"ประจิน"เตรียมหารือญี่ปุ่น พัฒนารถไฟทางคู่ 3เส้นทาง ตาก-มุกดาหาร, กาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-ระยอง,กรุงเทพ-เชียงใหม่ รัฐบาลเตรียมเจรจากับญี่ปุ่นในการพัฒนาเส้นทางรถไฟเชื่อม"ตะวันออก-ตะวันตก" หวังเชื่อมการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมภาคตะวันออกกับนิคมอุตสาหกรรมทวาย ในประเทศพม่า โดยมีประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลาง รัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสนใจการพัฒนาทางรถไฟของไทย โดยเฉพาะเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และ กรุงเทพฯ-หนองคาย แต่รัฐบาลได้เลือกให้จีนเป็นผู้พัฒนาเส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย เนื่องจากเห็นว่าจะเป็นเส้นทางเชื่อมต่อการค้าการลงทุนกับจีนตอนใต้ ทั้งนี้ ไทย-จีน ได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลง(MOU) ในการศึกษาและก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ขนาดรางมาตรฐาน (Standard Gauge) ขนาดราง 1.435 ใน 2 เส้นทาง คือ หนองคาย-โคราช-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุดระยะทางประมาณ 734 กิโลเมตร และเส้นทางแก่งคอย-กรุงเทพฯ ระยะทางประมาณ 133 กิโลเมตร รวมระยะทาง 867 กิโลเมตร ตามกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565 พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่าในระยะต่อไป ประเทศไทยมีแผนที่จะก่อสร้างรถไฟทางคู่เพิ่มเติมในอีก 3 เส้นทางเชื่อมภาคตะวันออกกับตะวันตก โดยรัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสนใจในการเข้ามาศึกษาความเหมาะสมและก่อสร้างในอนาคต ทั้ง 3 เส้นทาง คือ 1.ตาก - มุกดาหาร 2.กาญจนบุรี (บ้านพุน้ำร้อน)-กรุงเทพฯ-ระยอง และ 3.กรุงเทพ-เชียงใหม่-เชียงของ "คาดว่าจะมีการหารือในรายละเอียดระหว่างรัฐบาลไทยและญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการต่อไป หลังจากที่ญี่ปุ่นมีการเลือกตั้งทั่วไปเสร็จเรียบร้อยแล้ว" ทั้งนี้คาดว่าไทย-ญี่ปุ่นจะมีการหารือกันในระหว่างที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการในเร็วนี้ เดินหน้าเส้นทวาย-มาบตาพุด พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า สำหรับการพัฒนารถไฟในเส้นทางกาญจนบุรี - กรุงเทพฯ-ระยอง เป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทของของรัฐบาล ที่ต้องการผลักดันโครงการรถไฟทางคู่เชื่อมฝั่งตะวันออกและตะวันตก ซึ่งแผนดังกล่าวมีการอนุมัติในหลักการตั้งแต่เดือนก.ค.ที่ผ่านมา "ความสำคัญของเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อระหว่างตะวันออกกับตะวันตก คือ การพัฒนาระบบขนส่งทางรางเชื่อมต่อระหว่างนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ไปยังท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายในประเทศพม่า ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งทางรางระหว่างท่าเรือน้ำลึกทั้งสองแห่ง โดยมีประเทศไทยอยู่ระหว่างกลาง" เส้นทางดังกล่าว มีแผนก่อสร้างแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแรก ก่อสร้างจากสถานีบ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี-กรุงเทพฯ ระยะทางประมาณ 160 กิโลเมตร และช่วงที่สอง จากกรุงเทพ- มาบตาพุด จ.