นักวิเคราะห์คาด น้ำมันดิบในตลาดโลก เผชิญแรงกดดันขาลงเพิ่มขึ้นปีหน้า เหตุน้ำมันอิหร่านอาจกลับเข้าตลาด แถมดอลลาร์แข็งค่า ขณะเจพีมอร์แกนเชส คาดราคาน้ำมันลด ช่วยหนุนเศรษฐกิจโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.7% บริษัทวิจัยแคปิตอลอีโคโนมิกส์กล่าวว่าราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน น่าจะเป็นผลดีสำหรับเศรษฐกิจโลกโดยรวม รวมถึงสำหรับประเทศตลาดเกิดใหม่อย่างจีนกับอินเดีย ขณะเดียวกันก็มีผลกระทบต่อบางประเทศอย่างรัสเซียและอุตสาหกรรมน้ำมันเอง เผชิญแรงกดดันปีหน้า แคปิตอลอีโคโนมิกส์ระบุว่าราคาน้ำมันมีแนวโน้มจะเผชิญแรงกดดันขาลงเพิ่มเติมปีหน้า ผลจากปริมาณน้ำมันที่ล้นเกินในโลก การที่น้ำมันอิหร่านอาจกลับเข้าตลาดจากปัจจุบันที่ถูกคว่ำบาตร และการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ พร้อมเสริมว่าในระยะยาวแล้ว น้ำมันยังเสี่ยงที่จะร่วงลงอีก ด้านบริษัทแมคควอรีคาดว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) จะไม่ลดกำลังการผลิตอย่างจริงจังในปีหน้า อีกทั้งการจัดหาน้ำมันยังไม่น่าจะติดขัดอีกด้วย แม้การเพิ่มขึ้นด้านกำลังการผลิตอาจลดลงในประเทศนอกกลุุ่มโอเปคอย่างสหรัฐ รัสเซีย และละตินอเมริกา แต่ไม่ชัดเจนว่าจะเป็นเมื่อใด และไม่น่าจะลดลงมากนักจนกว่าจะถึงไตรมาส 3 หรือไตรมาส 4 ปีหน้า แมคควอรีได้ปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนต์ลงเหลือ 74 ดอลลาร์ จาก 108 ดอลลาร์สำหรับปีหน้า และน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสเหลือ 68 ดอลลาร์ จาก 96 ดอลลาร์ปีหน้า ทั้งนี้ ราคาน้ำมันทรุดลงผลจากเศรษฐกิจจีนและประเทศตลาดเกิดใหม่ที่ชะลอตัว ภาวะถดถอยในญี่ปุ่น และเศรษฐกิจยูโรโซนที่เกือบชะงักงัน อีกทั้งกลุ่มโอเปคยังตรึงเพดานการผลิตไว้ที่ระดับเดิมทั้งที่มีการจัดหาน้ำมันล้นเกินในโลก ล่าสุดน้ำมันดิบในตลาดสิงคโปร์ร่วงลงสู่ระดับต่ำที่สุดในรอบ 5 ปีครั้งใหม่ โดยน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสอินเตอร์มีเดียท ส่งมอบเดือนม.ค. ลดลง 26 เซนต์ วานนี้ (9 ธ.ค.) อยู่ที่ระดับ 62.79 ดอลลาร์ ส่วนน้ำมันดิบเบรนต์ในทะเลเหนือ ส่งมอบเดือนม.ค. ลดลง 69 เซนต์ ที่ระดับ 65.50 ดอลลาร์ ก่อนหน้านี้ เมื่อวันอังคาร (9 ธ.ค.) น้ำมันดิบเวสต์เทกซัสอินเตอร์มีเดียทในตลาดนิวยอร์ก ดิ่งลงกว่า 4% หรือ 2.79 ดอลลาร์ สู่ระดับต่ำที่สุดตั้งแต่เดือนก.ค.2552 ที่ 63.05 ดอลลาร์ ส่วนน้ำมันดิบเบรนต์ร่วงลง 2.88 ดอลลาร์ในตลาดลอนดอน สู่ระดับต่ำที่สุดตั้งแต่เดือนก.ย.2552 ที่ 66.19 ดอลลาร์ "ราคา" ร่วงหนุนศก.โต นายเกรก พริดดี แห่งบริษัทยูเรเซียกรุ๊ป ระบุว่าทิศทางขาลงของราคาน้ำมันสะท้อนว่าปีหน้าจะมีปริมาณการจัดหาที่ล้นเกินอย่างมาก ขณะที่นายทิม อีแวนส์ แห่งบริษัทซิตี ฟิวเจอร์ กล่าวว่าตลาดน้ำมันโลกกำลังเดินหน้าสู่ขาลง เพราะเป็นที่ยอมรับกันในวงกว้างว่ายังไม่สามารถจุดสมดุลของราคาได้ในเร็วๆ นี้ นักวิเคราะห์ของคอมเมิร์ซแบงก์ระบุว่าความต้องการไม่มีแนวโน้มจะปรับตัวขึ้นมากนักในระยะสั้น จนสามารถดูดซับปริมาณการจัดหาที่ล้นเกินอยู่จำนวนมากได้ในช่วงไตรมาส 1-2 ของปีหน้า ขณะเดียวกัน นักเศรษฐศาสตร์จากเจพี. มอร์แกน เชส คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันที่ลดลงจะช่วยให้เศรษฐกิจโลกใน 2 ไตรมาสข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.7% และราคาน้ำมันที่ลดลง ไม่เพียงแต่เพิ่มเงินในกระเป๋าผู้บริโภค เพราะไม่ต้องจ่ายต้นทุนพลังงานสูงแล้ว ต้นทุนของบรรดาสายการบินและอุตสาหกรรมผลิตเหล็กก็ปรับตัวลดลงด้วยเช่นกัน ธนาคารยูบีเอส คาดว่า ราคาน้ำมันดิบที่ร่วงลงทุกๆ 10 ดอลลาร์ จะหนุนเศรษฐกิจโลกให้เพิ่มขึ้น 0.2% ส่วนประเทศที่ใช้จ่ายเพื่อนำเข้าน้ำมันเป็นสัดส่วนที่สูงต่อจีดีพี ก็จะได้รับผลดี อย่างเช่น ญี่ปุ่น ที่จะใช้เงินเพื่อซื้อน้ำมันน้อยลงจากเดิม 1.2% ของจีดีพี ด้านบริษัทวิจัยตลาดไอเอชเอส โกลบอล อินไซท์ ระบุว่า ภาคครัวเรือนสหรัฐจะมีเงินเหลือเพิ่มขึ้น 750 ดอลลาร์ในอีก 12 เดือนข้างหน้า หากราคาน้ำมันยังคงร่วงลงอย่างต่อเนื่อง นายเทรเวอร์ เฮาเซอร์ แห่งบริษัทให้คำปรึกษา โรเดียม กรุ๊ป คาดการณ์ว่า หากราคาน้ำมันยังลดลงต่อไปอีก 6-8 เดือน ประเทศผู้นำเข้าน้ำมันทั้งหลายจะมีค่าใช้จ่ายในการนำเข้าน้ำมันน้อยลงถึง 500,000 ล้านดอลลาร์ เฉพาะสหรัฐชาติเดียว ก็จะประหยัดไปได้ถึง 90,000 ล้านดอลลาร์ Tags : แคปิตอลอีโคโนมิกส์ • น้ำมันดิบ • สิงคโปร์ • เศรษฐกิจโลก