"อธิบดีกรมสรรพสามิต" เผย เอกชนส่งสัญญาณยอดขายปีหน้าพุ่ง-การบริโภคฟื้น ส่งผลยอดจัดเก็บรายได้ตามเป้า หากพิจารณาตามการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจไทยในปีหน้า ของหน่วยงานวิเคราะห์เศรษฐกิจต่างๆ ที่คาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 4% เชื่อว่า การบริโภคภายในประเทศจะฟื้นตัวตาม และจะส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ในสินค้าหลักของกรมสรรพสามิตเป็นไปตามเป้าหมาย นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจว่า เป้าการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2558 ของกรมฯอยู่ที่ 4.28 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 6-7% เทียบกับงบประมาณปี 2557 "เป้าจัดเก็บปีงบ 2558 น่าจะเป็นไปตามเป้า แม้ยอดการจัดเก็บรายได้ 2 เดือนแรกของปีงบประมาณจะอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าก็ตาม เพราะกรมฯประเมินแนวโน้มจากการหารือกับผู้ประกอบการสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์ ที่คาดปีหน้า ยอดขายจะดีขึ้น ทำให้เชื่อว่า เราสามารถจัดเก็บได้ตามเป้า" นายสมชาย กล่าว ชี้ธุรกิจรถยนต์ยันยอดขายดีขึ้น นายสมชาย กล่าวว่า เท่าที่หารือกับกลุ่มผู้ประกอบการรถยนต์ช่วงที่ผ่านมา ได้รับการยืนยันว่า ยอดขายรถยนต์ปีหน้า จะอยู่ในระดับที่ดีขึ้นจากปีนี้ โดยจะมียอดขายในประเทศราว 1 ล้านคัน จากปีนี้ที่อยู่ 9 แสนคัน หากเป็นไปตามแนวโน้มดังกล่าว ส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ของกรมฯเช่นกัน เพราะรายได้จากกลุ่มสินค้ารถยนต์ถือเป็นหนึ่งในรายได้หลักของกรมฯ ส่วนสินค้าประเภทน้ำมันนั้น ระยะ 2 เดือนที่ผ่านมา ยอดการจัดเก็บรายได้เพิ่มจากเป้าเล็กน้อย แต่หากประเมินจากการคาดการณ์ว่า รัฐบาลมีแผนจะปรับเพิ่มภาษีน้ำมันดีเซล และลดภาษีน้ำมันเบนซินลง เชื่อว่า การจัดเก็บรายได้ในกลุ่มสินค้านี้จะเป็นบวก แต่จะบวกมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับอัตราภาษีที่ปรับขึ้น "เท่าที่ประเมิน ทุกๆ 1 บาทที่ปรับขึ้นสำหรับน้ำมันดีเซล จะทำให้กรมฯจัดเก็บรายได้เพิ่มประมาณ 2 หมื่นล้านบาท โดยเทียบกับปริมาณการใช้ในปัจจุบันที่อยู่ประมาณ 60 ล้านลิตรต่อปี" สำหรับหมวดเครื่องดื่ม หากภาคธุรกิจการท่องเที่ยวดีขึ้น ความเชื่อมั่นกลับมาและการเมืองอยู่ในสถานการณ์ที่ดี น่าจะส่งผลต่อการบริโภคเครื่องดื่มในประเทศ จากการหารือกับกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยว พบว่า ขณะนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้เดินทางมาท่องเที่ยวในไทยเร็วกว่าที่คาด จากเดิมคาดว่า จะทยอยเข้ามาช่วงคริสต์มาส แต่ขณะนี้นักท่องเที่ยวได้ทยอยเข้ามาแล้ว ถือเป็นสัญญาณดี ด้านสินค้าประเภทบุหรี่ นายสมชาย กล่าวต่อว่า แม้ภาครัฐจะไม่ส่งเสริมให้ประชาชนบริโภค แต่ยอดจัดเก็บรายได้ในสินค้าประเภทนี้ ยังเป็นบวก ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นผลจากการปรับอัตราภาษีสินค้าดังกล่าวของกรมฯในช่วงที่ผ่านมาด้วย ในภาพรวมสินค้ากลุ่มนี้ น่าจะจัดเก็บรายได้ได้ตามเป้า แก้กฎหมายเป็นธรรมเพิ่มฐานจัดเก็บ นอกจากปัจจัยบวกต่างๆ ที่จะเข้ามามีผลต่อการจัดเก็บรายได้ของกรมฯแล้ว