'น้ำมัน'ทรุดฉุด'เงินเฟ้อ'

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 8 ธันวาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    "น้ำมัน" ทรุดฉุด "เงินเฟ้อ" สะท้านกรอบนโยบายการเงินใหม่

    เป็นประเด็นท้าทายใหม่ของ “แบงก์ชาติ” หรือ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่ต้องบริหารจัดการเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบ โดยเฉพาะช่วงเวลาที่กำลังจะเปลี่ยนกรอบการดำเนินนโยบายการเงินใหม่ จากเดิมที่ใช้ “เงินเฟ้อพื้นฐาน” มาเป็น “เงินเฟ้อทั่วไป”

    เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา แบงก์ชาติ พยายามเสนอรัฐบาลเพื่อขอใช้ “เงินเฟ้อทั่วไป” มาเป็นเป้าหมายในการกำหนดนโยบายการเงิน เพราะมองว่า เงินเฟ้อชนิดนี้สามารถสะท้อนภาพเศรษฐกิจที่เป็นจริงมากกว่า เนื่องจากได้รวมปัจจัยที่เกี่ยวข้องทุกอย่างเอาไว้ ทั้งราคาพลังงานและราคาอาหารสด ซึ่งแตกต่างจาก “เงินเฟ้อพื้นฐาน” ที่ไม่ได้นำทั้ง 2 ปัจจัยนี้มาร่วมคำนวณ

    กรอบเป้าหมายนโยบายการเงินใหม่ที่ แบงก์ชาติ ได้เสนอไป ซึ่งอยู่ระหว่างรอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาอนุมัติ คือ กรอบเงินเฟ้อทั่วไป โดยยึดค่าเฉลี่ยรายปี และมีค่าเฉลี่ยตรงกลางที่ 3% บวก ลบ ไม่เกิน 1.5% พูดให้ง่ายก็ คือ ยึดกรอบที่ 1.5-4.5% จากเดิมที่ใช้เงินเฟ้อพื้นฐาน ยึดค่าเฉลี่ยรายไตรมาส โดยมีกรอบอยู่ที่ 0.5-3%

    แต่ทว่ายังไม่ทันที่ ครม. จะอนุมัติกรอบเป้าหมายดังกล่าว ทางแบงก์ชาติก็ต้องเผชิญกับความท้าทายในการดำเนินนโยบายการเงิน ท่ามกลางที่ “เงินเฟ้อทั่วไป” ต่ำกว่า “เงินเฟ้อพื้นฐาน” ที่สำคัญยัง “เสี่ยง” ว่าจะ “หลุดกรอบ” เป้าหมายล่างที่ 1.5% แม้ว่าจะยังไม่ทันได้เริ่มใช้กรอบนโยบายการเงินใหม่นี้เลยก็ตาม

    เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2557 กระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพ.ย.2557 อยู่ที่ 1.26% ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 1.48% โดยเป็นการชะลอลงต่อเนื่องติดกัน 6 เดือน ทั้งยังเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดในรอบ 5 ปี นับจากปี 2552 ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.60% ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 1.67%

    การลดลงของเงินเฟ้อทั่วไป ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาพลังงาน โดยเฉพาะราคา “น้ำมัน” ที่ปรับลดลงต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับลดลงต่ำกว่า 65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเป็นที่เรียบร้อย ทั้งยังมีแนวโน้มว่าราคาน้ำมันดิบดังกล่าวอาจทรงตัวในระดับต่ำไปต่อเนื่อง

    เรื่องนี้ “พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร มองว่า กรอบนโยบายการเงินใหม่ที่เปลี่ยนมาใช้ “เงินเฟ้อทั่วไป” ในการดำเนินการนั้น ถือเป็นประเด็นที่ท้าทายแบงก์ชาติอยู่ไม่น้อย เพราะแนวโน้มระยะต่อไปมีความเสี่ยงที่เงินเฟ้อทั่วไปจะหลุดกรอบล่างที่ 1.5% ได้ เนื่องจากเงินเฟ้อโลกมีแนวโน้มอยู่ระดับต่ำต่อเนื่อง ประเทศไทยซึ่งเป็นเศรษฐกิจเล็กและเปิด โอกาสที่เงินเฟ้อจะโดนลากลงมา มีความเป็นไปได้เช่นกัน

