บริษัทวิจัยตลาด Jon Peddie Research (JPR) เปิดเผยข้อมูลว่ายอดขายจีพียูในไตรมาสที่ 4 ของปี 2020 เติบโตรวมกว่า 20.5% โดย Jon Peddie ระบุว่าสาเหตุหลักมาจากการใช้จีพียูขุดเหมืองคริปโต และยอดขายที่พุ่งสูงของโน้ตบุ๊ก แต่ Jon Peddie ก็ระบุด้วยว่า ยอดขายจากฝั่งคริปโต อาจลดลงในปีหน้าหลัง Ethereum ที่เป็นสกุลเงินคริปโตที่มีผู้ใช้จีพียูขุดมากที่สุด เตรียมออกเวอร์ชั่น 2.0 ที่จะเปลี่ยนไปใช้ระบบยืนยันธุรกรรมแบบ Proof of stake (PoS) ที่ใช้การวางเงินเพื่อยืนยัน แทน Proof of Work (PoW) ที่ต้องใช้เครื่องอื่นในการยืนยัน ซึ่งแปลว่าอาจจะใช้จีพียูมาขุดเหมืองต่อไม่ได้ในอนาคต ผู้ที่ได้อานิสงค์จากการเติบโตครั้งนี้มากที่สุด คือ AMD และ Intel ที่มียอดจำหน่ายจีพียูเติบโตมากขึ้น 6.4% และ 33.2% ตามลำดับ ซึ่งในฝั่ง Intel ที่เติบโตมากขนาดนี้ น่าจะมาจากยอดขายโน้ตบุ๊กที่ใช้จีพียูออนบอร์ดเป็นหลัก (JPR ไม่ได้เปิดเผยประเภทรุ่น) กลับกัน Nvidia มียอดขายจีพียูในไตรมาสที่ 4 ลดลงไป 7.3% ภาพ Asus ZenBook 13 OLED (UX325) ที่ใช้จีพียู Iris Xe จาก Intel ยอดจำหน่ายจีพียูรวมทั้งปี โตขึ้น 12.4% แบบปีต่อปี และแม้ Nvidia จะมียอดขายจีพียูรวม ลดลงในไตรมาสที่ 4 แต่ถ้ามองเพียงยอดขายการ์ดจอแยก Nvidia ก็ยังมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 82% จาก 73% ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2019 แปลว่าส่วนแบ่งตลาดของ AMD ลดเหลือ 18% จาก 27% ในปีก่อน (หมวดการ์ดจอแยก ยังไม่นับ Intel จึงมีแข่งกันแค่สองค่าย) ในบ้านเราการ์ดจอยังขาดตลาดและมีราคาแพงกว่าปกติมาก สาเหตุหลักน่าจะมาจากกระแสการขุดเหมืองคริปโต คงต้องติดตามกันต่อไปว่าสถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติเมื่อไร และด้าน Nvidia เอง ก็เริ่มพยายามแก้ปัญหา (และหากำไรเพิ่ม) ด้วยการ ออกชิป CMP สำหรับขุดเหมืองโดยเฉพาะ และลดประสิทธิภาพการขุดเหมืองของ RTX 3060 ลง นอกจากนี้ยังนำ RTX 2060 กับ GTX 1050 กลับมาขายใหม่อีกด้วย ภาพชิป CMP (Cryptocurrency Mining Processor) ของ Nvidia ที่มา - PCWorld Topics: GPUMarket Research