นานมาแล้วสมัยที่ iPod คือผลิตภัณฑ์ตัวเด่นที่สุดของ Apple ในช่วงปี 2007 - 2009 มีผู้ใช้พบว่าระบบของ Apple แอบลบเพลงที่ผู้ใช้ลงไว้ในเครื่อง iPod โดยไม่บอกกล่าว (แน่นอนว่ารู้ตัวภายหลังจากที่โดนลบเพลงไปแล้ว) จึงเป็นที่มาของการรวมตัวกันฟ้องร้อง Apple ว่าเข้าข่ายกระทำผิดฐานกีดกันทางการค้า โดยมีการฟ้องร้องกันมานานหลายปีในศาลแขวง Oakland ของรัฐ California รายละเอียดสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้ iPod นั้นก็คือ เมื่อผู้ใช้สั่งซิงก์ iPod กับระบบของ Apple จะมีข้อความเตือนปรากฏขึ้นมาบนหน้าจอ iPod ว่าระบบมีปัญหา และแจ้งให้ผู้ใช้ทำการคืนค่าอุปกรณ์ไปเป็นค่าตั้งต้นจากโรงงาน ซึ่งเมื่อผู้ใช้กดยืนยันทำการคืนค่า Apple ก็จะลบไฟล์เพลงของผู้ใช้ออกไปจากเครื่องด้วย โดยเลือกลบเฉพาะไฟล์เพลงที่ไม่ได้ถูกซื้อมาจาก iTunes เท่านั้น ซึ่งกระบวนการกำจัดไฟล์เหล่านี้เป็นการแอบทำโดยไม่แจ้งผู้ใช้ให้ทราบทั้งในช่วงก่อน, หลัง หรือในขณะที่อุปกรณ์กำลังทำการลบไฟล์แต่อย่างใด อัยการ Patrick Coughlin ตัวแทนกลุ่มผู้ใช้ที่ร่วมกันฟ้องร้อง Apple ระบุว่ากระบวนการดังกล่าวของ Apple นั้นเป็นการละเมิดผู้ใช้ และยังเป็นการขัดขวางการทำธุรกิจของคู่แข่งอย่างไม่ถูกต้องด้วย (เพราะไม่ว่าจะเป็นเพลงที่ผู้ใช้ซื้อมาจากสโตร์ไหน หากไม่ใช่ iTunes เป็นโดนลบเกลี้ยง) Apple แก้ต่างว่ากระบวนการดังกล่าวนั้นไม่ใช่เรื่องการเตะตัดขาคู่แข่ง หากแต่เป็น "ฟีเจอร์" ที่ Apple ตั้งใจใส่มาในระบบเพื่อช่วยรักษาความปลอดภัยในการใช้งาน iPod ของผู้ใช้ Apple อ้างว่าการเอาไฟล์ที่ Apple ไม่รู้แหล่งที่มาชัดเจนมาใส่ในอุปกรณ์นั้นก่อให้เกิดความเสี่ยงว่าอาจทำให้มีมัลแวร์แฝงเข้าสู่ iPod ได้ ดังนั้นไฟล์ที่ Apple ไม่รู้ที่มาแน่ชัด (ซึ่งก็หมายถึงที่ใดๆ ก็ตามที่ไม่ใช่ iTunes) จึงถือเป็นไฟล์ที่พึงระวังและควรกำจัดทิ้งทั้งหมด ต่อข้อสงสัยที่ว่า เหตุใด Apple ไม่จัดให้อุปกรณ์สอบถามผู้ใช้เพื่อขออนุญาตทำการลบไฟล์ที่ Apple สงสัยว่าไม่ปลอดภัยเหล่านั้น ก็มีคำตอบจาก Apple ว่าการแสดงข้อความแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยงเกี่ยวกับมัลแวร์นั้นรังแต่จะสร้างความสับสนและไม่สบายใจให้แก่ผู้ใช้เปล่าๆ (มีการอ้างว่าระบบปฏิบัติการ Windows ที่มีการแจ้งเตือนเรื่องไฟล์สุ่มเสี่ยงก่อนขออนุญาตลบทิ้งนั้นสร้างประสบการณ์ใช้งานที่ไม่ดีให้แก่ผู้ใช้ ซึ่ง Apple ไม่อยากเป็นอย่างนั้น) ดังนั้นการกำจัดมันทิ่้งไปเงียบๆ จึงเป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุด งานนี้เดิมพันในการสู้คดีของ Apple นั้นเป็นค่าปรับไม่ต่ำกว่า 350 ล้านดอลลาร์ (และในฐานะที่เป็นคดีเกี่ยวกับการกีดกันทางการค้าก็มีสิทธิ์พุ่งกระฉูดเป็น 3 เท่า) ยังไม่นับเรื่องเสียภาพลักษณ์อีกด้วย ที่มา - SlashGear, Engadget Antitrust, Apple, Lawsuits