    อย่างไรก็ตาม “พิพัฒน์” ไม่เชื่อว่า เงินเฟ้อที่เสี่ยงว่าจะหลุดกรอบล่างของเป้าหมายใหม่ จะเป็นตัวเร่งให้แบงก์ชาติปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง ซึ่งเขามองว่าประเด็นที่ทำให้แบงก์ชาติเริ่มหันมาคิดถึงการผ่อนปรนนโยบายการเงินที่เพิ่มขึ้น น่าจะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจที่ดูอ่อนแอกว่าที่คาดมากกว่า

    “เป้าหมายใหม่ไม่น่าจะเป็นตัวไปบีบให้เขาต้องลดดอกเบี้ยลง เพราะแม้เงินเฟ้อมีความเสี่ยงว่าจะหลุดกรอบล่างลงมา แต่กรอบใหม่เน้นค่าเฉลี่ยรายปี ดังนั้นถ้าหลุดแค่ชั่วคราวแต่แบงก์ชาติมองว่าอนาคตเงินเฟ้อจะดีดกลับมาได้ เขาก็คงยังไม่ทำอะไรมาก ยกเว้นแต่แนวโน้มราคาน้ำมันจะลดลงต่อเนื่องกดดันเงินเฟ้อไปตลอดทั้งปี ถ้าเป็นอย่างนั้น แบงก์ชาติก็อาจต้องเหนื่อยหน่อยในการอธิบายกับสังคม”

    ขณะที่ “สมประวิณ มันประเสริฐ” อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า เงินเฟ้อที่อยู่ระดับต่ำ โดยเฉพาะแนวโน้มที่อาจต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ เมื่อรวมกับเศรษฐกิจซึ่งดูอ่อนแอกว่าที่คาดการณ์กันไว้ เปิดช่องให้แบงก์ชาติสามารถผ่อนปรนนโยบายการเงินได้เพิ่มเติม

    อย่างไรก็ตาม “สมประวิณ” เชื่อว่า โอกาสที่เงินเฟ้อในอนาคตจะหลุดกรอบล่างของเป้าหมายนโยบายการเงินใหม่นั้น มีความเป็นไปได้แต่ก็คงแค่ชั่วคราวเท่านั้น เพราะในอนาคตรัฐบาลยังมีแผนปฏิรูปพลังงาน ปรับขึ้นราคาก๊าซ รวมทั้งค่ารถโดยสารเช่นแท็กซี่ ตรงนี้ก็คงมีผลดึงเงินเฟ้อให้เพิ่มขึ้นมาได้

    ขณะที่มุมมองจาก โฆษกแบงก์ชาติ “จิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา” ยอมรับว่า ราคาน้ำมันที่ปรับลดลง น่าจะกดดันให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องถึงไตรมาสแรกปีหน้า และแม้เงินเฟ้อจะหลุดเป้าหมายล่างของกรอบนโยบายการเงินใหม่ ที่หันมาใช้เงินเฟ้อทั่วไป แต่กรอบใหม่ที่แบงก์ชาติเสนอเป็นการใช้เงินเฟ้อแบบเฉลี่ยรายปี ดังนั้นทั้งปียังมีโอกาสที่เงินเฟ้อจะขยับขึ้นมาอยู่ในกรอบเป้าหมายได้

    อย่างไรก็ตามถึงแม้เงินเฟ้อทั่วไปจะหลุดกรอบล่างของนโยบายการเงินใหม่จริง ก็คงไม่มีปัญหาต่อความเชื่อมั่นในการดำเนินนโยบายการเงินของแบงก์ชาติ เพราะเป็นเรื่องที่สามารถอธิบายได้ เนื่องจากเงินเฟ้อที่ลดลงไม่ได้เป็นผลจากด้านอุปสงค์ที่หายไป แต่เป็นผลจากอุปทานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งนโยบายการเงินไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก และการอธิบายต่อสาธารณชนให้เข้าใจ ก็ถือเป็นหน้าที่พึงปฏิบัติของแบงก์ชาติอยู่แล้ว

    Tags : น้ำมัน • เงินเฟ้อ • แบงก์ชาติ • ธปท. • นโยบายการเงิน

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้