บทความตอนที่ 1 เราพูดถึงเรื่องปัญหา 14 นาโนเมตรของอินเทล และอธิบายในตอนที่ 2 ว่าเกิดจากหลายสาเหตุ หลายปัจจัยในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ แต่ทั้งสองตอนที่ว่ามา ยังพูดถึงแค่ธุรกิจซีพียูสำหรับพีซี ที่เป็นธุรกิจหลักของอินเทลเท่านั้น อินเทลยังมีธุรกิจอื่นๆ อีกหลายด้านที่มีปัญหาอีกเช่นกัน เช่น ซีพียูเซิร์ฟเวอร์ จีพียู มือถือ รวมถึงปัญหาด้านการบริหารภายในของอินเทลเอง ที่จะกล่าวถึงในบทความนี้ รวมไปถึงวิเคราะห์ทางออกในอนาคต เซิร์ฟเวอร์ ขุมทรัพย์ทองคำที่บังตาความล้มเหลว เมื่อพูดถึงอินเทลแล้ว สิ่งแรกที่ทุกคนนึกถึงคือ ซีพียูสำหรับพีซี ที่ใช้แบรนด์ Core, Pentium, Celeron ทำตลาดมายาวนาน แต่จริงๆ แล้ว ตลาดซีพียูเซิร์ฟเวอร์ของอินเทล (Xeon และ Itanium) ก็มีขนาดใหญ่ไม่ด้อยไปกว่ากันมากนัก (ใหญ่จนน่าตกใจเลยล่ะ) ต้องย้อนความก่อนว่า จุดกำเนิดของอินเทลมาจากคอมพิวเตอร์ราคาถูก (IBM PC compatible) แต่ในตลาดคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงสมัยก่อน ยังเป็นของสถาปัตยกรรมจากบริษัทยุคก่อนหน้าอย่าง POWER/PowerPC (IBM), Alpha (DEC), PA-RISC (HP), SPARC (Sun) เป็นต้น ซีพียูสถาปัตยกรรม x86 ที่เน้นประสิทธิภาพพอใช้ ในราคาเอื้อมถึงได้ ย่อมไม่สามารถต่อกรได้ อินเทลในยุค 90s ตอนปลายจึงพยายามตีตลาดนี้ด้วยโครงการ Itanium ที่ร่วมพัฒนากับ HP มีความทะเยอทะยานเพราะใช้สถาปัตยกรรมใหม่ IA-64 (เปิดตัวครั้งแรกปี 1999) แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จนักด้วยเหตุผลหลายๆ ประการ และสุดท้ายต้องเลิกทำไป ในขณะที่คู่แข่ง AMD เดินเลือกในเส้นทางต่อยอด x86 เป็น x86-64 ที่ไม่เปลี่ยนไปจากเดิมมากนัก กลับประสบความสำเร็จอย่างมาก ทำให้อินเทลต้องยอมเดินตามทั้งในฝั่งเดสก์ท็อป (Pentium 4) และเซิร์ฟเวอร์ (Xeon แบบ 64 บิต) แม้เริ่มต้นแบบติดๆ ขัดๆ ในตอนแรก แต่ Xeon กลับเป็นผลิตภัณฑ์ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในระยะยาว ยุคแรกของ Xeon เน้นการใช้งานในเซิร์ฟเวอร์ขนาดเล็ก (เช่น เซิร์ฟเวอร์เดี่ยวๆ แบบ 1U/2U แบบที่เราคุ้นเคยกัน) และเติบโตตามตลาดอินเทอร์เน็ตในยุคแรกๆ แต่อินเทอร์เน็ตในทศวรรษ 2000s ก็มีจุดเปลี่ยนตรงที่กูเกิลหันมาสร้างระบบเซิร์ฟเวอร์ของตัวเอง ใช้ชิ้นส่วนฮาร์ดแวร์หาได้ทั่วไป (commodity hardware) แล้วเขียนซอฟต์แวร์กระจายโหลดควบคุมเอาเอง แทนการซื้อเซิร์ฟเวอร์สมรรถนะสูงจากแบรนด์ดังในราคาแพงๆ กลายเป็นพื้นฐานและจุดเริ่มต้นของระบบคลาวด์คอมพิวติ้งในยุคถัดมา เมื่อชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ทั่วไป สามารถใช้แทนเซิร์ฟเวอร์ราคาแพงได้ แล้วใครจะไปซื้อเซิร์ฟเวอร์เฉพาะทางแบบแพงๆ กันอีก? ผู้ที่ได้ประโยชน์สูงสุดจากกระแสความเปลี่ยนแปลงนี้ จึงเป็นซีพียูสมรรถนะสูงพอในระดับหนึ่งที่ราคาไม่แพงจนเกินไป… Xeon หมายเหตุ: AMD Opteron ก็เป็นหนึ่งในซีพียูที่ได้ประโยชน์จากกระแสนี้เช่นกัน แต่เมื่อ AMD แผ่วไปในทศวรรษ 2010s ช่วงกลางๆ ทำให้ตลาดแทบเป็น Xeon กินรวบไปเลย เราคงไม่สามารถหาข้อมูลส่วนแบ่งตลาดซีพียูเซิร์ฟเวอร์ทั้งหมดได้ง่ายนัก แต่ถ้าลองดูจาก TOP500 ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่เร็วที่สุดในโลก 500 อันดับแรกแต่ละยุคสมัย เราเห็นเทรนด์ชัดเจนว่าหลังปี 2006-2007 เป็นต้นมา Xeon ครองไปเกือบทั้งลิสต์ เหลือพื้นที่ยืนให้คู่แข่งรายอื่นๆ เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนแบ่งสถาปัตยกรรมซีพียูใน TOP500 แต่ละยุค ที่มา - Wikipedia Xeon กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้อินเทลชนะศึกคอมพิวเตอร์ระดับสูง ทั้งในแง่ของรางวัล (อันดับใน TOP500 ที่เหลือพื้นที่ให้ IBM Power เล็กน้อยในเครื่องระดับบนๆ แพงๆ) และในแง่ของรายได้ ที่กลายเป็นเครื่องจักรทำเงินให้อินเทลมหาศาลจนถึงทุกวันนี้ ข้อมูลเก่าที่สุดที่ผมค้นเจอ อินเทลแยกรายได้จากฝั่งพีซี-เซิร์ฟเวอร์เป็นครั้งแรกในปี 2009 โดยตอนนั้น อินเทลมีรายได้จากฝั่งพีซี (PC Client Group - PCCG) ประมาณ 75% ของรายได้ทั้งหมด และฝั่งเซิร์ฟเวอร์ (Data Center Group - DCG) ประมาณ 18% เทียบสัดส่วนแบบหยาบๆ คือราว 5 ต่อ 1 ที่มา - Intel แต่ถ้าดูตัวเลขล่าสุดของปี 2020 สัดส่วนรายได้ของอินเทลเปลี่ยนไปจากเดิมมาก รายได้ฝั่งพีซี (กราฟบน) อยู่ที่ 40.1 พันล้านดอลลาร์ต่อปี ส่วนรายได้จากฝั่งเซิร์ฟเวอร์ (กราฟล่าง) คือ 26.1 พันล้านดอลลาร์ต่อปี เทียบสัดส่วนแล้วอยู่ที่ราว 1.5 ต่อ 1 แล้ว ที่มา - Intel ถึงแม้ว่าธุรกิจพีซีช่วงหลังๆ (หมายถึงก่อน COVID ที่มีกระแส work from home) เติบโตช้าลงหรือถดถอยมาโดยตลอด ส่งผลให้ธุรกิจฝั่งพีซีของอินเทลไม่เติบโตมากนัก แต่กระแสของคลาวด์ที่เติบโตไม่หยุดเลย ทำให้ธุรกิจของอินเทลพึ่งพา Xeon เป็นสัดส่วนที่มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งหมดที่ว่ามานี้เป็นเรื่องดี อินเทลร่ำรวยมหาศาลจาก Xeon โลกทุกอย่างสดใส แต่ความสำเร็จของ Xeon อีกนั่นแหละที่บดบังภัยคุกคามชนิดใหม่ๆ ไม่ให้อินเทลมองเห็นชัดเจนนัก ตกรถไฟขบวนที่หนึ่ง: จีพียู ตลาดจีพียูเริ่มต้นอย่างช้าๆ ในทศวรรษ 90s โดยผู้บุกเบิกจีพียูยุคแรกๆ คือ ATI (ก่อตั้ง 1985), NVIDIA (ก่อตั้ง 1993), 3dfx (ก่อตั้ง 1994) แต่กว่าจีพียู 3D จะเริ่มบูมก็ต้องรอช่วงปลายทศวรรษคือ GeForce (1999) และ Radeon (2000) ตลาดจีพียูในยุคแรกๆ ยังแยกขาดจากซีพียู และเน้นสำหรับงานเฉพาะทางเป็นหลัก เช่น งานออกแบบกราฟิกหรือเกม แต่หลังจากนั้นไม่นานนัก เมื่อการใช้งานแอปพลิเคชันกราฟิกบนพีซีเริ่มแพร่หลายมากขึ้น จีพียูกลายเป็นส่วนสำคัญที่ต้องใช้คู่กับซีพียู เราจึงเห็นดีลสำคัญคือ AMD ซื้อกิจการ ATI ในปี 2006 กลายเป็นบริษัทเดียวที่มีครบทั้งซีพียูและจีพียู ฝั่งของอินเทลเอง ถึงแม้มีผลิตภัณฑ์จีพียูแบบออนบอร์ด (integrated) มานานพอสมควร ตั้งแต่แบรนด์ Intel Extreme Graphics, Intel GMA, Intel HD และ Iris ในปัจจุบัน แต่ก็ไม่ได้เอาจริงกับตลาดจีพียูแยกแบบ discrete มากนัก ปล่อยให้เป็นการต่อสู้กันระหว่าง ATI/AMD กับ NVIDIA มายาวนานข้ามทศวรรษ แน่นอนว่าอินเทลเห็นความสำคัญของตลาดจีพียู discrete และเคยลงมาชิมลางด้วยจีพียูโค้ดเนม Larrabee ที่เปิดตัวครั้งแรกในปี 2009 แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ด้วยเหตุผลเรื่องประสิทธิภาพที่ไม่ดีพอเมื่อเทียบกับคู่แข่ง (แนวคิดของ Larrabee ยังเป็นการใช้สถาปัตยกรรม x86 ผสมผสานกับ SIMD แบบจีพียูปกติ) อินเทลยุติโครงการ Larrabee อย่างรวดเร็วในปี 2010 (ตัวเทคโนโลยีถูกนำไปใช้ต่อใน Xeon Phi หน่วยประมวลผลร่วมสำหรับเซิร์ฟเวอร์) และอินเทลดูจะขยาดกับตลาดนี้ ไม่กลับเข้ามายุ่งกับจีพียู discrete ไปอีกพักใหญ่ๆ จนกระทั่งกลับมาประกาศทำ Xe ในปี 2018 (และออกได้จริงในปี 2020 นี้เอง) ถ้านับจาก GeForce ตัวแรกในปี 1999 จนมาถึง Xe ในปี 2020 จะเห็นว่าอินเทล "เสียโอกาส" ในตลาดจีพียูมานานถึง 20 ปีเต็มๆ ในช่วงแรกๆ ตลาดจีพียูแยกขาดจากซีพียูอย่างชัดเจน และธุรกิจซีพียูของอินเทลไปได้สวยอยู่แล้ว ลูกค้าซื้อจีพียูยี่ห้อไหนก็ตาม ก็ต้องมาใช้กับซีพียูของอินเทลอยู่ดี การที่อินเทลไม่มีจีพียูย่อมไม่ใช่ปัญหาใดๆ แต่ในทศวรรษ 2010s เป็นต้นมา การไม่มีจีพียูเริ่มส่งผลกระทบต่ออินเทลใน 2 แนวรบสำคัญ อย่างแรกคือตลาดเกมคอนโซล ที่เริ่มเปลี่ยนทิศทางฮาร์ดแวร์จากการแยกชิ้นส่วนซีพียู-จีพียูจากคนละผู้ผลิต (Xbox 360 ใช้ซีพียู IBM และจีพียู ATI) มาสู่การเป็น SoC ครบทุกอย่างในตัวจากบริษัทเดียว และบริษัทเดียวที่มีทุกอย่างครบคือ AMD ตรงนี้จึงไม่น่าแปลกใจว่า คอนโซลในยุคนั้นทั้ง