ข้อเสนอที่มา "นายกฯ - ครม."

หัวข้อกระทู้ ใน 'การเมือง' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 9 ธันวาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    [​IMG]

    ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองใน สปช. สนับสนุนการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีโดยตรง ระบุ เป็นการให้อำนาจประชาชนตัดสินใจ ขณะที่หนึ่งในกรรมาธิการเสียงข้างน้อยในคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองของ สปช. ไม่เห็นด้วยกับการเลือกโดยตรง โดยให้ความเห็นว่าเป็นการเพิ่มอำนาจให้ฝ่ายบริหารและเป็นเรื่องยากในการตรวจสอบ

    การเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีโดยตรง เป็นหนึ่งในข้อเสนอของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง ในสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่จะเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ สปช. เพื่อให้ความเห็นชอบและนำส่งให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พิจารณาประกอบการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร

    นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองใน สปช. ชี้แจงเหตุผลที่สนับสนุนแนวทางเลือกตรง ว่าเป็นการให้อำนาจประชาชนตัดสินใจ เลือกบุคคลที่เหมาะสมเข้ารับหน้าที่ผู้นำประเทศ และรัฐมนตรี มาร่วมทีมเป็นฝ่ายบริหาร

    นายประสาร มฤคพิทักษ์ หนึ่งในกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ในคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองของ สปช. ระบุว่าไม่เห็นด้วยกับการเลือกตรง เพราะเชื่อว่าเป็นการเพิ่มอำนาจให้กับฝ่ายบริหารมากเกินควรและอาจนำมาซึ่งความยากต่อการตรวจสอบและถ่วงดุลได้

    และด้วยกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญ หรือการปฏิรูปประเทศ ที่ว่าด้วยการปฏิรูปการเมือง ข้อเสนอการเลือกนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีโดยตรงนั้น หากคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองใน สปช.ได้ข้อสรุปตรงกันและจัดทำเป็นรายงานสรุปแล้ว จะต้องเสนอแนวทางนี้ไปยังคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามรายงานและข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญ ภายในวันที่ 10 ธ.ค.2557 เพื่อสรุปรวมกับแนวทางอื่นในชั้นคณะกรรมาธิการพิจารณาแล้วเสร็จ

    จากนั้นรายงานสรุปจะถูกส่งต่อให้คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ วิป สปช. ภายในวันที่ 12 ธ.ค.2557 เพื่อกำหนดเป็นวาระการพิจารณาของที่ประชุมใหญ่ สปช. ภายในวันที่ 15 - 17 ธ.ค.2557 และหลังลงมติเห็นชอบจะถูกส่งต่อให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ภายในวันที่ 19 ธ.ค.2557 เพื่อนำไปประกอบการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญตามลำดับ

    มีข้อสังเกตว่าท่ามกลางการเสนอข่าวสนับสนุนข้อเสนอการเลือกตรง ผ่านผลสำรวจความเห็นของประชาชน ทั้งกรุงเทพโพลล์และนิด้าโพลล์แล้ว มีเพียงนายสมบัติที่ออกมายืนยันข้อดี และแม้ นายคำนูณ สิทธิสมาน จะเคยโพสต์เฟซบุ๊ก แต่ก็ระบุเพียงว่า "การเลือกตรงมาแรง" เท่านั้น

    ส่วน นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ให้ความเห็นในลักษณะที่สวนทางมาโดยตลอด และเมื่อคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง ส่งสัญญาณออกมาในขณะที่รับหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว นายบวรศักดิ์ ยังแบ่งรับแบ่งสู้กับประเด็นนี้

    สำหรับคณะอนุกรรมาธิการพิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ คณะที่ 3 ในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มี นายสุจิต บุญบงการ เป็นประธาน กลับสรุปข้อเสนอให้คงอำนาจการเลือกนายกรัฐมนตรีไว้ที่สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งแย้งกับแนวคิดการเลือกตรง

    นั่นหมายความว่าหากคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง ส่งต่อข้อเสนอการเลือกตรงให้ สปช. มีแนวโน้มการบัญญัติเป็นระบบการเมืองไทยรูปแบบใหม่นั้น สุ่มเสี่ยงที่จะถูกพับไป เพราะด่านหน้ามีเสียงสะท้อนของการไม่ยอมรับเกิดขึ้นแล้ว หรืออาจเฉียดฉิวไม่ต่างกับการได้มาซึ่งตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองของนายสมบัติ กับนายชัย ชิดชอบ ในวันที่ลงมติเลือก เพียงแค่คะแนนเดียว 13 ต่อ 12 เสียง
     

แบ่งปันหน้านี้