(รายงาน) เฟดชี้น้ำมันร่วงส่งผลดีเศรษฐกิจโลก เชื่อราคาจะปรับมีเสถียรภาพ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แสดงความพึงพอใจต่อราคาน้ำมันร่วงลงอย่างหนัก โดยมองว่าราคาพลังงานลดลงจะช่วยให้ชาวสหรัฐมีเงินจับจ่ายใช้สอยมากยิ่งขึ้น แต่คาดว่าราคาจะปรับสู่ระดับที่มีเสถียรภาพ นายสแตนลีย์ ฟิชเชอร์ รองประธานเฟด และนายวิลเลียม ดัดลีย์ ประธานเฟดสาขานิวยอร์ค กล่าวว่า ราคาน้ำมันที่ระดับต่ำจะส่งผลลบเพียงชั่วคราวเท่านั้นต่อระดับราคาโดยรวมในสหรัฐ และทั้งสองคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐในทางบวก ซึ่งสิ่งนี้บ่งชี้ว่าเฟดจะไม่ปล่อยให้ตลาดพลังงานเป็นอุปสรรคขัดขวางเฟดจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2558 ก่อนหน้านี้ ราคาน้ำมันดิบสหรัฐดิ่งลงแตะ 63.72 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดในรอบ 5 ปี นายฟิชเชอร์กล่าวว่า "การร่วงลงของราคาน้ำมันจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อลดลงเพียงชั่วคราวเท่านั้น และไม่กังวลกับเรื่องนี้มากนักเพราะว่าช่วงเวลาที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำนี้ เป็นผลมาจากปัจจัยที่ทำให้ทุกคนมีฐานะการเงินดีขึ้น และปัจจัยนี้มีแนวโน้มที่จะส่งผลบวกต่อมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) แทนที่จะส่งผลลบต่อจีดีพี" ทางด้านนายดัดลีย์กล่าวว่า การดิ่งลงของราคาน้ำมันส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจ เพราะว่าชาวสหรัฐจะมีเงินติดกระเป๋ามากขึ้น และชาวสหรัฐจะนำเงินส่วนใหญ่ในจำนวนนี้ไปจับจ่ายซื้อสินค้า แทนที่จะออมเงินนอกจากนี้ การดิ่งลงของราคาในตลาดโลกจะส่งผลให้ธนาคารกลางของประเทศอื่นๆผ่อนคลายนโยบายการเงินลงไปอีก ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจโลก นายดัดลีย์กล่าวว่า ถ้าหากการดิ่งลงของราคาน้ำมัน "ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นและยังคงดำเนินต่อไป ปัจจัยนี้ก็จะส่งผลลบต่อการลงทุนด้านน้ำมันและก๊าซในสหรัฐ แต่มีเหตุผล 2-3 ประการที่ทำให้คิดว่าปัจจัยเสี่ยงนี้ไม่ควรได้รับการขยายจนเกินความเป็นจริง โดยเฉพาะถ้าหากราคาน้ำมันเข้าสู่เสถียรภาพที่ระดับปัจจุบัน" ราคาน้ำมันดิบดีดตัวขึ้นแต่ปิดตลาดเดือนพ.ย.ในแดนลบเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน ซึ่งถือว่ายาวนานที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินโลก อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐอยู่ต่ำกว่าระดับเป้าหมายที่เฟดตั้งไว้ที่ 2 % มาเป็นเวลานานกว่า 3 ปีแล้ว และอัตราเงินเฟ้อก็ลดลงในระยะนี้ ซึ่งทำให้นักลงทุนไม่แน่ใจว่าเฟดจะคุมเข้มนโยบายการเงินเมื่อใด นายดัดลีย์กล่าวว่ายังคงมีความเชื่อมั่นว่า ถึงแม้อัตราเงินเฟ้อลดลงในระยะนี้ อัตราเงินเฟ้อก็จะเริ่มต้นปรับขึ้นเข้าใกล้ระดับเป้าหมายที่ 2 % ในปีหน้า และเขาพยายามลดความกังวลในตลาดในเรื่องการใช้เงินกู้ในการสำรวจน้ำมันและก๊าซด้วย ทางด้านนายฟิชเชอร์กล่าวว่า ค่าจ้างแรงงานในสหรัฐอาจจะพุ่งสูงขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ซึ่งจะเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า ตลาดแรงงานเริ่มต้นฟื้นตัวอย่างเต็มที่ ค่าจ้างแรงงานในสหรัฐแทบไม่ได้เติบโตขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ถึงแม้อัตราการว่างงานร่วงลง และจีดีพีเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยปัจจัยด้านค่าจ้างแรงงานนี้ส่งผลให้เฟดใช้ความระมัดระวังในการเตรียมความพร้อมสำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นายดัดลีย์กล่าวย้ำว่า เป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลที่จะคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ในช่วงกลางปี 2015 และเขากล่าวเสริมว่า เฟดจะไม่คุมเข้มนโยบายการเงินโดยพิจารณาจากสภาพเศรษฐกิจเพียงปัจจัยเดียว แต่จะพิจารณาจากประเด็นที่ว่า ตลาดการเงินมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคตด้วย โดยเฟดอาจจะมีความจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวยิ่งขึ้น ถ้าหากตลาดการเงินไม่ได้แสดงปฏิกิริยาตรงตามที่เฟดคาดการณ์ไว้ หรือเฟดอาจจะทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามได้เช่นกันโดยขึ้นอยู่กับปฏิกิริยาในตลาด ทางด้านนายนารายานา โคเชอร์ลาโคทา ประธานเฟดสาขามินนิอาโปลิสเรียกร้องให้เฟดปรับทบทวนเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 2 % เพื่อให้สะท้อนความเห็นที่ว่าอัตราเงินเฟ้อที่ระดับต่ำกว่าเป้าหมายสามารถสร้างความเสียหายได้มากเท่ากับอัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่าเป้าหมาย อย่างไรก็ดี นายฟิชเชอร์ปฏิเสธแนวคิดในการปรับขึ้นเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ .................................................................................... ชี้ผู้ผลิตเริ่มชะลอหลังราคาร่วงหนัก ฝ่ายวิเคราะห์ของบริษัทปตท. จำกัด( มหาชน) ประเมินว่าราคาน้ำมันขยับขึ้นสาเหตุหลักมาจาก ผู้ผลิต Shale Oil ของสหรัฐฯ เผยว่าอาจมีการชะลอ การผลิตน้ำมัน เนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่ตกต่ำอาจทำให้การผลิตไม่คุ้มทุน และบริษัทขุดเจาะนอกชายฝั่ง (Offshore) ทั่วโลกเผยว่าอาจดำเนินการ Warm Stacking แท่นขุดเจาะเพื่อเป็นการชะลอการขุดเจาะน้ำมันดิบหลังน้ำมันดิบปรับ ตัวลดลงต่อเนื่อง เนื่องจากกลุ่มโอเปคมีมติที่จะคงเพดานการผลิตน้ำมันดิบที่ 30 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งอาจเป็นนัยสำคัญที่กลุ่มโอเปคสื่อไปยังสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ผลิต Shale Oil รายใหญ่ว่าสหรัฐฯ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ปรับสมดุลราคาน้ำมันแทน OPEC ที่ปฏิบัติมาในอดีต นอกจากนี้ควรจับติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจ เช่น สหรัฐ จีน ญี่ปุ่นรวมถึงเศรษฐกิจของภูมิภาคยุโรป ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำมัน และติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศผู้ผลิตเช่น ลิเบีย อิหร่านและอิรัก ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน ฝ่ายวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บริษัทไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) ประเมินเช่นเดียวกันว่าราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น จากแรงสนับสนุนของค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ประกอบกับความกังวลด้านแรงกดดันของปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) ในสหรัฐฯต่อน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เริ่มส่งสัญญาณผ่อนคลายลง หลังมีการรายงานว่า การออกใบอนุญาตสำหรับการผลิต Shale Oil แหล่งใหม่ในเดือน ต.ค. 2557 มีการปรับตัวลดลงประมาณ 15% ประกอบกับหลายบริษัทผู้ผลิต Shale Oil เริ่มมีการตัดงบลงทุนในปี 2558 ลง เนื่องจากแรงกดดันของส่วนต่างกำไรที่แคบลง อย่างไรก็ดี ในเบื้องต้นมีการคาดการณ์ว่าปริมาณการผลิต Shale Oil ในสหรัฐ จะสามารถยืนอยู่ในระดับปัจจุบันได้จนถึงครึ่งแรกของปี 2015 จากแรงหนุนของเม็ดเงินที่ลงทุนไปในช่วงก่อนหน้า แต่หากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ผู้ผลิต Shale Oil อาจต้องมีการปรับลดกำลังการผลิตลงในที่สุด ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ จากแรงกดดันของอุปทานในภูมิภาคที่ยังคงอยู่ในสภาวะล้นตลาด อย่างไรก็ตาม ในภูมิภาคยังคงมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากประเทศทรานซาเนีย ประกอบกับการคาดการณ์ว่าจะมีอุปสงค์เพิ่มเติมจากไต้หวันภายหลังมีการปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินภายในประเทศลงอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่สี่นับตั้งแต่เดือน พ.ย. 57 ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอุปทานน้ำมันดีเซลจากประเทศเกาหลีใต้ และอุปทานของน้ำมันดีเซลในภูมิภาคที่อยู่ในสภาวะล้นตลาด อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ในภูมิภาคยังคงมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากประเทศศรีลังกาและทรานซาเนีย ประกอบกับการคาดการณ์ว่าจะมีอุปสงค์เพิ่มเติมจากไต้หวันภายหลังการปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลภายในประเทศลง Tags : น้ำมัน • เศรษฐกิจโลก • เสถียรภาพ • เฟด