PS4 และ Xbox One (เปิดตัว 2013) ทั้งคู่ ต่างเลือกใช้ชิปแบบคัสตอมจาก AMD ที่มีทั้งซีพียูและจีพียูมาพร้อม ยอดขายล่าสุดของ PS4 อยู่ที่ 113.5 ล้านเครื่อง ส่วนยอดขาย Xbox One แม้ไม่เปิดเผยมานานแล้ว แต่คาดกันว่าน่าจะอยู่ราว 50 ล้านเครื่อง ถึงแม้ตัวเลขรวมอาจไม่ได้เยอะมากเมื่อเทียบกับยอดขายพีซีในแต่ละปี แต่อินเทลก็เสียตลาดขนาด 150-160 ล้านเครื่องไปเปล่าๆ ด้วยเหตุผลว่าไม่มีจีพียู ภาพจาก หน้ารวมลูกค้าของ AMD แนวรบที่สองคือตลาดที่อินเทลแข็งแกร่งมากๆ อย่างตลาดเซิร์ฟเวอร์ดังที่กล่าวไปแล้ว อินเทลสามารถโค่น IBM ขึ้นมาครองตลาดซีพียูเซิร์ฟเวอร์ได้เกือบเบ็ดเสร็จ และปัจจุบันนี้ยังไม่มีใครมาต่อกรกับอินเทลได้ อย่างไรก็ตาม ตลาดเซิร์ฟเวอร์เองเริ่มมีพัฒนาการใหม่ๆ ในทศวรรษ 2010s ว่าซีพียูอย่างเดียวไม่พอ มีรูปแบบงานประมวลผลชนิดใหม่ๆ ที่เป็นการประมวลผลแบบขนาด เป็นการประมวลผลแบบเวกเตอร์มากขึ้น ทำให้เซิร์ฟเวอร์ยุคหลังต้องมี "ตัวช่วยประมวลผล" (co-processor) หรือบ้างก็เรียกว่า "ตัวเร่งการประมวลผล" (accelerator) เข้ามาเสริม บริษัทที่ทำตัวช่วยประมวลผลได้เก่งที่สุด คือบริษัทที่ขายหน่วยประมวลผลแบบขนาน/เวกเตอร์ได้มากที่สุดในโลก… NVIDIA NVIDIA มีฐานลูกค้าเดิมจากฝั่งคอนซูเมอร์ที่ซื้อ GeForce อยู่แล้ว และไม่พลาดโอกาสนี้ด้วยการออก Tesla จีพียูสำหรับงานเซิร์ฟเวอร์ (เปิดตัวครั้งแรกปี 2007) พร้อมๆ กับการลงทุนพัฒนา CUDA API เพื่อช่วยให้นักพัฒนาย้ายโหลดงานจากซีพียูไปยังจีพียูได้ แม้ว่าหลังจากนั้นผู้ผลิตรายอื่นๆ จะพยายามผลักดัน OpenCL เพื่อย้ายงานบางประเภทไปรันบนจีพียูได้เหมือนกัน แต่ CUDA ก็ยังคงได้รับความนิยมสูงกว่าเรื่อยมา อินเทลที่ชู Xeon Phi นั้นแม้จะได้รับความนิยมอยู่ช่วงหนึ่งในตลาดซูเปอร์คอมพิวเตอร์เนื่องจากสถาปัตยกรรมภายในเป็น x86 และการพัฒนาทำได้ง่าย ไม่ต้องเปลี่ยนแนวคิดมากนักเพราะ Xeon Phi ทำงานเหมือนคอมพิวเตอร์แยกอยู่คอมพิวเตอร์เครื่องหลัก สามารถล็อกอินด้วย SSH เข้าไปได้ และภายในจะมองเห็นซีพียูจำนวนมาก แต่ความได้เปรียบนี้ก็เริ่มหมดค่าลงอย่างรวดเร็วเมื่อเข้าสู่ยุค AI แบบ deep learning NVIDIA Tesla ค่อยๆ เติบโตคู่มากับตลาดเซิร์ฟเวอร์ยุคใหม่ งานประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่และ AI เฟรมเวิร์ค AI อย่าง TensorFlow รองรับเฉพาะ CUDA ของ NVIDIA เป็นหลัก แม้จะรันบนซีพียูได้ แต่การทำงานก็จะประสิทธิภาพต่ำมากจนใช้งานจริงแทบไม่ได้ การบ่งชี้ว่า Tesla ได้รับความนิยมมากน้อยแค่ไหน ต้องลองไปดูที่ตลาดซูเปอร์คอมพิวเตอร์ หากเราดู TOP500 ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่แรงที่สุดในโลก 10 อันดับแรก รายชื่อล่าสุดรอบเดือนพฤศจิกายน 2020 มี 4 เครื่องที่ใช้ซีพียู Xeon ของอินเทล แต่มีถึง 6 เครื่องที่ใช้ co-processor ของ NVIDIA ส่วนอาวุธเดียวที่อินเทลจะใช้ต่อกรได้คือ Xeon Phi ก็ตกยุคและเลิกทำไปแล้ว ขณะที่ความพยายามใช้ FPGA มาเร่งความเร็วงานเฉพาะทางจากการซื้อ Altera ก็ยังไม่ได้รับความนิยมในวงกว้างจนถึงทุกวันนี้ ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า อินเทลปล่อยปละละเลยตลาดจีพียูมานาน และพลาดโอกาสสำคัญของกระแส convergence ที่เริ่มหลอมรวมซีพียู-จีพียูเข้าด้วยกัน จนมันเริ่มย้อนกลับมาโจมตีอินเทลเอง แต่ตลาดจีพียูยังเป็นเพียงแค่รถไฟขบวนแรกที่อินเทลตกรถ เพราะรถไฟอีกคัน "ตลาดมือถือ" ก็ขึ้นไม่ทันอีกเช่นกัน ตกรถไฟขบวนที่สอง: สมาร์ทโฟน ก่อนหน้านี้ผมยกตัวเลขให้ดูว่า ยอดขายคอนโซลตลอดอายุขัย (ประมาณ 7 ปี) อยู่ที่ราว 150 ล้านเครื่อง ตัวเลขนี้เทียบไม่ได้เลยกับยอดขายพีซี ที่ในหนึ่งปีมียอดขายรวมประมาณ 300 ล้านเครื่อง ตัวเลขปี 2020 อาจกลับมาพุ่งเพราะ work from home แต่ถ้าย้อนดูปี 2019 ก็ห่างกันไม่เยอะคือประมาณ 270 