กลุ่มปตท. เตรียมปรับแผนธุรกิจ-ลงทุน รับราคาน้ำมันดิ่งหนัก เล็งพลิกวิกฤติเป็นโอกาส รุกซื้อกิจการ ด้านไทยออยล์ เผยค่าการกลั่นเพิ่ม แต่ไม่เพียงพอชดเชยขาดทุนสต็อก พร้อมปรับบริหารสต็อกน้ำมันลงกว่า 50% ขณะนักวิเคราะห์ประเมินระดับราคายังต่ำถึงปีหน้า นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) (PTT) กล่าวว่า ปตท.อยู่ระหว่างจะเสนอแผนงาน 5 ปี (2558-2563) ที่ปรับใหม่เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ซึ่งมีการปรับรายละเอียดของแผน เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับลดลงแรงกว่าคาด แต่แผนงานหลักๆไม่ได้แตกต่างจากแผนเดิมมาก เพราะการลงทุนของปตท.เป็นการลงทุนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาวทั้งในประเทศและต่างประเทศ “ ราคาน้ำมันที่ปรับลดลง ถือเป็นโอกาสสำหรับบริษัทปตท.และบริษัทลูก ในการลงทุนซื้อกิจการที่มีศักยภาพ คงจะมีการนำหลายโครงการที่กำลังดูอยู่มาประเมินใหม่ เพราะราคาน้ำมันที่ต่ำ อาจทำให้กิจการเหล่านั้นมีลดลง ทำให้มีผลตอบแทนที่น่าสนใจมากขึ้น ซึ่งโดยภาพรวมสถานะทางการเงินของปตท.แข็งแกร่ง มีความพร้อมที่จะเข้าไปซื้อกิจการ อย่างไรก็ตามการลงทุนก็ต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง มีการประเมินความเสี่ยงอย่างรอบด้าน” ไตรมาส4ผลกระทบแรงสุด สำไหรับผลผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ลดลงแรงต่อปตท. ไม่น่าเป็นห่วง เพราะส่วนใหญ่จะกระทบต่ออุตสาหกรรมต้นน้ำ และปลายน้ำมากกว่า ขณะที่ธุรกิจส่วนใหญ่ของปตท.เป็นธุรกิจกลางน้ำ ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ได้รับผลกระทบผ่านบริษัทลูก คือ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ. และกลุ่มธุรกิจโรงกลั่น ที่จะต้องขาดทุนจากสต็อกน้ำมัน อย่างไรก็ตามการผลิตและสำรวจของปตท.สผ.ส่วนใหญ่เป็นก๊าซธรรมชาติ มากกว่าน้ำมัน ขณะที่กลุ่มโรงกลั่นและปิโตรเคมี แม้ว่าจะต้องบันทึกการขาดทุนจากสต็อกน้ำมัน หรือ สต็อกลอสท์ แต่ก็เป็นการบันทึกทางบัญชีในครั้งเดียว นอกจากนี้ธุรกิจโรงกลั่น และปิโตรเคมี มีรายได้มาจากส่วนต่างราคาวัตถุดิบ และราคาขายผลิตภัณฑ์ หรือ สเปรด เมื่อราคาน้ำมันดิบซึ่งเป็นวัตถุดิบปรับลดลงแรง แต่ราคาขายน้ำมันสำเร็จรูป ปรับลดลงน้อยกว่า ส่วนต่าง หรือกำไรก็เพิ่มขึ้น “ผลกระทบจากราคาน้ำมัน น่าจะกระทบแรงสุดในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ เพราะราคาน้ำมันปรับลดลงแรงมากกว่า 40 ดอลลาร์ ส่วนแนวโน้มในปีหน้า หากราคายังปรับลดลงอยู่ ก็คงไม่ลดลงแรงขนาดนี้ เชื่อว่าราคาน้ำมันจะค่อยๆปรับโครงสร้างสู่จุดสมดุลใหม่จากเดิมที่อยู่ในระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อาจจะปรับมาอยู่ในระดับ 60-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล” ค่าการกลั่นพุ่งสวนราคาน้ำมัน ด้านนายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) (TOP) กล่าวว่าธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน มีรายได้และกำไรมาจากส่วนต่างราคาวัตถุดิบและราคาขายผลิตภัณฑ์ เมื่อราคาวัตถุดิบที่เป็นราคาน้ำมันดิบปรับลดลง ทำให้สเปรดและค่าการกลั่นรวมของบริษัทปรับขึ้นมาอยู่ในระดับที่ดีมาก "คาดว่าค่าการกลั่นรวมในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 6.5-7.5 ดอลลาร์ ต่อบาร์เรล สูงกว่าไตรมาส 3 มาก" นายอธิคม กล่าวว่าค่าการกลั่นที่เพิ่มขึ้น ยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยผลกระทบจากการขาดทุนสต็อกน้ำมัน เพราะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกได้ปรับลดลงแรงและเร็ว แต่ผลกระทบส่วนนี้จะลดลงเมื่อราคาน้ำมันเริ่มทรงตัวหรือขยับเพิ่มขึ้น ”ไทยออยล์”ลดสต็อกน้ำมัน50% “บริษัทได้ปรับแผนการบริหารสต็อกน้ำมันใหม่ เพื่อลดการขาดทุนจากสต็อกน้ำมัน ในช่วงที่สถานการณ์ราคาน้ำมันยังเป็นขาลงอยู่ แต่ปรับลดลงเฉพาะในส่วนสต็อกน้ำมันที่ใช้ในการดำเนินงานเท่านั้น ไม่ได้ปรับลดสต็อกน้ำมันตามกฎหมายลง โดยปรับลดสต็อกน้ำมันในส่วนที่ใช้ดำเนินธุรกิจลงมากกว่า 50% จากที่เคยสต็อกไว้ 8.5 ล้านบาร์เรล ลดลงเหลือต่ำกว่า 4 ล้านบาร์เรล” ทั้งนี้ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ถือว่าราคาน้ำมันปรับลดลงแรงสุด มาอยู่ในระดับประมาณ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากไตรมาส 3 อยู่ที่ระดับ 97 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่ช่วงต้นปีอยู่ที่ระดับ 108 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สำหรับแนวโน้มราคาน้ำมันในช่วงสิ้นปีนี้ ทางกลุ่มบริษัท ปตท.ประเมินว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะอยู่ในระดับประมาณ บวกลบ 65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนปีหน้าราคาเฉลี่ยน่าจะอยู่ในระดับประมาณ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล คาดน้ำมันต่ำหนุนความต้องการเอเชีย นักวิเคราะห์คาด น้ำมันราคาถูก ทำหลายชาติเอเชียมีความต้องการใช้มากขึ้น ขณะอิรักชี้ ไม่เห็นความจำเป็นจัดประชุมฉุกเฉินกลุ่มโอเปค หลังราคาดิ่ง เทรดเดอร์และนักวิเคราะห์กล่าวว่าราคาน้ำมันที่ลดลงอาจทำให้เอเชียมีความต้องการใช้น้ำมันมากขึ้นปีหน้า โดยคาดว่าความต้องการน้ำมันดีเซลจะเพิ่มขึ้นในประเทศอย่างเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย บริษัทที่ปรึกษาด้านน้ำมันและก๊าซ เคบีซีแอดวานซ์เทคโนโลยีส์ คาดว่าความต้องการน้ำมันในเอเชียจะเพิ่มขึ้นวันละ 660,000 บาร์เรล เป็นวันละ 31.11 ล้านบาร์เรลในปีหน้า จากปีนี้ที่เพิ่มขึ้นวันละ 610,000 บาร์เรล ขณะที่ศักยภาพในการกลั่นน้ำมันของเอเชียจะเพิ่มขึ้นวันละ 310,000 บาร์เรลปีหน้า อันหมายความว่าความต้องการจะมีมากกว่าการจัดหา "สำหรับปีหน้า เราคาดว่าความต้องการจะเพิ่มขึ้นมาก ส่วนใหญ่เพราะราคาค่อนข้างต่ำ เราคาดว่าราคาจะยังอยู่ในระดับต่ำปีหน้า โดยน้ำมันดิบเบรนต์จะอยู่ที่บาร์เรลละ 70 ดอลลาร์ ซึ่งหมายความว่าความต้องการอาจเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาซึ่งเบรนต์อยู่ที่ระดับเฉลี่ยประมาณ 110 ดอลลาร์" นายจิต หยางหลิม แห่งบริษัทที่ปรึกษาเคบีซีระบุ ทั้งนี้ น้ำมันดิบเบรนต์ลดลงตั้งแต่เดือนมิ.ย. เหลือไม่ถึงบาร์เรลละ 60 ดอลลาร์เพราะวิตกเกี่ยวกับปริมาณจัดหาที่ล้นเกิน ราคายังต่ำแม้เลิกอุดหนุนราคา นักวิเคราะห์ยังมองว่าแม้การที่ประเทศในเอเชียลดการอุดหนุนราคาน้ำมัน อาจทำให้ความต้องการน้ำมันลดลงบ้าง แต่ในภาพรวมแล้วราคาน้ำมันที่ลดลงจะทำให้ประเด็นนี้ไม่มีผลกระทบมากนัก "การลดหรือเลิกอุดหนุนราคาน้ำมัน จะมีผลกระทบบ้าง แต่อาจเป็นเพียงไม่กี่ไตรมาส จากนั้นความต้องการน้ำมันน่าจะเพิ่มขึ้นมาก เพราะราคาน้ำมันลดลงไปมาก แม้ในกรณีที่ทางการเลิกอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงแล้ว ราคาก็ยังอยู่ในระดับต่ำ" นายหลิม ระบุ ซาอุฯมั่นใจราคาขยับขึ้น นายอาลี อัลไนมี รัฐมนตรีน้ำมันซาอุดีอาระเบีย กล่าวแสดงความมั่นใจว่าราคาน้ำมันโลกจะดีขึ้น หลังจากปรับตัวลง ผลจากการที่ประเทศผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปคไม่ยอมร่วมมือกัน "การดำดิ่งของราคาน้ำมัน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขาดการร่วมมือของประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ๆ นอกกลุ่มโอเปค การเผยแพร่ข้อมูลที่ทำให้เกิดการเข้าใจผิด และความละโมบในการเก็งกำไร" นายไนมี ระบุ พร้อมเสริมว่าในไม่ช้าประเทศผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปคจะตระหนักได้ถึงความสำคัญของการร่วมมือกันเพื่อสร้างราคาให้สมดุล นายไนมี ยังคาดหมายว่าผู้ผลิตที่มีต้นทุนสูงจะเพิ่มการผลิตมากขึ้น ซึ่งชัดเจนว่าพาดพิงถึงผลผลิตน้ำมันจากหินดินดานของสหรัฐ นายไนมี ปฏิเสธทฤษฎีที่ว่าซาอุดีอาระเบียมีแผนฉุดราคาให้ลดลงเพื่อเป้าหมายทางการเมือง พร้อมยืนยันว่านโยบายของซาอุดีอาระเบียอิงอยู่กับหลักการทางเศรษฐกิจล้วนๆ "ระยะหลังมีการวิเคราะห์ว่าซาอุดีอาระเบียมีแผนการที่มีแรงจูงใจทางการเมือง ด้วยการใช้น้ำมันและราคาน้ำมันโจมตีประเทศนั้นประเทศนี้ ซึ่งไม่มีมูลอย่างสิ้นเชิง" นายไนมี ระบุ พร้อมเสริมว่าราคาน้ำมันที่ลดลงจะไม่มีผลกระทบมากนักต่อเศรษฐกิจของซาอุดีอาระเบียและประเทศอาหรับอื่นๆ ด้านนายซูเฮล อัลมาสรูอี รัฐมนตรีน้ำมันจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กล่าวว่าระดับการผลิตที่ "ปราศจากความรับผิดชอบ" ของผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปค เป็นหนึ่งในเหตุผลหลักที่ทำให้ราคาน้ำมันโลกตกต่ำ นายอัลมาสรูอี กล่าวว่าราคาน้ำมันที่ดิ่งลง จะสร้างภาระทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่แก่ประเทศผู้ผลิตน้ำมัน แต่ยืนยันว่าการตัดสินใจคงเพดานการผลิตของกลุ่มโอเปคเป็นเรื่องถูกต้องแล้ว ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลงเกือบ 50% ตั้งแต่เดือนมิ.ย. ส่วนใหญ่เนื่องจากการจัดหาที่ล้นเกิน เศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ และเงินดอลลาร์ที่แข็งค่า Tags : วิรัตน์ เอื้อนฤมิต • กลุ่มปตท. • ราคาน้ำมัน • อธิคม เติบศิริ • ไทยออยล์ • อุดหนุน • ซาอุดีอาระเบีย • ปรับแผน • ซื้อกิจการ