"ระยะกว่า 50 ปี เศรษฐกิจขยายตัวดีขึ้น แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมไม่ได้ลดลงไปด้วย" กอบศักดิ์ การประชุมคณะกรรมาธิการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง โดยมีนายสมชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธาน ที่ประชุมวานนี้ (1 ธ.ค.) ได้ร่วมพิจารณาข้อเสนอการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ ที่ต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยได้หารือในประเด็นที่เป็นหัวใจของปัญหาเชิงโครงสร้างระบบเศรษฐกิจ และสิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ เพื่อเตรียมสรุป และนำเสนอต่อคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า โดยที่ประชุม ได้หารืออย่างกว้างขวางในประเด็นปัญหาต่างๆ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างใน 5 หัวข้อหลัก ได้แก่ 1.ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม 2.ปัญหาขีดการแข่งขันของประเทศ 3.ปัญหาความยั่งยืนในระบบการเงินและการคลังของประเทศ 4.ปัญหาระบบธรรมาภิบาล 5.ปัญหาโครงการประชานิยม ขณะเดียวกัน ที่ประชุมได้แสดงความเห็นอย่างกว้างขวางในทุกประเด็นปัญหา โดยเฉพาะ "ปัญหาความเหลื่อมล้ำ" ซึ่งได้ถกกันในประเด็นปัญหา และข้อเสนอต่างๆ รวมถึงการปฏิรูประบบประกันสังคมให้ยั่งยืน การดูแลสวัสดิการทางสังคมในภาพรวม และโครงสร้างภาษีทั้งระบบ ที่จะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ แม้แต่ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับโครงสร้างเศรษฐกิจ หรือคุณภาพแรงงาน "ประเด็นเหล่านี้ เรามีคณะอนุกรรมาธิการ ทำหน้าที่สรุปประเด็นมาเสนอต่อที่ประชุมในปลายสัปดาห์นี้ เพื่อเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมาธิการชุดนี้อีกครั้งในสัปดาห์ถัดไป" นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล เลขานุการคณะกรรมาธิการปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง สภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าว ชี้คนจนลดลงแต่เหลื่อมล้ำไม่ลด นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าว ยังหารือ ในประเด็นข้อเสนอที่เกี่ยวกับการปฏิรูปเศรษฐกิจในระยะสั้น หรือ QUICK WIN เพื่อเสนอต่อรัฐบาลด้วย ซึ่งประเด็นที่หารือนี้ จะมีข้อสรุปที่ชัดเจนหลังจากที่เราร่วมหารือกันอีกประมาณ 2 ครั้ง ขณะเดียวกัน นายกอบศักดิ์ ยังได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมด้วยว่า ระยะกว่า 50 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจที่ขยายตัวดีขึ้น ทำให้คนจนลดลง แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมไม่ได้ลดลงไปด้วย เนื่องจากกลุ่มคนรวยที่อยู่บนพีระมิดนั้น รวยขึ้นมากกว่า ดังนั้น ภาครัฐควรจัดสรรงบประมาณไปยังกลุ่มคนที่มีโอกาสน้อยกว่าหรือกลุ่มคนที่ไม่มีโอกาสให้มากขึ้น ขณะเดียวกัน ภาครัฐควรสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลดปัญหาดังกล่าว เช่น สนับสนุนทาง "ภาษี" สำหรับงบของภาคเอกชนที่จะลงไปช่วยแก้ไขปัญหา เป็นต้น "รัฐบาลมีงบประมาณที่ใช้ในแต่ละปีจำกัด โดยมีเพียง 20% ของจีดีพี แต่ใน 20% นี้ มีถึง 80% ที่เป็นงบประมาณที่ใช้สำหรับเงินเดือน ดังนั้น จึงมีงบเหลือน้อยมาก ที่จะนำไปใช้เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ หากเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาช่วย เช่น รวมงบ CSR มาเป็นก้อนเดียวกัน โดยรัฐจะหนุนด้านภาษี ก็จะสามารถช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้" ชงตั้ง "องค์กรกลาง" ดูแลภาพรวมการคลัง ขณะที่ นายพรายพล คุ้มทรัพย์ คณะกรรมาธิการชุดการปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง ได้ร่วมเสนอว่า แนวนโยบายแห่งรัฐที่เกี่ยวกับด้านการเงินการคลัง ควรระบุเกี่ยวกับเรื่องการจัดเก็บภาษี และผู้เสียภาษีจะมีหลักประกันอะไรหลังจากที่ชำระภาษีไปแล้ว ควรระบุเกี่ยวกับ "ระเบียบวินัยการเงินการคลัง" ที่ชัดเจน เช่น กำหนดเพดานการก่อหนี้ว่า ไม่ควรเกินกำหนดเท่าใด และควรรวมหนี้รัฐบาลทุกประเภทไว้ด้วยกัน