กสท.สั่งสอบด้านกฎหมายโซลูชั่นซื้อหุ้น'เนชั่น'

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 23 ธันวาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    บอร์ด กสท. สั่งสำนักงาน กสทช. ตรวจสอบข้อกฎหมาย-หลักเกณฑ์ประมูลคลื่นฯทีวีดิจิทัล

    กรณีห้ามบริษัทเดียวกันประมูล หมวดหมู่เดียวกันมากกว่า 1 ช่อง และหลักเกณฑ์ผู้มีผลประโยชน์ร่วมกัน หลังพบ"โซลูชั่น"เข้าซื้อหุ้น"เนชั่น" เตรียมเรียก"สปริงนิวส์-เนชั่นทีวี" แจงข้อมูล เล็งเสนอบอร์ด กสท.พิจารณา 5 ม.ค.58 ผู้บริหารโซลูชั่น ยันไม่เทคโอเวอร์เนชั่น เหตุฐานเงินทุนไม่มาก

    หลังจากบริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) จำกัด (มหาชน) หรือ SLC ผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัล ช่องข่าวและสาระ แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่าได้เข้าซื้อหุ้นบริษัทเนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ NMG สัดส่วน 12.27% ซึ่งเป็นบริษัทแม่และถือหุ้นใหญ่ในบริษัทเนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ NBC จำนวน 71.30% โดยเอ็นบีซี เป็นผู้ถือหุ้นสัดส่วน 99.99% ในบริษัทเนชั่น เน็กซ์ วิชั่น จำกัด หรือ NNV ซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ช่องข่าวและสาระ

    นอกจากนี้ SLC ยังได้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนบริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) จำนวน 10 ล้านหุ้น สัดส่วน 1.22% มูลค่า 135 ล้านบาท เป็นบริษัทแม่ของอีก 2 บริษัทในเครือจีเอ็มเอ็ม ที่ได้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ช่องวาไรตี้เอชดี และเอสดี ของสำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

    การประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจโทรทัศน์ (กสท.) วานนี้ (22 ธ.ค.) มีการประชุมกรณี โซลูชั่น บริษัทแม่ ช่องทีวีดิจิทัล "สปริงนิวส์" ซื้อหุ้นบริษัทเนชั่น ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ช่องทีวีดิจิทัล "เนชั่นทีวี" เป็นหมวดหมู่ช่องรายการ "ข่าวและสาระ" เหมือนกัน

    สอบหลักเกณฑ์ประมูลคลื่นฯ

    นายสมบัติ ลีลาพตะ รักษาการรองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กล่าวว่าบอร์ด กสท. ได้พิจารณากรณีบริษัทโซลูชั่น ซื้อหุ้นบริษัทเนชั่น สัดส่วน 12.27% โดยบอร์ดกสท. ให้ สำนักงาน กสทช. และฝ่ายแข่งขัน ที่ดูแลกำกับด้านการแข่งขันในกิจการวิทยุโทรทัศน์ ไปพิจารณากฎหมายและข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว

    โดยเริ่มพิจารณาตั้งแต่ ประกาศ กสทช. หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกให้ใช้คลื่นความถี่ ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เพื่อประกอบกิจการทางธุรกิจ พ.ศ.2556 หรือประกาศฯหลักเกณฑ์ประมูลทีวีดิจิทัล ประกอบด้วยหมวดหมู่ วาไรตี้ เอชดี, วาไรตี้ เอสดี ,ข่าวและสาระ, ช่องเด็กและครอบครัว ที่มีการกำหนดคุณสมบัติผู้เข้าร่วมประมูลขณะนั้น โดยกำหนดให้ 1 บริษัท ประมูล ช่องรายการหมวดหมู่เดียวกันได้ 1 ช่อง

    นอกจากนี้ ตามภาคผนวก ก. ของ ประกาศฯหลักเกณฑ์ ได้กำหนดความหมายของ "ผู้ที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน" ของผู้เข้าร่วมประมูลที่เป็นผู้มีส่วนได้เสีย ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมในกิจการของผู้เข้าร่วมประมูล 1.ความสัมพันธ์เชิงบริหาร 2. ความสัมพันธ์เชิงทุน รวมทั้ง "ผู้ถือหุ้นรายใหญ่" ให้หมายความว่า ผู้ถือหุ้นในผู้เข้าร่วมการประมูลเกินกว่า 10% ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของผู้เข้าประมูล

    นายสมบัติ กล่าวว่าการที่บอร์ด กสท.ให้ไปตรวจสอบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 โดยเฉพาะประกาศฯหลักเกณฑ์ประมูลคลื่นความถี่ ทีวีดิจิทัล ว่าสามารถนำมาใช้บังคับ ผู้ชนะการประมูล ที่เป็นผู้รับใบอนุญาตได้หรือไม่

