ข่าวใหญ่ในวงการเทคโนโลยีสัปดาห์คงมีแต่ข่าวการลงจากตำแหน่งซีอีโอ Amazon ของ Jeff Bezos โดยแต่งตั้ง Andy Jassy ซีอีโอบริษัทลูก AWS จะเข้ามารับตำแหน่งต่อ การส่งมอบมหาอาณาจักร Amazon ที่สร้างขึ้นมากับมือของ Jeff Bezos ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะ Jeff Bezos ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในซีอีโอที่หาคนมาสืบทอดยากที่สุด จากงานวิจัยของ David Larcker ศาสตราจารย์ด้าน Corporate Governance จาก Stanford Graduate School of Business หลังประกาศวางมือของ Jeff Bezos หุ้นของ Amazon กลับราคาไม่ตกเลย แสดงให้เห็นว่านักลงทุนยังเชื่อมั่น จึงน่าสนใจว่า Andy Jassy ที่ไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนัก กลายเป็นผู้ที่รับมงกุฎต่อจาก Jeff Bezos ได้อย่างราบรื่น จากลูกหม้อผู้ปลุกปั้น AWS Andy Jassy เข้ามาทำงานกับ Amazon ในตำแหน่งฝ่ายการตลาด ตั้งแต่ปี 1997 หลังบริษัทขายหุ้น IPO ไม่นาน เขาเป็นคนกระตุ้นให้ยอดขาย Amazon Music ในยุคนั้นดีขึ้นมาได้ ผลงานของ Andy บวกคุณลักษณะที่โดดเด่นอย่าง ความหลงใหลในการแข่งขัน ไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ หรือความสามารถจดจำสิ่งต่าง ๆ เป็นภาพ (Eidetic Memory) ไปเข้าตาซีอีโอ Jeff Bezos และถูกเลือกมาเป็น "ผู้ช่วยฝ่ายเทคนิค" (Technical Assistant) ของ Jeff ตำแหน่ง Technical Assistant เป็นชื่ออย่างไม่เป็นทางการเท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว Andy ถูกดึงเข้าไปร่วม S-Team กลุ่มผู้บริหารระดับสูงที่เป็นเหมือน “เงา” ของ Jeff Bezos ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ทำให้ Andy ซึบซับและเรียนรู้แนวทางการบริหาร การจัดการ การแก้ปัญหาและปรัชญาของ Jeff มาตั้งแต่ยุคแรกๆ การอยู่ใน S-Team ยังทำให้ Andy มีบทบาทสำคัญในการปั้น AWS ขึ้นมาเป็นธุรกิจใหม่ของ Amazon ในช่วงต้นทศวรรษ 2000 เราอาจเคยได้ยินว่า AWS เกิดจากไอเดียของ Chris Pinkham และ Benjamin Black วิศวกรเน็ตเวิร์คของ Amazon ณ ตอนนั้นเป็นหลัก เพื่อแก้ปัญหาระบบหลังบ้านของ Amazon ที่สเกลไม่ทันตามความต้องการของลูกค้า และปัญหาจากการให้บริการ merchant.com (บริการทำระบบอีคอมเมิร์ซให้ลูกค้าอย่างเช่นห้าง Target) แต่อันที่จริง AWS ไม่ได้เกิดจากจังหวะแบบ “ยูเรก้า” หรือ “แอปเปิลตกใส่หัวนิวตัน” แล้วคิดออก แต่เกิดจากการพูดคุย ประชุมในการหาทางแก้ปัญหา ไม่ได้เป็นไอเดียของใครคนหนึ่งเสียทีเดียว และด้วยการที่ Andy อยูใน S-Team ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการหาทางแก้ปัญหาระบบหลังบ้านของ Amazon ทำให้เขามีส่วนในการริเริ่มและผลักดันจน AWS เริ่มตั้งไข่ในปี 2003 พร้อมกับทีมอีกราว 57 คน ก่อนจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2006 ซึ่ง Andy ก็ได้เป็นผู้บริหารระดับสูงที่ดูแล AWS มาตั้งแต่ตอนนั้นด้วย แม้ Andy จบจากสายการตลาดและบริหาร รวมถึงไม่มีประสบการณ์ด้านโค้ดดิ้งเท่าไรนัก แต่ Andy ก็ได้รับความไว้วางใจจาก Jeff ให้ดูแลและขับเคลื่อน AWS มาตั้งแต่ต้น ดูแลทั้งแผนธุรกิจ อย่างไอเดียการคิดเงินตามการใช้งานจริง ทำให้นักพัฒนารายย่อยทั่วไปสามารถใช้งานคลาวด์ได้ หรือแนวทางออกฟีเจอร์จากการฟังเสียงเรียกร้องของลูกค้า/นักพัฒนา ก็มาจากทีมของ Andy ภาพจาก AWS สู่ซีอีโอคนที่ 2 ในรอบ 26 ปีของ Amazon สาเหตุสำคัญที่ Andy Jassy ถูกวางตัวไว้เป็นตัวตายตัวแทนของ Jeff Bezos หนีไม่พ้นบุคลิกลักษณะนิสัยในการทำธุรกิจ และความเป็นผู้นำ ที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับ Jeff หรือพูดอีกอย่างคือ Andy เปรียบเสมือน “เงา” ของ Jeff ก็ไม่ผิดนัก Matt McIlwain กรรมการผู้จัดการ Madrona Venture Group บริษัทลงทุนในซีแอทเทิลที่ลงทุนใน Amazon ตั้งแต่ช่วงแรก ๆ และรักษาความสัมพันธ์มาตลอด 26 ปีเล่าว่า Andy คือตัวตนของวัฒนธรรม Amazon ที่เดินได้ (‘Andy embodies Amazon culturally’) อย่างเช่น การใส่ใจลูกค้า นำปัญหาของลูกค้ากลับมาเป็นโจทย์ อย่างที่เขาทำกับ AWS ซึ่งก็คล้ายกับแนวทางของ Jeff ที่ใส่ใจประสบการณ์ของลูกค้าอย่างจริงจัง (ขนาดที่ว่า Jeff อ่านอีเมลคำบ่นของลูกค้าทุกคนที่ส่งไปหาเขา) ปรัชญาการทำงานที่โด่งดังของ Jeff อย่าง “Day 1” หรือการใช้แนวคิดแบบสตาร์ทอัพ คิดแบบคนเพิ่งเริ่มต้นเสมอ ไม่ว่าบริษัทมีขนาดใหญ่แค่ไหนก็ตาม เป็นต้นตอว่าทำไม Amazon ไปลงทุนกับอะไรใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา จนแตกไลน์มาเป็นธุรกิจใหม่ ๆ ให้ Amazon มากมาย อาทิ Kindle, Amazon Echo, Amazon Prime, Prime Air ฯลฯ ก็ได้รับการสืบทอดโดย Andy เช่นกัน เพราะเป็นที่รู้กันภายใน AWS ว่าเขาชอบสนับสนุนคนที่มีไอเดียใหม่ ๆ อยู่เสมอ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าเราจะเห็น AWS มีบริการใหม่ ๆ แปลก ๆ อย่างที่เจ้าอื่นไม่มี เช่น Snowmobile บริการคลาวด์บนรถบรรทุก Ann Hiatt อดีตผู้บริหารฝ่ายพาร์ทเนอร์ของ Amazon ก็เล่าให้ฟังว่า การคิดการอ่านของ Andy แทบไม่แตกต่างจาก Jeff แม้เขาจะมีวิธีการ มีรูปแบบของตัวเอง