(รายงาน) เปิด4กรอบปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ปฏิรูปประเทศ"วิน-วิน"ไม่ได้ นายไพบูลย์ นลินทรางกูร กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ ในฐานะสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ด้านเศรษฐกิจ ระบุถึงแนวทางสำคัญในการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ มุ่งหน้าปฏิรูป และเห็นว่าการปฏิรูปประเทศนั้นไม่ใช่เรื่องของ "วิน-วิน" ดังนั้นจะมีทั้งผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ มีรายละเอียดดังนี้ นายไพบูลย์ กล่าวว่าในการทำงานของ สปช. 250 คน มีเป้าหมายหลักในการให้คำเสนอแนะร่างรัฐธรรมนูญและอนุมัติร่างรัฐธรรมนูญ และพิจารณาว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยในส่วนการทำงานในฐานะสมาชิกสปช. ด้านเศรษฐกิจ และในฐานะที่เป็นคนเดียวจากฝั่งตลาดทุน จึงเน้นการขับเคลื่อนที่จะปฏิรูปตลาดทุนให้รองรับการเติบโตในอนาคต " สิ่งที่สปช.ทำในครั้งนี้ คือ การเดินหน้าปรับโครงสร้างประเทศไทย วางกรอบนโยบายว่าในอีก 20 ปี ข้างหน้าประเทศไทยจะเดินไปทางไหน คนที่ได้รับประโยชน์จะเป็นกลุ่มคนรุ่นต่อไป สปช.มีอำนาจออกกฎหมายและเปลี่ยนแปลงกฎหมายแทนรัฐสภา โดยในร่างธรรมนูญจะกำหนดกรอบนโยบายกว้างๆกระชับและมีการออกกฎหมายลูกเพื่อสนับสนุนรัฐธรรมนูญ" ที่ผ่านมาอุปสรรคในการออกกฎหมายลูกของรัฐธรรมนูญ คือ รัฐบาลไม่ยอมทำหน้าที่ในการออกกฎหมายลูกเพื่อสนับสนุนให้กฎหมายเกิดการบังคับใช้จริง เพราะกลัวว่าจะกระทบกับคะแนนเสียงหรือผลประโยชน์ เห็นได้จากกฏหมายบำนาญภาคบังคับที่บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2550 ระบุว่าคนไทยในยามชราภาพ ต้องมีเงินออมพอเพียง ซึ่งรัฐบาลต้องเป็นผู้ออกกฎหมายและคิดนโยบายให้เป็นไปตามเป้าหมาย แต่รัฐบาลก็ไม่ทำ กลับไปทำเรื่องอื่นที่มีผลกับคะแนนเสียงมากกว่า "การปฏิรูปครั้งนี้จึงต้องทำในสิ่งที่เขาไม่ยอมทำ และใช้อำนาจที่เรามีในการออกกฏหมายลูกด้วย แม้รัฐธรรมนูญฉบับเต็มจะยังร่างไม่เสร็จ ระหว่างนี้หากพิจารณาว่ากฎหมายอะไรมีความจำเป็นเร่งด่วนก็จะตราออกมาได้เลย" ในภาคเศรษฐกิจมีคณะกรรมการ 2 ชุดที่อยู่ในคณะกรรมาธิการ 18 คณะของสปช. คือ คณะกรรมาธิการการเงินการคลัง ดูภาพเศรษฐกิจการเงินการคลัง และคณะกรรมาธิการรายสาขา แม้ว่าจะเป็นตัวแทนในฝั่งตลาดทุนเพียงคนเดียวอยู่ในคณะกรรมาธิการการเงินการคลัง แต่ในการทำงานได้ตั้งประธานคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปตลาดทุน ซึ่งตนดำรงตำแหน่งเป็นประธาน โดยเชิญผู้ที่มีส่วนร่วมตลาดทุนเข้ามาร่วม สำนักงานกำกับหลักทัรพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย สมาคมตราสารหนี้ การตั้งอนุกรรมาธิการจะเน้นการทำงานปรับโครงสร้างตลาดทุน ในหลายกรณีในหลายเรื่องที่ไม่สามารถทำได้เพราะติดอุปสรรคกฎหมายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเมืองหรือการคลัง โดยจะขับเคลื่อนใน 4 ข้อหลักให้บรรจุในร่างรัฐธรรมนูญ เรื่องแรก ปรับโครงสร้างตลาดทุนให้รองรับการเป็นศูนย์กลางตลาดทุนของภูมิภาค ซึ่งปัจจุบันตลาดทุนไทยยังสนับสนุนการเติบโตในประเทศเป็นหลักไม่เพียงพออีกแล้วในอนาคต ในอีก20 ปีข้างหน้าเราต้องเป็นผู้นำภูมิภาคเป็นศูนย์กลางการระดมทุนและการออม "แต่ที่ผ่านมาอุปสรรคคือกฎเกณฑ์กฎหมายของเรายังไม่เทียบเท่าสิงคโปร์ ทั้งที่ไทยมีศักยภาพสูงมาก โดยเราต้องเริ่มจากการเป็นศูนย์กลางกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง ทั้งประเทศ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม และจีนตอนใต้ ถ้าไทยยึดจุดยุทธศาสตร์นี้ได้การเป็นศูนย์กลางอาเซียนไม่ใช่เรื่องยาก" ที่ผ่านมาภาคธุรกิจในประเทศเหล่านี้เวลาระดมทุนไม่สามารถทำได้ ศูนย์กลางการเงินแต่ละประเทศเล็กเกินไป เมื่อประเทศเหล่านี้จะระดมทุน ก็มองไปที่สิงคโปร์เป็นอันดับแรก แต่จริงๆเขาอยากมาลงทุนในประเทศไทย อย่างธุรกิจในประเทศญี่ปุ่นลงทุนในประเทศพม่า อยากนำบริษัทเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพราะตลาดทุนมีขนาดใหญ่ นอกจากนี้ยังกำหนดให้บริษัทขนาดเล็กหรือเอสเอ็มอีเข้าถึงทุนได้ง่ายขึ้น เรื่องที่สอง ส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ทางการเงินมากขึ้นให้รัฐบาลมีหน้าที่ทำให้ประชาชนไทยมีความรู้ทางการเงิน ที่ผ่านมามีคนทำเรื่องนี้จำนวนมาก แต่ต่างคนต่างทำ ไม่มีเจ้าภาพหลัก ดังนั้นภาคการเงินและภาคการลงทุนร่วมมือกันสร้างความรู้ให้กับประชาชนตั้งแต่รากหญ้า โดยตั้งองค์กรอิสระทำเรื่องนี้โดยเฉพาะ "ตัวอย่างในประเทศอังกฤษมีองค์กรให้คำปรึกษาทางการเงิน เขาทำสำรวจว่าประชาชนมีความรู้ทางการเงินไม่มากพอ พวกเขาสอนตั้งแต่การคิดอัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได หรือการซื้อประกันภัย ซึ่งปัจจุบันคนไทยมีปัญหาไม่มีที่ปรึกษา" เรื่องที่สาม การสร้างระบบบำนาญภาคบังคับ ไทยกำลังเข้าสู่ประชาคมผู้สูงอายุ ผู้ที่เกษียณมีเงินใช้ยามเกษียณไม่เพียงพอ นอกจากนี้มีหน่วยงานดูแลด้านบำนาญเยอะมาก ทั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ หรือกบข. โดยมีผู้กำกับดูแลโดยก.ล.