ช่องว่างรวย-จนมากสุดรอบ30ปี

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 10 ธันวาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนในหลายประเทศ กว้างสุดในรอบ30ปี คนรวยสุดมีรายได้มากกว่าคนจนสุด 9.5 เท่า

    องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) ระบุในรายงานฉบับใหม่ว่าสมาชิกส่วนใหญ่ในจำนวน 34 ประเทศของกลุ่มมีช่องว่างด้านความไม่เท่าเทียมมากขึ้น โดยช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนอยู่ในระดับสูงที่สุดในรอบ 30 ปี

    "ปัจจุบัน คนรวยที่สุด 10% ของประชากรในโออีซีดี มีรายได้มากกว่าคนจนที่สุด 10% ของประชากร 9.5 เท่า ขณะที่ช่วงทศวรรษ 80 นั้นสัดส่วนคนรวยกับคนจนอยู่ที่ 7 ต่อ 1 และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่นั้นมา" รายงานระบุ

    สมาชิกโออีซีดีประกอบด้วยประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา อย่างสหภาพยุโรป สหรัฐ ตุรกี เม็กซิโก ญี่ปุ่น แต่จีน บราซิล และอินเดียไม่ได้เป็นสมาชิก

    ในช่วงหลายสิบปีก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกนั้น รายได้เฉลี่ยครัวเรือนสำหรับสมาชิกโออีซีดีทุกประเทศเพิ่มขึ้นปีละ 1.6% แต่หลังจากนั้นรายได้ครัวเรือนของผู้มีรายได้สูงสุด 10% เพิ่มขึ้นมากกว่าคนจนที่สุด 10% ส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียมด้านรายได้อย่างมาก

    ทั้งนี้ ในช่วงหลังจากเผชิญวิกฤติการเงิน รายได้ครัวเรือนโดยเฉลี่ยไม่เพิ่มขึ้นหรือลดลงในประเทศส่วนใหญ่ที่เป็นสมาชิก โดยช่องว่างในประเทศยุโรปมีไม่มากนัก แต่สัดส่วนรายได้เฉลี่ยระหว่างคนรวยสุด 10% กับคนจนสุด 10% พุ่งขึ้นในประเทศอื่น

    "ช่องว่างอยู่ที่ประมาณ 10 ต่อ 1 ในอิตาลี ญี่ปุ่น เกาหลี โปรตุเกส และสหรัฐ, ช่องว่างอยู่ที่ 13 ต่อ 16 ในกรีซ อิสราเอล ตุรกี และสหรัฐ, ช่องว่างอยู่ที่ 27-30 ต่อ 1 ในเม็กซิโกกับชิลี" รายงานระบุ พร้อมเสริมว่าความไม่เท่าเทียมด้านรายได้ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของชาติสมาชิก เพราะทำให้การเติบโตของเม็กซิโกกับเยอรมนี หายไปกว่า 10%

    "ในสหรัฐ อังกฤษ สวีเดน ฟินแลนด์ และนอร์เวย์ อัตราการเติบโตจะสูงกว่านี้ 1 ใน 5 หากช่องว่างรายได้ไม่เพิ่มขึ้น" รายงานระบุ

    ขณะเดียวกัน ความเท่าเทียมกันที่มากขึ้นก็ช่วยหนุนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัวในสเปน ฝรั่งเศส และไอร์แลนด์ ช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจ

    รายงานเรียกร้องให้จัดทำโครงการต่อต้านความยากจน พร้อมกับเพิ่มการเข้าถึงการศึกษาคุณภาพสูง การฝึกหัด และการดูแลสุขภาพ นอกจากนั้น รายงานยังไม่พบหลักฐานว่านโยบายกระจายรายได้อย่างภาษีและสวัสดิการสังคม ส่งผลเสียต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ หากนโยบายเหล่านี้ได้รับการออกแบบมาอย่างดี มีเป้าหมายชัดเจน และนำไปใช้อย่างเต็มที่

    ก่อนหน้านี้ เวิล์ดอีโคโนมิกฟอรัมเผยผลการสำรวจความเห็นผู้เชี่ยวชาญ 1,800 คน รวมถึงอดีตรองประธานาธิบดีอัล กอร์แห่งสหรัฐ และอดีตนายกรัฐมนตรีกอร์ดอน บราวน์แห่งอังกฤษ เกี่ยวกับ 10 ประเด็นหลักที่มีแนวโน้มว่าผู้นำทั่วโลกจะต้องรับมือในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า ซึ่งปรากฏว่าความไม่เท่าเทียมกันมากขึ้นด้านรายได้ อยู่ในอันดับ 1

    "เมื่อคนรวยในโลกยังสะสมความมั่งคั่งมากขึ้นในระดับที่สูงเป็นประวัติการณ์ ชนชั้นกลางก็ต้องดิ้นรนมากขึ้น" นายกอร์ระบุ

    Tags : โออีซีดี • เศรษฐกิจ • คนรวย • คนจน • กระจายรายได้

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้