ล้านเครื่อง หากเราตีส่วนแบ่งตลาดแบบหยาบๆ ว่าอินเทลครองประมาณ 70% ก็เท่ากับยอดขายประมาณ 200 ล้านเครื่องต่อปี แต่ตัวเลขยอดขายพีซีก็ถือว่าน้อยอยู่ดี หากเราเทียบกับยอดขายสมาร์ทโฟนปีละ 1,300 ล้านเครื่อง (ตัวเลขปี 2020) น่าเสียดายว่า ตอนนี้อินเทลแทบไม่มีเอี่ยวในตลาดสมาร์ทโฟนเลย ถามว่าอินเทลมองไม่เห็นตลาดอุปกรณ์พกพามาก่อนเลยหรือ ก็ไม่ใช่อีก เพราะอินเทลนั่นแหละที่เล็งเห็นตลาดนี้ก่อนใคร เปิดตัวแพลตฟอร์ม Mobile Internet Device (MID) ครั้งแรกในปี 2007 ปีเดียวกับที่ iPhone เผยโฉมสู่โลก วิสัยทัศน์ของอินเทลคือใช้ซีพียู Atom ที่กินไฟน้อย ผนวกกับระบบปฏิบัติการ Moblin ที่ดัดแปลงจากลินุกซ์ (ภายหลังรวมกับ Maemo ของโนเกีย กลายเป็น MeeGo) แต่คนไม่ใช่ทำอะไรก็ผิด MID/Moblin/Maemo/MeeGo ล้มเหลว (เฉกเช่นเดียวกับแพลตฟอร์มสมาร์ทโฟนอื่นในยุคนั้น เช่น webOS, Bada หรือแม้แต่ Windows Phone) ผู้ที่อยู่รอดมาได้มีเพียง iPhone และ Android เท่านั้น หน้าตาของ Intel MID ในช่วงประมาณปี 2009 - ภาพจาก Phoronix ซอฟต์แวร์ไม่รอด ขายฮาร์ดแวร์ได้ก็ยังดี อินเทลจึงผลักดันการใช้ Atom บนสมาร์ทโฟนร่วมกับกูเกิล พัฒนา Android ให้รองรับสถาปัตยกรรม x86 ของ Atom ในปี 2011 และร่วมกับแบรนด์มือถือ โดยหลักคือ ASUS ออก Zenfone ที่ใช้ Atom ออกสู่ตลาดในปี 2014 น่าเสียดายว่า ความพยายามของอินเทลไม่ประสบความสำเร็จอีกเช่นกัน เหตุผลหลักน่าจะมาจากข้อจำกัดของสถาปัตยกรรม x86 ในเรื่องการใช้พลังงงานขณะไม่ใช้งาน (idle) ที่สู้กับ ARM ไม่ได้เลย ในขณะที่ฝั่ง ARM เองก็สามารถพัฒนาประสิทธิภาพให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงเวลานั้น (เหตุผลอีกข้อคงเป็นเรื่องความเข้ากันได้ของซอฟต์แวร์บน Android บน x86 ที่ยังมีปัญหาอยู่บ้าง โดยเฉพาะแอพที่มีส่วนต้องเขียนแบบเนทีฟ เช่น เกม) ASUS ถอนตัวจากมือถือ x86 และกลับมาใช้ ARM กับ Zenfone รุ่นที่สามในปี 2016 ส่วนกูเกิลเองก็แทบไม่พูดถึง x86 บน Android อีกแล้ว (แม้ NDK ของ Android ยังรองรับไบนารี x86 อยู่ก็ตาม) หมายเหตุ: จริงๆ แล้วอินเทลเคยมีธุรกิจซีพียู ARM กับเขาด้วยคือแบรนด์ XScale แต่ขายทิ้งไปก่อนในปี 2006 ให้กับ Marvell ในช่วงก่อนสมาร์ทโฟนบูม ภาพจากงานแถลงข่าว Zenfone ในปี 2014 - ASUS อินเทลยังไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ ขายหน่วยประมวลผลไม่ได้ ขายชิปโมเด็มอย่างเดียวก็ยังดี จึงเป็นที่มาของการตั้งแผนกชิปโมเด็ม แต่ก็พบข้อจำกัดมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเทคนิคด้านการส่งสัญญาณไร้สาย ปัญหาสิทธิบัตร และการหาลูกค้า (ที่สุดท้ายมีแค่แอปเปิลเพียงรายเดียว ด้วยเหตุผลว่าแอปเปิลทะเลาะกับ Qualcomm อีกต่างหาก) สุดท้ายในปี 2019 อินเทลจึงถอนตัวออกจากธุรกิจสมาร์ทโฟนอย่างเต็มตัว ด้วยการขายแผนกชิปโมเด็มให้แอปเปิลรับช่วงต่อ ความล้มเหลวของอินเทลในตลาดชิปมือถือ ถือว่าแตกต่างจากตลาดจีพียูตรงที่อินเทลมองเห็นเทรนด์ทุกอย่าง แถมยังบุกเข้ามาอย่างค่อนข้างจริงจังด้วย (ต่างจาก Larrabee ที่แหย่ขามาแป๊บเดียวแล้วออกไป) แต่แม้พยายามแล้วยังไม่สำเร็จอยู่ดี ผมคิดว่าปัญหาเกิดจาก "วิธีคิด" ของอินเทลเองที่พยายามใช้ x86 กับทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟนหรือจีพียู ซึ่งออกจะฝืนๆ แต่ก็เข้าใจได้ว่าบริษัทที่ยิ่งใหญ่มากับ x86 อาจมองไม่เห็นข้อจำกัดของตัวเอง ชิปโมเด็ม 5G ของอินเทลในปี 2017 - Intel ภัยคุกคามโผล่ทุกแนวรบ การพลาดตลาดเกิดใหม่ที่สำคัญทั้งจีพียูและสมาร์ทโฟน กลับไม่เป็นปัญหาเท่าไรนัก เพราะผลประกอบการของอินเทลยังออกมายอดเยี่ยมเสมอ (ไม่ใช่แค่ดี แต่เรียกว่า "ยอดเยี่ยม" เลยด้วยซ้ำ) จากธุรกิจหลักคือ ซีพียูสำหรับพีซีและเซิร์ฟเวอร์ ทำให้อินเทลไม่เคยรู้สึกว่ามันเป็นปัญหา