กกร. คาดส่งออกปีนี้ -0.2% ปีหน้าโต 3.5% ดันจีดีพี ปี 58ขยายตัว 3.5-4% ระบุภาคท่องเที่ยวจะเป็นเครื่องจักรหลัก ดึงเศรษฐกิจช่วงต้นปี เหตุงบลงทุนภาครัฐจะเห็นผลในปี 59 เผยก.ม.ค้ำประกันฉุดเอสเอ็มอีกู้ยากขึ้น คณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน (กกร.) ได้ประชุมกันเมื่อวานนี้ (2 ธ.ค.) ได้มีความเห็นเสนอแนะต่อรัฐบาลในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจหลายประการ โดยเฉพาะการเสนอให้ออกมาตรการในกระตุ้นเศรษฐกิจในปีหน้าพร้อมกับคัดค้านการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเพราะเห็นว่าอาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจในปีหน้า นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานกกร.กล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือถึงภาวะเศรษฐกิจในปี 2557 พบว่า สถานการณ์การส่งออกในเดือนต.ค.ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นกว่า 3.9% และในเดือนพ.ย. คาดว่าจะฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ในเดือนธ.ค.มีโอกาสติดลบได้หลังจากสหภาพยุโรป ( อียู ) และ สหรัฐฯจะเริ่มหยุดทำธุรกรรม ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกในปีนี้น่าจะติดลบประมาณ 0.2% ได้ ส่วนอัตราการขยายตัวของจีดีพีปีนี้คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 1% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการส่งออก รวมทั้งการใช้จ่ายของโครงการรัฐไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยเฉพาะเงินอุดหนุนเกษตรกรโดยตรง ที่มีการจ่ายเงินข้าวมีความคืบหน้าเพียง 30 - 40% ขณะที่การจ่ายเงินยางพาราคืบหน้าเพียง 10% โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายผลักดันให้การจ่ายเงินอุดหนุนเกษตรกรให้ได้ 90% ภายในสิ้นปีนี้ซึ่งต้องติดตามผลการดำเนินงานอีกครั้ง คาดปี58เศรษฐกิจโต3.5-4 % สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2558 ที่ประชุมกกร.คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวประมาณ 3.5% เนื่องจากได้รับปัจจัยจากราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับลดลงต่อเนื่อง ทำให้การส่งออกอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักกลับมาเติบโตได้ รวมทั้งการค้าชายแดนไปยังประเทศพม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม จะเติบโตได้ 7-8% รวมทั้งเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่เริ่มฟื้นตัว อย่างไรก็ตามยังต้องติดตามเศรษฐกิจของจีนที่ล่าสุดเริ่มมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย หลังจากที่มีการคงอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่ปี 2555 รวมทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ที่ต้องลุ้นการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยปัจจัยที่กล่าวมาขั้นต้นจะส่งผลให้จีดีพีปีหน้าจะเติบโตประมาณ 3.5 - 4% ปรับลดลงจากคาดการณ์ครั้งก่อนที่ 4 - 4.5% เนื่องจากคาดว่าเม็ดเงินลงทุนภาครัฐคงจะลงในปีหน้าไม่มาก เพราะส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เวลาในการศึกษา การประมูล และการเวนคืนพื้นที่ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเห็นผลบ้างหลังไตรมาส 2 ของปีหน้า และจะเม็ดเงินลงทุนจะเข้าสู่ระบบเต็มที่ในปี 2559 ดังนั้นจึงประมาณการจีดีพีปี 2558 ขยายตัวไม่มาก ชี้ท่องเที่ยวช่วยดันศก.