ธปท.ชี้ศก.เม.ย.ทรงตัวหนี้ครัวเรือนสูง

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 31 พฤษภาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานตัวเลขเศรษฐกิจเดือนเม.ย. 2557 โดยภาพรวมยัง'ทรงตัว'จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งระดับหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง


    ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าภาพรวมเศรษฐกิจในเดือนเม.ย. 2557 ถือว่า “ทรงตัว” จากเดือนก่อนหน้า ผลจากการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ทรงตัวตามการใช้จ่ายภาคครัวเรือน-ธุรกิจ ที่ยังกังวลกับสถานการณ์เศรษฐกิจ-การเมือง รวมทั้งระดับหนี้ครัวเรือนที่ทรงตัวในระดับสูง

    กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมทรงตัว ตามการใช้จ่ายภาคเอกชนและการผลิตภาคอุตสาหกรรม แต่หากเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัว 3.9% ตามการผลิตยานยนต์ที่มีการเร่งผลิตไปมากในปีก่อน ประกอบกับคำสั่งซื้อต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นไม่เพียงพอ ที่จะชดเชยคำสั่งซื้อในประเทศที่ลดลง

    นอกจากนี้ การผลิตเบียร์ที่ผู้ผลิตลดระดับสต็อกเนื่องจากความต้องการสินค้าลดลง ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และการผลิตกุ้งแช่แข็งที่มีปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบจากโรคระบาดในกุ้ง การใช้จ่ายภาคเอกชนค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อน เพราะสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ยังมีความไม่แน่นอนส่งผลให้ความเชื่อมั่นของภาคเอกชนอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง

    อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน อุปสงค์ภาคเอกชนยังหดตัว โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนหดตัว 0.8% ตามการใช้จ่ายสินค้าคงทนที่ลดลงและการใช้จ่ายสินค้าไม่คงทนที่โดยรวมทรงตัวเนื่องจากครัวเรือนที่มีภาระหนี้สินในระดับสูงยังคงระมัดระวังการใช้จ่าย ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและราคาสินค้าเกษตรสำคัญที่ตกต่ำกระทบต่อรายได้ครัวเรือน

    “ระยะต่อไป การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่า เกณฑ์ปกติไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากฐานะทางการเงินของครัวเรือนยังคงอ่อนแอจากภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูงและกำลังซื้อของครัวเรือนในภาคเกษตรมีแนวโน้มลดลงตามราคา สินค้าเกษตรสำคัญ อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายของครัวเรือนอาจได้รับแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากความเชื่อมั่นที่ปรับดีขึ้นหลังสถานการณ์ทางการเมืองในระยะข้างหน้ามีความชัดเจนมากขึ้น”

    สำหรับ ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัว 4.7% จากระยะเดียวกันปีก่อน เนื่องจากผู้ประกอบการชะลอการลงทุนออกไปเพื่อรอความชัดเจนทางเศรษฐกิจและการเมือง ส่งผลให้การลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์หดตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนของอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจ

    ในระยะข้างหน้า หากสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายลง และนโยบายภาครัฐมี ความชัดเจนมากขึ้นน่าจะช่วยเรียกความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจกลับคืนมาได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการลงทุนภาคเอกชนในภาพรวมให้ปรับตัวดีขึ้น

    ด้าน การส่งออกสินค้าโดยรวมฟื้นตัวได้ช้า แม้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น แต่การส่งออกสินค้าเกษตรได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ตกต่ำและอุปสงค์จากจีนที่ชะลอตัว ทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวเล็กน้อยจากเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 17,092 ล้านดอลลาร์ หดตัว 0.9%

    สาเหตุที่ การส่งออกยังหดตัว เนื่องจาก 1.การส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูปที่ได้รับผลจากราคายางและคำสั่งซื้อจากจีนที่ลดลง 2.การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ความต้องการจากจีนและอาเซียนชะลอตัว และ 3. การส่งออกปิโตรเลียมที่มีการปิดซ่อมบำรุงโรงงาน

    อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าในบางอุตสาหกรรมมีทิศทางปรับดีขึ้นเป็นลำดับตามอุปสงค์จากประเทศอุตสาหกรรมหลักที่ฟื้นตัว เช่น เครื่องจักรและอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และยานยนต์ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทรงตัว ส่งผลให้ข้อมูลการนำเข้าสินค้าทรงตัวจากเดือนก่อนเช่นกัน แต่หากเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน การนำเข้าสินค้ามีมูลค่า 16,533 ล้านดอลลาร์ หดตัว 13.8% ตามการนำเข้าสินค้าทุน วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเป็นสำคัญ