ระยอง ระยะทางประมาณ 179 กิโลเมตร "เป็นการพัฒนาทั้งระบบรางขนาด 1 เมตร และระบบรางขนาดมาตรฐาน 1.435 เมตร โดยจะมีการพัฒนารถไฟคู่ขนานไปกับการก่อสร้างถนน ซึ่งมีความสะดวกและคุ้มค่า สิ่งสำคัญจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งโดยรวมของประเทศอีกด้วย" ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นเพียงประเทศเดียวที่แสดงความสนใจนอกจากรถไฟทางคู่จากทวาย-บ้านพุน้ำร้อน เพราะญี่ปุ่นสนใจเส้นทางที่จะเชื่อมต่อกับโครงการทวาย แม้รัฐบาลไทยจะเปิดกว้างการลงทุน แต่มีเพียงญี่ปุ่นที่ตอบตกลงที่จะเข้ามาร่วมศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ เปิดทางญี่ปุ่นลงทุนเส้นแม่สอด-มุกดาหาร ขณะที่เส้นทางแม่สอด ตาก -พิษณุโลก-เพชรบูรณ์-ขอนแก่น-มุกดาหาร ปัจจุบันได้เสนอให้ประเทศญี่ปุ่นเข้ามาทำการศึกษาออกแบบความเป็นไปได้แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างไทย - ญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการอีกครั้ง เพื่อให้ทั้งสองประเทศได้ทำงานร่วมกัน ในการศึกษาข้อมูลด้านต่างๆให้ได้มากที่สุดก่อนที่จะมีการสรุปแผนและงบประมาณในการก่อสร้างอีกครั้ง ส่วนโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่-เชียงของ อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของรัฐบาลถึงความเหมาะสมของโครงการ โดยจะต้องมีการศึกษาความคุ้มค่าในการลงทุนก่อน รวมทั้งรอความชัดเจนในการเจรจากับประเทศญี่ปุ่นให้เข้ามาร่วมลงทุนในโครงการนี้ จีนยังต้องการเส้นกรุงเทพ-เชียงใหม่ แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า โครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่-เชียงของที่ญี่ปุ่นสนใจที่จะเข้ามาร่วมศึกษาและลงทุน รัฐบาลจีนก็ให้ความสนใจในโครงการและเส้นทางนี้เช่นกัน เนื่องจากเป็นเส้นทางที่สามารถเชื่อมต่อไปยังตอนใต้ของจีนและทำให้การขนส่งสินค้าและคนจากประเทศจีนลงมาทางตอนใต้ทำได้สะดวกขึ้น โดยไม่ต้องผ่านนครหลวงเวียงจันทน์ใน สปป.ลาว ซึ่งถือว่าเป็นเส้นทางที่เป็นทางเลือกที่น่าสนใจในการคมนาคมขนส่งแม้จะต้องใช้เงินลงทุนสูงก็ตาม อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้รัฐบาลญี่ปุ่นได้มีข้อสังเกตว่ารัฐบาลไทยเร่งรัดมีข้อตกลงในเอ็มโอยูในการพัฒนาเส้นทางรถไฟระหว่างรัฐบาลไทยกับจีนในเวลาอันรวดเร็ว โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของไทยได้ชี้แจงกับรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นการสานต่อความร่วมมือกับรัฐบาลจีน ที่เคยมีข้อตกลงจากรัฐบาลก่อนหน้านี้ รัฐบาลไทยไม่ต้องการให้ญี่ปุ่นมองว่าประเทศไทยจัดสรรโครงการการลงทุนขนาดใหญ่ให้กับประเทศจีนเท่านั้น เพราะอาจจะกระทบความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นในระยะยาวได้ ดังนั้นในการศึกษาและเจรจาความร่วมมือในโครงการรถไฟขนาดรางมาตรฐานเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่-เชียงของ รัฐบาลไทยจะมีการเจรจากับญี่ปุ่นก่อนเพื่อรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่าง 2 ประเทศไว้ Tags : รถไฟทางคู่ • ญี่ปุ่น • ตะวันออก • ตะวันตก • ทวาย • พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง • มาบตาพุด • แหล่งข่าว • คมนาคม