จากประเด็นกฎหมายใหม่ออสเตรเลีย News Media Bargaining Code บังคับแพลตฟอร์มออนไลน์จ่ายเงินให้สำนักข่าว ทำให้เฟซบุ๊กต้องออกมาตอบโต้ด้วยการประกาศปิดกั้นสื่อและผู้ใช้งานในออสเตรเลียจากการการมองเห็นและแชร์ข่าวเสียเลย เฟซบุ๊กบอกด้วยว่า เดิมทีกฎหมายนี้เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างแพลตฟอร์มและสำนักข่าวผิดตั้งแต่แรกอยู่แล้ว โดยเฟซบุ๊กมีสองทางเลือกคือ ทำตามกฎหมายแต่โดยดี โดยละเลยความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น หรือหยุดเสนอเนื้อหาข่าวในออสเตรเลียไปเสียเลย ซึ่งเฟซบุ๊กเลือกอย่างหลัง ผู้ผลิตเนื้อหาและสำนักข่าวในออสเตรเลีย จะถูกจำกัดไม่ให้แบ่งปันหรือโพสต์เนื้อหาใดๆ บนเพจ โดยแอดมินยังใช้งานเครื่องมือหลังบ้านของเฟซบุ๊กได้ทั้ง Page insights, Creator Studio, CrowdTangle ส่วนสำนักข่าวในต่างประเทศนั้น พวกเขายังสามารถเผยแพร่เนื้อหาข่าวบนเฟซบุ๊กต่อไปได้ แต่ผู้ใช้งานชาวออสเตรเลียจะไม่สามารถดูหรือแชร์ลิงก์และโพสต์ข่าวได้ นอกจากนี้ ผู้ใช้งานในประเทศอื่นๆ ก็จะไม่สามารถมองเห็นข่าวสารในออสเตรเลียผ่านเฟซบุ๊กได้ เฟซบุ๊กบอกด้วยว่า สิ่งนี้จะเป็นผลเสีย เพราะปีที่ผ่านมา เฟซบุ๊กได้สร้างการอ้างอิงถึงผู้เผยแพร่โฆษณาในออสเตรเลียฟรีประมาณ 5.1 พันล้านคน มูลค่าประมาณ 407 ล้านเหรียญออสเตรเลีย ส่วนกำไรทางธุรกิจจากข่าวสารก็มีน้อยมาก น้อยกว่า 4% จากที่ผู้คนเห็นใน News Feed การรับข่าวสารเป็นส่วนสำคัญในสังคมประชาธิปไตย นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ เฟซบุ๊กสร้างเครื่องมือฟรีเพื่อสนับสนุนองค์กรข่าวทั่วโลกในการสร้างสรรค์เนื้อหา ด้านผู้ใช้งานออสเตรเลีย ก็พบว่าตัวเองเข้าถึงเนื้อหาข่าว และเนื้อหาสำคัญอื่นๆ อย่างเพจข่าวและหน่วยงานสุขภาพบนเฟซบุ๊กไม่ได้ รัฐบาลออสเตรเลียบอกว่าท่าทีเช่นนี้ของเฟซบุ๊ก กำลังบั่นทอนความน่าเชื่อถือของตัวบริษัทเอง Paul Fletcher รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสื่อสาร กล่าวว่า เฟซบุ๊กต้องคิดอย่างรอบคอบว่าสิ่งนี้มีผลต่อชื่อเสียงและจุดยืนของตัวเองอย่างไรบ้าง เรียกได้ว่าท่าทีของเฟซบุ๊กอยู่ตรงข่ามกับกูเกิลชัดเจน โดยกูเกิลมีท่าทียอมผ่อนปรนกับกฎหมายมากกว่า และเริ่มมีการทำข้อตกลงกับสำนักข่าวในออสเตรเลียแล้ว ที่มา - เฟซบุ๊ก, BBC Topics: FacebookAustraliaNews