อุตสาหกรรมตั้งบอร์ดสถาบันยานยนต์ ดึงรองปลัดฯนั่งประธาน เผยเร่งวางยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมยานยนต์ในต้นปีหน้า รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า คณะกรรมการอุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2557 แต่งตั้งคณะกรรมการสถาบันยานยนต์ 15 คน โดยมีนายสมชาย หาญหิรัญ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานคณะกรรมการ โดยมีวาระ 2 ปี ตั้งแต่ 19 พ.ย.2557 -18 พ.ย.2559 คณะกรรมการมีหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย เป้าหมาย แผนการดำเนินงานและแผนการเงินของสถาบัน และควบคุม ดูแล ติดตาม ผลการดำเนินงานของสถาบันยานยนต์ การตั้งบอร์ดสถาบันยานยนต์ครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังปรับโครงสร้างสถาบันภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้ปลอดจาการแทรกแซงทางการเมือง เนื่องจากปัญหาในหลายปีที่ผ่านมาหลายสถาบันถูกแทรกแซงโดยกรรมการที่เป็นคนของการเมือง ทำให้สถาบันไม่สามารถดำเนินนโยบายพัฒนาภาคอุตสาหกรรมได้อย่างเต็มที่ ในครั้งนี้ เป็นการแต่งตั้งระดับรองปลัดกระทรวงฯ เข้าไปนั่งตำแหน่งประธานบอร์ดต่างจากอดีตที่ผ่านมาที่ปลัดกระทรวงบางคนเข้าไปนั่งเป็นประธานบอร์ดเกือบทุกองค์กรและสถาบันที่อยู่ใต้สังกัดกระทรวงฯ ทำให้การขับเคลื่อนงานค่อนข้างล่าช้า บอร์ดบางสถาบัน 2 ปีไม่มีการประชุม ด้าน นายสมชาย หาญหิรัญ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการสถาบันยานยนต์ กล่าวว่าแผนการเร่งด่วนหลังจากการตั้งบอร์ดสถาบันยานยนต์ ก็คือการวางยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ให้เสร็จภายในเดือน ม.ค. 2558 ทั้งนี้ การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ รวมถึงการดึงดูดการลงทุน การชักจูงให้ผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนพัฒนาสินค้า และการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการประหยัดพลังงาน เช่น รถอีโคคาร์ รถไฮบริด และรถไฟฟ้า(EV) จะเป็นปัจจัยผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย “สถาบันยานยนต์จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่มีประสิทธิภาพของหน่วยงานรัฐ ที่มีส่วนขับเคลื่อนโครงการต่างๆ เกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์" นายสมชาย กล่าว ภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ ใน 10 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.) มีปริมาณการผลิตรถยนต์รวม1.568 ล้านคัน ลดลง 26% ยอดจำหน่ายในประเทศรวม 719,410 คัน ลดลง 36% ในขณะที่การส่งออกอยู่ที่ 9.32 แสนคัน ลดลง 1% ขณะที่ดุลการค้าของอุตสาหกรรมยานยนต์ใน 10 เดือนแรกปีนี้ มีมูลค่าส่งออกมากกว่านำเข้า 16,250 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 34% ด้านข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ระบุว่า 11 เดือนของปี 2557(ม.ค.-พ.ย.) ผู้ประกอบการกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน ยังคงยื่นขอรับการส่งเสริมฯ อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น โดยมีเพียงกลุ่มสาธารณูปโภคพื้นฐานเท่านั้นที่มีมูลค่าการลงทุนสูงกว่ากลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน ใน 11 เดือนแรกปีนี้พบว่ามีการยื่นขอรับส่งเสริมฯ 289 โครงการ ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2556 ที่มี 377 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 2.16 แสนล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 2.43 แสนล้านบาท Tags : กระทรวงอุตสาหกรรม • ยานยนต์ • สมชาย หาญหิรัญ • รถยนต์