ยังเร่งเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บที่เน้นหนักไปที่การสร้างความโปร่งใส โดยระยะที่ผ่านมา ได้ปรับรวมประมวลกฎหมายภาษีสรรพสามิตจาก 7 ฉบับเป็น 1 ฉบับ เพื่อให้การบริการแก่ประชาชนเป็นไปตามหลักสากล สร้างความเป็นธรรมแก่ผู้เสียภาษี ขณะเดียวกัน ยังได้นำระบบไอทีเข้ามาช่วยในกระบวนการทำงาน ซึ่งได้เริ่มนำมาใช้ตั้งแต่ 2 ปีที่ผ่านมา แต่ปีหน้าจะเป็นปีที่หลายโครงการนำระบบไอทีเข้ามาช่วย คาดว่า จะเริ่มเซ็นสัญญาการจัดจ้างได้ภายในไตรมาสแรกของปีหน้า ซึ่งถือเป็นการช่วยรัฐบาลในการเร่งรัดงบลงทุนด้วย นายสมชาย กล่าวอีกว่า การปรับประมวลกฎหมายภาษีสรรพสามิตให้เหลือเพียง 1 ฉบับนั้น ขณะนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลัง สาระสำคัญ คือ จะปรับแก้แนวทางการจัดเก็บภาษีสินค้าในพิกัดสรรพสามิตทั้งหมด โดยให้คิดจากฐานราคาขายปลีกแนะนำ จากเดิมที่จัดเก็บจากราคาหน้าโรงงาน ซึ่งจะทำให้การแจ้งราคาเพื่อเสียภาษีเป็นธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการในประเทศ ปัจจุบันการสำแดงราคานำเข้าเพื่อชำระภาษีของกลุ่มผู้ประกอบการนำเข้าจะต่ำกว่าผู้ประกอบการในประเทศ ทำให้ได้เปรียบการแข่งขัน "สินค้าในประเทศ เราใช้ราคาหน้าโรงงานในการเสียภาษี แต่สำหรับสินค้านำเข้า เราจะใช้ราคาที่สำแดง ซึ่งในสินค้าประเภทเดียวกัน ราคาสำแดงของสินค้านำเข้าจะต่ำกว่า 10-20% ถ้าเป็นอย่างนี้ เมื่อการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเป็นเรื่องภายในประเทศ เราควรกำหนดกติกาให้เป็นธรรม โดยใช้ราคาขายปลีกแนะนำมาใช้ในการจัดเก็บภาษี ซึ่งจะอุดช่องว่างในการเลี่ยงภาษีได้ และรองรับการค้าขายหลังรวมตัวเป็นเออีซีด้วย" เขากล่าว หากประมวลกฎหมายดังกล่าว ได้รับการพิจารณา จะทำให้การจัดเก็บภาษีเป็นธรรม และทำให้ฐานภาษีของกรมฯกว้างขึ้น ส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ของกรมฯ ซึ่งจะทำให้น้ำหนักของการพิจารณาปรับเพิ่มอัตราภาษีลดลง ลุ้นภาษีใหม่-ปรับเว้นภาษีเครื่องดื่ม ด้านการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีในสินค้าประเภทเครื่องดื่ม นายสมชาย กล่าวต่อว่า กำลังพิจารณาแนวทางจัดเก็บ โดยดูว่า เครื่องดื่มประเภทใดควรได้รับการยกเว้นการจัดเก็บภาษี ปัจจุบันมีสินค้าเครื่องดื่มประเภทน้ำผักผลไม้ 111 รายการที่ได้รับการยกเว้นการจัดเก็บภาษี เพราะอยู่ในขอบข่ายหลักเกณฑ์ที่ได้รับการยกเว้น คือ มีสัดส่วนของผักและผลไม้ไม่น้อยกว่า 10% ในช่วงที่ผ่านมา กรมฯได้เห็นปัญหาที่กระทบต่อสุขภาพต่อผู้บริโภค จึงได้พิจารณาเพิ่มหรือเปอร์เซ็นต์ของผักและผลไม้ในเครื่องดื่ม โดยกรณีผักและผลไม้ที่ให้ผลดีต่อสุขภาพนั้น จะมีการเพิ่มสัดส่วนในเครื่องดื่มให้มากขึ้น ซึ่งตามมาตรฐานสากลจะอยู่ที่ 30-50%ของเครื่องดื่มต่อ 1 ขวด ทั้งนี้ การพิจารณาเรื่องดังกล่าวขึ้นอยู่กับนโยบาย ส่วนพิจารณาภาษีตัวใหม่ๆ นั้น กรมฯก็ได้พิจารณาต่อเนื่อง โดยหนึ่งในนั้น คือ ภาษีที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม แต่เรื่องนี้ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายเป็นหลัก Tags : สมชาย พูลสวัสดิ์ • กรมสรรพาสามิต • จัดเก็บรายได้ • เอกชน • เศรษฐกิจ