ย้ำใช้ระบบสัมปทานปิโตรเลียมแปลง21 "ณรงค์ชัย" ชี้เหมาะกับไทยสัมปทานแปลงขนาดเล็ก "ณรงค์ชัย"แจงเงื่อนไขนักลงทุนเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ชี้แนวโน้มสถานการณ์แนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงในรอบ 5 ปี ไม่ส่งผลกระทบต่อการยื่นขอสัมปทาน วานนี้ (15 ธ.ค. 2557) กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจัดประชุมวิชาการภายใต้หัวข้อ” Petroleum Technical Forum: The 21st Bidding Round ,An Opportunity for Thailand เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเชิงวิชาการของพื้นที่ที่เปิดให้ยื่นขอสิทธ์ สำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 21 โดยมีบริษัทในอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้ยืนยันกับนักลงทุนถึงการใช้ระบบสัมปทานปิโตรเลียม ในการยื่นขอสำรวจและผลิตในรอบใหม่นี้ เนื่องจากเป็นระบบที่เหมาะสมกับประเทศไทย ที่เป็นแปลงขนาดเล็ก ซึ่งจะทำให้นักลงทุนสามารถคำนวณความเสี่ยงได้มากที่สุด โดยประเด็นที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงพลังงานและ สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช.หาข้อสรุปเรื่องการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 นั้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อการยื่นขอสิทธิและสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในครั้งนี้ สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างมาก ก็จะไม่มีผลต่อการตัดสินใจยื่นขอสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในครั้ง เพราะนักลงทุนจะมองการลงทุนระยะ เชื่อว่าราคาน้ำมันจะคงอยู่ในระดับต่ำแบบนี้ไม่เกิน 2-3 ปี นายณรงค์ชัย ยืนยันว่า กระทรวงพลังงานจะไม่ต่ออายุสัมปทานให้กับบริษัทรายเดิม ในแปลงสัมปทานที่ใกล้จะหมดอายุ เนื่องจากเป็นไปตามข้อกฎหมาย แต่อยู่ระหว่างการพิจารณารูปแบบการบริหารจัดการที่จะไม่ให้กระทบต่อกำลังการผลิตปิโตรเลียมของประเทศ นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้เป็นการชี้แจงข้อมูล อาทิ หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เพื่อให้ได้มีการเตรียมความพร้อมในการยื่นขอรับสิทธิทั้งบนบกและในทะเล โดยในส่วนของข้อมูลในเชิงลึกนั้น ทางกรมเปิดวอร์รูมเพื่อให้ข้อมูลเอกชนที่สนใจ โดยคิดค่าใช้จ่ายวันละ 2 พันดอลลาร์ ซึ่งพบว่ามีเอกชนให้ความสนใจจำนวนมาก มีคิวการให้ข้อมูลยาวไปถึงต้นปี 2558 หลังจากที่ปิดกำหนดการยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตในวันที่ 18 ก.พ.ปี 2558 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะมีการตรวจสอบคุณสมบัติผู้มีสิทธิภายใน 60 วัน จากนั้นจะมีการพิจารณาเงื่อนไข เงินทุน และปริมาณงาน ก่อนเสนอชื่อผู้ได้รับสัมปทานให้ครม.เห็นชอบเร็วที่สุดภายใน 5 เดือน ทั้งนี้ ถ้ามีผู้ลงทุนทั้ง 29 แปลง จะมีเม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาท ช่วยเพิ่มปริมาณปิโตรเลียมไทยจากปัจจุบันที่มีปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้วอยู่ 8.41 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร หรือใช้ได้อีก 7 ปี นายโกสิทธิ์ เฟื่องสวัสดิ์ นักวิชาการอิสระด้านสำรวจและผลิตปิโตรเลียม กล่าวว่า การประชุมสัมมนาทางวิชาการในครั้งนี้มีความสำคัญ ที่เป็นการยืนยันต่อนักลงทุนว่า รัฐจะยังใช้ระบบสัมปทานปิโตรเลียม ไม่ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต เพื่อให้เอกชนได้มีเวลาเตรียมความพร้อมที่จะยื่นขอรับสิทธิ โดยในเรื่องของสิทธิประโยชน์ที่รัฐจะได้รับนั้น หากสภาปฏิรูปแห่งชาติ เห็นว่า การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมครั้งนี้ รัฐได้รับผลประโยชน์น้อยเกินไป ก็สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดได้ โดยที่ไม่กระทบกับความมั่นใจต่อนักลงทุน ทั้งนี้หากมีการเปลี่ยนแปลงจากระบบสัมปทานมาเป็นระบบแบ่งปันผลผลิตในภายหลัง จึงจะเป็นประเด็นที่เป็นปัญหา เพราะในครั้งนี้ ถือว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมายืนยันกับนักลงทุนแล้ว ว่ารัฐจะใช้ระบบสัมปทานปิโตรเลียม ในการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ทั้ง 29 แปลง Tags : นายณรงค์ชัย อัครเศรณี • อุตสาหกรรม • สัมปทานปิโตรเลียม • นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์