'หุ้น-เงิน'โลกฟื้นรับมติเฟด

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 19 ธันวาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    ตลาด "หุ้น-ค่าเงิน-น้ำมัน" ทั่วโลกฟื้นตัวรับมติเฟด หลังส่งสัญญาณชะลอขึ้นดอกเบี้ย

    นักลงทุนมั่นใจกลับมาถือสินทรัพย์เสี่ยง ด้าน"ปูติน"เตรียมงัดมาตรการดูแลเงิน"รูเบิล" คาดฉุดเศรษฐกิจชะลอ 2 ปี ขณะนักวิเคราะห์แนะจับตาเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น

    ตลาดหุ้นและค่าเงินทั่วโลกขยับขึ้น หลังธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) สิ้นสุดการประชุมเป็นเวลา 2 วัน และออกแถลงการณ์ที่มีการปรับเปลี่ยนถ้อยคำเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย ที่ระบุว่าจะตรึงดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำไปอีกระยะหนึ่งหลังจากยุติการเข้าซื้อพันธบัตร เป็นการระบุว่าจะใช้ท่าที "อดทน" ในการตัดสินใจว่าจะขึ้นดอกเบี้ยเมื่อไร

    ขณะราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น จากแรงซื้อของนักเก็งกำไร หลังการเทขายมากก่อนหน้านั้น โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์และเวสต์เท็กซัสปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 6% ในช่วงการซื้อระหว่างวันและปิดตลาดเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หลังร่วงหนักมาหลายสัปดาห์ เนื่องจากนักลงทุนได้กลับเข้ามาทำสัญญาซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้าเพื่อทำกำไร

    ราคาน้ำมันดิบเบรท์ ยืนเหนือระดับ 60 ดอลลาร์/บาร์เรล ขณะเวสต์เท็กซัส ยืนเหนือระดับ 55 ดอลลาร์/บาร์เรล

    นางเจเนต เยลเลน ประธานเฟด แถลงใช้คำว่า "อดทน" หมายความว่าเฟดไม่มีแนวโน้มจะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุม 2-3 ครั้งหน้าเป็นอย่างน้อย โดยเฟดจะมีการประชุมวันที่ 28 ม.ค. 18 มี.ค. และ 29 เม.ย. ซึ่งนักวิเคราะห์ตีความว่าหากจะมีขึ้นดอกเบี้ยนั้น อาจมีการตัดสินใจในการประชุมเดือนเม.ย. เป็นอย่างเร็วที่สุด

    นางเยลเลน ระบุ การตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย ยังต้องพิจารณาจากข้อมูลเป็นหลัก พร้อมเสริมว่าแม้ต้นทุนพลังงานลดลง แต่เฟดมั่นใจว่าเงินเฟ้อจะสูงขึ้นและใกล้เคียงกับเป้าหมายของทางการที่ 2% ขณะที่เจ้าหน้าที่เฟดยอมรับว่าเงินเฟ้ออาจอยู่ที่ระดับ 1-1.6% ปีหน้า สำหรับกรณีของวิกฤติในรัสเซียนั้น นางเยลเลนยกล่าวว่าสองประเทศมีความเชื่อมโยงกันหลวมเกินกว่าจะคาดถึงผลกระทบอันชัดเจนได้

    นอกจากนั้น นางเยลเลนยังกล่าวว่าราคาน้ำมันที่ลดลงน่าจะเป็นผลดีสำหรับเศรษฐกิจ เพราะทำให้ประชาชนมีเงินเหลือสำหรับจับจ่ายมากขึ้น

    "หุ้น-เงิน"เอเชียฟื้นทั่วภูมิภาค

    ตลาดหุ้นเอเชียก็ปรับตัวขึ้นวานนี้ (18 ธ.ค.) โดยดัชนีนิกเคอิในตลาดโตเกียวพุ่งขึ้น 2.32% หรือ 390.32 จุด ดัชนีหั่งเส็งในตลาดฮ่องกงพุ่งขึ้น 1.09% หรือ 246.37 จุด หุ้นไต้หวันเพิ่มขึ้น 0.57% หรือ 50.27 จุด หุ้นฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้น 0.91% หรือ 63.07 จุด หุ้นมาเลเซียเพิ่มขึ้น 1.07% หรือ 18.05 จุด หุ้นอินโดนีเซียพุ่งขึ้น 1.54% หรือ 77.70 จุด หุ้นสิงคโปร์ขยับขึ้น 0.51% หรือ 16.42 จุด

    เช่นเดียวกับสกุลเงินในเอเชีย ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากถ้อยแถลงของเฟด โดยเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซีย ริงกิตของมาเลเซีย และรูปีของอินเดียแข็งค่าขึ้น

    ค่าเงินบาท/ดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นตามภูมิภาค หลังความต้องการสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้น โดยค่าเงินบาทช่วงท้ายตลาดวานนี้(18 ธ.ค.) อยู่ที่ 32.8725/9125 บาท/ดอลลาร์ จาก 32.94/96 ในช่วงเช้า ส่วนตลาดออฟชอร์อยู่ที่ 32.89/91 จาก 32.94/96 ในช่วงเช้า

    ค่าเงินบาทยังได้ปัจจัย จากบริษัทสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์(S&P) คงอันดับเครดิตของตราสารหนี้ระยะยาวและระยะสั้น สกุลเงินตราต่างประเทศของไทย ที่ระดับ BBB+ และ A-2 จากก่อนหน้านี้กังวลว่าจะถูกลดเครดิตจากปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจ

    จับตาทุนไหลเข้าไทยระยะสั้น

    ด้านนายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการ สำนักวิจัย สายบริหารความเสี่ยง ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า มติเอฟโอเอ็มซีของเฟดที่ออกมา ทำให้ตลาดเงินตีความกันว่า เฟด อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายช้ากว่าที่เคยประเมินไว้ ซึ่งประเด็นนี้อาจทำให้มีเงินทุนเคลื่อนย้ายบางส่วนไหลกลับเข้าตลาดเกิดใหม่และประเทศไทยในระยะสั้นได้เช่นกัน

    "ถ้อยแถลงของเฟดทำให้ตลาดตีความใน 2 อย่าง คือ เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยช้ากว่าที่คาด และ การปรับขึ้นก็อาจน้อยกว่าที่คาดด้วย ทำให้นักลงทุนเริ่มกลับมามองการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น เป็นเหตุให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ประกอบกับการผ่อนปรนนโยบายการเงินที่เพิ่มเติมของทั้งญี่ปุ่นและยุโรป ทำให้ระยะสั้นมีความเสี่ยงที่มีเงินทุนไหลกลับเข้ามาได้อีกรอบ"นายอมรเทพกล่าว

    นอกจากนี้ ถ้าดูมติของเฟดที่ออกมา ทำให้แรงกดดันในการดำเนินนโยบายการเงินด้านดอกเบี้ยลดลง แต่ในความเห็นส่วนตัวมองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ยังไม่ควรรีบปรับลดดอกเบี้ย ควรเก็บกระสุนเอาไว้ก่อน เนื่องจากในระยะข้างหน้ายังมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนในหลายๆ เรื่อง เช่น กรณีปัญหาที่เกิดขึ้นกับรัสเซีย ซึ่งเวลานี้ก็เริ่มส่งผลกระทบต่อค่าเงินของอินโดนีเซียบ้างแล้ว

    อย่างไรก็ตาม ถ้าดูถ้อยแถลงของเฟดที่ออกมา อย่างน้อยก็บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐกำลังอยู่ในขั้นของการฟื้นตัว เพียงแต่ในเชิงของตลาดแรงงานอาจจะยังไม่ดีนัก ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่เฟดไม่รีบพิจารณาในการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย

    "ปูติน"ลั่นจัดทำมาตรการแก้วิกฤติรูเบิล

    ค่าเงินรูเบิลในตลาดโตเกียวแข็งค่าขึ้นวานนี้ (18 ธ.ค.) อยู่ที่ 61.59 รูเบิลต่อดอลลาร์ จากระดับต่ำสุด 80 รูเบิลต่อดอลลาร์เมื่อวันอังคาร (16 ธ.ค.) หลังจากรัฐบาลกรุงมอสโกกล่าวว่าจะเทขายทุนสำรองสกุลเงินต่างประเทศ 7,000 ล้านดอลลาร์เพื่อพยุงเงินรูเบิล นอกจากนั้นธนาคารกลางยังประกาศมาตรการต่างๆ เพื่อสร้างเสถียรภาพระบบการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการผ่อนคลายการเข้าถึงเงินตราต่างประเทศ การปกป้องธนาคารต่างๆ จากการขาดทุน ทั้งยังจะประสานกับรัฐบาลเพื่อเพิ่มทุนธนาคารบางแห่งในปีหน้า

    ธนาคารรัสเซียอาจได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนถึง 1 ล้านล้านรูเบิล ภายใต้กฎหมายใหม่ที่รัฐบาลกำลังร่าง เพื่อสนับสนุนภาคธนาคารที่ได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกและเศรษฐกิจตกต่ำ

    อย่างไรก็ตาม เงินรูเบิลอ่อนค่าลงเล็กน้อยช่วงเปิดตลาดในมอสโกไปอยู่ที่ 62.04 รูเบิลต่อดอลลาร์ หลังจากประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แถลงข่าวส่งท้ายปี เพราะเทรดเดอร์มองว่าไม่มีมาตรการเป็นรูปธรรมในการดึงรัสเซียขึ้นจากวิกฤติ

    ประธานาธิบดีปูตินกล่าวว่าเศรษฐกิจรัสเซียจะฟื้นตัวหลังจากเงินรูเบิลดิ่งเหว แต่เตือนว่าอาจใช้เวลา 2 ปีกว่าประเทศจะพ้นวิกฤติ นอกจากนั้น ปูตินยังสนับสนุนการเคลื่อนไหวของรัฐบาลกลาง และรัฐบาลในการรับมือวิกฤติ พร้อมตำหนิปัจจัยภายนอกว่าเป็นสาเหตุของวิกฤติและระบุว่าต้องมีการออกมาตรการเพิ่มเติม

    ปูตินกล่าวว่ารัฐบาลไม่มีแผนออกคำสั่งให้ผู้ส่งออกในประเทศขายรายได้ที่อยู่ในรูปสกุลเงินต่างประเทศ เพื่อพยุงเงินรูเบิล พร้อมระบุว่าธนาคารกลางควรเลิกเข้าแทรกแซงในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราตั้งนานแล้ว ซึ่งหากทำเช่นนั้นก็คงไม่ต้องขึ้นดอกเบี้ย ปูตินกล่าวด้วยว่ารัสเซียต้องสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจเพื่อลดการพึ่งพาน้ำมัน

    เชื่อวิกฤติรัสเซียไม่ลุกลาม

    นายอมรเทพ กล่าวว่าวิกฤติการเงินในรัสเซียนั้นมีการชะลอตัวทางเศรษฐกิจมาอยู่แล้วหลังจากที่ถูกสหภาพยุโรปใช้มาตรการคว่ำบาตร และราคาน้ำมันที่ลดลงกระทบกับรายได้หลักของประเทศ และแม้จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปถึง 17% แต่ค่าเงินรัสเซียยังคงอ่อนค่าต่อเนื่อง

    ทั้งนี้ผลกระทบจากรัสเซียที่มาถึงไทยมีทั้งด้านท่องเที่ยว ตลาดเงินโดยนักท่องเที่ยวจากรัสเซียมีสัดส่วน 6.5% รองจากจีนและมาเลเซีย โดยเฉพาะพัทยาและภูเก็ต และมีการส่งออกจากไทยไปรัสเซียเพียง 0.5-0.6% ส่วนใหญ่อยู่ชิ้นส่วนยานยนต์และสินค้าเกษตร

    ในด้านตลาดเงินนั้นตลาดกำลังกังวลว่าอาจมีการจำกัดการเคลื่อนย้ายของทุน (capital control) ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อผู้ที่ลงทุนในตลาดพันธบัตรในรัสเซีย อย่างไรก็ตามเชื่อว่าวิกฤติรัสเซียจะไม่ลุกลามไปถึงยุโรปหรือตลาดโลกมากนัก เนื่องจากหนี้ต่างประเทศของรัสเซียมีประมาณ 2 แสนล้านดอลลาร์เท่านั้น

    หั่นเป้าจีดีพีไทยปีหน้า3.3%

    นายอมรเทพกล่าวว่า ธนาคารได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพีปี 2558 ลงเหลือ3.3% จากเดิมที่มองไว้ 4.5% โดยมองว่าจะเป็นการฟื้นตัวในรูปตัวยู การลงทุนภาครัฐและเอกชนจะเป็นพระเอก ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเห็นในไตรมาส 1-2 ของปี ส่วนการบริโภคยังไม่สามารถเร่งตัวได้เนื่องจากหนี้ครัวเรือนและราคาสินค้าเกษตรตกต่ำยังกดดันอยู่ ขณะที่การส่งออกไม่สามารถคาดหวังได้มากนัก แม้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้จริงแต่สินค้าส่งออกของไทยยังไม่เป็นที่ต้องการของตลาด

    อย่างไรก็ตามภาคเอกชนไม่ควรรอการลงทุนภาครัฐเป็นตัวนำ และควรลงทุนในช่วงนี้ที่ยังมีสภาพคล่องในระบบอยู่ แต่เมื่อการลงทุนภาครัฐเกิดขึ้นจริงจะทำให้ต้นทุนการเงินปรับเพิ่มขึ้นได้

    Tags : ตลาดหุ้น • ค่าเงิน • เฟด • น้ำมันดิบ • เวสต์เท็กซัส • เจเนต เยลเลน • เอเชีย • อมรเทพ จาวะลา • รูเบิล • รัสเซีย • จีดีพี

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้