แต่ช่วงปลายทศวรรษที่ 2010s ตลาดที่ดูไม่ค่อยเกี่ยวข้องกันอย่างจีพียูและสมาร์ทโฟน กลับเติบโต ขยายตัวจนเข้ามารุกพื้นที่เดิมของอินเทล ทั้งฝั่งพีซี (Apple M1) และเซิร์ฟเวอร์ (จีพียู NVIDIA และเซิร์ฟเวอร์ ARM) เท่านั้นยังไม่พอ ในช่วงที่อินเทลเริ่มสะดุดขาตัวเองจากปัญหา 10nm คู่แข่งหน้าเก่าอย่าง AMD ก็คืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง แถมกลับมาอย่างน่ากลัวทีเดียว ถ้าลองแยกแนวรบของอินเทลในปัจจุบันออกเป็น 4 ด้านใหญ่ๆ ตามภาพ จะเห็นว่าอินเทลโดนโจมตีในทุกแนวรบ ซีพียูสำหรับพีซี เจอปัญหา 10nm ของตัวเอง, AMD แรงขึ้นมาจาก Ryzen, ลูกค้าเก่า แอปเปิลหันไปทำซีพียูเอง ซีพียูสำหรับเซิร์ฟเวอร์ AMD เริ่มกลับมาใหม่ด้วย EPYC, เจอซีพียู ARM มาต่อกร, หน่วยประมวลผลร่วมกลายเป็นตลาดของ NVIDIA จีพียู ตลาดนี้กลายเป็นของ NVIDIA และ AMD สมาร์ทโฟน ตลาดนี้กลายเป็นของ ARM โดยอินเทลถอนตัวออกมาหมดแล้ว สิ่งที่น่าสนใจคือ อินเทลไม่สามารถบุกไปในตลาดเกิดใหม่ (จีพียู-สมาร์ทโฟน) ได้ และกลับถูกกินแดนเข้ามาจากทั้งฝั่งจีพียู (NVIDIA) และสมาร์ทโฟน (กองทัพ ARM) ที่เริ่มหลอมรวมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือดีล NVIDIA ซื้อ ARM ที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่า NVIDIA ต้องการเข้ามากินแดนของอินเทลทุกด้าน นอกจากคู่แข่งหน้าเก่า AMD และ NVIDIA อินเทลยังเจอคู่แข่งหน้าใหม่เข้ามาอีก 2 รายคือ แอปเปิลที่เคยเป็นลูกค้ากันมายาวนาน กลายมาเป็นคู่แข่งหลังแอปเปิลทำซีพียู M1 ของตัวเอง และ Amazon ที่เป็นลูกค้าอินเทลในฝั่งเซิร์ฟเวอร์ ก็เริ่มออกแบบชิป ARM ใช้เองในชื่อ Graviton ด้วยเหตุผลว่าอัตราประสิทธิภาพต่อพลังงานดีกว่า จากรุ่นสู่รุ่น ปัญหาสั่งสมของอินเทลในแต่ละยุคสมัย ทั้งสามหัวข้อข้างต้น คือการบอกว่า อินเทลประสบความสำเร็จอย่างมากในตลาดเซิร์ฟเวอร์ แต่กลับทำไม่ได้อย่างเดียวกันในตลาดจีพียูและมือถือ (น่าจินตนาการว่าถ้าหากทำได้จริงๆ ตอนนี้จะยิ่งใหญ่แค่ไหนกัน) มิหนำซ้ำ อินเทลยังมองเห็นเทรนด์เรื่องจีพียู-มือถือมาล่วงหน้าแล้ว เพียงแต่คว้าโอกาสไม่ได้เอง สาเหตุที่อินเทลพลาดตลาดสำคัญทั้ง 2 นี้ คงต้องดูบริบทของอินเทลในยุคนั้นๆ พร้อมทั้งแนวทางของซีอีโอแต่ละคนประกอบกันไปจึงจะเห็นภาพ อินเทลเป็นบริษัทที่ก่อตั้งในปี 1968 ปัจจุบันมีอายุ 53 ปีแล้ว ถือว่าเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ "แก่" พอสมควร แต่นับถึงปัจจุบัน อินเทลมีซีอีโอมาเพียงแค่ 8 คนเท่านั้นเอง Robert Noyce (1968-1975) Gordon Moore (1975-1987) Andrew Grove (1987-1998) Craig Barrett (1998-2005) Paul Otellini (2005-2013) Brian Krzanich (2013-2018) __Bob Swan (2019-2021) Pat Gelsinger (2021-) ที่ผ่านมาอินเทลไม่เคยใช้ซีอีโอคนนอกเลยแม้แต่ครั้งเดียว มีเพียงรอบล่าสุดนี้คือ Pat Gelsinger ที่ดึงตัวมาจาก VMware แต่ Gensinger เองก็เป็นลูกหม้อที่ทำงานกับอินเทลมานาน 30 ปี ก่อนออกไปโตที่อื่น นอกจากนี้ อินเทลยังมีธรรมเนียมการตั้งซีอีโอที่มีพื้นเพจาก "วิศวกร" โดยมีซีอีโอเพียง 2 คน (Otellini และ Swan) ที่ไม่เคยทำงานสายเทคนิคมาก่อน เราคงไม่ต้องย้อนไปไกลถึงซีอีโอ 3 คนแรก (Noyce, Moore, Grove) ที่เป็นตำนานของบริษัท ผมคิดว่าปัญหาของอินเทลในปัจจุบัน มาจากช่วงรอยต่อของยุค Otellini และ Krzanich ซึ่งต้องพิจารณาสถานการณ์ของอินเทลในยุคนั้นประกอบด้วย Paul Otellini ซีอีโอคนที่ 5 ของอินเทล (2005-2013) Paul Otellini ซีอีโอคนที่ 5 ของอินเทล (เพิ่งเสียชีวิตในปี 2017) มีพื้นเพมาจากด้านเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ เขาทำงานกับอินเทลในปี 1974 ทันทีหลังเรียนจบ และทำงานในสายการขาย-การตลาดมาตลอด ในจังหวะที่เขาขึ้นเป็นซีอีโอในปี 2005 ตอนนั้นอินเทลกำลังสับสนในตัวเอง