กนง.ประเมินผลกระทบวิกฤติเงิน"รูเบิล"ต่อเศรษฐกิจไทยยังไม่มาก จับตาหากสถานการณ์บานปลาย ด้านธุรกิจท่องเที่ยวรับผลกระทบหนักสุด คาดทัวร์รัสเซียร่วงหนัก 30% ขณะส่งออกอาหารสดใส พาณิชย์ตั้งเป้าปีหน้าส่งออกโต 5-8% ค่าเงินรูเบิลของรัฐเซียดิ่งลงอย่างหนักในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าค่าเงินรูเบิลร่วงหนักที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินรัสเซียในปี 2541 จนเกิดความกังวลว่ารัฐบาลรัสเซียจะมีปัญหาผิดชำระหนี้และนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)วานนี้(17 ธ.ค.) ได้มีการประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งคาดว่าจะมีผลกระทบจำกัด หากสถานการณ์ไม่ลุกลาม แต่ส่วนกระทบมากที่สุดคือภาคการท่องเที่ยว นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการกนง.กล่าวว่ากนง.แทบไม่ได้มีการพูดคุยในเรื่องของเงินทุนเคลื่อนย้ายมากนัก ส่วนใหญ่ให้น้ำหนักกับสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศ และเงินเฟ้อที่ลดต่ำลงมากกว่า ขณะที่เศรษฐกิจต่างประเทศมีการหารือกันบ้างในเรื่องของรัสเซีย “มีการพูดถึงปัญหาในรัสเซีย ซึ่งมองว่าผลกระทบโดยตรงกับเศรษฐกิจไทยคงไม่มาก เพราะเราค้าขายกับรัสเซียน้อย นักท่องเที่ยวก็มีพอควร แต่ก็เริ่มชะลอไปก่อนหน้านี้แล้ว ผลกระทบส่วนใหญ่คงไปอยู่ที่ยุโรปกับจีน เพราะมีการค้าขายกับรัสเซียค่อนข้างมาก และในด้านการเงินเจ้าหนี้ของรัสเซียส่วนใหญ่ก็อยู่ในยุโรป ดังนั้นถ้าผลกระทบจะมีบ้าง ก็คงกระทบผ่านไปทางยุโรป แต่เบื้องต้นเรามองว่าผลกระทบกับไทยน้อย เพราะเหตุการณ์ยังไม่ได้ลุกลาม”นายเมธีกล่าว นายเมธี กล่าวว่าในกรณีที่รัสเซียเกิดการผิดนัดชำระหนี้ขึ้น ผลกระทบอันดับแรกคงเป็นเรื่อง ความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนในตลาดการเงิน เพียงแต่ก็ต้องไปดูว่าขนาดการผิดนัดชำระหนี้จะมากน้อยแค่ไหนด้วย แต่เท่าที่ดูระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของรัสเซียในขณะนี้ต้องถือว่ายังมีอยู่ ท่องเที่ยวรัสเซียทรุดรอบ12ปี นายสรรเพชร ศุภบวรเสถียร นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันออก กล่าวว่าผลจากรัสเซียส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดนักท่องเที่ยวขาเข้า(อินบาวด์)ของไทย โดยเฉพาะพัทยา ซึ่งเป็นจุดหมายหลักของนักท่องเที่ยวรัสเซีย โดยมีส่วนแบ่งสูงถึง 30% เมื่อเทียบกับพื้นที่อื่น คาดว่าในปีนี้พัทยาจะเผชิญภาวะตลาดหดตัวไม่ต่ำกว่า 50% เนื่องจากในช่วงพีคที่สุดคือ 28 ธ.ค. - 15 ม.ค. ปรากฏว่ายอดจองชะลอตัวไปกว่า 70% เมื่อเทียบกับเทศกาลปีใหม่ปีที่ผ่านมา นับเป็นการหดตัวสูงสุดตั้งแต่เปิดตลาดรัสเซียมา 12 ปี ทั้งนี้ บริษัทนำเที่ยวจากรัสเซียยังขอเงื่อนไขให้กลุ่มโรงแรม ช่วยพยุงตลาดในช่วงดังกล่าว 2 รูปแบบ เพื่อไม่ให้เกิดภาวะขาดทุนในการจัดเตรียมเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟลท์) ที่กำลังจะเข้ามา คือ 1.