    "ฝ่ายกฎหมาย กสทช. ต้องวิเคราะห์ประกาศฯหลักเกณฑ์ประมูลคลื่นฯ ก่อนว่า บังคับใช้ผู้ชนะประมูลด้วยหรือไม่ หากบังคับใช้ ขั้นตอนต่อไปจะเสนอให้บอร์ด กสท. พิจารณา เพื่อออกมติต่างๆ กรณีที่หากเห็นว่าเป็นประเด็นที่ขัดกับประกาศฯ"นายสมบัติ กล่าว

    จ่อเรียก"สปริงนิวส์-เนชั่น"แจงข้อมูล

    ในขั้นตอนการตรวจสอบกฎหมายและประกาศฯหลักเกณฑ์ กรณีดังกล่าว สำนักงานฯ จะเรียกผู้รับใบอนุญาตช่องทีวีดิจิทัล ประเภทข่าวและสาระ 2 ช่อง คือ สปริงนิวส์ และ เนชั่นทีวี มาชี้แจงข้อมูล เนื่องจากบริษัทแม่ของทั้ง 2 บริษัท มีการเปลี่ยนแปลงการถือหุ้นอย่างมีนัยสำคัญ มีสัดส่วนเกิน10%

    ขณะที่การเข้าไปถือหุ้นของ SLC ในจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ของบริษัทที่รับใบอนุญาต 2 ช่องทีวีดิจิทัล มีสัดส่วนเพียง 1.22% ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงการถือหุ้น ที่ยังไม่มีนัยสำคัญ จึงไม่เรียกผู้บริหารช่องวัน และ จีเอ็มเอ็ม แชนแนล ในเครือแกรมมี่ เข้ามาให้ข้อมูล

    นายสมบัติ กล่าวว่าหลังจากสำนักงาน กสทช. ตรวจสอบกฎหมาย ประกาศฯหลักเกณฑ์การประมูล และสรุปข้อมูลการชี้แจงจากช่องสปริงนิวส์ และเนชั่นทีวีแล้ว จะสรุปข้อมูลทั้งหมดเสนอบอร์ด กสท. พิจารณากรณี SLC ซื้อหุ้นเนชั่นและแกรมมี่อีกครั้ง ในการประชุมบอร์ดวันที่ 5 ม.ค. 2558

    "โซลูชั่น"ยันไม่เทคโอเวอร์เนชั่น

    นายอารักษ์ ราษฎร์บริหาร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) กล่าวว่า บริษัทยืนยันการเข้าลงทุนบริษัทเนชั่น ในสัดส่วน 12.27% ซึ่งเป็นสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสม ยืนยันบริษัทไม่มีนโยบายเข้าบริหารบริษัท เนชั่น และไม่มีนโยบายเพิ่มการถือหุ้น หรือเทคโอเวอร์ เพราะการเทคโอเวอร์ หรือถือหุ้น 25% บริษัทต้องทำคำเสนอซื้อ ต้องใช้เงินประมาณ 8,000 ล้านบาท บริษัทมีฐานเงินทุนไม่สูง

    ลงทุน"แกรมมี่-ทีนิวส์"ระยะสั้น

    "การลงทุนในเนชั่น แกรมมี่ และทีนิวส์ เป็นลักษณะการลงทุนเหมือนกัน แต่แกรมมี่จะเป็นการลงทุนระยะสั้นตามที่แจ้งไปแล้ว ส่วนการลงทุนในเนชั่นและทีนิวส์จะเป็นการลงทุนระยะยาวกว่า ส่วนจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนเมื่อไหร่ ต้องถามไปทางเนชั่นและทีนิวส์ แต่ทีนิวส์ มีธุรกิจเอสเอ็มเอส และคอลเซ็นเตอร์ ที่จะมาต่อยอดธุรกิจกันได้" นายอารักษ์ กล่าว

    นายอารักษ์ กล่าวว่าด้านการร่วมมือกันทำธุรกิจอาจจะต้องมีการศึกษารูปแบบการทำธุรกิจแต่ละบริษัทเพิ่มอีก แต่ในเบื้องต้น จากการพูดคุยกับผู้บริหารระดับสูงของเนชั่นได้รับปากไว้แล้วว่าจะเป็นการลงทุนเท่านั้น แต่ผู้บริหารเนชั่น ก็มีทัศนคติที่ดี หากจะมีการเกื้อกูลกันทางธุรกิจ แต่ก็เป็นเรื่องอนาคต

    ทั้งนี้ มติผู้ถือหุ้นบริษัทโซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) เมื่อวันที่ 3 ต.ค.2557 อนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียน 94,156.56 ล้านหุ้น โดยจะจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 25,511.29 ล้านหุ้น รองรับการใช้สิทธิจองซื้อหุ้น เพิ่มทุนที่เสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมในอัตรา 1 หุ้นเดิม ต่อ 5 หุ้นสามัญเพิ่มทุน ในราคาหุ้นละ 0.09 บาท โดยวันขึ้น XR จะกำหนดในภายหลังจัดสรรหุ้นเพิ่มทุน 55,000 ล้านหุ้น

