รีวิว Synology DS420+: NAS ที่ใช้งานเป็นเซิร์ฟเวอร์เต็มรูปแบบได้ในตัว

หัวข้อกระทู้ ใน 'เทคโนโลยี' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 9 กุมภาพันธ์ 2021.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    แม้ในช่วงหลังบริการคลาวด์สตอเรจจะได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก แต่ความสะดวกในการถ่ายรูปและแชร์เอกสารที่มากขึ้นก็ทำให้หลายคน มองหา NAS มาใช้งานในบ้านกัน โดย NAS ในช่วงหลังเริ่มปรับปรุงซอฟต์แวร์จนใกล้เคียงบริการคลาวด์มากขึ้น พร้อมกับความได้เปรียบด้านความเร็วที่ตัว NAS เชื่อมต่อเน็ตเวิร์คในระดับกิกะบิตต่อวินาทีทำให้การซิงก์ไฟล์ขนาดใหญ่ทำได้สะดวกขึ้น

    ทาง Synology ได้ส่ง Synology DS420+ มาให้ Blognone ได้ทดสอบ (ข้อมูลเปิดเผย ทีมงานได้รับ NAS ตัวนี้ไว้เลยหลังการรีวิว แต่ไม่มีข้อตกลงอื่นรวมถึงการส่งรีวิวให้ทางบริษัทตรวจสอบแต่อย่างใด)

    [​IMG]

    ### สเปคฮาร์ดแวร์


    Synology DS420+ เป็นหนึ่งใน NAS ตระกูลผู้ใช้ตามบ้านที่ออกมาชุดล่าสุด ความเหมือนกันในตระกูลที่ออกมาพร้อมกันเหล่านี้คือจะใช้ซีพียู Celeron ทำให้สามารถรันซอฟต์แวร์ x86 ได้เหมือนกับพีซีทั่วไป

    • ซีพียู Intel Celeron J4025 2 คอร์ 2 เธรด
    • แรม DDR4 2GB ใส่เพิ่มได้ 1 slot ตามข้อมูลบริษัทระบุว่าเพิ่มได้อีก 4GB (รวมถึงแนะนำว่าให้ติดตั้งแรมจาก Synology โดยตรงเท่านั้น) แต่ก็มีผู้ทดสอบว่าสามารถติดตั้งแรมเพิ่มอีก 16GB ได้
    • ช่อง HDD 3.5 นิ้ว 4 ช่อง รองรับการเปลี่ยนแบบ hot-swap
    • ช่อง SSD ขนาด 2280 2 ช่อง
    • LAN แบบกิกะบิต 2 ช่อง รองรับการทำ link aggregation
    • USB 3.1 2 ช่อง
    • น้ำหนัก 2.18 กิโลกรัม
    การออกแบบฮาร์ดแวร์


    [​IMG]

    ภาพรวมของการออกแบบเคสของ Synology DS420+ ค่อนข้างตรงไปตรงมา ฮาร์ดดิสก์ทั้งหมดสามารถถอดเปลี่ยนได้จากด้านหน้า ความพิเศษเล็กๆ ของช่องฮาร์ดดิสก์คือมี “กุญแจ” สำหรับล็อกฮาร์ดดิสก์มาให้ด้วย แม้จะไม่ใช่มาตรการความปลอดภัยหลัก (เพราะงัดจริงๆ ก็เอาฮาร์ดดิสก์ไปได้) แต่น่าจะลดอุบัติเหตุการถอดฮาร์ดิสก์ผิดลูกไปได้มาก

    [​IMG]

    อีกส่วนที่น่าสนใจคือฮาร์ดแวร์เสริมทั้งหมดสามารถติดตั้งได้โดยไม่ต้องใช้ไขควงเปิดเคสออกมาแต่อย่างใด มีเพียงฮาร์ดดิสก์ที่มีน็อตให้ยึดกับถาดเท่านั้น แต่แรมและ SSD สามารถติดตั้งได้ทันที

    [​IMG]

    [​IMG]

    [​IMG]

    ตัวแปลงไฟ AC-DC เป็นแบบ 4 ขา กำลังไฟรวม 90 วัตต์ หนักเกือบครึ่งกิโลกรัม

    Synology DiskStation Manager


    จุดขายของ NAS นอกจากเคสภายนอกที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับการติดตั้งสตอเรจจำนวนมากแล้ว จุดสำคัญอย่างมากก็คือซอฟต์แวร์ที่มักเป็นลินุกซ์ที่ปรับแต่งมาเฉพาะ เว็บอินเทอร์เฟซสามารถใช้งานได้ง่าย และรองรับฟีเจอร์ทั่วๆ ไปโดยไม่ต้องมึความรู้เทคนิคมากนัก ซอฟต์แวร์ของ Synology เองก็ใช้ชื่อว่า DiskStation Manager หรือ DSM โดยปัจจุบันอยู่ที่เวอร์ชั่น 6.5 แม้จะเปิดตัวเวอร์ชั่น 7 ออกมาแล้ว แต่ก็ยังอยู่ในสถานะพรีวิว

    [​IMG]

    ตัว DSM เปล่าๆ เมื่อติดตั้งครั้งแรกนั้น จะมาพร้อมกับฟีเจอร์พื้นฐานสำหรับการจัดการสตอเรจ เช่น เพิ่มบัญชีผู้ใช้, จัดการฮาร์ดดิสก์, และเปิดแชร์สตอเรจในตัวเครื่องออกไปด้วยโปรโตคอลต่างๆ สำหรับโปรโตคอลแชร์ไฟล์ที่ DSM รองรับในตัวแต่แรก คือ SMB (Windows Share), AFP (Apple Filing Protocol), NFS (Network File System), FTP พร้อมการเข้ารหัสแบบ FTPS, TFTP, และ rsync

    แต่ฟีเจอร์เด่นๆ จำนวนมากของ DSM จะเป็นซอฟต์แวร์แยกที่ต้องกดติดตั้งเพิ่มภายหลัง ในบทความนี้จะแนะนำ 4 ฟีเจอร์ที่ผมมองว่าสำคัญสำหรับการใช้งานโดยทั่วไป คือ Synology Drive, Cloud Sync, Survillance Station, และ Docker

    Synology Drive แชร์ไฟล์เหมือนบริการคลาวด์


    บริการตัวสำคัญตัวหนึ่งของ DSM คือ Synology Drive ที่ให้บริการแชร์ไฟล์ผ่านเว็บและแอปแทนที่จะเป็นการแชร์ผ่านไดรฟ์ของระบบปฎิบัติการ ข้อจำกัดสำคัญของการแชร์ไฟล์ผ่าน Synology Drive นี้คือหากเราไม่มี public IP จริงแล้วก็จะใช้งานได้เฉพาะภายในบ้านหรือบริษัทเท่านั้น แต่ข้อดีคือความเร็วความเร็วที่เราเชื่อมต่อกับตัว NAS อยู่ ทำให้การแชร์ไฟล์ขนาดใหญ่ก็ง่ายขึ้้นมาก

    [​IMG]

    ถัดจากการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มตามรายชื่อผู้ใช้ในองค์กรแล้ว ตัว Synology Drive ยังสามารถแชร์เป็นลิงก์สาธารณะ ซึ่งหากไม่ได้ต่อตัว NAS เป็น public IP ไว้แล้วก็แปลว่าจะใช้งานได้ในสำนักงานเท่านั้น

    นอกจาก Synology Drive แล้วแพ็กเกจซอฟต์แวร์เพิ่มเติมยังมีอีกหลายตัว เช่น Synology Office สำหรับงานเอกสาร, บริการเซิร์ฟเวอร์อีเมล (จำกัดจำนวนผู้ใช้ ต้องซื้อไลเซนส์เพิ่ม), ไปจนถึงบริการแชต

    Single Sign-On


    ระบบผู้ใช้ของ Synology เองก็ทำได้เป็นพื้นฐาน เช่นหากเราต้องการสร้างบัญชีสำหรับทุกคนในบ้านก็สามารถสร้างบัญชีภายในตัว NAS ได้เองเลย ส่วนระดับองค์กรอาจจะต้องการสร้าง LDAP Server สำหรับควบคุมบัญชีผู้ใช้จากศูนย์กลาง เวลาที่พนักงานออกจากบริษัทไปจะได้ตัดทุกบริการไปพร้อมกัน ตัว DSM เองมีแพ็กเกจ LDAP Server ให้ใช้งาน และตัว NAS เองก็สามารถเชื่อมต่อบัญชีเข้ากับ LDAP ได้

