กบง.ยกเลิกอุดหนุนแอลพีจีทุกประเภท ส่งผล"ภาคครัวเรือน-ขนส่ง-อุตฯ"ราคาเดียว 24.16 บาท/กก. พร้อมขยับเอ็นจีวีอีก 1 บาท "ณรงค์ชัย"เผยรอจังหวะลอยตัวน้ำมัน หลังเงินกองทุนมีมากพอรักษาเสถียรภาพ คาดน้ำมันโลกทรงตัวระดับต่ำอีก 1 เดือน ขณะพาณิชย์ชี้ส่งผลทางจิตวิทยามากกว่าต้นทุนจริง ด้านไอเอ็มเอฟชี้ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ตัดสินใจยกเลิกการอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี) ทำให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด โดยหลังการปรับราคา จะทำให้แอลพีจีภาคครัวเรือน ภาคขนส่ง และอุตสาหกรรม มีราคาเท่ากันที่ 24.16 บาทต่อกิโลกรัม และปรับขึ้นก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(เอ็นจีวี) อีก 1 บาทต่อกิโลกรัม การปรับราคาก๊าซเป็นไปตามนโยบายการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ซึ่งกบง.ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง แต่กบง.ปรับราคาครั้งนี้ถือว่าก่อนกำหนดเดิมที่คาดว่าจะปรับหลังปีใหม่ และเข้าใกล้เป้าหมายที่วางไว้มากยิ่งขึ้น นั่นคือ ราคาตลาด ที่ผ่านมา กบง.ได้ทยอยปรับราคาก๊าซและน้ำมันมาโดยตลอด ตามเป้าหมายให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งหลังการปรับราคาก๊าซในครั้งนี้ จะทำให้เหลือการปรับภาษีน้ำมันดีเซลและการปรับเอ็นจีวีที่ราคาเป้าหมาย 16 บาทต่อกก. โดยหลังจากนั้นจะสามารถปล่อยราคาลอยตัวตามตลาดได้ แต่ก่อนจะประกาศลอยตัวราคาเชื้อเพลิงทุกประเภท กบง.รอจังหวะราคาและยอดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนให้ได้ระดับหนึ่ง เพื่อใช้รักษาเสถียรภาพราคาไม่ให้ขึ้นเร็วเกินไปในช่วงขาขึ้น แต่ไม่ใช้เพื่ออุดหนุนในลักษณะประชานิยม นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่การกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานกบง. กล่าวว่ามติปรับขึ้นราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว(แอลพีจี) เพิ่มขึ้น 1.03 บาทต่อกิโลกรัม ส่งผลให้ราคาแอลพีจีสะท้อนต้นทุนและเป็นราคาเดียวทั้งภาคครัวเรือน ขนส่ง และอุตสาหกรรม ที่ 24.16 บาทต่อกิโลกรัม ขั้นตอนต่อไปจะมีการทยอยปรับสูตรราคาแอลพีจีเพื่อสะท้อนต้นทุนตลาดโลก จากปัจจุบัน คำนวณจากราคานำเข้า 40% โรงแยกก๊าซ 40% และโรงกลั่นน้ำมัน 20% ซึ่งราคาตลาดโลกอยู่ที่ 558 ดอลลาร์ต่อตัน บวกค่าขนส่ง 93 ดอลลาร์ต่อตัน อยู่ที่ 651 ดอลลาร์ต่อตัน โดยหลังจากนี้ จะมีการพิจารณาเพื่อปรับสูตรราคาอ้างอิง เพื่อให้สะท้อนราคาตลาดโลก ปรับเอ็นจีวีอีก1บาท/กก. กบง. มีมติปรับขึ้นราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(เอ็นจีวี) อีก 1 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิม 11.50 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 12.50 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ภาคขนส่งก็มีการปรับขึ้นราคาเช่นกัน ส่งให้ราคาจาก 8.50 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 9.50 บาทต่อกิโลกรัม "สาเหตุของการปรับขึ้นราคาในครั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่าราคาแตกต่างจากต้นทุนมากเกินไป ซึ่งสุดท้ายแล้วต้องการให้สะท้อนต้นทุนที่ 16 บาทต่อกิโลกรัม" นายณรงค์ชัย กล่าวว่ากระทรวงพลังงานมีแนวทางการช่วยเหลือภาคขนส่ง คือ 1. บัตรเครดิตพลังงานเอ็นจีวี สำหรับกลุ่มผู้ขับขี่รถแท็กซี่ รถตุ๊กตุ๊ก รถตู้ร่วม ขสมก. ในเขต กทมและปริมณฑล จำนวน 166,216 ราย (ณ วันที่ 31 ต.ค.57) 2. บัตรส่วนลดราคาเอ็นจีวี ได้แก่ กลุ่มรถโดยสาร มินิบัส สองแถวร่วม ขสมก. และรถโดยสาร รถตู้ร่วม บขส. จำนวน 19,075 ราย (ข้อมูล ณ 31 ต.ค. 57) นอกจากนี้ที่ประชุม กบง. ยังมีมติเรียกเก็บเงินจากกลุ่มเบนซินและดีเซล เข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 50 สตางค์ต่อลิตร และในส่วนของผู้ค้าน้ำมันเตรียมประกาศปรับลดลงราคาหน้าสถานีบริการในกลุ่มเบนซิน 50 สตางค์ต่อลิตร (ยกเว้นอี85) และดีเซลปรับลดราคาขายปลีก 40 สตางค์ต่อลิตร โดยจากเก็บเงินเข้ากองทุนในครั้งนี้ ส่งผลให้กองทุนมีรายรับกว่า 300 ล้านบาทต่อวัน ณ วันที่ 30 พ.ย. ฐานะกองทุนเป็นบวก 7.9 พันล้านบาท จากเมื่อเดือนพ.ค. 2557 ติดลบ 7.4 พันล้านบาท เตรียมลอยตัวราคาน้ำมัน นายณรงค์ชัย กล่าวว่ากระทรวงพลังงานยังคงต้องการทยอยเก็บเงินในช่วงน้ำมันขาลงในระดับหนึ่ง เพื่อใช้เป็นเงินรักษาเสถียรภาพราคาพลังงาน เมื่ออยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว จะปล่อยให้ราคาน้ำมันลดลงตามตลาดโกลต่อไป โดยเชื่อว่าราคาน้ำมันยังคงอ่อนตัวอย่างน้อยอีก 1 เดือน “การทยอยปรับโครงสร้างราคาพลังงานครั้งนี้ ถือเป็นการทำให้โครงสร้างราคาพลังงานของประเทศไทยสะท้อนต้นทุนตามกลไกตลาด รวมทั้งจะเป็นการสร้างความพร้อมในการเปิดรับเออีซีในอนาคต ขณะนี้มีความเคลื่อนไหวของประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน อย่างอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ได้ยกเลิกการอุดหนุนราคาพลังงานเช่นเดียวกัน จะเป็นผลดีที่จะทำให้ประเทศไทยมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำด้านราคาพลังงาน ส่งสัญญาณให้ลดการใช้แบบผิดประเภท รวมทั้งลดปัญหาการลักลอบขนส่งข้ามประเทศในอนาคตด้วย”รมว.พลังงาน กล่าว สำหรับแผนขยายสถานีบริการเอ็นจี บมจ.ปตท.แจ้งว่าจะขยายทั้งในส่วนของสถานีบริการ และแนวท่อ โดยในส่วนของสถานีบริการเอ็นจีวีจะเพิ่มขึ้น 12 แห่ง แบ่งเป็นสถานีเอ็นจีวีสำหรับรถบรรทุก 4 แห่ง และเอ็นจีวีปกติ 8 แห่ง จากปัจจุบัน 487 แห่ง คาดว่าจะสามารถบริการรถยนต์ได้รวดเร็วมากขึ้น เนื่องจากสามารถดึงรถบรรทุกที่เคยเข้ามาใช้บริการในสถานีเอ็นจีวีและต้องใช้ระยะเวลาเติมนาน เข้ามาใช้สถานีบริการเฉพาะสำหรับรถบรรทุกมากขึ้น พาณิชย์ชี้ส่งผลทางจิตวิทยา แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่ากรมการค้าภายในจัดทำผลกระทบก๊าซแอลพีจีและเอ็นจีวี ว่าการปรับเพิ่มขึ้นราคาแอลพีจีจากกก.ละ 21.38 บาท เพิ่มเป็นกก.ละ 22 บาท นั้น จะทำให้ก๊าซมีราคาเพิ่มขึ้นกก.ละ 0.62 บาท ส่วนผลกระทบหากปรับเพิ่มราคาเป็นกก.