เตือนความจำกันอีกรอบกับงาน Tech Trend Thailand 2014 วันเสาร์ที่ 20 ธันวาคมนี้ เวลา 13:00 น. ที่ห้อง M01 อาคารมหามกุฏฯ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในโอกาสนี้ผมก็ขอเล่าแนวคิดของการจัดงาน และเนื้อหาในงานแบบคร่าวๆ นะครับ ใครที่ยังไม่ลงทะเบียนก็เชิญได้ตามลิงก์ข้างต้น Blognone ร่วมกับเว็บพันธมิตรคือ Droidsans และ mxphone มองว่าบ้านเรายังไม่ค่อยมีงานสัมมนาด้านไอทีที่เป็นเนื้อหาเชิงลึก และไม่อิงกับบริษัทไอทีรายใหญ่รายใดรายหนึ่งบ้านนัก (คือมีงานดีๆ หลายงานแต่ส่วนใหญ่เป็นงานที่บริษัทจัดเพื่อลูกค้าของตัวเอง) ต้นแบบของเราคืองานของเว็บไซต์ AllThindsD ที่เคยถึงขนาดเชิญบิล เกตส์ กับสตีฟ จ็อบส์ มาขึ้นเวทีพร้อมกันได้ นอกจากนี้เราก็ยังอยากจัดงานที่มีเนื้อหาหนักแน่น รูปแบบการนำเสนอโดดเด่นแบบ TED Talk ให้ได้เช่นกัน Tech Trend Thailand 2014 เป็นก้าวแรกของภาพฝันอันนั้น งานปีแรกคงไม่มีทางเทียบชั้น AllThingsD หรือ TED Talk โดยเฉพาะในแง่โปรดักชั่น แต่ในแง่เนื้อหา เราก็จะพยายามทำให้ดีที่สุด โจทย์สำคัญของ Tech Trend Thailand คือตั้งคำถามและกระตุ้นให้วงการไอทีบ้านเรามองเห็น "แนวโน้ม" ทางเทคโนโลยีที่สำคัญในอนาคต ซึ่งทีมงานผู้จัดก็ระดมสมองกันว่าเรื่องใดบ้างที่สำคัญจริงๆ เป็นประเด็นใหญ่ที่ไม่สามารถมองข้ามได้ สุดท้ายแล้วก็เลือกหัวข้อมาได้ดังนี้ครับ Wearable Computing ปี 2014 ทุกคนพูดถึง wearable computing แต่ยังไม่มีใครสามารถตอบได้ว่าตกลงแล้ว ประโยชน์ของมันต่อผู้ใช้คืออะไรกันแน่ มันเป็นแค่การซื้อมาใส่โชว์เล่นๆ เป็นแฟชั่นว่าฉันมีอุปกรณ์ไฮเทคใหม่ล่าสุด แล้วอีกไม่นานก็เบื่อและลืมๆ กันไป วางทิ้งไว้ให้ฝุ่นจับ หรือมันจะเป็นก้าวแรกของการเชื่อมต่อวงการเทคโนโลยีกับวงการสุขภาพเข้าด้วยกัน เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติแนวคิดด้านสุขภาพที่ทุกคนสามารถ monitor ข้อมูลเชิงสถิติของร่างกายตัวเอง สามารถป้องกันโรคภัยหรืออาการเจ็บป่วยได้ล่วงหน้า โดยที่ไม่ต้องรอให้ป่วยก่อน หัวข้อแบบนี้คงไม่มีใครพูดได้ดีกว่า "แพทย์" ตัวจริง งานนี้เราได้ พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล หรือคุณหมอผิง จากโรงพยาบาลสมิติเวชมาเป็นวิทยากรในเรื่องนี้ คุณหมอผิงเป็นหมอรุ่นใหม่ที่มีความเข้าใจด้านเทคโนโลยีเป็นอย่างดี (คุณหมอเล่าว่ามือถือเครื่องก่อนเป็น Nexus) ในขณะเดียวกันก็มีผลงานเขียน-พูดด้านสุขภาพมากมาย แถมยังใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คสื่อสารกับสังคมในเรื่องสุขภาพอยู่ตลอดเวลา (ทวิตเตอร์ของคุณหมอคือ @thidakarn มีผู้ติดตามเกือบแสนคนแล้ว) แนวคิดการล้างพิษ หรือ Detox ไม่มีในแพทย์แผนปัจจุบัน เราไม่สามารถล้างพิษได้ เราทำได้เพียงพยายามไม่รับสารพิษจากยาฆ่าแมลง สารเคมีต่างๆ — Thidakarn (@thidakarn) December 9, 2014 งานนี้คุณหมอบอกว่าจะมาพูดในประเด็นว่าตกลงแล้วบทบาทของ wearable computing คืออะไร และในสายตาของหมอนั้นอยากได้แอพหรือบริการอะไรบ้างจากอุปกรณ์เหล่านี้ Mobile Payment ประเด็นเรื่องการจ่ายเงินด้วยอุปกรณ์พกพาถือเป็นอีกหัวข้อเด่นประจำปี 2014 และน่าจะเป็นที่สนใจต่อเนื่องไปยังปีหน้า เราเห็นบริษัทไอทีชั้นนำไม่ว่าจะเป็น Google, Apple, Samsung, PayPal ลงมาลุยตลาดนี้กันอย่างเต็มที่ พร้อมกับความเชื่อที่ว่า mobile payment จะมาปฏิวัติวงการค้าปลีกเพราะมันเปลี่ยนวิธีการจับจ่ายใช้สอยของผู้คน แต่ในสังคมที่อิงเงินสดแบบเมืองไทย สังคมที่เงินอิเล็กทรอนิกส์ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก เรายังทำธุรกรรมออนไลน์ได้ค่อนข้างยากลำบากมาหลายปี แล้วการข้ามไปยัง mobile payment จะทำได้สำเร็จจริงหรือ หรือว่าในมุมกลับกันแล้ว mobile payment คือ "โอกาส" ที่ช่วยลัดขั้นตอนให้สังคมไทยเข้าสู่ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม เพื่อค้นหาคำตอบนี้ เราได้เชิญตัวแทนจากผู้ประกอบการด้าน mobile payment 2 รายคือ AIS mPay และ dtac PaysBuy มาร่วมสนทนากันว่าในสายตาของคนที่ทำธุรกิจด้านนี้ตรงๆ มองเห็นอุปสรรคและโอกาสอะไรบ้าง และสุดท้ายแล้ว mobile payment ในประเทศไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป Robotics เมื่อปลายปี 2013 กูเกิลประกาศข่าวช็อควงการเทคโนโลยีโดยไล่ซื้อบริษัทหุ่นยนต์ชื่อดังของโลกไปเกือบหมดในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ มาถึงวันนี้เราคงเริ่มเห็นภาพชัดเจนกว่าเดิมว่าบริษัทไอทีหลายแห่งเริ่ม "เอาจริง" กับหุ่นยนต์ และเริ่มนำเทคโนโลยีด้านโดรนมาใช้กับการสื่อสารบ้างแล้ว วงการหุ่นยนต์ถือเป็นวงการที่ค่อนข้างลึกลับ เพราะคนทั่วไปมีมุมมองหรือความคาดหวังกับหุ่นยนต์แตกต่างกันมาก (ตั้งแต่โดเรมอนไปจนถึงกันดั้ม) แต่ถ้าถามว่าปัจจุบันเทคโนโลยีสายหุ่นยนต์ไปไกลแค่ไหน น้อยคนนักที่จะมีความรู้ถึงขั้นตอบได้แบบเต็มปาก งานนี้เราเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์ที่น่าจะเก่งเป็นอันดับต้นๆ ของเมืองไทย เว็บไซต์ Thai Robotics ที่เกิดจากการรวมตัวของผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์ระดับชนะการประกวดระดับโลก และได้รับทุนไปเรียนต่อปริญญาเอกในต่างประเทศ ทีมงาน Thai Robotics จะมาเล่าประสบการณ์จริงของคนทำหุ่นยนต์ในไทย ที่มีความสามารถส่วนตัวทัดเทียมกับต่างประเทศ แต่เมื่อสำเร็จการศึกษากลับมาก็ต้องมาเผชิญกับสภาพความเป็นจริงของประเทศไทยที่อาจยังไม่พร้อมเปิดรับเทคโนโลยีเหล่านี้มากนัก ภายใต้หัวข้อว่า "เป็นแชมป์หุ่นยนต์แล้วไปไหน" ซึ่งเป็นคำถามที่หลายคนอาจเคยสงสัยแต่ไม่เคยมีใครตอบ นอกจากนี้ ในงาน Tech Trend Thailand ยังมีการพูดคุยเรื่องแนวโน้มเทคโนโลยีอุปกรณ์พกพาปี 2014-2015 โดยทีมงานจากทั้งสามเว็บไซต์ และงานประกาศรางวัลอุปกรณ์ยอดเยี่ยม BE.S.T. Awards 2014 ตามที่เชื้อเชิญให้ผู้อ่านร่วมกันโหวตไปแล้ว ในฐานะผู้ร่วมจัดงานก็หวังว่าผู้ร่วมงานทุกท่านจะได้ประโยชน์จากงานนี้ แล้วพบกันวันเสาร์นี้นะครับ Tech Trend Thailand, Announcement