เปิดแผน7ปี'บีโอไอ' ปรับโฉม-ยกระดับประเทศ

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 15 ธันวาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    "ต้นทุนของวัตถุดิบ ซึ่งไทยมีความได้เปรียบมาก เพราะการลงทุนตั้งฐานการผลิตเป็นการลงทุนในระยะยาว" หิรัญญา กล่าว

    การแข่งขันทางการค้ารุนแรงขึ้น ทำให้ทุกประเทศต่างเร่งพัฒนาศักยภาพการผลิต เพื่อแย่งชิงความได้เปรียบในตลาดโลก โดยวิธีการหนึ่งที่สำคัญ คือ การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

    จากตัวเลขการส่งออกของไทยเริ่มชะลอตัวลงเรื่อยๆ และหลายอุตสาหกรรมเริ่มสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน ดังนั้น คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ได้ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์แผนการส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ โดยหวังว่าจะดึงดูดอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงให้เข้ามาตั้งฐานการผลิตภายในประเทศ

    ตั้งเป้าหมายว่าจะทำให้อุตสาหกรรมของประเทศ"เปลี่ยนโฉม"นับจากนี้ไป

    นางหิรัญญา สุจินัย รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ถึงแผนส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ที่จะเริ่มใช้ในปี 2558 ว่าแผนบีโอไอฉบับใหม่ มีระยะเวลา 7 ปี (ปี 2558-2564) โดยจะยกเลิกการให้สิทธิพิเศษส่งเสริมการลงทุนตาม"เขตพื้นที่ 1-3" มาเป็นการให้สิทธิพิเศษทางภาษีตาม "กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย"

    อุตสาหกรรมเป้าหมาย แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ประเภท A เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่ง แบ่งย่อยออกเป็น 4 กลุ่มย่อย คือ กลุ่ม A1 เป็นอุตสาหกรรมที่เน้นฐานความรู้ เน้นการออกแบบ และการทำวิจัยและพัฒนา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งจะได้รับสิทธิยกเว้นภีเงินได้สูงสุด 8 ปี โดยไม่จำกัดวงเงิน ยกเว้นอากรเครื่องจักร และวัตถุดิบ

    กลุ่ม A2 กิจการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาประเทศ กิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม แต่มีการลงทุนในประเทศน้อย หรือยังไม่มีการลงทุน จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปี แต่มีการจำกัดวงเงิน ยกเว้นอาการเครื่องจักรและวัตถุดิบ

    กลุ่ม A3 กิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ โดยขณะนี้มีฐานการผลิตอยู่บ้างเล็กน้อย จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ 5 ปี ยกเว้นอากรเครื่องจักร และวัตถุดิบ และ กลุ่ม A4 กิจการที่มีระดับเทคโนโลยีไม่เท่ากับกลุ่ม A1-A3 แต่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มแก้วัตถุดิบภายในประเทศ และเสริมซัพพลายเชน จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ 3 ปี และยกเว้นอากรเครื่องจักรและวัตถุดิบ

    ประเภท B เป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนที่ใช้เทคโนโลยีไม่สูง แต่ยังมีความสำคัญต่อประเทศ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม B1 ได้รับการยกเว้นอากรเครื่องจักร และวัตถุดิบ และ กลุ่ม B2 ได้รับการยกเว้นอากรวัตถุดิบ

    ไม่เน้นเป้าหมายวงเงินลงทุน

    นางหิรัญญา กล่าวว่าแผนบีโอไอใหม่ จะไม่เน้นเป้าหมายเป็นจำนวนเงินที่ตัวเงิน แต่จะวัดความสำเร็จจากจำนวนอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เข้ามาขอส่งเสริมการลงทุน

    บีโอไอตั้งเป้าว่าจะมีอุตสาหกรรมเป้าหมายเข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนไม่ต่ำกว่า 30% ของโครงการทั้งหมด และมีเม็ดเงินพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท ภายในปี 2564 หรือประมาณปีละ 3 พันล้านบาท

    ส่วนเป้าหมายเม็ดเงินขอรับการส่งเสริมการลงทุนจะทรงตัวเท่ากับปี 2557 ในระดับ 7-8 แสนล้านบาท

