ฟิทช์ชี้แนวโน้มแบงก์ปี58ติดลบ

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 17 ธันวาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    "ฟิทช์" ให้แนวโน้มธนาคารไทยปีหน้าเป็นลบ เหตุหนี้ครัวเรือนกับเอกชนสูงในภาวะเศรษฐกิจขยายตัวได้น้อยปีนี้

    นายพาสันติ์ สิงหะ ผู้อำนวยการอาวุโส หัวหน้าฝ่ายจัดอันดับเครดิต ภาคสถาบันการเงินของฟิทช์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวในงานสัมมนา "การสรุปข้อมูลการลงทุนในไทย" วานนี้ (16 ธ.ค.) ว่า ตอนนี้ฟิทช์มองแนวโน้มภาคธนาคารไทยปีหน้าเป็นลบ พิจารณาจากคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารอาจแย่ลงได้ ซึ่งเหตุผลส่วนใหญ่เกิดจากปีนี้เศรษฐกิจขยายตัวอ่อนแอ เติบโตไม่ได้มากนัก

    ขณะเดียวกัน การเติบโตของสินเชื่อปีนี้ค่อนข้างสูง ซึ่งสินเชื่อเหล่านี้หากกลายเป็นสินเชื่อไม่ก่อเกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ต้องใช้เวลาหลายเดือน ปัญหาสินเชื่อที่เกิดปีนี้อาจจะยังไม่สะท้อนความเสี่ยงปีหน้า สินเชื่อใหม่ๆ ในปีนี้ต้องใช้เวลา 2-3 ไตรมาสกว่าจะกลายเป็นหนี้เสียในปีหน้า

    ทั้งนี้หนี้ครัวเรือนและหนี้ภาคเอกชนของไทยอยู่ระดับสูงมากเทียบกับอดีต ถ้าเศรษฐกิจเริ่มไม่ดีทำให้หนี้เหล่านี้กลายเป็นหนี้เสียได้ง่ายกว่าเดิม ผู้คนหรือบริษัทที่มีหนี้มาก หากสถานการณ์เปลี่ยนไปเล็กน้อยอาจกลายเป็นหนี้เสียได้มาก

    "ตอนนี้หนี้ครัวเรือนและหนี้ภาคเอกชนของไทย ถือว่าสูงหรือมีอัตราโตที่มากกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค เราเห็นด้วยว่าถ้ามีวิกฤตหรือภาวะตื่นตระหนกทำให้สถานการณ์แย่ลงได้ง่าย หนี้เสียในระบบจะเพิ่มขึ้นได้"

    นายพาสันติ์ เพิ่มเติมว่า เอ็นพีแอลในระบบธนาคารปีหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3% จากระดับ 2.7% ปีนี้ ซึ่งการคำนวณของฟิทช์อาจจะต่างจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยเอ็นพีแอลปีหน้าส่วนหนึ่ง จะมาจากคอนซูมเมอร์ ไฟแนนซ์ หรือสินเชื่อเพื่อรายย่อย และอาจเป็นหนี้เสียเกิดจากสินเชื่อรถ หรือหนี้เสียที่ยังไม่สูงนักจากสินเชื่อส่วนอื่นอย่างบัตรเครดิตกับสินเชื่อส่วนบุคคล แต่ถ้าเศรษฐกิจไทยชะลอตัวต่อเนื่อง อาจทำให้หนี้เสียเหล่านี้เพิ่มขึ้นได้

    ผู้บริหารของฟิทช์ ประเทศไทย จำกัด คาดปีหน้าสินเชื่อภาคธนาคารไทยน่าจะขยายตัว 5-10% บนพื้นฐานคาดการณ์จีดีพีไทยปีหน้าจะโต 3.5-4% และเศรษฐกิจปีหน้าน่าจะดีกว่าปีนี้ โดยฟิทช์ยังคงเรทติ้งภาคธนาคารมีเสถียรภาพ และเรทติ้งของธนาคารแต่ละแห่งไม่มีการเปลี่ยนแปลง