เพื่อให้รับทราบว่า รัฐบาลมีภาระหนี้เท่าใด ซึ่งปัจจุบัน ยังมีหลายหน่วยงานภาครัฐไม่นำหนี้มานับรวม ซึ่งรวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกองทุนหมุนเวียนต่างๆ นอกจากนี้ ยังเห็นว่า ควรมี "องค์กรกลางด้านการคลัง" ที่ต้องอิสระจากทางการเมือง โดยมาทำหน้าที่ในการดูแลภาคการคลังในภาพรวมทั้งหมด อาทิ ด้านภาษี การใช้จ่ายภาครัฐทั้งในและนอกงบประมาณ และ ดูไปถึงการหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ ว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่อย่างไร มีผลกระทบต่อฐานะการคลังในปัจจุบันและอนาคตอย่างไร เพื่อให้ผู้ออกเสียงได้ทราบถึงความถูกต้องและผลกระทบต่อนโยบาย ....................................................................................................... จี้รัฐหนุน"ทุนสัมมา"สร้างอาชีพให้สิทธิแรงงานมีหุ้นกิจการนายจ้าง ในการประชุมคณะกรรมาธิการปฏิรูปด้านสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส (กมธ.ปฏิรูปด้านสังคมฯ) ซึ่งมี นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เป็นประธาน ที่ประชุมได้พิจารณาประเด็นสำคัญเพื่อเตรียมเสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่าง รธน.) ให้บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญจำนวน 7 ประเด็น ดังนี้ 1.เสนอให้ขยายขอบเขตความคุ้มครองของรัฐธรรมนูญไปถึง "มนุษย์ทุกคนที่มีลมหายใจอยู่บนผืนแผ่นดินไทย" ไม่เฉพาะประชาชนคนไทยเท่านั้น ผู้คนหลายกลุ่มจะได้ไม่ถูกเลือกปฏิบัติอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ 2.เสนอให้เขียนว่าในการจัดสรรบุคคลลงตำแหน่งต่างๆ ในกลไกของรัฐทุกระดับ ต้องมีสัดส่วนเพศตรงข้ามไม่น้อยกว่า 3 ใน 10 เพื่อให้เกิดความเสมอภาค เท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ 3.เสนอให้เขียนเรื่องสิทธิชุมชนให้ชัดเจนในการกำหนดอนาคตตนเอง จัดการกันเอง ชุมชนสามารถเป็นนิติบุคคล ซึ่งรัฐต้องสนับสนุนให้จัดการกิจการสาธารณะได้เอง ดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกันเองได้ มีการสนับสนุนสัมมาชีพชุมชนที่เป็นจริง ให้สอดคล้องแนวคิด "ทุนสัมมา" คือ ทุนที่รับใช้สังคม มีกลไกสนับสนุนการสร้างชุมชนเข้มแข็ง 4.เสนอขยายสิทธิของประชาชน ได้แก่ สิทธิของบุคคลในการได้รับการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย สิทธิของแรงงานให้สามารถเข้าเป็นหุ้นส่วนในกิจการที่ตนทำงานอยู่ได้ สิทธิรวมตัวเป็นพื้นที่วัฒนธรรมเฉพาะกลุ่มตนได้ เป็นต้น โดยสิทธิดังกล่าวต้องกำหนดสิทธิในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ควบคู่ไว้ด้วย เพื่อให้เกิดความคุ้มครองสิทธิเหล่านั้น 5.เสนอให้กำหนดหน้าที่ของพลเมืองว่า ทุกคนมีหน้าที่ในการร่วมพัฒนาประเทศชาติ อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นอันดีงามของชุมชนและของชาติ มีหน้าที่เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณะของภาครัฐ โดยรัฐต้องมีหน้าที่ในการพัฒนาศักยภาพการทำหน้าที่พลเมือง มีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย รักชาติ เสียสละ มีความเกื้อกูลแบ่งปันกัน สามารถอยู่ร่วมกันได้ในสังคมพหุวัฒนธรรม และสามารถรวมตัวกันเป็นเครือข่าย "พลังพลเมือง" ได้อย่างหลากหลาย 6.เสนอการกำหนดให้สถาบันครอบครัวมีหน้าที่พัฒนาสมาชิกในครอบครัวให้เป็นพลเมืองดี สร้างครอบครัวที่อบอุ่น พ่อและแม่มีสิทธิลาเพื่อดูแลบุตรในระยะเวลาที่เพียงพอ สร้างระบบและกลไกที่หนุนเสริมครอบครัวสามารถสร้างให้เด็กเกิดใหม่มีคุณภาพ ได้รับการคุ้มครองให้ปราศจากการใช้ความรุนแรงและการปฏิบัติอันไม่เป็นธรรม และมีสิทธิได้รับการบำบัดฟื้นฟูเยียวยาในกรณีที่มีเหตุดังกล่าว 7.เสนอให้จัดระบบและกลไกในการทำให้เกิดสังคมคุณธรรม มีความเกื้อกูลแบ่งปันกัน เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น และมีมาตรการกำจัดการทุจริตประพฤติมิชอบในทุกวงการอย่างเด็ดขาด Tags : กอบศักดิ์ ภูตระกูล • สมชัย ฤชุพันธ์ • เหลื่อมล้ำ • เศรษฐกิจ • กมธ. • รัฐธรรมนูญ • CSR • นพ.อำพล จินดาวัฒนะ • ปฏิรูป