'3บริษัท'ย้ายเทรดตลาดใหญ่

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 18 ธันวาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ รับมี 3 บริษัทเตรียมขอย้ายตลาด ทำมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดเสี่ยงวูบกว่า 10 %

    ในปี 2558 จะมีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ ย้ายขึ้นไปทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่อยู่ในแผนการทั้งสิ้น 3 บริษัท โดยเป็นบริษัทขนาดใหญ่ มีขนาดมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมกันเกือบ 3 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ปีหน้าจะทำให้มาร์เก็ตแคปของตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอหายไปกว่า 10%

    นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ ยอมรับว่า ปีหน้าจะมีบริษัทที่ย้ายขึ้นไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ 3 บริษัท โดยอยู่ในกลุ่มที่มีขนาดมาร์เก็ตแคปบริษัทละเกือบๆ หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันมีอยู่ 5 บริษัทที่มีขนาดเกินหมื่นล้าน ซึ่งการย้ายตลาด ส่งผลกระทบกับขนาดของตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอแน่นอน จึงเป็นความท้าทายในการเติบโตในอนาคต

    เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยที่จะทำให้บริษัทจดทะเบียนย้ายตลาดหลักทรัพย์ จะพบว่า แต่ละบริษัทมีความต้องการที่ต่างกัน ซึ่งข้อได้เปรียบของตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ คือการที่มีกฎระเบียบการเข้าจดทะเบียนที่ผ่อนคลาย กำหนดให้มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท สัดส่วนการกระจายหุ้นขั้นต่ำกับนักลงทุนรายบุคคลเพียง 20% ของหุ้นทั้งหมด และหากบริษัทยังไม่มีผลประกอบการที่มีกำไร แต่มีขนาดมาร์เก็ตแคปมากกว่า 1,000 ล้านบาทก็สามารถเข้าจดทะเบียนได้

    ดังนั้นทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนเลือกที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอก่อน เพื่อต้องการเงินทุนมาหมุนเวียนบริษัท เมื่อบริษัทเข้ามาระยะหนึ่ง ก็จะพิจารณาต่อไปว่า จะขึ้นไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือไม่ ซึ่งข้อดีการย้ายตลาด คือ ได้อยู่ในตลาดที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ประเภทนักลงทุนมากขึ้น ทำให้นักลงทุนสถาบันให้ความสนใจเข้าลงทุนกับบริษัท แต่ข้อเสียของการย้ายตลาด คือ ความโดดเด่นของบริษัท เมื่อย้ายตลาดหลักทรัพย์ อาจไม่น่าสนใจมากนัก

    ส่วนข้อดีของการอยู่ในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ คือ ระดับราคาปิดกำไรต่อหุ้น หรือ พี/อี สูงกว่า และบริษัทยังคงความโดดเด่นอยู่ แต่ยอมรับว่า การที่บริษัทจดทะเบียนย้ายตลาดหลักทรัพย์เป็นข้อจำกัดหนึ่งที่สำคัญของเอ็มเอไอ ที่จะขยายมาร์เก็ตแคปให้เติบโตในอนาคต

    ทิศทางของบริษัทที่เข้าระดมทุนในตลาดเอ็มเอไอในระยะหลัง พบว่าบริษัทที่เข้าระดมทุนขนาดทุนจดทะเบียนมากว่า 100 ล้านบาท สูงกว่าเกณฑ์ที่ 20 ล้านบาท โดยสาเหตุที่ไม่เห็นการเข้าจดทะเบียนของบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนขนาดเล็กนั้น เพราะค่าใช้จ่ายในการเข้าจดทะเบียนแต่ละบริษัทสูงมาก ทั้งค่าใช้จ่ายในการแต่งตั้งที่ปรึกษาทางการเงินด้านผู้ตรวจสอบบัญชี ค่าธรรมเนียมของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ทั้งหมดรวมกันมากกว่า 10 ล้านบาท ดังนั้นหากจะระดมทุนไม่ถึงร้อยล้านบาทจะไม่คุ้มค่าที่จะลงทุน

    การชักจูงบริษัทขนาดเล็กเข้าจดทะเบียนโดยการตั้งกระดานหุ้นเอสเอ็มอีขึ้นนั้น เป็นสิ่งที่น่าสนใจ แต่ยังมีข้อจำกัดอีกหลายด้าน ทั้งในแง่บริษัทและผู้ลงทุน โดยส่วนของบริษัทจดทะเบียน มีข้อจำกัดทั้งจำนวนผู้ตรวจสอบบัญชีปัจจุบันที่มีอยู่ในระดับ เพียง 150 คน ไม่เพียงพอกับการดูแลบริษัทขนาดเล็กเพิ่มขึ้น รวมถึงมีข้อกำหนดให้ที่ปรึกษาทางการเงินต้องดูแลบริษัทที่เข้าจดทะเบียนเป็นระยะเวลา 3 ปี อาจยาวนานเกินไปจนทำให้ที่ปรึกษาทางการเงินไม่ให้ความสนใจ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนที่สูงมาก แม้จะลดการนำส่งงบการเงินเหลือเพียง 2 ครั้งแต่ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่แฝงอยู่

    ส่วนข้อจำกัดเรื่องผู้ลงทุน ที่เดิมกำหนดให้เป็นนักลงทุนกลุ่มเอไอ หรือนักลงทุนที่มีความเชี่ยวชาญให้สามารถลงทุนได้ แต่ยังไม่มีการพิจารณาในรายละเอียดว่าจะกำหนดแบบใด เพราะหากกำหนดด้วยเงินลงทุน นักลงทุนที่มีเงินทุนจำนวนมากก็ใช่ว่าจะเป็นนักลงทุนที่มีความเชี่ยวชาญ และมีนักลงทุนจำนวนไม่น้อยที่เงินทุนไม่สูงมาก แต่เป็นกลุ่มคนที่มีคุณภาพ จึงเกิดคำถามว่าจะแบ่งนักลงทุนในกลุ่มดังกล่าวได้อย่างไร ทั้งนี้ความคืบหน้าของการตั้งกระดานหุ้นเอสเอ็มอี ยังอยู่ในการพูดคุยในรายละเอียด เพื่อปรับปรุงเงื่อนไขต่างๆ ให้มีความชัดเจนมากขึ้น

    สำหรับบริษัทที่จะย้ายจากตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอขึ้นไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มี 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท เจ. เอส. พี. พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) มาร์เก็ตแคปที่ 8,323 ล้านบาท บริษัท โมโน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) มาเก็ตแคป 11,369 ล้านบาท และ บริษัท เอเชียน ไฟย์โตซูติคอลส์ จำกัด (มหาชน) มาร์เก็ตแคป 6,868 ล้านบาท

    Tags : ประพันธ์ เจริญประวัติ • เอ็มเอไอ • ตลาดหลักทรัพย์ • ย้ายตลาด

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้