เพราะยุคของ Craig Barret ซีอีโอคนก่อนหน้า อินเทลขยายสถาปัตยกรรมจาก x86 เดิม ออกไปในสองแนวทางคือ IA-64 (Itanium) และ ARM (XScale) แต่ไม่ประสบความสำเร็จทั้งคู่ แถมการแบ่งทรัพยากรไปทำอย่างอื่น ยังเปิดโอกาสให้ AMD ที่โฟกัสที่ x86 เป็นหลัก (และออก AMD64 หรือ x86-64 ในปัจจุบัน) มาตีตลาดเดิมของอินเทลอย่างหนัก สิ่งที่ Otellini ทำคือขาย XScale ออกไป ปรับโครงสร้างบริษัทใหม่ ลดสายซีพียู x86 ลงมาเหลือสายเดียว ปลดพนักงานเพื่อตัดค่าใช้จ่าย การกลับมาโฟกัสที่ x86 ทำให้อินเทลกลับมาอยู่ในร่องในรอย เมื่อบวกกับท่าไม้ตาย Tick-Tock (ที่ถูกคิดมาในยุคของ Otellini) ซีพียูของอินเทลจึงกลับมานำหน้าอีกครั้ง - รายละเอียดอ่านในบทความ ช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งใหม่แห่งอินเทล: ยุคแห่ง Paul Otellini และความท้าทายครั้งใหม่ ที่คุณ Lew เขียนไว้ในปี 2012 แต่การกลับมาโฟกัสที่ x86 ของ Otellini ก็ทำให้อินเทลพลาดตลาดเกิดใหม่สำคัญ 2 อย่างดังที่กล่าวไปแล้ว นั่นคือ จีพียู (Larrabee) และสมาร์ทโฟน (Atom) ซึ่งเริ่มโครงการในช่วงปลายยุคของเขาทั้งคู่ Brian Krzanich ซีอีโอคนที่ 6 ของอินเทล (2013-2018) Brian Krzanich ซีโอโอของอินเทล (ในตอนนั้น) ก้าวขึ้นมารับตำแหน่งซีอีโอต่อจาก Otellini เขาเป็นอีกคนที่เป็นลูกหม้อของบริษัท ทำงานกับอินเทลมายาวนานตั้งแต่ปี 1982 โดยเริ่มจากสายวิศวกรคุมโรงงานผลิตชิป Krzanich รับสืบทอดอินเทลที่แข็งแกร่งมาจากยุค Otellini โดยในยุคของเขา อินเทลขยายตัวสู่ธุรกิจใหม่ๆ หลายอย่าง เช่น การซื้อบริษัท FPGA Altera ในปี 2015 ด้วยราคาสูงถึง 16.7 พันล้านดอลลาร์ (เป็นดีลที่ใหญ่ที่สุดของอินเทลในปัจจุบัน) และการซื้อบริษัทรถยนต์ไร้คนขับ Mobileye ของอิสราเอล ที่เคยทำระบบให้ Tesla ในยุคแรกๆ ด้วยราคาใกล้ๆ กัน (15.3 พันล้านดอลลาร์) เมื่อปี 2017 อย่างไรก็ตาม Krzanich ไม่ได้แก้ปัญหาอะไรมากนักกับตลาดจีพียูที่ตกขบวนไป (เพิ่งกลับมาประกาศทำ Xe ในปี 2018 ท้ายยุคของเขาแล้ว) และตลาดมือถือที่ต้องถอนตัวออกมาอย่างเจ็บปวด ยุคของ Krzanich ยังเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาที่เป็นใจกลางของบริษัทคือ Tick-Tock ถึงทางตัน (ตามที่กล่าวไปในบทความตอนแรก ปัญหาของ Tick-Tock เริ่มต้นในปี 2016 แล้วลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน) ทำให้อินเทลสูญเสียความสามารถในการแข่งขันไปพอสมควร เปิดช่องให้พันธมิตร AMD-TSMC แซงหน้าได้ แต่ Krzanich ยังไม่ทันแก้ปัญหาเหล่านี้ได้เสร็จ เขาก็มีอันต้องไปซะก่อน จากปัญหาชู้สาวในที่ทำงาน ซึ่งเกิดขึ้นก่อนช่วงเขาขึ้นมาเป็นซีอีโอ Bob Swan ซีอีโอคนที่ 7 ของอินเทล (2019-2021) Bob Swan ซีอีโอคนที่เจ็ดของอินเทล ถือเป็นคนแรกที่ไม่ได้เป็นลูกหม้อของบริษัทมายาวนาน เขาทำงานในสายการเงินมาตลอด เป็นซีเอฟโอ (CFO) ของหลายบริษัท ก่อนเข้ามาเป็นซีเอฟโอของอินเทลในปี 2016 ก่อนหน้า Krzanich ลาออกเพียง 2 ปี เมื่อ Krzanich เกิดเหตุพลิกผัน ทำให้ Swan ต้องรักษาการชั่วคราว และได้ขึ้นมาเป็นซีอีโอคนที่เจ็ดของบริษัทในช่วงต้นปี 2019 และอยู่ในตำแหน่งนี้สั้นๆ เพียง 2 ปี ก่อนประกาศลงจากตำแหน่งช่วงต้นปี 2021 เพื่อส่งไม้ต่อให้ Pat Gelsinger ในยุคของ Swan อินเทลทำได้เพียงประคองตัวจาก AMD, ยังไม่สามารถแก้ปัญหา 10nm ได้, มีปัญหาชิปขาดแคลนเข้ามาเพิ่มอีก แต่ในอีกทาง เขาก็พาอินเทลถอนตัวจากตลาดที่ไม่ทำเงิน เลิกขาย Itanium, ขายธุรกิจชิปโมเด็มให้แอปเปิล หันไปโฟกัสที่ธุรกิจใหม่ๆ นอกจากซีพียูพีซีแบบดั้งเดิม และไม่ว่าจะมีปัญหารุมเร้ามากแค่ไหน อินเทลในยุคของ Swan มีรายได้เพิ่มต่อเนื่องเป็นประวัติการณ์ ถ้ามองในแง่ผลประกอบการเพียงอย่างเดียว การประคองตัวของ Bob Swan ทำออกมาได้ยอดเยี่ยม