แบงก์ชาติชี้ปีหน้า เศรษฐกิจไทยเผชิญ 4 ปัจจัยเสี่ยง "น้ำมันร่วง-เงินรูเบิลป่วน-เยนแข็ง-ศก.จีนชะลอ" ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกผันผวนมากกว่าปกติ และยังหวังว่าการลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐจะช่วยกระตุ้นการอุปโภคบริโภคในประเทศ หนุนให้ภาวะเศรษฐกิจไทยกระเตื้องขึ้น ประเมินแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของไทยยังอยู่ในระดับต่ำต่อไป ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2558 โดยมองว่าปัจจัยที่จะมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจในประเทศส่วนใหญ่เป็นปัจจัยต่างประเทศเป็นสำคัญ แต่หวังว่าการลงทุนของภาครัฐจะช่วยสนับสนุนให้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้น นาย ไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน รองผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2558 มี 4 ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยอาจจะมีผลกระทบกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ประกอบด้วย ความผันผวนของค่าเงินรัสเซีย การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน การอ่อนของค่าเงินเยน และราคาน้ำมันปรับตัวลดลง "การเติบโตในปีหน้า จะต้องพึ่งอาจการลงทุนของภาครัฐบาลเป็นหลัก รวมถึงการอุปโภคบริโภคในประเทศ เพื่อช่วยหนุนให้เศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวได้ ในปีหน้าเราจะเห็นความท้าทายของเศรษฐกิจไทยมากขึ้น โดยเฉพาะปัจจัยจากต่างประเทศ ที่จะเข้ามามีผลกระทบกับอัตราแลกเปลี่ยนและความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายมากขึ้น ปัจจัยดังกล่าวจะทำให้อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนมากกว่าปกติ" นายไพบูลย์ กล่าวว่าเมื่อพิจารณารายละเอียดของแต่ละปัจจัยเสี่ยง พบว่าผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยจะแตกต่างกัน เช่น ปัจจัยการปรับตัวลดลงของราคาพลังงาน เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งราคาน้ำมันดิบจากต้นปีอยู่ที่ 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลงต่ำกว่า 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลดีต่อประเทศไทย ที่มีการนำเข้าพลังงานสัดส่วน 16% ของการนำเข้าสินค้าทั้งหมดและมีสัดส่วน 9%ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ(จีดีพี) น้ำมันลดฉุดเงินเฟ้อปีหน้าไม่เกิน2% "ผลที่เกิดขึ้น จะทำให้การเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อของไทยในปีหน้าปรับตัวลดลงต่อเนื่องและคาดว่าไม่น่าจะสูงเกิน 2% ในขณะเดียวกันส่งผลดีต่อต้นทุนสินค้าที่ปรับตัวลดลง ลดต้นทุนการผลิต" ในขณะเดียวกันการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมัน ส่งผลให้ค่าเงินรูเบิลของรัสเซียอ่อนค่าลง จากเดิมที่ 30 รูเบิลต่อดอลลาร์ ลงมาอยู่ที่ระดับ 60 รูเบิลต่อดอลลาร์ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะไม่ส่งกระทบโดยตรงกับไทย เพราะการส่งออกไปยังรัสเซียมีน้อยมาก แต่จะส่งผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ซึ่งไทยจัดอยู่ในกลุ่มนั้นด้วย ทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีความผันผวนมากขึ้น ส่วนปัจจัยที่ 3 