เนื่องจากเพิ่งมีเวลาสะสางไฟล์เพลงที่มีเก็บไว้แล้วพบว่ามีเพลงจำนวนมากที่ไม่มี metadata ทำให้ไม่รู้ว่าเพลงอะไร ในยุคนี้เราไม่ต้องเปิดเพลงฟัง แล้วจับเนื้อร้อง เพื่อเอาไปค้นหาด้วย Google อีกแล้ว เราสามารถใช้ Shazam เพื่อหาว่าเพลงที่เปิดอยู่คือเพลงอะไรได้โดยง่ายแล้วไปแก้ไขข้อมูลด้วยมือ หนึ่งถึงสองเพลงแรกยังสนุกอยู่ แต่ปรากฏว่ามีนับร้อยเพลงที่ไม่มี metadata ก็ไม่ไหวแล้ว ถึงได้พยายามหาวิธีที่ดีกว่านี้ แล้วคำตอบคือ MusicBrainz ครับ MusicBrainz เป็นโปรเจค ที่สร้างฐานข้อมูลเพลงออนไลน์โดยอาศัยชุมชนเป็นผู้เพิ่มข้อมูลและใครๆ ก็ใช้ได้ ซึ่งเป็นแนวทางแบบเดียวกับ Freedb ที่เป็นฐานข้อมูลออนไลน์ของแผ่นซีดี นอกจากจะเป็นฐานข้อมูลออนไลน์แล้ว MusicBrainz ยังมีฐานข้อมูลของ acoustic fingerprint ซึ่งช่วยในการค้นหาเพลงโดยไม่ต้องอาศัย metadata ได้อีกทาง ณ ปัจจุบัน MusicBrainz มีข้อมูลเพลงอยู่ 28 ล้านเพลง เป็นฐานข้อมูลเพลงออนไลน์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 รองจาก Discogs (151 ล้าน), Gracenote (100 ล้าน), ACRCloud (40 ล้าน) แต่นับเป็น ฐานข้อมูลฟรีของ acoustic fingerprint ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน แอปยอดนิยมที่ใช้แก้ไข metadata สามารถดึงข้อมูลจาก MusicBrainz ได้โดยตรง เช่น mp3tag / Foobar2000 แต่การค้นหาจาก acoustic fingerprint ต้องใช้ผ่านแอปเฉพาะที่ชื่อ MusicBrainz Picard เท่านั้น ซึ่งตอนนี้มีครอบคลุม platform ใหญ่ทั้งหมด ทั้ง Windows / macOS / Linux / Android ส่วนวิธีการใช้งานสามารถหาได้ตาม YouTube ครับ ส่วนใครเจอปัญหาว่าหาเพลงด้วย acoustic fingerprint ไม่เจอ ก็สามารถที่เพิ่มเข้าไปได้ผ่าน Picard เช่นกัน จากประสบการณ์ใช้งานจริง พบว่าเพลงที่ค่อนข้างใหม่จะหาได้จาก acoustic fingerprint เกือบทั้งหมด ส่วนเพลงที่เก่าหน่อย เช่นก่อนปี 2000 มักไม่ไม่มีใครให้ข้อมูล acoustic fingerprint ไว้ครับ แต่มีข้อมูล metadata ไว้ครบถ้วนทีเดียว ผมจึงได้เพิ่มเติมเข้าไปแล้ว นอกจากนั้นยังมีสิ่งที่น่าสนใจ และเปิดให้เข้าถึงได้ เช่น MusicBrainz ยังมีฐานข้อมูลภาพหน้าปก CD / Media Cover Art แยกออกมาในชื่อ Cover Art Archive ซึ่งเปิด API ให้ใครๆ ก็ใช้งานได้ Amazon ก็ใช้งานระบบนี้เช่นกัน เทคโนโลยีในการทำ acoustic fingerprint ของ MusicBrainz มีชื่อเรียกว่า Chromaprint รายละเอียดสามารถอ่านได้ในบล็อกของ Lukáš Lalinský ซึ่งเป็นหนึ่งใน Contributor ของชุมชน MusicBrainz ฝั่ง Server เขียนด้วย Perl ร่วมกับฐานข้อมูล PostgreSQL ส่วนข้อมูลในฐานข้อมูลจะมี snapshot ออกมาให้ทุก 2 สัปดาห์ ทุกอย่างเป็น Open source พร้อม document อย่างละเอียด ฝั่ง Picard เองก็เป็น Open source เขียน Python แม้ว่าปัจจุบัน ตอนนี้ Online music streaming จะมาแรง แต่การเก็บเพลงที่ตัวเองชอบฟังไว้ก็ยังเป็นหนึ่งในแนวทางที่ยังมีคนนิยมทำกันอยู่ ก็หวังว่า MusicBrainz จะตอบโจทย์ผู้ใช้กลุ่มนี้นะครับ อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ MusicBrainz Topics: MusicBrainzOpen SourceOpen Data