"ปีติพงศ์" รมว.เกษตรฯดูดเงินสำรองสหกรณ์ 5 % ให้กพส.บริหารปล่อยกู้เสริมสภาพคล่องสหกรณ์ทั่วประเทศ นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ (คพช.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้มีทุนรักษาเสถียรภาพระบบสหกรณ์ตามอัตราที่กำหนดในกฎหมาย แต่ต้องไม่เกิน 5 % ของกำไรสุทธิ ซึ่งที่ประชุมให้จัดสรรจากกำไรสุทธิประจำปี ตามมาตรา 60 แห่ง พ.ร.บ.พัฒนาสหกรณ์ 2542 ไว้ที่กองทุนพัฒนาสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์โดยแยกเป็นบัญชีเฉพาะ วัตถุประสงค์เพื่อนำไปแก้ปัญหาการขาดสภาพคล่องของสหกรณ์ ซึ่งการบริหารทุนรักษาเสถียรภาพสหกรณ์นี้ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการ บริหารกองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) อย่างไรก็ตามที่ประชุมได้ตั้งข้อสังเกต 3 ข้อ คือ 1. การใช้เงินดังกล่าวเพื่อปล่อยกู้ให้กับสหกรณ์รายอื่นที่มีปัญหา โดยนำมารวมไว้ที่ กพส. จะมั่นใจได้อย่างไรว่าสหกรณ์จะได้เงินคืนทันที ในกรณีที่สหกรณ์นั้นมีปัญหาต้องการใช้เงิน 2. การบริหารเงินดังกล่าวที่อยู่ในกองทุน ควรมีสัดส่วนบุคลากรจากสหกรณ์ต่างๆ มากกว่าข้าราชการ ทั้งนี้เพราะเงินดังกล่าวเป็นของสหกรณ์ที่เป็นนิติบุคคล และ 3. การนำเงินมารวมไว้ในกองทุนจำเป็นต้องมีผลตอบแทน ซึ่งต้องหาแนวทางและกำหนดให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสมและเป็นที่พอใจ ทั้งนี้การใช้เงินดังกล่าวที่ต้องมีผลตอบแทนนั้น ที่ประชุมเห็นว่าควรให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาบริหารจัดการ ซึ่งหมายถึงสถาบันการเงินที่ทำธุรกิจด้านนี้โดยตรง แต่การนำเงินไปบริหารนั้นต้องมีการเจรจาด้านอัตราดอกเบี้ยจนเป็นที่พอใจ ซึ่งวงเงินที่คาดว่าจะนำมาใช้ประโยชน์ได้จะเป็นในส่วนของสภาพคล่องที่กำหนดไว้ 1 % หรือ 6,000 ล้านบาท/ปี ส่วนเงินสำรองตามมาตรา 60 นั้นกำหนดไว้ที่ 10 % ในส่วนนี้จะขอมาบริหารจัดการ 5 % ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสหกรณ์ออมทรัพย์มากที่สุด นายปีติพงศ์ กล่าวว่า การพิจารณาทั้งหมดคาดว่าจะสรุปผลได้ในเดือน ม.ค. นี้เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา หากต้องปรับเปลี่ยนแก้ไขกฎหมาย หรือกฎกระทรวง ก็ต้องเร่งดำเนินการในทันที ปัจจุบัน กพส.มีวงเงินกองทุนเพียง จำนวน 4,400 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของสหกรณ์ที่ขาดแคลนเงินทุน โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้รับการจัดสรรงบประมาณในส่วนเงิน กพส. ล่าสุด ในปี 2556 จำนวน 65 ล้านบาท ขณะที่ปี 2557-58 ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเลย เมื่อระบบสหกรณ์มีปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน จากระบบที่มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยสูง ที่ 2.75 - 5 % ต่อปี เป็นการนำมาซึ่งการขาดสภาพคล่องการเงินของสหกรณ์ในประเทศไทย เพราะขณะนี้สถาบันการเงินหรือธนาคารพาณิชย์โดยทั่วไปกำหนดอัตราดอกเบี้ยเพียง 1.25 -3 % ต่อปี ทำให้เกิดแรงจูงใจนำเงินมาฝากสหกรณ์จำนวนมาก ส่งผลให้ผู้บริหารต้องหาวิธีลงทุนให้ได้ผลตอบแทนสูงๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเงินฝากของผู้ฝากเงินในระยะยาว Tags : ปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา • เกษตรและสหกรณ์ • ฝากเงิน • กำไร • กองทุน