    ที่น่าสนใจคือมันรองรับบริการ Single Sign-On (SSO) ด้วย โดยการล็อกอินผ่าน SSO นี้จะสร้างเว็บกลางของบริษัทขึ้นมา และหากพนักงานล็อกอินเว็บกลางนี้แล้วก็จะเข้าถึงบริการทั้งหมดที่รองรับได้ทันที รูปแบบเดียวกับทุกวันนี้ที่เราล็อกอิน Gmail แล้วเข้าทุกบริการของกูเกิลได้ทั้งหมด หรือล็อกอิน Outlook แล้วเข้าใช้งาน Office.com ของไมโครซอฟท์ได้ทันที

    [​IMG]

    บริการหลายตัวใน DSM รวมถึง Synology Drive นั้นรองรับการล็อกอินแบบ SSO อยู่ 3 ช่องทางหลัก คือ

    • SSO Server ของ DSM เอง เป็นโปรโตคอลเฉพาะแม้จะใช้ OAuth เป็นฐาน แต่ไม่ใช้ได้ OpenID Connect สำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลผู้ใช้โดยตรง ทาง Synology มี JavaScript SDK สำหรับใช้งาน SSO Server บนเว็บอื่นๆ นอก DSM เองด้วย
    • AzureAD สำหรับองค์กรที่ใช้งาน AzureAD อยู่แล้วสามารถเชื่อมเข้าได้ทันที ทำให้ทุกครั้งที่เข้าใช้งาน Synology ผู้ใช้สามารถล็อกอินจากหน้าเว็บไมโครซอฟท์ได้เลย
    • IBM WebSphere

    แม้ว่าเบื้องหลังแล้ว DSM จะรองรับ OpenID Connect แต่ก็รองรับไม่ครบทั้งโปรโตคอล ทำไม่สามารถใช้เซิร์ฟเวอร์อื่นๆ ตามใจได้ เช่นบางองค์กรอาจจะติดตั้ง Keycloak สำหรับล็อกอินบริการภายใน ก็ต้องรอทาง Synology รองรับ Keycloak โดยมีข่าวว่าน่าจะออกแพตช์มาในอนาคต

    Cloud Sync


    แม้ว่าความเร็วจะเป็นจุดได้เปรียบของการใช้ NAS ในองค์กร แต่การสำรองข้อมูลไว้บนคลาวด์อีกทีก็น่าจะสร้างความสบายใจได้ดีกว่ามาก ตัว DSM มีแพ็กเกจ Cloud Sync สำหรับสำรองข้อมูลกลับออกไปยังคลาวด์หลัก แทบทุกเจ้า เช่น AWS S3, Azure Storage, Backblaze, Alibaba Cloud, JD Cloud, Tencent Cloud รวมถึงบริการคอนซูมเมอร์เช่น Dropbox, Google Drive, หรือ Microsoft OneDrive ก็ตาม

    [​IMG]

    ผมทดสอบใช้ Backblaze B2 เนื่องจากราคาค่อนข้างถูกก็สามารารถใช้งานได้ดี เมื่อใส่ข้อมูล keyID และ Application key แล้ว ตัว Cloud Sync จะแสดงรายการ bucket ขึ้นมาให้เลือกทันที

    [​IMG]

    เมื่อเปิดการซิงก์ เราสามารถเลือกเข้ารหัสไฟล์บนคลาวด์ได้ โดย Cloud Sync จะให้ตั้งรหัสผ่านกุญแจเข้ารหัส และให้เราเซฟไฟล์กุญแจเข้ารหัสเก็บเอาไว้ หลังจากนั้นตัว NAS ก็จะซิงก์ไฟล์ตลอดเวลา โดยเราอาจจะเลือกใช้ซิงก์เฉพาะบางช่วงเวลา เช่น นอกเวลาทำงานก็ได้

    Surveillance Station


    ฟีเจอร์สำคัญอีกอย่างหนึ่งของ DSM คือมันสามารถทำหน้าที่สตอเรจสำหรับกล้องวงจรปิดได้โดยไม่ต้องซื้อกล่อง DVR แยกต่างหาก โดย Surveillance Station รองรับกล้องหลากหลายยี่ห้อที่รองรับโปรโตคอล ONVIF ซึ่งกล้องแบรนด์ที่มี DVR ขายเป็นชุดด้วยกันก็มักจะรองรับอยู่แล้ว