แต่ในแง่ประเด็นที่ให้ความสำคัญหรือการตัดสินใจ เขาแทบจะไม่แตกต่างจาก Jeff เลย ที่ผ่านมา Andy ได้รับความไว้วางใจอย่างมากจาก Jeff ที่ให้อำนาจและอิสระในการบริหารจัดการ AWS ทั้งหมด เรียกได้ว่า AWS ถือเป็น Andy’s Show ก็ว่าได้ ผลคือ AWS ประสบความสำเร็จมากขึ้นเรื่อย ๆ จนช่วงราวปี 2015 ที่ Amazon ตัดสินใจรายงานผลประกอบการ AWS แยกออกจากตัวเลขรวมของบริษัทเป็นครั้งแรก เทียบได้กับการแยกบริษัทลูกอย่างไม่เป็นทางการ และ Andy ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นซีอีโอ AWS ในปี 2016 ภาพจาก AWS ความสามารถในการนำ AWS ขึ้นมาเป็นบริษัทที่ทำกำไรหลักให้ Amazon (ไตรมาสล่าสุดสัดส่วนกำไรจากทั้งบริษัท AWS กินไป 52% ทั้งที่หากนับเฉพาะรายได้ สัดส่วนอยู่แค่ 28% ) แม้มีคู่แข่งรายใหญ่อย่าง Google หรือ Microsoft มาบุกตลาด แต่ส่วนแบ่งตลาด IaaS ของ Amazon อยู่ที่เกิน 30% มาโดยตลอด ถือเป็นบทพิสูจน์ความสามารถของ Andy ว่ามีเหลือเฟือ ทุกคนเชื่อมั่นว่าเขาจะสามารถนำพา Amazon ยุคหลังจากนี้ให้เติบโตขึ้นไปได้อีก อันที่จริงชื่อเสียงและความสามารถของ Andy ค่อนข้างเป็นที่รับรู้กันในวงการเทคโนโลยีอยู่แล้ว Business Insider อ้างอิงข้อมูลจากคนวงในว่า เขาเคยถูก Steve Ballmer ทาบทามให้มารับตำแหน่งซีอีโอไมโครซอฟท์ต่อจากตัวเอง หรือเคยมีข่าวลือว่าเคยถูกวางตัวเป็นหนึ่งในตัวเลือกซีอีโอ Uber หลัง Travis Kalanick ลงจากตำแหน่งด้วย แสดงให้เห็นว่าเขาเป็นผู้บริหารมือดีที่วงการเล็งตัวกันมานาน ภาพจาก AWS แม้ Andy จะมีความเหมือน Jeff ในหลาย ๆ ด้าน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า Amazon ภายใต้การบริหารของเขาจะเหมือนกับ Jeff ไปเสียทั้งหมด ด้วยประสบการณ์จาก AWS กว่า 15 ปี Andy อาจนำพาเอาดีเอ็นเอจาก AWS ที่เป็นบริษัทเทคมาสู่ Amazon ที่เป็นบริษัทค้าปลีก และสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงองค์กรและโมเดลธุรกิจก็ได้ ซึ่งนักวิเคราะห์ก็มองว่า Andy Jassy มีความเป็นไปได้ที่จะพา Amazon ขึ้นไปยังจุดสูงสุดใหม่ของบริษัท ด้วยการยืนอยู่บนไหล่ยักษ์ เหมือนกับที่ Satya Nadella ทำกับ Microsoft, Tim Cook ทำกับ Apple หรือ Sundar Pichai ทำกับ Google แต่อย่าลืมว่าสิ่งที่ Andy Jassy รับช่วงต่อไม่ได้มีแค่ความยิ่งใหญ่ของ Amazon แต่เขายังต้องรับช่วงเผือกร้อน ปัญหาใหญ่ๆ ที่ซับซ้อนและขัดแย้ง ทั้งเรื่องการรับกับมือภาครัฐเรื่องการผูกขาด, ปัญหาการจ่ายภาษี ไปจนถึงปัญหาการจัดการและสิทธิแรงงานของบริษัทด้วย Topics: Andy JassyAmazonJeff BezosCEO