แต่ทุกคนก็คงรู้ว่าภาวะนี้คงอยู่ได้อีกไม่นาน เมื่อรักษาเสถียรภาพของบริษัทได้ในระดับหนึ่งแล้ว Swan จึงหลีกทางให้กับ Pat Gelsinger ความหวังที่จะมากอบกู้อินเทลให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง ในอุตสาหกรรมไอทีตอนนี้คงไม่มีใครเหมาะกว่า Gelsinger อีกแล้ว เพราะเขาเคยทำงานกับอินเทลมานาน 30 ปี อยู่ในทีมออกแบบซีพียู 386/486 และเคยเป็น CTO คนแรกของบริษัทด้วย หลังจากนั้น Gelsinger ออกไปทำงานสายบริหาร โดยเป็น COO ของ EMC และเป็น CEO ของ VMware ระหว่างปี 2012-2021 ผลงานของเขาที่ VMware คงพิสูจน์ชัดเจนว่าเขามีความสามารถมากพอในฐานะซีอีโอ Pat Gelsinger ซีอีโอคนที่ 8 ของอินเทล (2021-ปัจจุบัน) ทางรอดของอินเทลในยุค Pat Gelsinger ต้องบอกว่า Pat Gelsinger รับช่วงอินเทลที่มีความพิเศษมากๆ มาจาก Bob Swan ความพิเศษสามารถแบ่งได้ 3 ข้อดังนี้ อย่างแรกคือ รวยมาก อินเทลปี 2020 ทีโดนรุมกินโต๊ะจากทุกฝ่าย มีรายได้ตลอดทั้งปี 77.9 พันล้านดอลลาร์ (2.4 ล้านล้านบาท!) เติบโตขึ้น 8% จากปี 2019 และมีอัตรากำไรสูง (operating margin) ถึง 30.4% ถ้านับเฉพาะกำไรของปี 2020 คือ 20.9 พันล้านดอลลาร์ (6.4 แสนล้านบาท) มีกระแสเงินสดในมือ ณ สิ้นปี 2020 ที่ 5.8 พันล้านดอลลาร์ เรียกได้ว่าอินเทลยุค "ขาลง" ช่วงนี้ ต่างชั้นไปจากบริษัทช่วงขาลงรายอื่นๆ อย่างมาก (เช่น AMD ช่วงขาลง) ทำให้ Gelsinger สบายไปหลายสิบอย่าง ไม่ต้องโดนผู้ถือหุ้นกดดันให้เร่งทำกำไร และมีเงินไปซื้อกิจการมาเติมเต็มได้เหลือเฟือ อย่างที่สองคือ อินเทลมีบทเรียนจากการตกรถไฟขบวนจีพียู-มือถือ ทำให้เตรียมลงทุนเพื่อยุคสมัยหน้าไว้แล้วตั้งแต่ยุคของ Kzranich ธุรกิจจีพียู กำลังจะคัมแบ็คกลับมาอีกครั้งด้วย Xe ซึ่งหัวหน้าโครงการนี้คือ Raja Koduri ที่ดึงตัวมาจาก AMD และอยู่กับ ATI มาตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม ถ้าจะมีใครต้านทานพลังอำนาจของ NVIDIA ได้ ก็คงมีแต่ Raja คนนี้แหละ ธุรกิจ FPGA เคยตกรถกับจีพียูมาแล้วคงไม่พลาดอีก อินเทลจึงไปซื้อบริษัทด้าน FPGA-ASIC มาหลายราย เช่น Altera และ eASIC ตอนนี้เริ่มมีผลิตภัณฑ์ออกมาบ้างแล้วคือ Agilex ธุรกิจ IoT มี Atom เป็นหัวหอกมาตั้งแต่แรก และเสริมด้วยชิปเฉพาะทาง computer vision อย่าง Movidius ธุรกิจรถยนต์ไร้คนขับ ซื้อกิจการ Mobileye ตอนนี้โลกน่าจะมีผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดนี้แค่ 2 รายหลักๆ คือ Intel และ NVIDIA นอกจากนี้อินเทลยังมีธุรกิจข้างเคียงอื่นๆ อีก เช่น หน่วยความจำ-สตอเรจ (Optane) ชิปไร้สาย-เครือข่ายอีกจำนวนหนึ่งด้วย อย่างที่สามคือ สภาพแวดล้อมในตลาดโลกที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ มีทั้งกระแส work from home ทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กลับมาขายดี (ไม่มีปัญหาขายไม่ออก แต่เป็นปัญหากลับกันคือของขาดตลาดแทน) และนโยบายของสหรัฐอเมริกายุค Joe Biden ที่สนับสนุนการผลิตชิปในประเทศ อินเทลที่เป็นบริษัทอเมริกัน มีโรงงานของตัวเองในสหรัฐอเมริกาอยู่แล้ว ย่อมได้เปรียบมากกว่าคู่แข่งทั้ง AMD/NVIDIA ที่ต้องพึ่งพาบริษัทต่างชาติ (TSMC, Samsung) ช่วยผลิตชิป แม้บริษัทเหล่านี้กำลังเร่งขยายโรงงานในอเมริกาก็ตาม ปัจจัยทั้ง 3 ข้อช่วยให้งานของ Pat Gelsinger ไม่ยากจนเกินไป คำถามถัดมาคือ Gelsinger จะเลือกทำอะไรบ้าง ผมคิดว่าคนที่คุ้นเคยกับอินเทลมายาวนานแบบเขา คงมีแนวทางในใจอยู่แล้ว แต่ถ้าให้คาดเดา หลายอย่างก็ชัดเจนว่าต้องทำอะไรบ้าง สิ่งแรกที่ต้องทำแน่ๆ คือ แก้ปัญหาเรื่อง 10nm ที่เป็นแกนกลางของทุกสิ่งให้จงได้ เราไม่รู้ว่าสถานะความคืบหน้าภายในบริษัทเป็นอย่างไร แต่ Gelsinger เข้ามากลางทางก็คงไม่สามารถปรับเปลี่ยนอะไรได้มากนัก ทำได้เพียงอดทนรอ ถัดมาคือออกผลิตภัณฑ์หลักคือ ซีพียูให้กลับมาเป็นเบอร์หนึ่งได้อีกครั้ง เรื่องนี้อินเทลโม้เอาไว้ว่าจะกลับมาพร้อม Alder Lake ในช่วงปลายปี 2021 ที่เปลี่ยนทั้งสถาปัตยกรรมใหม่ และใช้กระบวนการผลิต 10nm ครั้งแรกสำหรับเดสก์ท็อป (เรียกว่า Tick+Tock พร้อมกันในรอบเดียว อั้นมานาน) จะทำได้จริงแค่ไหนต้องรอดูกันตอนปลายปี อย่างที่สามคือ เร่งผลักดัน Xe ให้ติดตลาดโดยเร็ว เพราะเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ และมีของพร้อมอยู่แล้ว ในแผนการ roadmap ของอินเทลเองที่เรียกว่า Six Pillars of Technology Innovation ให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิต (Process & Packaging) เป็นอันดับแรก ส่วนแผนลำดับสองคือ XPU หรือการทำงานข้าม 4 สถาปัตยกรรมประมวลผล (CPU, GPU, FPGA และอื่นๆ) ด้วย oneAPI ตัวเดียวกันหมด ตั้งแต่โน้ตบุ๊กไปจนถึงซูเปอร์คอมพิวเตอร์ แผนการฟังดูสวยหรู แต่ในความเป็นจริงก็ไม่ง่ายเพราะตลาดนี้เป็นของ NVIDIA อยู่ก่อนแล้ว สิ่งที่อินเทลต้องทำคือเร่งออก Xe ในทุกระดับคลาส และออก Xe สำหรับเดสก์ท็อปเกมมิ่งที่เป็นเรือธงในใจ ให้ทุกคนจดจำ Xe ได้ ในระยะถัดไป เราจะค่อยๆ เห็นอินเทลเปลี่ยนแปลงโมเดลการผลิต-ออกแบบซีพียูของตัวเอง ที่เคยผูกพันกันอย่างแนบแน่น (coupled) ให้ผ่อนคลายมากขึ้น เมื่อช่วงปลายปี 2020 Raja Koduri ในฐานะประธานฝ่ายสถาปัตยกรรม ก็ออกมาเล่า "แนวทางใหม่" ของอินเทล ที่จะทำ 3 เรื่องคือ XPU (Xe+Agilex), Software (OneAPI) และกรอบด้านบนสุดในภาพคือเปลี่ยนจาก coupled design มาเป็น resilient design Koduri ไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้เยอะมากนัก เพราะเน้นไปที่ XPU และ Xe มากกว่า แต่ความหมายของมันคือ กระบวนการออกแบบซีพียูของอินเทลจะต้องยึดโยงกับกระบวนการผลิตน้อยลง และในอีกทาง อินเทลก็ต้องเริ่มออกไปใช้โรงงานภายนอกช่วยผลิตด้วย ซึ่งเริ่มทำไปแล้วกับการผลิต Xe ในบางรุ่นย่อย (จ้าง TSMC ผลิตบางส่วน) แผนการผลิต Xe บางรุ่นที่ระบุว่าใช้ "external" โรงงานอื่นผลิต นอกจากนี้ เรายังน่าจะได้เห็น Gelsinger ซื้อกิจการครั้งใหญ่ๆ ที่เป็น strategic acquisition ด้วย (ลักษณะเดียวกับที่ NVIDIA ซื้อ Arm Inc.) เพียงแต่ยังไม่น่าจะเกิดในระยะอันใกล้นี้ คงต้องรอให้ Gelsinger เก็บกวาดปัญหาภายในให้เสร็จก่อน หมายเหตุ: Gelsinger มีนัดแถลงข่าวครั้งแรกในฐานะซีอีโอวันที่ 23 มีนาคม 2021 นี้ รอดูกันว่าเขาจะประกาศอะไรบ้าง บทส่งท้าย: Only the Paranoid Survive เมื่อพูดถึงการปรับตัวของอินเทล คงต้องย้อนกลับไปที่หนังสือ Only the Paranoid Survive ของ Andrew Grove ที่เล่าถึงการหนีตายครั้งสำคัญของอินเทลในยุค 80s ที่เลิกทำธุรกิจหน่วยความจำ ผันตัวมาทำซีพียูอย่างเดียว และกลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ของอินเทล เวลาผ่านมากว่า 30 ปี บริบทของอินเทลและตลาดเซมิคอนดักเตอร์เปลี่ยนไปจากยุคนั้นมากแล้ว แต่แนวคิดของ Grove น่าจะยังใช้ได้ดีอยู่เสมอ คำพูดเต็มๆ ของ Grove คือ ความสำเร็จของธุรกิจมีเมล็ดพันธุ์แห่งความพังทลายอยู่ในนั้น ความสำเร็จนำมาซึ่งความพึงพอใจ ความพึงพอใจนำไปสู่ความล้มเหลว มีเพียงผู้ที่ระแวงเท่านั้นที่อยู่รอด Success breeds complacency. Complacency breeds failure. Only the paranoid survive. Pat Gelsinger ทำงานกับอินเทลในปี 1979 และได้มีโอกาสมองเห็นเหตุการณ์ที่ Grove พลิกวิกฤตเป็นโอกาสอย่างใกล้ชิด ซึมซับการทำงานของ Grove ตลอดสมัยที่เขาเป็นซีอีโอ 42 ปีต่อมา Pat Gelsinger คนเดิมกลับเข้ามาที่อินเทล ในตำแหน่งเดียวกับ Grove ยุคนั้น แต่เป็นช่วงเวลาที่อินเทลจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตัวเองครั้งใหญ่อีกรอบ เขาน่าจะเป็นคนที่ตระหนักถึงเรื่องนี้ดีกว่าใครๆ Only the Paranoid Survive Topics: IntelSpecial Report