    หวังครึ่งหลังปี 2558 อุตฯเป้าหมายเพิ่มขึ้น

    “สถานการณ์การลงทุนในปี2558 ในช่วงครึ่งปีแรกคาดว่าอุตสาหกรรมเป้าหมายคงขอมาไม่มาก เพราะการลงทุนวิจัยและพัฒนาที่อยู่บนฐานความรู้ ใช้เงินลงทุนมาก และมีความเสี่ยงสูง เพราะต้องคิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ แต่มองว่าในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า จะเห็นอุตสาหกรรมเป้าหมายเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น คาดว่า ทั้งปีจะมีสัดส่วนอุตสาหกรรมเป้าหมายมากขึ้น เพิ่มสูงกว่าค่าเฉลี่ย 10-20% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ส่วนในปี 2559 จะเห็นอุตสาหกรรมเป้าหมายเข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน” นางหิรัญญา กล่าว

    อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงประเทศไทยที่ปรับนโยบายหันไปเน้นในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีนวัตกรรมและใช้เทคโนโลยีขั้นสูง แต่ประเทศคู่แข่งอย่าง มาเลเซีย และสิงคโปร์ ก็เพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ เพื่อดึงดูดอุตสาหกรรมกลุ่มนี้เข้าไปลงทุนเช่นเดียวกัน ซึ่งแม้ว่าโดยพื้นฐานแล้วแต่ละประเทศจะมีอัตราการยกเว้นภาษีเงินได้ใกล้เคียงกัน

    "ไทยเสียเปรียบในเรื่องเงินทุนสนับสนุน แต่ไทยก็มีข้อได้เปรียบในด้านอื่นๆ เช่น แรงงานที่มีคุณภาพสูงในระดับต้นๆ ของโลก มีวัตถุดิบด้านการเกษตรอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การตั้งฐานอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ และการผลิตไบโอพลาสติก เป็นต้น"

    มั่นใจจุดแข็งไทยดึงดูดนักลงทุน

    นางหิรัญญา มองว่าแม้ว่าคู่แข่งจะมีมาตรการสนับสนุนอื่นดีกว่า แต่หัวใจหลักของอุตสาหกรรม คือ ต้นทุนของวัตถุดิบ ซึ่งไทยมีความได้เปรียบมาก เพราะการลงทุนตั้งฐานการผลิตเป็นการลงทุนในระยะยาว จะต้องคำนึงถึงปัจจัยของต้นทุนวัตถุดิบเป็นสำคัญ

    “แม้ปัจจัยด้านการยกเว้นภาษี หรือมาตรการเงินทุนสนับสนุนจะเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่การที่ต่างชาติจะเข้ามาลงทุน จะพิจารณาในปัจจัยอื่นๆ อีกหลายด้าน เพราะการเข้าไปลงทุนเป็นเหมือนการสร้างบ้านหลังที่ 2 ที่นอกจากจะสร้างผลกำไรแล้ว จะต้องอยู่อย่างมีความสุขด้วย โดยไทยยังมีจุดเด่นในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อม มีที่ตั้งของประเทศที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคนี้ อยู่ติดกับตลาดใหม่ที่มีอัตราการเติบโตสูง มีคุณภาพแรงงานที่ดี และที่สำคัญประเทศไทยมีความน่าอยู่ แม้ว่าระบบโทรคมนาคม และโลจิสติกส์บางด้านไทยจะยังเป็นรอง แต่จุดอ่อนเหล่านี้อยู่ระหว่างการแก้ไข และไทยยังมีจุดเด่นด้านอื่นๆ ที่กล่าวมาขั้นต้นที่ทำให้ศักยภาพการดึงดูดการลงทุนของไทยยังเหนือกว่าคู่แข่ง” นางหิรัญญา กล่าว

    ทั้งนี้ ที่ผ่านมาค่ายรถยนต์ขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโตโยต้า ฮอนด้า นิสสัน บีเอ็มดับเบิลยู ก็ได้ย้ายฐานการวิจัยและพัฒนาบางส่วนเข้ามาในประเทศไทย เพื่อพัฒนารถยนต์ที่เหมาะสมต่อภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งยังได้เข้ามาลงทุนตั้งศูนย์ทดสอบด้านต่างๆ จำนวนมาก

