เอกชนหั่นเป้าศก.โตปีหน้า เชื่อฟื้นตัว'u'

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 14 ธันวาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    เอกชนหั่นเป้าศก.โตปีหน้า เชื่อฟื้นตัวช้าแบบตัว"u" ลุ้นกนง.ลดดอกเบี้ย

    นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2558 ว่า ธนาคารได้มีการปรับประมาณการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2558 ลง จากเดิมที่ประเมินว่าจะอยู่ในระดับประมาณ 4.5% จากสมมติฐานที่มองว่าเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น การลงทุนของภาครัฐและเอกชน ตลอดจนการส่งออกจะดีขึ้น

    แต่จากไตรมาส 3/2557แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ขณะที่เศรษฐกิจโลกก็ยังผันผวน เศรษฐกิจญี่ปุ่นถดถอย จึงได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจล่าสุดเหลือโตประมาณ 3.3% เนื่องจากการลงทุนภาครัฐที่ชะลอตัวส่งผลให้เอกชนไม่กล้าลงทุนเต็มตัว และภาคการส่งออกยังมีปัญหาต่อเนื่อง ส่งผลให้การเติบโตต่ำกว่าศักยภาพ

    "เรามองว่าหากภาครัฐมีการกระตุ้นเศรษฐกิจเต็มที่ ภาคเอกชนก็กล้าที่จะเดินหน้า แต่เมื่อทุกอย่างไม่เป็นไปตามคาด ที่คิดว่าจะดีมันก็ชะลอลง ขณะที่การส่งออกก็ไม่ได้ดีขึ้น สองตัวนี้เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าคาด แต่ยังไม่ถึงขั้นวิกฤติ เราประเมินกรอบไว้ที่ 3.0-3.5% ได้ แม้จะโตกว่าช่วงปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังต่ำกว่าศักยภาพ" นายอมรเทพ ระบุ

    คาดศก.ฟื้นแบบ"ยูเชพ"

    ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวต่อว่า ช่วงที่ผ่านมาหลายฝ่ายอาจคาดหวังว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวแบบวีเชพ (V-Shape) แต่เมื่อตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 3/2557 ที่ประกาศออกมาล่าสุดเติบโตเพียง 0.6% เท่านั้น ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ต้องเปลี่ยนการคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2558 ใหม่ โดยมองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะเป็นรูปแบบ ยูเชพ (U-Shape) คือ ฟื้นตัวช้า ซึ่งเป็นการฟื้นตัวแบบที่น่าจะเหมาะที่สุด

    ทั้งนี้ เพราะเราเห็นการฟื้นตัวเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 3/2557 ที่ระดับ 0.6% แล้ว ส่วนใหญ่เป็นการฟื้นตัวจากในการบริโภคและการลงทุนในประเทศที่ไม่เกี่ยวกับการส่งออก ฉะนั้นถ้าแก้ปัญหาเรื่องการส่งออกได้ เศรษฐกิจในประเทศก็จะสามารถฟื้นตัวได้ต่อเนื่องและมีเสถียรภาพมากขึ้น

    "เรามองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไว้ 2 รูปแบบ คือ ยูเชพ (U-Shape) ฟื้นตัวช้า และแย่ที่สุดคือ แอลเชพ (L-Shape) ที่เศรษฐกิจจะโตเพียง 1-2% เท่านั้น ซึ่งค่อนข้างน่ากลัว"

    "สิ่งที่น่ากลัวที่สุดในปีหน้า คือ เศรษฐกิจโลก ถ้าเราเจอเหตุการณ์การเมือง หรือสถานการณ์ต่างๆ ในประเทศ ผมเชื่อว่าเรายังสามารถยืนต่อไปได้ แต่หากเราเจออย่างกรณี 'วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์' จะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยอย่างมาก อาจเกิดการหดตัวแรง ฟื้นตัวช้า เรายังไม่สามารถรับมือได้ดีเท่าวิกฤติในประเทศ ตอนนี้ผมเชื่อว่าเศรษฐกิจในประเทศเริ่มฟื้นตัวแล้ว แม้ภาครัฐจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ช้า แต่ก็ยังดีกว่าช่วงสุญญากาศ" เขากล่าว