งดการจัดกาลาดินเนอร์ ซึ่งปกติจะเป็นบริการภาคบังคับที่เพิ่มเติมกับลูกค้าทัวร์ที่จองห้องพักในช่วงปีใหม่ โดยแต่ละโรงแรมจะมีรายได้ในการจัดดินเนอร์เฉลี่ย 5,000 บาทต่อหัว หรืออาจจะสูงถึงราว 7,000-10,000 บาทต่อหัว และ 2.การขอความร่วมมืองดเก็บเซอร์ชาร์จ หรือค่าบริการเพิ่มเติมในช่วงเทศกาล ซึ่งปกติโรงแรมจะต้องเพิ่มเป็นพิเศษเพราะถือว่าอยู่ในช่วงพีคซีซัน เพื่อหวังจูงใจให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจเดินทางมาในนาทีสุดท้าย "สถานการณ์ตลาดรัสเซียแย่ถึงแย่มาก ปกติคนรัสเซียจะเดินทางหนีหนาวกันเข้ามาอย่างหนาแน่นจนอยู่ในภาวะโอเวอร์บุ้คกิ้ง แต่ตอนนี้ยังไม่มีการมัดจำเงินเข้ามาเลย เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ปรับพฤติกรรมไปเป็นการจองในนาทีสุดท้าย (Last Minute Booking) แทน โดยในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาเที่ยวบินชาร์เตอร์ไฟลท์ที่เข้าตรงมายังสนามบินอู่ตะเภา ก็ยกเลิกหมดแล้ว เหลือแต่ไฟลท์ที่ไปลงสุวรรณภูมิแทน ประกอบกับช่วงปีใหม่ เป็นช่วงที่ค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูงกว่าปกติ ดังนั้นลูกค้าจึงกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย หากไม่ใช่กลุ่มไฮเอนด์จริงๆ” นายสรรเพชร กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ยอดจองล่วงหน้า (ฟอร์เวิรด์บุคกิ้ง) ของตลาดรัสเซียมีเข้ามาเพียง 30% เท่านั้น ฉุดให้ภาพรวมตลาดในพัทยาลดลง โดยกลุ่มโรงแรมที่เป็นอินเตอร์เนชั่นแนลเชนยังคงมีอัตราเข้าพักราว 60-70% แต่โรงแรมแบรนด์ท้องถิ่นมีอัตราอยู่ที่ราว 30-40% เท่านั้น คาดปีนี้ตลาดรัสเซียร่วง30% ด้านนายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า สถานการณ์ตลาดรัสเซียน่าเป็นห่วง โดยเฉลี่ยภาพรวมตลอดปีนี้อาจลดไม่ต่ำกว่า 30% สังเกตจากยอดนักท่องเที่ยวผ่านทัวร์เข้ามาเฉลี่ยแต่ละเดือนที่ควรจะอยู่ราว 8 หมื่นคน เหลือเพียง 5 หมื่นคนเท่านั้น การลดลงดังกล่าวถือว่าหนักสุด เนื่องจากมาเกิดขึ้นหลังจากผ่านปี 2556 ที่นักท่องเที่ยวเคยเติบโตถึง 1.73 ล้านคน ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้ตลาดรัสเซียทรุดลงอย่างมาก มาจาก 2 เหตุผลหลัก ได้แก่ บรรยากาศในทางเศรษฐกิจที่ซบเซา ทำให้คนไม่มีอารมณ์ท่องเที่ยวเพราะต้องใช้งบประมาณสูงขึ้นจากค่าเงินที่อ่อนตัว ประกอบกับปีนี้ เริ่มมีบริษัทนำเที่ยวรายใหญ่ที่เป็นเจ้าตลาด ย้ายฐานการลงทุนไปยังเวียดนาม ส่งผลให้บริษัทอื่นๆ ต้องตามไปด้วยเพื่อรักษาฐานตลาดของตัวเอง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยที่ทำตลาดอินบาวด์รัสเซียส่วนใหญ่ยังมีน้อยราว 10 บริษัทเท่านั้น ที่เหลือต่างเป็นบริษัทนำเที่ยวที่มีอิทธิพลจากรัสเซียเองเข้ามาเปิดตลาด และครองส่วนแบ่งก้อนใหญ่ไว้ได้มาก ดังนั้น จึงสามารถกำหนดทิศทางการตลาดและเลือกจุดหมายว่าจะไปประเทศไหนได้ค่อนข้างสูง “ตั้งแต่เดือน ม.ค.-พ.ย.