เพราะหากมีเหตุผิดปกติด้านหลัง มองกระจกแล้วเหมือนว่าคันที่ตามมาจะเบรกไม่ทัน ก็ยังมีพื้นที่ขยับขึ้นไปด้านหน้าเพื่อลดการเกิดเหตุหรือลดความรุนแรงลงได้

    เรียนรู้สัญญาณไฟ

    ทางแยกเป็นจุดอันตรายจุดหนึ่ง โดยเฉพาะทางแยกที่ไม่มีสัญญาณไฟ หากอยู่ในทางหลัก เมื่อเห็นว่าจะมีทางแยกข้างหน้า หรือเห็นป้ายจราจรที่บอกว่าเป็นทางแยก จะต้องลดความเร็วลง จากนั้นพยายามมองมุมกว้าง เพื่อดูรถที่อยู่ในอีกเส้นทางหนึ่ง เพื่อจะได้เตรียมตัวและวางแผนการขับผ่านได้

    ส่วนผู้ที่มาจากทางรอง วิธีที่ควรปฏิบัติวิธีเดียวก็คือ หยุดรถเสียก่อน จากนั้นดูซ้ายขวา หรือด้านหน้า หากเป็น 4 แยก ก่อนที่จะออกรถ

    หากเป็นทางแยกที่มีสัญญาณไฟก็อย่าได้ไว้ใจ เมื่อเห็นสัญญาณไฟเขียว วิธีปฏิบัติที่ถูกต้องคือให้ชะลอความเร็วลง เพราะไม่มีใครรู้ได้ว่าหากเข้าใกล้แยกแล้วไฟจะเปลี่ยนเป็นเหลืองและแดงในระยะที่พอให้เบรกได้หรือไม่ ยกเว้นก็แต่แยกที่มีตัวเลขกำกับที่เริ่มมีให้เห็นในเขตกรุงเทพมหานคร

    และถ้าได้ไฟเขียว แต่คันหน้าชะลอความเร็วลง กรุณาอย่าบีบแตรหรือเปิดไฟไล่ เพราะนั่นแสดงว่าคันหน้าทำถูกต้องแล้ว เราต่างหากที่ผิดกติกา

    ไหล่ทาง เลิกเสียที

    ไม่รู้ว่าเมื่อไร เจ้าหน้าที่จะให้น้ำหนักความผิดการขับรถบนไหล่ทางเท่าหรือมากกว่าการขับรถเร็วเสียที ข่าวคราวการสูญเสียเกิดขึ้นบ่อยครั้งจากอุบัติเหตุบนไหล่ทาง ที่เกิดจากคนที่เห็นแก่ตัว ต้องการไปเร็วกว่ารถที่อยู่บนช่องทางที่ถูกต้อง

    อย่าลืมว่าไหล่ทางอาจมีทั้งรถที่จอดเสีย คนเดินเท้า จักรยาน และจักรยานยนต์

    และพฤติกรรมของผู้ขับขี่กลุ่มนี้ส่วนใหญ่คือมักจะเปลี่ยนช่องทางแบบกะทันหัน ขับจี้ๆคันหน้า แล้วโยกเปลี่ยนช่องทางดื้อๆ และอย่าลืมว่าบ้านเราคนขับอยู่ด้านขวาของรถ เมื่อโยกรถลงไหล่ทางด้านซ้าย คนขับจะเห็นสถานการณ์ด้านหน้าได้ช้า คือรถออกไปเกือบทั้งคันแล้วจึงจะเห็น ซึ่งถึงเวลานั้นก็ช้าเกินไปที่จะแก้ไขสถานการณ์ ตนเองเดือดร้อนเป็นไร แต่ทำให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบไปด้วย คิดว่าหน่วยงานรัฐ ตำรวจ น่าจะมองเรื่องนี้อย่างจริงจัง และยกระดับความสำคัญให้มากขึ้นกว่าเดิม

    ทางร่วม จุดแวะ

    ทางร่วมหรือจุดแวะ เช่น ปั๊มน้ำมัน ร้านอาหาร ก็เป็นพื้นที่เสี่ยงเช่นกัน เพราะแต่ละคนขับรถไม่เหมือนกัน คนที่จะออกจากทางร่วมและจุุดแวะบางคันอาจจะตัดสินใจผิด กะระยะ หรือความเร็วของรถที่วิ่งมาบนถนนผิด จึงออกตัว ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้

    และไม่เพียงแต่รถที่กำลังจะออกมาเท่านั้น ให้ระวังคันที่ร่วมถนนกับเราด้วย อาจจะข้างหน้า หรือไม่ก็เลนที่อยู่ทางขวา เพราะหลายครั้งหลายหน จะมีคนที่เพิ่งนึกออกว่าน้ำมันหมด จำเป็นจะต้องเข้าปั๊มแล้ว

    สำหรับทางร่วมที่จะเข้าทางหลัก หรือทางหลักที่จะเข้าทางร่วม โดยปกติจะมีเส้นจราจรบนผิวถนน ให้ปฏิบัติตามนั้นอย่างเคร่งครัด คือช่วงเป็นเส้นทึบอย่าเพิ่งรีบขับข้ามทับเส้น เพราะรถอีกเส้นทางหนึ่ง อาจจะกำลังวิ่งมา โดยที่กระจกมองข้างยังเป็นจุดบอด และอุบัติเหตุในกรณีนี้ ถือว่าเกิดขึ้นในได้เห็นบ่อยครั้งทีเดียว

    รู้จักรถ รู้จักตนเอง มีน้ำใจ มีสมาธิ และไม่ประมาท จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนได้มาก

    ขอให้ท่านผู้อ่าน "กรุงเทพธุรกิจยานยนต์" เดินทางด้วยความปลอดภัย และท่องเที่ยวเทศกาลปีใหม่ให้สนุกทุุกคนครับ

    Tags : ปีใหม่ • เดินทาง • ประชาชน • ปลอดภัย • อีสาน • เหนือ • ท่องเที่ยว • ยานยนต์ • กรุงเทพธุรกิจ

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้