    [​IMG]

    ข้อดีของการใช้ NAS เป็น DVR คือเราไม่ต้องจัดการสตอเรจหลายแห่งแยกกัน รวมถึง DSM มีความสามารถในการลดระยะเวลาเก็บภาพกล้องวงจรปิดลงหากสตอเรจเริ่มเหลือพื้นที่น้อย ในกรณีองค์กรก็อาจจะจัดการการเข้าถึงภาพกล้องวงจรปิดผ่านทางระบบ LDAP และ SSO ของ DSM ไปได้พร้อมกันด้วย อย่างไรก็ดีควรระวังว่า Synology DS420+ นี้จำกัดไลเซนส์กล้องวงจรปิดที่ใช้งานได้เพียงสองตัวเท่านั้น หากต้องการใช้งานกล้องมากกว่านั้นจำเป็นต้องซื้อไลเซนส์มาติดตั้งเพิ่ม

    Docker


    ฟีเจอร์สุดท้ายของ DSM ที่ผมคิดว่าควรกล่าวถึงคือ Docker เนื่องจาก DS420+ ใช้ซีพียู x86 และรองรับ Docker ค่อนข้างเต็มรูปแบบทำให้สามารถเพิ่มบริการบน DS420+ ขึ้นมาได้

    [​IMG]

    บริการหนึ่งที่หายไปจากระบบปฎิบัติการ DSM คือการรองรับการแชร์ไฟล์ด้วยโปรโตคอล S3 ที่ซอฟต์แวร์สำรองข้อมูลจำนวนมากรองรับ ในกรณีนี้เราก็อาจจะรัน Docker ด้วยอิมเมจ minio เพื่อให้บริการสำรองข้อมูลจากโปรแกรมที่รองรับโปรโตคอล S3 ได้

    บริการ Docker ใน DSM รองรับ private registry แต่ไม่รองรับการ build Dockerfile ในตัว เราจึงต้องสร้างอิมเมจพร้อมใช้งานเตรียมไว้ล่วงหน้าหรือใช้อิมเมจสำเร็จรูปเท่านั้น

    บทสรุป


    ผมคิดว่า NAS อย่าง Synology DS420+ น่าจะเป็นตัวเลือกสำหรับ power user ที่ต้องการเซิร์ฟเวอร์ในบ้านที่ใช้งานหลากหลายมากขึ้น มันไม่ได้เป็นเพียงสตอเรจสำหรับสำรองข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ในบ้านเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป การใช้งานที่หลากหลายและการใช้งานที่สะดวกทำให้ NAS เหล่านี้กลายเป็นทางเลือกสำหรับคนที่ไม่ต้องการเสียเวลาติดตั้งทุกอย่างจากศูนย์เอง เช่น ซื้อ Raspberry Pi หรือ NUC มาทำเซิร์ฟเวอร์ในบ้าน เคสที่เหมาะสมพอดีกับการใช้งานสตอเรจและซอฟท์แวร์ที่ใช้งานง่ายกว่าก็น่าจะคุ้มค่าตัวของ DS420+ แล้ว

    สำหรับสำนักงานขนาดเล็ก DS420+ อาจจะเหมาะกับสำนักงานที่ใช้งานไม่เกิน 10-20 คน เนื่องจากพลังประมวลผลที่ไม่สูงนัก

    อย่างไรก็ดี DSM เองก็ยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง ตัวแรมเริ่มต้นให้มา 2GB อาจจะน้อยเกินไปสำหรับคนที่ต้องการรันแอปพลิเคชั่นหลากหลายขึ้น แถมบริษัทยังพยายามบอกให้ใช้แรมของบริษัทเองที่อัพเกรดได้สูงสุดที่ 6GB และแม้การขายไลเซนส์จะเป็นเรื่องปกติของวงการ NAS แต่สำหรับ DS420+ หากให้ไลเซนส์มารองรับกล้องสัก 4 ตัวก็น่าจะทำหน้าที่เซิร์ฟเวอร์กลางในบ้านได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องไลเซนส์กันมากเกินไป

    Topics: SynologyNAS
     

แบ่งปันหน้านี้