    ส่วน ภาวะอสังหาริมทรัพย์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในเดือนเม.ย.2557 ภาพรวมอุปสงค์และอุปทานยังชะลอตัว เนื่องจากทั้งผู้ซื้อและผู้ประกอบการรอดูสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมือง ความต้องการที่อยู่อาศัยในภาพรวมยังคงชะลอตัว สะท้อนจากอัตราการจองซื้อที่อยู่อาศัยที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ แม้จำนวนที่อยู่อาศัยที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อ (เฉลี่ยเคลื่อนที่ 3 เดือน) จากธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนทั้งในแนวราบ และอาคารชุด แต่ส่วนใหญ่เป็นความต้องการที่อยู่อาศัยในช่วงก่อนหน้าที่มาโอนกรรมสิทธิ์ในเดือนนี้

    ด้านอุปทานที่อยู่อาศัยยังชะลอตัว สะท้อนจากจำนวนที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ (เฉลี่ยเคลื่อนที่ 3 เดือน) ที่ลดลงจากเดือนก่อนที่ 6,802 หน่วย มาอยู่ที่ 5,906 หน่วย ตามการลดลงของอาคารชุดเป็นสำคัญ เนื่องจากประกอบการยังต้องติดตามสถานการณ์การเมืองและภาวะเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด จึงทำ ให้การเปิดขายอาคารชุดโดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่เปิดขายน้อยลง

    ภาคการท่องเที่ยวปรับดีขึ้นหลังการประกาศยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 19 มี.ค.2557 ซึ่งช่วยฟื้นความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประกอบกับภาคเอกชนเร่งส่งเสริมการขายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศในเดือนนี้มีจำนวน 2 ล้านคน แต่หากเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ภาคการท่องเที่ยวยังคงหดตัว 1.7% ตามการลดลงของนักท่องเที่ยวจีน มาเลเซีย รัสเซียและญี่ปุ่น

    “เดือนเม.ย.2557 นักท่องเที่ยวต่างประเทศมีจำนวน 2 ล้านคน หดตัว 1.7% จากระยะเดียวกันปีก่อนที่เป็นอัตราที่น้อยลงมากเทียบกับสองเดือนก่อนหน้า เมื่อปรับปัจจัยฤดูกาลแล้วจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศขยายตัว 7.6% จากเดือนก่อนหน้า สะท้อนว่าความกังวลต่อสถานการณ์การเมืองไทยผ่อนคลายลงบ้าง หลังการยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน”

    นอกจากนี้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนมีการเร่งทำการตลาดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวจากหลายประเทศ เช่น ฮ่องกง และยุโรป (ไม่รวมรัสเซีย) กลับมาขยายตัวได้ ขณะที่นักท่องเที่ยวรัสเซียหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี ส่วนหนึ่งเพราะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างรัสเซียและยูเครน

    สำหรับอัตราการเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ 55.1% ลดลงจาก 63.7% ในเดือนเดียวกันปีก่อน สอดคล้องกับการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ อย่างไรก็ดี เมื่อปรับปัจจัยฤดูกาลแล้วอัตราการเข้าพักโรงแรมปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนจากภาคกลางและภาคใต้เป็นสำคัญ

    ส่วนรายได้เกษตรกรหดตัวทั้งเมื่อเทียบกับเดือนก่อนและระยะเดียวกันปีก่อน จากผลของราคาโดยเฉพาะราคาข้าวที่ลดลงมากจากการระบายสต็อกของทางการไทยและการสิ้นสุดโครงการรับจำนำข้าว และราคายางพาราที่หดตัวตามอุปสงค์จากจีนที่ชะลอตัว รวมทั้งสต็อกของจีนที่ยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะข้าวที่ปริมาณน้ำเอื้ออำนวยและปาล์มน้ำมันที่มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกเมื่อหลายปีก่อน

    ภาครัฐ ใช้จ่ายโดยรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการเบิกจ่ายค่าจ้างและเงินเดือน รวมทั้งค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการที่เบิกจ่ายได้ตามปกติ ขณะที่รายจ่ายลงทุนสามารถทำได้เพียงบางส่วน

    สำหรับรายได้นำส่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระยะเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งเพราะผลของฐานต่ำในเดือนเดียวกันปีก่อนที่มีการโอนเงินคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ อปท. ล่าช้ามาจากเดือนมี.ค.2556 ขณะที่รายได้จัดเก็บโดยรวมลดลงจากทั้งภาษีฐานรายได้ ฐานการบริโภค และฐานการค้าระหว่างประเทศตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่ชะลอตัว รายจ่ายที่มากกว่ารายได้ทำให้รัฐบาลขาดดุลเงินสด 4.2 หมื่นล้านบาท

    ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ การว่างงานอยู่ในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นตามการส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาอาหารสำเร็จรูปและราคาพลังงาน ดุลการค้าเกินดุลจากการนำเข้าที่หดตัว ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากการส่งกลับกำไรและเงินปันผลไปต่างประเทศของบริษัทต่างชาติ ดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลจากทั้ง การลงทุนโดยตรงและการลงทุนในหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติ โดยรวมดุลการชำระเงินเกินดุล

    Tags : ธนาคารแห่งประเทศไทย • ธปท. • เศรษฐกิจ

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้