    หวั่นหนี้ครัวเรือนฉุด

    นายอมรเทพ กล่าวอีกว่า หนี้ครัวเรือนคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2556 ชะลอตัว ตั้งแต่ช่วงที่เกิดน้ำท่วม (ปี 2554) ระดับหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ประมาณ 60% แต่เมื่อมีนโยบายรถคันแรก และนโยบายต่างๆ ที่ทำให้ประชาชนใช้จ่ายเกินตัว ส่งผลให้ตัวเลขหนี้ครัวเรือนดันสูงขึ้นมาแตะระดับที่ 80% ในช่วงเวลาเพียง 2-3 ปีเท่านั้น ซึ่งถือว่าเร็วมาก

    ประกอบกับอัตราหนี้ครัวเรือนของไทยส่วนใหญ่จะมาจากหนี้รถคันแรก และหนี้เพื่อการใช้จ่ายอุปโภคบริโภค หรือหนี้ส่วนบุคคล ขณะที่อัตราหนี้ครัวเรือนของประเทศอื่นเกิน 70-80% จะเป็นหนี้ที่มาจากการซื้อบ้าน ซึ่งตรงนี้ถือว่าน่าเป็นห่วงมาก

    สำหรับระดับหนี้ของผู้มีรายได้น้อยในปัจจุบันอยู่ในระดับที่สูงมากเมื่อเทียบกับรายได้ ซึ่งกลุ่มที่มีรายได้น้อยส่วนใหญ่จะมีรายได้อิงกับสินค้าการเกษตรอย่างข้าวหรือยางพารา ซึ่งในอนาคตจะเป็นตัวฉุดให้การบริโภคในประเทศไม่เติบโต กลุ่มนี้น่าเป็นห่วงมาก

    ลุ้นกนง.หั่นดอกเบี้ย

    ด้าน นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. มีความกังวลเกี่ยวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยว่าจะขยายตัวต่ำในปีนี้ และเติบโตช้าในปี 2558 อาจทำให้มีการผ่อนคลายนโยบายการเงินนั้น มองว่ามีโอกาส 60% ที่ กนง.จะปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

    แต่ทั้งนี้ มองว่า ปัจจุบันแรงกดดันหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง และทุกภาคส่วนรอผลการปฏิรูปประเทศและการปฏิรูปราคาพลังงาน ดังนั้นหากจะลดดอกเบี้ยก็จะไม่เป็นผลให้การบริโภคฟื้นตัว ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2% ก็ถือเป็นระดับที่เหมาะสมและไม่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจของไทย

    "ผมมองว่าหากเศรษฐกิจไม่ฟื้นจริงๆ แรงกดดันทั้งหมดจะไปตกอยู่ที่ กนง.ในการลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจุดนี้คงเป็นที่พึ่งสุดท้ายหากไม่สามารถใช้วิธีอื่นกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงๆ โดยหากปรับลดลงก็น่าจะอยู่ที่ระดับ 0.25% เท่านั้น" นายกอบสิทธิ์ ระบุ

    คาดศก.ปีหน้าโต3-4%

    ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวอีกว่า ประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2558 ไว้ที่ประมาณ 3-4% และน่าจะเคลื่อนไหวแบบยูเชพ จากเดิมที่หลายฝ่ายคาดว่าจะโตพุ่งเป็นวีเชพ เพราะสถานการณ์ในประเทศยังติดข้อจำกัดหลายอย่าง ทั้งกฎอัยการศึก และการบริหารงานภายใต้รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นการลงทุนของภาคเอกชน โดยเฉพาะการลงทุนจากต่างประเทศยังรอความชัดเจนในเรื่องการปฏิรูปการเมืองอยู่

    ขณะที่ปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยในปีหน้าจะมาจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก โดยเฉพาะยุโรปและญี่ปุ่นที่จะดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย หรือ คิวอี ด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ทำให้เงินยูโรและเงินเยนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้การท่องเที่ยวและสินค้าส่งออกของสองประเทศได้รับผลดี ส่วนประเทศคู่แข่งทางการค้าจะเสียประโยชน์

    สะท้อนว่าประเทศขนาดใหญ่กำลังใช้อัตราแลกเปลี่ยนมาเป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจ จนกลายเป็นสงครามอัตราแลกเปลี่ยนในอนาคต ซึ่งต้องติดตามว่าจะมีความรุนแรงในระดับใด แต่เชื่อว่าส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลงอย่างแน่นอน โดยปี 2558 จะเคลื่อนไหวอยู่ประมาณ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เพราะเงินดอลลาร์สหรัฐจะแข็งค่าขึ้น

    Tags : อมรเทพ จาวะลา • เศรษฐกิจปี58

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้