"ไอแบงก์"เปิดแผนฟื้นฟูกิจการ เล็งขอกระทรวงคลังเพิ่มทุน1.6 หมื่นล้าน ดันฐานะเงินกองทุนพลิกเป็นบวกแตะ 8.5% นายครรชิต สิงห์สุวรรณ์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย(ไอแบงก์) เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ดได้อนุมัติในหลักการของแผนฟื้นฟูกิจการธนาคารแล้ว โดยในแผนดังกล่าว ไอแบงก์ได้ขอเงินเพิ่มทุนจากกระทรวงการคลังรวม 1.6 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น เงินที่กระทรวงการคลังได้อนุมัติไว้เดิมอยู่แล้ว 5.1 พันล้านบาท ที่เหลืออีกประมาณ1 หมื่นล้านบาท เป็นเงินเพิ่มทุนก้อนใหม่ที่ขอเพิ่มเข้าไป สำหรับเงินเพิ่มทุนเหล่านี้ ตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่าฐานะเงินกองทุน หรือ บีไอเอส (BIS) ของธนาคารจะต้องมาอยู่ที่ระดับ 8.5%ภายในปลายปี 2558 จากปัจจุบันบีไอเอสติดลบอยู่ประมาณ 1% อย่างไรก็ตามเงินเพิ่มทุนอาจจะไม่จำเป็นต้องมาพร้อมกันทีเดียว แต่แบ่งการเบิกใช้เป็นเฟสๆ ไปได้ตามเป้าหมายระดับฐานะเงินกองทุน นายครรชิต กล่าวด้วยว่า ผลจากการสำรวจสถานะกิจการ (ดีลดิลิเจ้นซ์) พบว่าไอแบงก์มีหนี้เสีย ประมาณ 4.9-5 หมื่นล้านบาทคิดเป็น 50% ของสินเชื่อโดยรวม เพิ่มขึ้นจากตัวเลขที่ธนาคารประเมินไว้ที่ 4.2 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 7 พันล้านบาท เนื่องจากได้การนับรวมหนี้ที่ใกล้จะตกชั้นเข้าไปด้วย ตามการสำรองเชิงคุณภาพ “หนี้เสียทั้งหมด ส่วนใหญ่มาจากลูกค้าทั่วไปที่ไม่ใช่ลูกค้ามุสลิม มีหนี้เสียที่มาจากลูกค้ามุสลิมไม่ถึง 10% หรือไม่ถึง 5 พันล้านบาท ส่วนนี้ธนาคารจะแยกออกมาบริหารจัดการเอง เพื่อไม่ให้ขัดกับหลักศาสนาอิสลาม ส่วนหนี้เสียอีก 4.5 หมื่นล้านบาทได้เสนอแนวทางแก้ไขไป 4 แนวทางให้กระทรวงการคลังพิจารณา” สำหรับแนวทางแก้ไขทั้ง 4 ประกอบด้วย 1. ขายหนี้ให้กับบริษัทบริหารหนี้ทั่วไป 2. ขายหนี้ทั้งหมดให้กับ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (SAM) 3. ตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์ไทย หรือ เอเอ็มซี (AMC) ขึ้นมารับโอนหนี้จากไอแบงก์ไปบริหารทั้งหมด โดยมีไอแบงก์เป็นผู้ถือหุ้น 100% และ 4. ตั้งเอเอ็มซี มารับโอนหนี้จากไอแบงก์ไปบริหารทั้งหมด แต่มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้น 100% นายครรชิต กล่าวว่า ความแตกต่างของแต่ละแนวทางอยู่ที่การรับรู้หนี้ โดยหากเป็นการขายหนี้ตามแนวทางที่ 1 และแนวทางที่2 จะเป็นการบริหารแบบพีเอ็น (PN) คือ บริหารไปก่อน แล้วมาตกลงเรื่องผลตอบแทนกัน ซึ่งจะทำให้ตัดหนี้ออกไปได้ไม่มาก ขณะที่การตั้งเอเอ็มซี โดยคลังถือหุ้นทั้งหมดจะทำให้โยกหนี้ออกไปจากธนาคารได้ทั้งก้อน แต่หากถือหุ้นโดยไอแบงก์อยู่ ธนาคารยังต้องรับรู้หนี้ก้อนนี้เข้าในงบอยู่ หากเป็นไปได้ธนาคารก็อยากให้ทางคลังถือหุ้น “แผนฟื้นฟูได้ผ่านความเห็นชอบของบอร์ด เสนอไปที่ซูเปอร์บอร์ดและซูเปอร์บอร์ดได้เห็นชอบในหลักการแล้ว หลังจากนี้ก็ต้องรอหนังสือตอบกลับจากกระทรวงการคลัง ว่าจะให้ดำเนินการตามแผนดังกล่าวอย่างไร คาดว่าภายในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน ม.ค.น่าจะมีความชัดเจน เพราะธนาคารจะต้องเร่งดำเนินการตามแผนฟื้นฟู เพื่อให้ผลงานเป็นไปตามเคพีไอที่ตั้งไว้” นายครรชิต กล่าวว่า การประเมินผลงาน หรือเคพีไอการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ กำหนดว่าภายในปี 2558 ธนาคารจะต้องปรับลดหนี้เสีย หรือเอ็นพีแอลให้อยู่ในระดับไม่เกิน 2% ของสินเชื่อโดยรวม หรือไม่เกิน 2 พันล้านบาท มีระดับหนี้ตกชั้น ไม่เกิน 2% มีการปล่อยสินเชื่อใหม่สุทธิ 7 พันล้านบาท แยกเป็นสินเชื่อรายย่อย วงเงินต่ำกว่า 20 ล้านบาท จำนวน 3.5 พันล้านบาท และสินเชื่อเอสเอ็มอี ตั้งแต่ 20-200 ล้านบาท 3.5 พันล้านบาท ส่วนสินเชื่อรายใหญ่ตั้งแต่ 200ล้านบาทขึ้นไป จะไม่มีการขยายวงเงินของสินเชื่อ จะรักษาไว้ที่ระดับเดิมคือ 3.8 หมื่นล้านบาท จึงจะปล่อยสินเชื่อตามวงเงินที่มีการชำระเข้ามาเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายที่จะลดต้นทุนการเงินให้ได้ 80% ภายในปีหน้า จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับเกิน 100% และภายในปี 2560จะต้องปรับลดลงให้อยู่ในระดับ 60% พร้อมกับเพิ่มบัญชีลูกค้ามุสลิมให้เกิน 50% ของจำนวนบัญชีลูกค้าทั้งหมด หรือเพิ่มจากจำนวน 3แสนบัญชี ให้เป็น 1 ล้านบัญชีภายในปี 2560 “ยอมรับว่าเคพีไอในการดำเนินงานของธนาคาร เป็นเป้าที่ท้าทายมากในทุกด้าน แต่ธนาคารก็จะพยายาม โดยยังคงยึดมั่นการดำเนินงานตามพันธกิจ โดยให้ความสำคัญกับลูกค้ามุสลิมเป็นอันดับแรก รองลงมาคือลูกค้าที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับชาวมุสลิม เช่นกลุ่มซัพพลายเออร์ คู่ค้า ถึงจะมาเป็นกลุ่มที่ 3 คือ ลูกค้าทั่วไป” Tags : ครรชิต สิงห์สุวรรณ์ • ธนาคารอิสลาม • ไอแบงก์ • แผนฟื้นฟูกิจการ • คลัง