นักท่องเที่ยวรัสเซียมาไทยผ่านบริษัทนำเที่ยวมีอยู่เพียง 4.1 แสนคนเท่านั้น และคาดว่าในปีหน้า สถานการณ์อาจจะเลวร้ายต่อเนื่อง ทำให้ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด” ทุนเดิมไม่ถอนการลงทุนอสังหาฯ ด้านนายสุรเชษฐ กองชีพ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) กล่าวว่า ค่าเงินรูเบิลที่อ่อนค่าอย่างหนัก อาจจะส่งผลให้การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ของคนรัสเซียในไทย ชะลอตัวลง ในรายที่เป็นการลงทุนใหม่ ส่วนนักลงทุนรายเดิมเชื่อว่ายังคงไม่ถอยการลงทุนเนื่องจากผลตอบแทนการลงทุนอสังหาฯในไทย ค่อนข้างดีกว่าอีกหลายประเทศ "คนรัสเซียที่ซื้ออสังหาฯ เพื่อเข้ามาซื้ออยู่เอง หรือซื้อเพื่อปล่อยเช่าในจำนวนไม่มาก อาจจะชะลอตัว แต่สำหรับการลงทุนรายเดิม ที่ส่วนใหญ่จะลงทุนในพัทยา เชื่อว่าไม่ได้รับผลกระทบ อีกทั้งมองว่าค่าเงินที่อ่อนค่าเป็นเพราะรัสเซียมีปัญหากับสหรัฐ ไม่ได้เกิดจากภาวะเศรษฐกิจของรัสเซียโดยตรง" เบทาโกรไม่ห่วงส่งออกอาหาร นายวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือเบทาโกร กล่าวว่าขณะนี้ยังไม่สามารถประมาณการณ์ถึงตัวเลขการส่งออกขั้นต้นได้ แต่เบทาโกรมองว่ารัสเซียเป็นตลาดที่น่าสนใจ เนื่องจากเป็นประเทศที่มีประชากรมาก การผลิตอาหารในประเทศนี้มีน้อย ความต้องการอาหารจึงมีสูงมากในทุกชนิด “การเปิดตลาดรัสเซียไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะรัสเซียเป็นกลุ่มประเทศในแถบยุโรป มาตรฐานการนำเข้าอาหารบางอย่างจะสูงกว่ากลุ่มสหภาพยุโรปหรืออียู ประเทศนี้ส่งออกน้ำมัน ค่าครองชีพสูง เป็นตลาดที่มีเงิน ดังนั้นจึงน่าสนใจไปทุกเรื่อง ส่วนกรณีเศรษฐกิจในประเทศรัสเซียมีปัญหานั้น คาดว่าจะเป็นช่วงสั้นๆ รัฐบาลน่าจะแก้ปัญหาได้เร็วเนื่องจากมีระบอบการปกครองที่มั่นคง หากเบทาโกรต้องการเปิดตลาดในสถานการณ์เหล่านี้จึงไม่น่าห่วง” นายวสิษฐ กล่าว นายวสิษฐ กล่าวการส่งออกไปยังรัสเซียในสินค้าจำพวกสุกร ยังมีโอกาส แต่ในกรณีไก่ ไทยยังเป็นรองบราซิล และสหรัฐอเมริกา แม้ว่าในขณะนี้ระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯจะมีปัญหาเรื่องความขัดแย้ง แต่การเมืองจะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาไม่มีความแน่นอน ดังนั้นการส่งออกเนื้อไก่ยังต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ “การส่งออกหมูสด ผมไม่ห่วงเรื่องราคา ต้นทุนการส่งออกใดๆทั้งสิ้น เพราะทางลูกค้าพร้อมที่จะจ่ายให้อยู่แล้ว เมื่อสินค้าของเบทาโกมีคุณภาพและมาตรฐานตรงกับความต้องการ ที่น่าสนใจคือเมื่อเปิดตลาดแล้วจะทำให้เกิดความต่อเนื่อง ปฺนไปได้ว่าในอนาคตรัสเซียจะกลายเป็นตลาดหลักของไทย “นายวสิษฐ กล่าว ส่งออกอาหารแววสดใส นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่าการส่งออกสินค้าอาหารของไทยฉายแววสดใสในตลาดรัสเซีย ด้วยรัสเซียตอบโต้การคว่ำบาตรจากสหรัฐฯและสหภาพยุโรป ตั้งแต่เดือนส.ค. 2557 โดยการห้ามนำเข้าสินค้าอาหาร 12 รายการจากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ทำให้รัสเซียมีความต้องการสินค้าอาหารอย่างมาก รัสเซียจึงได้หันไปพึ่งพาการนำเข้าจากหลักอย่างภูมิภาคลาตินอเมริกา และอเมริกาใต้ ภูมิภาคดังกล่าวมีกำลังการผลิตรวมกันไม่เกิน 6-7 แสนตันต่อปี แต่ความต้องการบริโภคของรัสเซียมีสูงถึง 1 ล้านตัน รัสเซียจึงหันมาให้ความสนใจตลาดเอเชีย ซึ่งมีประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกอาหารอันดับต้นๆ ของโลก ตั้งเป้าส่งออกรัสเซียปีหน้าเพิ่ม5-8% นางดวงกมล เจียมบุตร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การส่งออกไทยไปตลาดรัสเซีย เชื่อว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจภายในรัสเซียชะลอตัว โดยเงินรูเบิลของรัสเซียอ่อนค่าลงมาอย่างหนัก เนื่องจากสินค้าที่ไทยส่งออกไปตลาดรัสเซียส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็น เช่น อาหาร ที่แม้ว่ารัสเซียจะมีปัญหาด้านเศรษฐกิจก็ยังต้องนำเข้าสินค้าเหล่านี้ อีกทั้งรัสเซียถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (อียู) ทำให้รัสเซียต้องนำเข้าสินค้ามาจากประเทศกลุ่มลาตินอเมริกา แต่ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงยังเป็นโอกาสของไทยที่จะส่งออก สำหรับแผนการเจาะตลาดรัสเซียในปี 2558 ยังคงไม่มีการปรับแผน โดยตั้งเป้าส่งออกไปตลาดรัสเซียเพิ่มขึ้น 5-8% สินค้าที่จะส่งออกไปตลาดรัสเซีย คือ อาหาร อะไหล่รถยนต์ และอัญมณี ซึ่งในส่วนของอัญมณีมองว่าประเทศรัสเซียแม้มีคนรวยสัดส่วนถึง 4-5%แต่ก็เป็นกลุ่มที่รวยมาก ดังนั้นสินค้าฟุ่มเฟือยจึงยังมีโอกาสอยู่ ส่วนกิจกรรมที่จะเจาะตลาดจะเน้นนำคณะผู้แทนการค้าไปเปิดตลาด เพื่อให้คนรัสเซียรู้จักสินค้าไทยมากขึ้น จับตาวิกฤติลามภาคเศรษฐกิจ นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่าที่ผ่านมารัสเซียเคยใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศเข้าไปปกป้องค่าเงินกว่า 8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐจากที่เคยมีสูงถึง 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และได้เปลี่ยนมาใช้การขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดูแลค่าเงินแทน ทำให้ต้นทุนการเก็งกำไรค่าเงินเพิ่มขึ้น แต่จะสร้างผลข้างเคียงตามมาคือทำให้ต้นทุนการกู้ยืมในประเทศเพิ่มขึ้นด้วยและอาจนำไปสู่การเบี้ยวหนี้ได้ในอนาคตทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวไปได้ ทั้งนี้จะต้องติดตามว่าประชาชนชาวรัสเซียจะยอมรับการบริหารงานของนายปูตินได้อยู่หรือไม่ และจะเกิดการปฏิวัติซ้อนตามมาหรือไม่ “สิ่งที่เกิดขึ้นกับรัสเซียเป็นการเตือนนักลงทุนทั่วโลกที่ลงทุนในตลาดเกิดใหม่ รวมถึงประเทศไทย ที่จะได้รับผลกระทบไปด้วย ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทยขณะนี้มาจากจีนและรัสเซียเป็นหลัก อาจกระทบกับการท่องเที่ยวในประเทศได้ ในส่วนของธนาคารยังคงมองว่าค่าเงินบาทในสิ้นปีนี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ 33 บาทต่อดอลลาร์ต่อไป แต่อาจจะเคลื่อนไหวบวกลบได้อีก 70 สตางค์” Tags : กนง. • ท่องเที่ยว • รูเบิล • รัฐเซีย • เมธี สุภาพงษ์ • วิกฤติ • เบทาโกร • ส่งออก • เศรษฐกิจ