ละ 24 บาท นั้นกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาผลกระทบ เบื้องต้นจะทำให้ราคาก๊าซเพิ่มขึ้นจากผลศึกษาเดิมประมาณ 3 เท่า โดยผลกระทบหากราคาอยู่ที่กก.ละ 22 บาท จะไม่มีผลต่อต้นทุนการขนส่งสินค้าเนื่องจากรถบรรทุกขนส่งสินค้าส่วนใหญ่ใช้น้ำมันดีเซล และใช้ก๊าซเอ็นจีวี อยู่ที่ 4.45% ของรถบรรทุกทั้งหมด ผลกระทบทำให้ค่าใช้จ่ายของประชาชนที่ใช้รถยนต์ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นวันละ 2.55 บาท และรถแท็กซี่เพิ่มขึ้น วันละ 12.75 บาท ต่อกะ อย่างไรก็ตาม อาจส่งผลกระทบทางจิตวิทยาทำให้ประชาชนมีความรู้สึกว่าค่าครองชีพจะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจว่าไม่มีผลต่อต้นทุนการขนส่งและราคาสินค้า กระทบต้นทุนรถส่วนบุคคล ส่วนก๊าซเอ็นจีวี สำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลปัจจุบันราคา กก.ละ 10.50 บาท จะเพิ่มเป็น 11.50 บาท หรือเพิ่มขึ้น กก.ละ 1 บาท รถโดยสารสาธารณะ คงราคาไว้ที่ กก.ละ 8.50 บาท ไม่มีผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่ง เนื่องจากต้นทุนค่าขนส่งจะใช้น้ำมันดีเซลเป็นหลักในการคำนวณ มีผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายของประชาชนที่ใช้รถยนต์ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นวันละ 6 บาท แต่จะมีผลกระทบต่อจิตวิทยาของประชาชนเรื่องค่าครองชีพเช่นกัน “โดยส่วนใหญ่การเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานจะไม่กระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและการขนส่ง ทำให้ไม่มีเหตุให้ต้องปรับขึ้นราคาสินค้า รวมถึงราคาอาหารปรุงสำเร็จ เพราะสัดส่วนต้นทุนต่อการผลิตน้อยมาก อย่างไรก็ตาม ประชาชนอาจรู้สึกว่ามีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ซึ่งต้องเร่งทำความเข้าใจและป้องกันไม่ให้มีการฉวยโอกาสปรับราคา โดยกรมจะเร่งทำผลศึกษาราคาพลังงานใหม่ตามมติกบง.ต่อไป” รายงานข่าวระบุ ไอเอ็มเอฟชี้น้ำมันลดเป็นผลดีศก.โลก นางคริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กล่าวว่าราคาน้ำมันโลกที่ดิ่งลงตั้งแต่เดือนมิ.ย. อาจส่งผลเสียต่อประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน แต่โดยรวมแล้วเป็นสิ่งดีสำหรับเศรษฐกิจโลก เพราะผู้บริโภคและภาคธุรกิจจะเสียเงินค่าพลังงานน้อยลง นางลาการ์ดกล่าวว่ามีแนวโน้มที่เศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมจะขยายตัวเพิ่มอีก 0.8% เพราะประเทศเหล่านี้ล้วนนำเข้าน้ำมัน ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ ญี่ปุ่น ยุโรป หรือจีน ทั้งนี้ เมื่อเดือนต.ค. ไอเอ็มเอฟปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้ว่าจะเติบโตเพียง 3.3% ส่วนปีหน้าคาดว่าจะขยายตัว 3.8% เพราะภาวะชะงักงันในยุโรปกับญี่ปุ่น ส่วนตลาดเกิดใหม่ก็มีเศรษฐกิจชะลอตัว Tags : กบง. • แอลพีจี • ครัวเรือน • เอ็นจีวี • ก๊าซ • จิตวิทยา • พาณิชย์ • แหล่งข่าว • กระทรวงพาณิชย์ • ไอเอ็มเอฟ • คริสติน ลาการ์ด • ณรงค์ชัย อัครเศรณี