ปีหน้า อย่างไรก็ตามในช่วงต้นปีหน้า ภาคธุรกิจท่องเที่ยวจะเป็นตัวช่วยพยุงเศรษฐกิจของไทยเป็นหลัก คาดว่าในปี 2558 ภาคท่องเที่ยวจะขยายตัวในระดับ 6-7% เพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่ติดลบเล็กน้อย เนื่องจากมีเสถียรภาพทางการเมือง นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้อนุมัติแผนการส่งเสริมให้ต่างชาติเข้ามาตั้งสำนักงานภูมิภาค( เฮด ควอเตอร์ ) เข้ามาตั้งในไทย ทั้งในรูปแบบสิทธิประโยชน์ทางภาษี และมาตรการต่างๆที่เหนือกว่าประเทศสิงคโปร์ ซึ่งจะช่วยให้มียอดเงินลงทุนเข้ามายังประเทศไทยเพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้ รัฐบาลจะต้องเร่งพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ โดยเฉพาะระบบสารสนเทศ เครือข่ายไวไฟ รวมทั้งพัฒนาบุคลากรด้านภาษาขึ้นมารองรับ “กกร. จะหารือกับสภาธุรกิจต่างประเทศ หอการค้าต่างประเทศในไทย และนักลงทุนต่างชาติ เพื่อกระจายข้อมูลข่าวสารดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาตั้งสำนักงานภูมิภาคในไทย เพราะนอกจากกระตุ้นการลงทุนโดยตรงแล้ว ยังทำให้เกิดการลงทุนต่อเนื่อง การท่องเที่ยว การจัดประชุมสัมมนาของนักลงทุนต่างชาติเพิ่มขึ้น” นายสุพันธุ์ กล่าว หนุนรัฐอัดงบประชานิยมกระตุ้น นอกจากนี้ภาครัฐควรทุ่มงบประมาณในการอุดหนุนภาคการเกษตร โดยไม่ต้องห่วงในเรื่องของประชานิยมมากนั้น ซึ่งหากมีมาตรการป้องกันการคอร์รัปชั่นได้ เม็ดเงินลงไปสู่เกษตรกรเต็มที่ ก็จะเกิดประโสชฯกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศได้มาก ส่วนการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ คาดว่าจะมีการประชุมในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนธ.ค.นี้ โดยที่ประชุมจะนำเสนอมาตรการช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอี การสนับสนุนเรื่องสภาพคล่อง การสนับสนุนให้ภาครัฐใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศ ซึ่งแนวทางการช่วยเหลือเอสเอ็มอีจะมีการหารือในที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ในเร็วนี้ก่อนที่จะมีการประชุมกรอ. ค้านขึ้นภาษีแวตเป็น 8 % นายสุพันธุ์ กล่าวถึง นโยบายการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เป็น 8% ของกระทรวงการคลัง ว่า การปรับขึ้นภาษีดังกล่าวฐานเศรษฐกิจของประเทศจะต้องแข็งแรง ควรมีจีดีพีเติบโต 4% ขึ้นไป แต่หากจีดีพียังอยู่ในระดับ 1 -2% เช่นปัจจุบัน ก็อาจไม่เหมาะสม โดยเชื่อว่า รัฐบาลอาจโยนหินถามทางหากเศรษฐกิจไม่ดีขึ้นอาจไม่มีการปรับ สำหรับการผ่านพ. ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 ว่า ด้วยการลดภาระของผู้ค้ำประกันนั้น ในขณะนี้อุตสาหกรรมขนาดเล็กก็หาผู้ค้ำประกันยากอยู่แล้ว ซึ่งหากกฎหมายมีผลบังคับใช้ก็จะยิ่งทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ยากขึ้น โดยแนวทางการแก้ไขรัฐบาลควรจะปรับหลักเกณฑ์ของ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ให้ขยายฐานการค้ำประกันให้กับเอสเอ็มอีมากขึ้น ซึ่งหากขยายฐานจนน่าพอใจธนาคารพาณิชย์เอกชนก็จะเข้ามาร่วมด้วย แต่ถ้าไม่ดึงดูดเพียงพอก็ควรให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เข้ามาเป็นผู้ปล่อยกู้ และผ่อนปรนกฎเกณฑ์ต่างๆให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น ด้านนายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า การปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม รัฐบาลจะต้องดูปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะกำลังซื้อของประชาชน และปัญหาภาวะหนี้ครัวเรือน ทั้งนี้มองว่ารัฐบาลอาจกำหนดกรอบในการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องสอดคล้องกับการปรับลดภาษีรายได้ เพราะเป็นแนวทางการจัดเก็บที่เหมาะสม ส่วนการออกกฎหมายลดภาระของผู้ค้ำประกันนั้น เป็นกฎหมายที่ดี เป็นการจัดระเบียบคุ้มครองผู้ค้ำประกันรายย่อย ซึ่งอาจจะกระทบต่อการปล่อยสินเชื่อบ้าง อย่างไรก็ตาม ถ้าในกรณีที่ผู้ค้ำประกันเป็นธนาคารพาณิชย์ หรือหน่วยงานรัฐบาล เช่น หนังสือค้ำประกันของธนาคาร ก็ควรจะต้องรับผิดเสมือนผู้กู้ร่วม ให้เป็นไปตามหลักสากล ซึ่งหากแก้ไขในจุดนี้ก็จะไม่กระทบต่อภาคธุรกิจโดยรวม ส่วนธนาคารก็จะปรับตัวเพื่อรองรับกับกฎหมายใหม่ที่มีความซับซ้อนขึ้น Tags : กกร. • เอกชน • เศรษฐกิจโลก • ส.อ.ท. • สุพันธุ์ มงคลสุธี • ท่องเที่ยว • ประชานิยม • ภาษี • บุญทักษ์ หวังเจริญ • ค้ำประกัน