    ความเสี่ยงยังมีอยู่จากจีดีพีโตต่ำมากในปีนี้ ยังไม่สะท้อนถึงคุณภาพสินทรัพย์ของภาคธนาคาร หากเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น และแม้จีดีพีปีหน้าจะดีขึ้น แต่ยังเป็นตัวเลขไม่ได้โตมากมาย ปีนี้อาจโตราว 1% ปีหน้าโต 4% เมื่อเฉลี่ยทั้ง 2 ปี แล้วยังโตไม่ได้มาก

    "ความเสี่ยงขาลงมีมากขึ้นได้ ถ้าเศรษฐกิจขยายตัวได้ไม่มากอย่างที่ทุกคนคิด เรามองปีหน้าโตแค่ 3.5-4% ถ้าอยู่ๆ จีดีพีขยายตัวต่ำกลายเป็นความถดถอยในปีหน้า จะทำให้ความเสี่ยงของแบงก์มากกว่าที่ทุกคนคิด"

    นายพาสันติ์ กล่าวว่า หากมองในแง่ความสามารถในการทำกำไรของภาคธนาคารไทย อาจลดลงในปีหน้าด้วย แม้จะมีกันชน เช่น ฐานทุนและการกันสำรองตามเกณฑ์มาตรฐาน หรือความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ เป็นปัจจัยช่วยให้ไม่ขาดทุน แต่มาร์จิน หรือกำไรจากส่วนต่างที่ทำได้อาจลดลงปีหน้า และน่าจะน้อยลงเพราะการแข่งขันดึงเงินฝากมากขึ้น ในภาวะสภาพคล่องตึงตัวมากขึ้น

    "การแข่งขันเรื่องเงินฝากปีหน้าจะมากขึ้น เพราะสภาพคล่องเริ่มตึงตัว หากคาดการณ์การเติบโตของสินเชื่ออยู่ระหว่าง 5%-10% ปีหน้า การเพิ่มขึ้นของสินเชื่อในปีหน้า จะส่งผลให้เงินฝากต้องเพิ่มขึ้นตามไปด้วย สภาพคล่องที่ตึงตัวทำให้แบงก์ต้องแข่งดึงเงินฝาก"

    นายพาสันติ์ ยังกล่าวถึงความเสี่ยงพิจารณาจากขนาดของธนาคารพาณิชย์ไทยว่า หากเป็นธนาคารขนาดใหญ่ น่าจะมีกันชน และมีกำไรกับศักยภาพที่ดี หรือมากกว่าธนาคารขนาดกลางถึงเล็ก

    "แบงก์ขนาดใหญ่ทำยูนิเวอร์ซัลแบงกิ้ง และไม่ได้ทำแค่ธุรกิจธนาคาร แต่ยังทำประกัน หลักทรัพย์ และการบริหารสินทรัพย์ การทำธุรกิจหลากหลายจึงช่วยได้ แต่แบงก์ขนาดกลางและเล็ก พึ่งพาเงินฝากมากกว่า จะมีความเสี่ยงมากกว่าถ้ามูลค่าสินทรัพย์แย่ลง"

    ฟิทช์ ยังระบุว่า ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงไทย ต่างมีฐานะเงินกองทุนแข็งแกร่ง และระดับสำรองหนี้สูญในระดับที่สูง ซึ่งเป็นปัจจัยที่สนับสนุนสถานะทางการเงินของธนาคารดังกล่าว ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นที่สำคัญสำหรับภาคธนาคาร คือ ระดับหนี้สินของธุรกิจที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ธนาคารมีความผันผวนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธนาคารขนาดเล็ก ที่มีสัดส่วนสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคในระดับสูงและสินเชื่อธุรกิจที่มีระดับหนี้สินสูง

    Tags : พาสันติ์ สิงหะ • ฟิทช์ • ธนาคาร • หนี้ครัวเรือน • เศรษฐกิจ

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้