ต. กองทุนประกันสังคม ที่มีกระทรวงแรงงานดูแล กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่ก.ล.ต.ช่วยดูแล และกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) สำหรับแรงงานนอกระบบ ที่กระทรวงการคลังดูแล ควรต้องมีเจ้าภาพดูแลหลักเพียง 1 หน่วยงานเดียว ซึ่งการดูแลต้องมีมาตรฐานเดียวกัน ทำทั้งการดูแลการลงทุนที่ถูกต้อง มีผลตอบแทนที่ดี และเพียงพอต่อการเกษียณอายุ และให้กองทุนดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้จะกำหนดให้มีกฎหมายการบำนาญภาคบังคับในทุกภาคธุรกิจ เพราะถึงเวลาที่ภาคเอกชนต้องจ่ายเงินเพื่อมาช่วยเหลือลูกจ้าง ปัจจุบันมีเพียงตลาดหลักทรัพย์เพียงรายเดียวที่กำหนดว่าใครจะเข้าจดทะเบียนต้องมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในเรื่องที่สี่ ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด โดยจะทำงานสอดคล้องไปกับซูเปอร์บอร์ด ปัจจุบัน จุดอ่อนของการดูแลคือไม่มีหน่วยงานที่ดูแลรัฐวิสาหกิจโดยตรงการดูแลแบบกระจัดกระจาย ควรตั้งหน่วยงานขึ้นมาเพื่อดูแลรัฐวิสาหกิจโดยเฉพาะในลักษณะ "ซูเปอร์โฮลดิ้ง" เป็นองค์กรที่เป็นเจ้าของ และองค์กรกำกับดูแล โดยต้องแยกกันทั้ง 2 หน่วยงาน ทำโดยโอนรัฐวิสาหกิจให้หน่วยงานดังกล่าวเป็นเจ้าของ เป็นลักษณะคล้ายผู้จัดการกองทุน ร่วมเข้าประชุมผู้ถือหุ้นมีส่วนร่วมการบริหารบริษัท หากแยกตรงนี้ออกมาได้นอกจากนี้ควรมีการแยกแยะด้วยว่า รัฐวิสาหกิจรายไหนที่รัฐบาลไม่ควรดูแลต่อไป อันไหนควรต้องรักษาสถานภาพรัฐวิสาหกิจ หรืออันไหนควรที่จะขายออกไปเข้าสู่ตลาดทุน ทั้ง 4 เรื่องมีส่วนประกอบที่แตกต่างกัน และต้องมีการพิจารณาในรายละเอียดอีกหลายส่วน ได้เสนอเข้าสู่การประชุมสปช. ผ่านการพิจารณาแล้ว และเสนอเข้าสู่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ กรอบเวลาการร่างรัฐธรรมนูญจะต้องทำแล้วเสร็จในวันที่ 9 ก.ย. 2558 และดำเนินการกระบวนการต่างๆในการออกกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้อง โดยคาดว่าจะสามารถเดินหน้าการเลือกตั้งได้ในไตรมาสที่ 2 ปี 2559 "ทั้ง 4 เรื่องเป็นสิ่งที่ตกผลึกแล้วไม่ใช่ความคิดที่ใหม่ ผมเชื่อว่าสิ่งต่างๆที่เราทำนั้น มีแต่ผู้ที่เห็นด้วย การปฏิรูปต้องไม่วิน-วิน การเปลี่ยนโครงสร้างจะวิน-วิน ไม่ได้ เขาไม่ได้เรียกว่าปฏิรูป แต่ประเทศชาติต้องได้ประโยชน์ ส่วนที่เสียประโยชน์เราต้องอธิบายกับเขาให้ได้ ซึ่งหลายเรื่องไม่ใช่เรื่องใหม่ของประเทศ ตอนนี้เป็นโอกาสที่ดีที่สุดในการปฏิรูปเพราะทุกคนเห็นถึงความสำคัญ" Tags : ไพบูลย์ นลินทรางกูร • ทิสโก้ • สปช. • วิน • โครงสร้างเศรษฐกิจ • ปฏิรูปประเทศ