    คาดด้านโครงสร้างพื้นฐานขอบีโอไอมากสุด

    อุตสาหกรรมที่คาดว่าจะมีการเข้ามาลงทุนจำนวนมากในปี 2558 หากรัฐบาลอนุมัติโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานตามที่กำหนด ก็คาดว่าธุรกิจที่จะขอรับการส่งเสริมการลงทุนอันดับ 1 จะเป็นการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน อันดับ 2 ชิ้นส่วนยานยนต์ อันดับ 3 โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน อันดับ 4 อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอันดับ 5 อุตสาหกรรมอาหาร

    ขณะที่อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยานจะมีการเข้ามาลงทุนอย่างโดดเด่น โดยในขณะนี้มีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้จำนวนมากเข้ามาติดต่อขอข้อมูลการลงทุน

    "นักลงทุนรายใหญ่ยังคงเป็นญี่ปุ่น แต่จากมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่เปลี่ยนไปเน้นในอุตสาหกรรมไฮเทคขั้นสูง จะทำให้มีนักลงทุนจากสหรัฐฯ ยุโรป และจีนจะเข้ามาเพิ่มขึ้น"

    เขตเศรษฐกิจชายแดนรับสิทธิภาษีสูงสุด

    นางหิรัญญา กล่าวว่าการส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนนั้น บีโอไอจะเพิ่มสิทธิพิเศษยกเว้นภาษีเงินได้อีก 3 ปี จากเดิมที่ได้มาอยู่แล้วแต่ไม่เกิน 8 ปี เช่น ถ้าเป็นโครงการที่ไม่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ ถ้าเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ ก็จะได้รับการยกเว้นภาษี 3 ปี หรือถ้าได้รับการยกเว้นภาษี 3 ปี ก็จะเพิ่มเป็น 6 ปี แต่ถ้าเป็นโครงการที่ได้ยกเว้นภาษีเต็มที่ 8 ปีแล้ว ก็จะลดหย่อนภาษีเงินได้ 50% เพิ่มให้อีก 5 ปี

    นอกจากนี้หากรัฐบาลประกาศอุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตเศรษฐกิจพิเศษแต่ละแห่ง ก็จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปีทันที

    หนุนเอสเอ็มอีหวังดึงทุนญี่ปุ่น

    นางหิรัญญา กล่าวว่ามาตรการส่งเสริมเอสเอ็มอีนั้น จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้เพิ่มขึ้น 2 ปี เพิ่มขึ้นจากมาตรการส่งเสริมปกติ รวมทั้งยังได้ผ่อนคลายเม็ดเงินลงทุนขั้นต่ำจาก 1 ล้านบาท เหลือ 5 แสนบาท และลดสัดส่วนการลงทุนเครื่องจักรใหม่เหลือ 50% ซึ่งมาตรการพิเศษเหล่านี้จะสงวนให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นชาวไทย หรือถือหุ้นโดยคนไทยไม่ต่ำกว่า 51%

    มาตรการนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการดึงดูดให้เอสเอ็มอีจากญี่ปุ่นที่จะเข้ามาลงทุนในไทย เปลี่ยนจากการลงทุนเดี่ยว มาเป็นการร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการไทย ทำให้เอสเอ็มอีไทยได้รับการพัฒนาและมีรายได้เพิ่มขึ้น

    “คาดว่าในปี 2558 ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จะเข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนประมาณ 10% ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่เอสเอ็มอีเข้ามาขอ บีโอไอ น้อย เพราะคิดว่าบีโอไอจะให้การส่งเสริมเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้น ซึ่งบีโอไอ จะเร่งทำการประชาสัมพันธ์ และดึงดูดให้เอสเอ็มอีเข้ามาใช้สิทธิยกเว้นภาษีเพิ่มขึ้น” นางหิรัญญา กล่าว

    Tags : หิรัญญา สุจินัย • บีโอไอ • เอสเอ็มอี • อุตสาหกรรม • เขตเศรษฐกิจพิเศษ • จุดแข็งประเทศ

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้