ผู้ว่าการแบงก์ชาติไทย-มาเลเซีย รับเกาะติด 2 ปัจจัยหลัก "ยุโรป-ญี่ปุ่น"เดินหน้าใช้คิวอีต่อเนื่อง สหรัฐปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินขึ้นดอกเบี้ย หวั่นก่อความเสี่ยงความผันผวนเงินทุนเคลื่อนย้ายทั่วโลก แม้มั่นใจการบริหารจัดการนโยบายการเงินกลุ่มอาเซียน รับมือความผันผวนที่จะเกิดขึ้นในภูมิภาคได้ก็ตาม งานสัมมนา "บลูมเบิร์ก อาเซียน บิสซิเนส ซัมมิท" วานนี้ (3 ธ.ค.) นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และตันศรี ดาโตะ เซติ อัคห์ตาร์ อาซิส ผู้ว่าการธนาคารกลางมาเลเซีย ร่วมกล่าวในหัวข้อ "การบริหารนโยบายการเงิน: แบบเดิมหรือใช้นวัตกรรมในช่วงเวลาไม่ปกติ" วานนี้ (3 ธ.ค.) โดย นายประสาร กล่าวว่า จากการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย (คิวอี) ของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจสำคัญ โดยเฉพาะยุโรปและญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ธนาคารกลางในอาเซียนต้องระมัดระวัง และต้องเตรียมตัวใช้นโยบายการเงิน รับมือกับเงินทุนเคลื่อนย้ายทั่วโลกให้ดีและมากขึ้น ความผันผวนจากการเคลื่อนย้ายของเงินทุนทั่วโลก เป็นผลมาจากการใช้นโยบายการเงินของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว โดยธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) เดินหน้าใช้คิวอี แต่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กำลังปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินดึงดอกเบี้ยขึ้นมาจากระดับใกล้ศูนย์ (Normalization Policy) ซึ่งเป็นนโยบายการเงินเริ่มมีความแตกต่าง นอกจากนี้ความเห็นของ นายประสาร สอดรับกับตันศรี ดาโตะ เซติ อัคห์ตาร์ อาซิส ว่า สิ่งเกิดขึ้นในสหรัฐ คือ การปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินดึงดอกเบี้ยขึ้นจากระดับใกล้ศูนย์ การเดินหน้าใช้นโยบายผ่อนคลายการเงิน(คิวอี)ทั้งในยุโรปและญี่ปุ่น เป็นเรื่องน่าห่วง ต้องจับตาเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด "อาเซียนเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะกลุ่มประเทศเศรษฐกิจสำคัญอย่างสหรัฐ ยุโรปและญี่ปุ่นอย่างมาก การเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกันมากขึ้น กลายเป็นความท้าทายสำหรับภูมิภาค อะไรเกิดขึ้นกับกลุ่มประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าเหล่านี้ ย่อมมีผลกระทบต่อเราด้วย ทำให้การบริหารจัดการนโยบายการเงินในภูมิภาคสำคัญ" นายประสาร กล่าว นโนบายบริหารการเงินไทยไม่น่าห่วง ส่วนการจัดการบริหารนโยบายการเงินในประเทศไม่น่าห่วง ที่ผ่านมาอาเซียนรวมไทยทำงาน และปรับตัวกันมาก ด้วยการเรียนรู้จากประสบการณ์ และบทเรียนที่ได้รับช่วงเกิดวิกฤตการเงินเอเชียในอดีต แต่ละประเทศเตรียมพร้อมนโยบายหลายด้าน เพื่อสร้างสมดุลและพื้นฐานทางเศรษฐกิจ รวมถึงความน่าเชื่อถือของประเทศให้ดีขึ้น ขณะที่ตันศรี ดาโตะ เซติ อัคห์ตาร์ อาซิส เชื่อว่า ตลาดเกิดใหม่ในอาเซียนมีความพร้อม และความสามารถมากพอ ที่จะรับมือป้องกันความผันผวนจากเงินทุนเคลื่อนย้ายทั่วโลก ซึ่งอาจมุ่งมาที่ภูมิภาคที่เป็นศูนย์กลางหรือเป็นตลาดที่ยังมีการเติบโตสูง แบงก์กลางอาเซียนต้องร่วมมือกัน จากนี้ไปธนาคารกลางชาติอาเซียน ต้องสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลกันให้มากขึ้น สร้างความน่าเชื่อถือ เชื่อใจและไว้ใจกัน เป็นการประสานงานความร่วมมือเตรียมพร้อมรับมือปัญหาวุ่นวายจากภายนอกภูมิภาค ที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ "เราไม่มีความเสี่ยงทำให้ภูมิภาคมีความอ่อนไหวและเปราะบาง และเชื่อว่าเศรษฐกิจเอเชียโดยเฉพาะอาเซียน สามารถแก้ปัญหาและรับมือกับความผันผวนมาจากภายนอกได้ อย่างมาเลเซียได้ปรับปรุงเศรษฐกิจการเงินของตัวเองให้ดี ให้สามารถเติบโตต่อเนื่อง สถานะดังกล่าวช่วยให้เราต้านทานรับมือความผันผวน ที่เกิดขึ้นมากขึ้นในระดับโลกได้" เน้นสร้างความเข้มแข็งศก.ในภูมิภาค นอกจากนี้ ตันศรี ดาโตะ เซติ อัคห์ตาร์ อาซิส ยังแนะนำด้วยว่า การสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจภายในประเทศและในภูมิภาค นอกจากสร้างความร่วมมือเป็นหนึ่งเดียวทางด้านการเงินแล้ว อาเซียนควรใช้เงินออมที่มีอยู่มาก มาใช้พัฒนาสาธารณูปโภคโครงสร้าง เพื่อสนับสนุนและช่วยให้เศรษฐกิจในประเทศขยายตัวได้เข้มแข็ง ขณะที่นโยบายการเงินควรดำเนินการเพื่อให้เกิดการพัฒนาพื้นฐานเศรษฐกิจในประเทศให้ดีขึ้น และต้องบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคให้ดีด้วย ทั้งนี้ นายประสาร กล่าวว่า ช่วงเกิดเหตุวุ่นวายทางการเมืองไทยปีนี้ ธปท. ตระหนักดีว่าต้องดำเนินนโยบายการเงินให้ดี เพื่อให้เกิดภาวะแวดล้อมทางการเงินช่วยสร้างความเชื่อมั่น และตอนนี้ไทยได้รัฐบาลเขามาทำหน้าที่วางนโยบายการคลังให้ดำเนินต่อไป และเดินหน้าปฏิรูปด้านต่างๆ ทั้งการสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน ปรับโครงสร้างภาษี ปฏิรูปการศึกษาและการสนับสนุนผู้ประกอบการรายใหม่ ห่วงความเสี่ยงนอกอาเซียน นายประสาร ย้ำว่า ความเสี่ยง ส่งผลกระทบมาก โดยน่าจะมาจากนอกภูมิภาคอาเซียน เพราะเศรษฐกิจก้าวหน้าทั้งยุโรป และญี่ปุ่น อยู่ในภาวะชะลอตัวต้องใช้นโยบายผ่อนคลายการเงินต่อเนื่อง ถือเป็นนโยบายต้องจับตาเฝ้าระวัง ส่วนความเสี่ยงและความท้าทายภายในประเทศ สำหรับผู้ว่าการแบงก์ชาติมาเลเซีย กล่าวว่า ความเสี่ยงมีรูปแบบเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ตั้งแต่ความผันผวนเกิดจากเงินทุนเคลื่อนย้าย ความเสี่ยงเกิดจากราคาพลังงานลดลง ราคาโภคภัณฑ์ปรับลง แต่ความเสี่ยงก่อปัญหาตามมาเหล่านี้ แต่เชื่อมั่นว่าธนาคารกลางในอาเซียนสามารถบริหารรับมือได้ดี นายประสาร เห็นว่า เป็นเรื่องการเมือง แต่ขณะนี้การเมืองยังสงบดีอยู่ไม่น่าเป็นห่วงแล้ว แต่มีความท้าทายที่ไทยต้องเดินหน้าปฏิรูปด้านต่างๆในประเทศ โดยเฉพาะด้านอุปทานต้องเพิ่มผลิตภาพและศักยภาพการผลิต ทำให้เศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง และการปฏิรูปสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ "เราไม่ใช่จะพึ่งพานโยบายดูแลดอกเบี้ยอย่างเดียว แต่ยังมีเครื่องการเงินอื่นๆ พร้อม ทั้งการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนแบบยืดหยุ่น การใช้มาตรการดูแลเศรษฐกิจแบบเฉพาะเจาะจง ที่สามารถพิจารณานำมาใช้ในการบริหารจัดการนโยบายการเงินในประเทศได้" นอกจากนี้ ยังเชื่อว่า การจัดการความเสี่ยงมาจากนอกภูมิภาคได้ดี อยู่ที่การสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลพูดคุยระหว่างธนาคารกลางแต่ละประเทศในอาเซียน ต้องสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน เพื่อไม่ให้เกิดการตื่นตกใจตลาดภายในภูมิภาค เป็นการสร้างเครือข่ายความปลอดภัยช่วยป้องกันความผันผวนจากเงินทุนเคลื่อนย้าย เกิดจากการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าได้ เออีซีหนุนการค้าการลงทุนโตเร็ว ด้าน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในงานเดียวกันเกี่ยวกับอาเซียนที่กำลังกลายเป็นประชาคมเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (เออีซี) ในปี 2558 ว่า อาเซียนเดินทางถูกทางแล้ว ซึ่งการรวมตัวเป็นเออีซี จะนำมาซึ่งผลประโยชน์ 3 เรื่องหลักๆ โดยเรื่องแรกช่วยส่งเสริมการค้า และการลงทุนในกลุ่มประเทศสมาชิกให้ขยายตัวมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาการค้าภายในภูมิภาค มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 1.6 แสนล้านดอลลาร์ เป็น 5.19 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2553 และเพิ่มเป็นกว่า 6 แสนล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา เรื่องที่สองกลุ่มตลาดเกิดใหม่ในอาเซียน ได้แก่ กัมพูชา พม่า ลาว และเวียดนาม กำลังขยายตัวเร็ว การเชื่อมโยงตลาดเหล่านี้ โดยมีไทยเป็นเหมือนเส้นทางหลักเชื่อมโยงเกิดการค้าการลงทุนข้ามประเทศได้สะดวกขึ้น ช่วยให้บริษัทไทยและชาติต่างๆ ในอาเซียน ขยายฐานการค้าการลงทุนได้มากขึ้น จะช่วยผลักดันให้ภูมิภาคเติบโตได้มากขึ้นด้วย กลายเป็นฐานผลิตใหญ่ของโลก สุดท้ายการรวมเออีซีช่วยให้ภูมิภาคกลายเป็นฐานการผลิตขนาดใหญ่ของโลก ที่สามารถผลิตสินค้าให้มีความหลากหลายส่งออกไปยังตลาดโลกได้มากขึ้น ล่าสุดรัฐบาลไทยเพิ่งอนุมัติให้บริษัทต่างชาติเข้ามาตั้งสำนักงานใหญ่ในไทย และผ่อนคลายนโยบายการจัดเก็บภาษีจากการลงทุนทำธุรกิจของต่างชาติในไทยแล้ว ทั้งนี้เขาเห็นว่า เออีซีไม่ควรใช้เงินสกุลเดียวกัน เพราะจากประสบการณ์ที่สหภาพยุโรป (อียู) เผชิญอยู่ คือ การรวมค่าเงินทำให้เกิดปัญหา มากกว่าจะสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นภายในกลุ่ม ขณะที่ภายในกลุ่มเออีซียังมีความแตกต่างกันระหว่างประเทศสมาชิก ที่มีบางส่วนมีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจมากกว่า และบางประเทศยังเป็นตลาดเกิดใหม่ Tags : บลูมเบิร์ก • ประสาร ไตรรัตน์วรกุล • ไทย • มาเลเซีย • ตันศรี ดาโตะ เซติ • ผู้ว่าการธนาคาร • อาเซียน • คิวอี • ธปท. • เศรษฐกิจโลก • เออีซี • ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล