กพช.ไฟเขียว'โครงสร้างพลังงาน' ราคาตามต้นทุน-ห้ามโยกอุดหนุน

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 16 ธันวาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    กพช.อนุมัติโครงสร้างราคาพลังงานสะท้อนต้นทุน ปรับลดทันที "ดีเซล 1 บาท-เบนซิน 2 บาท" มีผลวันนี้

    จ่อเก็บภาษีเอ็นจีวีเพิ่ม นายกฯระบุขอเวลาอีกระยะ ทุกอย่างปกติ ปรับลดอีก พร้อมกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน-แผนพีดีพี 2015

    คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิง พร้อมเดินหน้าแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2558 - 2579 (พีดีพี 2015) และปรับรูปแบบส่วนเพิ่มรับซื้อไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็ก

    มติของกพช.ในครั้งนี้จะทำให้น้ำมันสำเร็จรูปขายปลีกในสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศปรับลดลงอีก โดยกลุ่มเบนซินลดลง 2 บาทต่อลิตร และดีเซล 1 บาทต่อลิตร มีผลวันนี้ (16 ธ.ค.)

    พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกพช.ว่ามติกพช.จะทำให้ราคาน้ำมันลดลง แต่ราคายังไม่ต่ำกว่า 30 บาท/ลิตรทุกชนิด มีมติแค่ให้ลดราคาน้ำมันเบนซินลงลิตรละ 2 บาท ดีเซลลดลง 1 บาท ซึ่งจะมีผลในวันที่ 16 ธ.ค.นี้

    "ที่ผ่านมามันบิดเบือนทั้งหมด เนื่องจากปัจจุบันรถยนต์ส่วนใหญ่หันไปใช้ก๊าซแอลพีจีเกือบทั้งหมด เช่น การขนส่งใช้แอลพีจีเกือบทั้งหมด และจะทำอย่างไรกัน เพราะเป็นสินค้าที่ต้องนำเข้า อีกทั้งมีการลักลอบกันเข้ามาเยอะแยะไปหมด แต่สิ่งสำคัญคือรัฐจะดูแลช่วยเหลือคนจนหรือผู้มีรายได้น้อยให้เหมือนเดิม อย่างเช่นรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างต้องรับภาระเสียภาษีถึง 6 บาท แต่วันนี้ก็จะลดลง ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะมีผลดีกับประเทศไทยระยะยาวอย่างแน่นอน"

    พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังต้องมีไว้ เพื่อดูแลราคาน้ำมันกรณีที่ราคาน้ำมันโลกเปลี่ยนแปลง กองทุนฯจะได้ช่วยพยุงไม่ให้เดือดร้อนกัน ตอนนี้สถานะเรามีเงินอยู่ในกองทุนประมาณ 2 หมื่นล้านบาท จากเดิมของเก่าติดลบกว่าหมื่นล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นในช่วงที่มีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยร่วมมือกับกระทรวงพลังงาน มีทั้งการลดภาษี การลอยตัว

    "วันนี้ทุกอย่างเริ่มเป็นปกติแล้ว ก็ต้องให้เวลาสักนิดหนึ่ง ในอนาคตอาจจะลดราคามากกว่านี้ก็ได้ เพียงแต่ขอให้เกิดความแน่นอนก่อน เนื่องจากขณะนี้ยังมีความหวือหวาอยู่บ้าง ซึ่งรัฐบาลพยายามลดภาวการณ์ให้มากที่สุด โดยเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันไว้เพื่ออุดหนุน หากราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้น"

    พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่าการปรับลดราคาน้ำมันครั้งนี้ก็เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน ซึ่งถ้ารวมแล้วตั้งแต่คสช.เข้ามาทำหน้าที่ ราคาน้ำมันลดลงไปเกือบ 10 บาท/ลิตร

    อนุมัติกรอบปรับโครงสร้างราคา

    การปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โดยมีกรอบและแนวทางหลัก คือ 1.ราคาพลังงานต้องสะท้อนต้นทุนแท้จริง 2.ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในภาคขนส่ง ควรจะมีอัตราภาษีสรรพสามิตที่ใกล้เคียงกัน 3. ให้กองทุนน้ำมันฯ มีภารกิจเพื่อการรักษาเสถียรภาพราคาและส่งเสริมพลังงานทดแทน 4.ลดการชดเชยข้ามประเภทเชื้อเพลิง (Cross Subsidy)

    5.ค่าการตลาดของผู้ค้าน้ำมันดีเซลและเบนซินโดยเฉลี่ยให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและเป็นธรรม โดยมอบให้ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) รับไปกำหนดราคาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง 6.ช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และยังสามารถนำภาษีที่จัดเก็บได้ไปใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่ได้รับผลกระทบจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง

    ทั้งนี้จะพิจารณาปรับอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงของกลุ่มเบนซินและดีเซลให้ใกล้เคียงกันมากขึ้นอยู่ระหว่าง 2.85 - 5.55 บาท/ลิตร นอกจากนี้จะจัดเก็บภาษีสรรพสามิตของก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) เช่นเดียวกับน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ พร้อมกำหนดส่วนต่างราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิดให้เหมาะสม และ 7.การเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ของน้ำมันเชื้อเพลิงในแต่ละประเภทในอัตราที่คำนึงถึงค่าความร้อน

    ปรับอัตรารับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน

    กพช.ยังเห็นชอบอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็กมาก (VSPP) ปี 2558 (ไม่รวมพลังงานแสงอาทิตย์) และเพิ่มอัตรารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ FiT พิเศษ (FiT Premuim) เพื่อสร้างแรงจูงใจการลงทุนสำหรับโครงการตามนโยบายรัฐบาล เช่น ขยะ ชีวมวล และก๊าซชีวภาพ และโครงการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

    อัตรา FiT จะสอดคล้องกับต้นทุนพลังงานหมุนเวียนที่แท้จริง และจะมีการทบทวนอย่างต่อเนื่องเพื่อลดภาระอัตราค่าไฟฟ้าในอนาคต เพื่อสร้างความเป็นธรรมสูงสุดให้กับผู้ประกอบการและประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า เนื่องจากเป็นการอุดหนุนแบบค่อยเป็นค่อยไปตลอดอายุสัญญา

    รูปแบบ FiT แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.) กลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง (พลังงานลม และน้ำ) จะกำหนด FiT คงที่ตลอดอายุสัญญา และ 2.)กลุ่มที่มีต้นทุนเชื้อเพลิง (พลังงานขยะ ชีวมวล และก๊าซชีวภาพ) โดยจะกำหนด FiT คงที่สะท้อนเงินลงทุนโครงการ และมีอัตรา FiT ส่วนผันแปร ปรับต้นทุนตามราคาเชื้อเพลิงทุกปีและสอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อ

    ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานดำเนินการออกประกาศหยุดรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ Adder โดยมีผลถัดจากวันที่ กพช. มีมติ และให้ออกระเบียบรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบ FiT ให้แล้วเสร็จภายใน 30 ม.ค. 2558 และเปิดให้มีประกาศรับข้อเสนอขอขายไฟฟ้าใหม่ภายในไตรมาสแรกของปี 2558

    ไฟเขียวแผนพีดีพี 2015

    กพช. ยังเห็นชอบหลักการและแนวทางการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2559 หรือแผน PDP 2015 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการจัดทำแผนแบบบูรณาการร่วมกับแผนอนุรักษ์พลังงาน และแผนพัฒนาพลังงานทดแทน

    การจัดทำแผนดังกล่าวยึดหลัก 3 ข้อ คือ 1. ความมั่นคงทางพลังงาน (Security) โดยต้องจัดหาไฟฟ้าให้พอต่อความต้องการใช้ และใช้เชื้อเพลิงหลากหลายเพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาเชื้อเพลิงชนิดใดชนิดหนึ่งมากเกินไป 2. เศรษฐกิจ (Economy) ให้ค่าไฟฟ้ามีความเหมาะสมและใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ และ 3.สิ่งแวดล้อม (Ecology) ที่ต้องลดผลกระทบที่เกิดกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน

    การจัดทำแผน PDP 2015 สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจโดยใช้ประมาณการความเติบโตเศรษฐกิจระยะยาวที่ร้อยละ 3.94% ต่อปี รวมถึงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ และรองรับการเติบโตของประชากร และการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมของประชากร

    เพิ่มนิวเคลียร์ในช่วง10ปีหลัง

    ในช่วง 10 ปีแรกของแผน จะมีกรอบประมาณการสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ดังนี้ ซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากต่างประเทศ 10-15% ถ่านหินสะอาด 20-25% พลังงานหมุนเวียน 10-20% และก๊าซธรรมชาติ 45-50%

    สำหรับในช่วง 10 ปีหลังของแผน จะมีกรอบประมาณการสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ดังนี้ ซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากต่างประเทศ 15-20% ถ่านหินสะอาด 20-25% พลังงานหมุนเวียน 15-20% และก๊าซธรรมชาติ 30-40% และนิวเคลียร์ 0-5%

    ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากแผน PDP 2015 นอกจากจะเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้าของประเทศแล้ว ยังเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศในด้านราคา และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนที่เป็นพลังงานสะอาดมากขึ้น ช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลจากต่างประเทศ โดยเฉพาะแอลพีจีและเป็นการส่งเสริมการใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในประเทศกว่า 80 ล้านตันต่อปี ซึ่งก่อให้เกิดผลประโยชน์จากค่าเชื้อเพลิงที่กระจายเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจตามแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ประมาณ 1.16 แสนล้านบาทต่อปี ในปี 2579

    Tags : กพช. • นโยบายพลังงาน • ต้นทุน • อุดหนุน • ประยุทธ์ จันทร์โอชา • ดีเซล • เบนซิน • พีดีพี

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้