การแข็งค่าของค่าเงินเยนจากการอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งหลายฝ่ายกังวลว่าหากเยนอ่อนค่ามากๆ จะส่งผลเสียให้นักลงทุนญี่ปุ่นไม่ลงทุนในประเทศไทย แต่แท้จริงแล้วหากพิจารณาในอดีตจะพบว่าปัจจัยค่าเงินไม่ได้ส่งผลต่อการลงทุน เพราะพวกเขามองที่ปัจจัยพื้นฐานและการสนับสนุนของภาครัฐบาลมากกว่า ในขณะที่ปัจจัยเสี่ยงสุดท้ายคือการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ปัจจัยนี้จะส่งผลให้การส่งออกของไทยยังไม่ดีขึ้น เพราะตลาดจีนเป็นหนึ่งในตลาดที่สำคัญของการส่งออก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคายางพาราที่ยังอยู่ในระดับต่ำต่อไป หวังรัฐบาลเร่งผลักดันลงทุน นายไพบูลย์ กล่าวว่าปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีหน้านั้นจะเป็นเรื่องการลงทุนภาครัฐ และการอุปโภคในประเทศโดยตรง แม้การลงทุนภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา ไทยมักจะประสบปัญหาความล่าช้าและไม่ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งรัฐบาลต้องเร่งให้การลงทุนนั้นเกิดขึ้นให้ได้โดยเร็ว ส่วนการอุปโภคบริโภคในประเทศยังยอมรับว่า เป็นปัจจัยที่ขับเคลื่อนไม่ได้มากนักเพราะไทยยังโดนหลอกหลอนจากนโยบายรถยนต์คันแรก ที่ดึงกำลังซื้อในอนาคตมาใช้จ่ายไปแล้ว แนวโน้มดอกเบี้ยปีหน้าอยู่ในระดับต่ำ นายไพบูลย์ กล่าวถึงทิศทางดอกเบี้ยนโยบายในปีหน้า ปัจจัยราคาน้ำมันปรับตัวลดลงเป็นสิ่งที่ดีที่ทำให้การปรับเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งแนวโน้มดอกเบี้ยยังจะอยู่ในลักษณะต่ำต่อไป ตามปัจจัยพื้นฐานของประเทศที่ต้องการการลงทุน "ไม่ใช่ว่าเราจะรักษาระดับดอกเบี้ยที่ต่ำเพื่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยที่ไม่พิจารณาปัจจัยอื่นเลย แต่ต้องดูปัจจัยอื่นๆประกอบด้วย ทั้งการเก็งกำไรในตลาดหุ้นและการเก็งกำไรในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพื่อป้องกันความเสี่ยงในอนาคต" กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย 2% ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ในการประชุมครั้งสุดท้ายในรอบปี 2557ของกนง. มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2% โดยกรรมการ 2 เสียง ได้เสนอให้ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ขณะเดียวกันกรรมการทั้งหมด มีความเห็นสอดคล้องกันว่า นโยบายการเงินควรอยู่ในระดับที่ผ่อนปรนเพื่อช่วยประคองเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้อย่างเข้มแข็งขึ้น ซึ่งปัจจัยที่สำคัญอีกประการ คือ การเร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐให้เป็นไปตามเป้าหมาย นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการกนง. กล่าวว่า มติที่ออกมาเนื่องจากกรรมการส่วนใหญ่ ประเมินว่า นโยบายการเงินปัจจุบันยังผ่อนปรนเพียงพอต่อเศรษฐกิจที่คาดว่าจะทยอยฟื้นตัวในปี 2558 ซึ่งสอดคล้องการรักษาเสถียรภาพทางการเงินในระยะยาว แรงขับเคลื่อนหลักจากใช้จ่ายภาคเอกชน สำหรับประเด็นที่ กนง. ให้ความสำคัญในการประชุมครั้งนี้ คือ เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ปี 2557 ขยายตัวใกล้เคียงกับที่คาด โดยการฟื้นตัวยังเป็นไปอย่างช้าๆ และมีการใช้จ่ายในประเทศของภาคเอกชนเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก “ในปี 2558 เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่อัตราการเติบโตจะต่ำกว่าประมาณการครั้งก่อน เพราะแรงกระตุ้นจากการใช้จ่ายภาคการคลังที่น้อยกว่าคาด ซึ่งส่งผลต่อการลงทุนภาคเอกชนที่ส่วนใหญ่ยังรอความชัดเจนของการลงทุนภาครัฐ นอกจากนี้ การฟื้นตัวของการส่งออกมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น ขณะที่การท่องเที่ยวมีแนวโน้มปรับดีขึ้น แต่ยังต่ำกว่าปกติ”นายเมธีกล่าว ความเสี่ยงภาวะเงินฝืดต่ำ สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปรับลดลงตามราคาพลังงาน และคาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำต่อไปอีกระยะหนึ่งตามราคาน้ำมันโลก ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลงเล็กน้อย ตามแรงกดดันจากด้านอุปสงค์ที่ลดลง จากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า เสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยความเสี่ยงสะสมจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมาระยะหนึ่งยังอยู่ในวงจำกัด นายเมธี กล่าวด้วยว่า แม้อัตราเงินเฟ้อจะปรับลดลงต่อเนื่อง แต่ถ้าดูค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อช่วง 12 เดือนข้างหน้า เทียบกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้ดอกเบี้ยแท้จริงในขณะนี้ยังคงติดลบอยู่เล็กน้อย ขณะเดียวกันก็เชื่อว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่มีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะเงินฝืด อย่างน้อยในอีก 2 ปีข้างหน้า “ราคาน้ำมันมีผลทำให้เงินเฟ้อลดลงมาก โอกาสที่เงินเฟ้อติดลบในระยะสั้น ก็เป็นไปได้ แต่ถ้าดูค่าเฉลี่ยกลางแล้ว คิดว่าไม่ถึงกับติดลบ และประมาณการของเราเองก็ไม่ได้มองว่าจะติดลบด้วย เพียงแต่ลดลงจากเดิม โดยเงินเฟ้อที่ลดลง เป็นผลจากราคาน้ำมัน ส่งผลต่อต้นทุนด้านอื่นๆ ที่ลดลงตาม ไม่ได้มาจากฝั่งดีมานด์ที่ลดลง ก็ต้องดูพัฒนาการระยะต่อไปว่าจะไปทางไหน จะลงเรื่อยๆ หรือลงแล้วกลับขึ้นมาใหม่”นายเมธีกล่าวและว่า “ทางเราไม่คิดว่าจะมีภาวะเงินฝืด มองไปอีก 2 ปีข้างหน้าก็ยังไม่มี” แถลงตัวเลขศก.ใหม่26ธ.ค. สำหรับการปรับลดลงของดัชนีหุ้นไทยที่ค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา นายเมธี กล่าวว่า เรื่องนี้ กนง. ไม่ได้หารือแบบเฉพาะเจาะจง แต่เป็นการพูดคุยในเชิงเสถียรภาพการเงินโดยรวมมากกว่า เพราะที่ผ่านมาก็มีเครื่องชี้ที่บ่งบอกว่า มีการเก็งกำไรที่สูงมากในบางจุด ซึ่งรวมถึงบางส่วนของตลาดหุ้นไทยด้วย และก่อนหน้านี้ในการประชุมร่วมระหว่าง กนง. กับ คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน(กนส.) ก็ได้ชี้ให้เห็นถึงประเด็นดังกล่าวไปบ้างแล้ว จึงไม่ได้มีการหารือเพิ่มเติมอะไรในการประชุมครั้งนี้ นายเมธี กล่าวด้วยว่า ในวันที่ 26 ธ.ค. ทาง ธปท. จะมีการแถลงตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจทั้งในปีนี้และปีหน้าใหม่ ซึ่งตัวเลขที่จะประกาศออกมาก็คงเป็นตัวเลขที่ลดลงจากการประมาณการในครั้งก่อนหน้านี้ ที่ ประเมินการเติบโตเศรษฐกิจไทยปีนี้ไว้ที่ 1.5% และปีหน้าที่ 4.8% Tags : ธนาคารแห่งประเทศไทย • ธปท. • ไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน • น้ำมัน • ดอลลาร์ • รูเบิล • เยน • ดอกเบี้ย • กนง. • ดัชนีหุ้นไทย