    เผยเงินเพิ่มทุนเน้นลงทุนสื่อ

    โดยเสนอขายให้แก่บุคคลในวงจำกัด และหรือผู้ลงทุนสถาบัน และหรือผู้ลงทุนที่มีลักษณะเฉพาะ (Private Placement) ในราคาไม่ต่ำกว่าการขาย RO คือ 0.09 บาท และจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 2,645.27 ล้านหุ้น เพื่อรองรับการใช้สิทธิแปลงสภาพตามใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัท รุ่นที่ 1-4 รวมทั้งจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 11,000 ล้านหุ้น เพื่อรองรับการแปลงสิทธิหุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible Debenture)

    "ตอนนี้อยู่ในกระบวนการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุน ให้กับนักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจงต่อเนื่อง ซึ่งได้รับความสนใจค่อนข้างมาก เงินที่ได้จะใช้สำหรับการลงทุนในธุรกิจสื่อดังกล่าว และสื่ออื่นๆ เพิ่มเติมในอนาคต"นายอารักษ์ กล่าว

    ยันลงทุนตามกรอบกสทช.

    นายอารักษ์ กล่าวถึงกรณีความคลุมเครือเรื่องการลงทุน ที่อาจจะผิดกฎกสทช. โดยยืนยันว่า บริษัทลงทุนตามกรอบที่ กสท. อนุญาต การเข้าถือหุ้นในเนชั่น 12.27% ไม่ใช่การลงทุนที่ผิดกฎใด ปัจจุบันยังไม่มีการเรียกบริษัทเข้าไปชี้แจงข้อเท็จจริง แต่หากต้องการข้อมูลเพิ่ม บริษัทก็พร้อมให้ความร่วมมือ

    สำหรับแผนธุรกิจในระยะ 1-2 ปี บริษัทจะขยายธุรกิจเดิมที่ดำเนินการอยู่ ประกอบด้วยการผลิตรายการสำหรับทีวีดิจิทัลและทีวีดาวเทียม และธุรกิจด้านไอที รวมทั้งมีเป้าหมายลงทุนในธุรกิจสื่อเพิ่ม โดยเน้นลงทุนในสื่อใหม่ (New Media) และสื่อที่เข้ามาเพิ่มมูลค่าให้กับบริษัท

    "โซลูชั่น คอนเนอร์ มีเป้าหมายในส่วนของธุรกิจสื่อคือการเป็นโฮลดิ้งส์ คัมพานี ที่ลงทุนในธุรกิจสื่อที่จะมาเพิ่มมูลค่าให้กับบริษัทและช่วยกระจายความเสี่ยง ที่น่าสนใจที่สุดก็คือสื่อใหม่ในแพลทฟอร์มต่างๆ"

    ส่งกฤษฎีกาพิจารณาเว้นค่าธรรมเนียม

    นายสมบัติ ลีลาพตะ รักษาการรองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กล่าวว่าที่ประชุมกสท.ได้พิจารณาการขอยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปี และยกเว้นการนำส่งเงินรายปีเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ ของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย โดยชมรมผู้ประกอบการโทรทัศน์ระบบดิจิทัล

    ทั้งนี้ บอร์ด กสท. เคยมีแนวนโยบาย การลดหย่อนค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิทัลอยู่แล้ว โดยได้ส่งให้อนุกรรมการด้านกฎหมาย พิจารณากรณีดังกล่าวและให้ความเห็นว่า กรณีลดหย่อนค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ได้กำหนดไว้ใน มาตรา 19 พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 และระเบียบว่าด้วยการลดหย่อนค่าธรรมเนียมใบอนุญาตกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์อยู่แล้ว บอร์ด กสท.สามารถพิจารณาการลดหย่อนได้ตามกฎหมายและระเบียบดังกล่าว

    ส่วนกรณีการขอ "ยกเว้น" ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ยังมีประเด็นด้านกฎหมายที่ต้องพิจารณาเพิ่ม โดยอนุกรรมการด้านกฎหมาย ให้หารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาอีกครั้ง

    ขณะที่การขอยืดระยะเวลาการส่งเงินประมูลทีวีดิจิทัล งวดที่ 2 ในปี 2558 สำนักงาน กสทช. ได้ส่งเรื่องไปยังกระทรวงการคลังแล้วและกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา

    นอกจากนี้ บอร์ดกสท. ได้พิจารณาอนุมัติ ผังรายการปี 2558 ของ ทีวีดิจิทัล เพิ่มเติมรวม 11 ช่อง คือ ช่อง7 เอชดี พีพีทีวี อมรินทร์ทีวี เอชดี จีเอ็มเอ็ม แชนแนล ทรูโฟร์ยู NOW26 โมโน 29 ช่อง3 เอสดี ช่อง 8 วอยซ์ทีวี และสปริงนิวส์

    Tags : โซลูชั่น คอนเนอร์ • SLC • สปริงนิวส์ • ทีวีดิจิทัล • เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป • NMG • กสทช.

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้