"ก.ล.ต." วาง 6 กลยุทธ์ ก้าวขึ้นผู้นำตลาดทุนอาเซียน ปรับเกณฑ์หนุนต่างชาติระดมทุน สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานในปี 2558 โดย ก.ล.ต.วางยุทธศาสตร์ที่จะผลักดัน ให้ตลาดทุนไทยเป็นผู้นำในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยวางยุทธศาสตร์ที่สำคัญเพื่อผลักดันให้ถึงเป้าหมาย นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ สำนักงานก.ล.ต. เปิดเผยว่า แผนงานก.ล.ต.ปีหน้า ตลาดทุนไทยต้องเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียน โดยต้องเป็นศูนย์กลางและสร้างความน่าสนใจ ให้ต่างชาติที่อยากจะลงทุนในกลุ่มเออีซีให้นึกถึงตลาดหุ้นไทย โดยเราได้มีการปรับกฎเกณฑ์ให้มีเหมาะสมและเปิดรับกับการระดมทุนต่างชาติมากขึ้น ยุทธศาสตร์ 6 ข้อ ที่จะเร่งผลักดัน ได้แก่ 1. การยกระดับมาตรฐาน ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล 2.เพิ่มประสิทธิภาพการป้องปราม และบังคับใช้กฎหมายให้มีความรวดเร็ว 3.มีเครื่องมือการลงโทษที่เหมาะสม รองรับการเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยี 4.สร้างสินค้าและบริการทางการเงินให้หลากหลายมากขึ้น เชื่อมโยงตลาดหุ้นไทยกับภูมิภาค 5.เปิดช่องการระดมทุนของภาคเอกชนให้มีมากขึ้น 6.สร้างนักลงทุนให้มีคุณภาพและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของก.ล.ต. เพื่อการเติบโตย่างยั่งยืน นายวรพล กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ก.ล.ต. มีเป้าหมายในการพัฒนาความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนมากขึ้น แม้ไทยจะมีจุดเด่นที่มีคะแนนด้วยธรรมาภิบาลเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน แต่ยังมีจุดอ่อนที่บทบาทผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของบริษัทยังไม่ดีนัก โดย ก.ล.ต. จะมุ่งเน้นการพัฒนาให้กรรมการบริษัท ให้มีบทบาทในการพัฒนาธุรกิจย่างยั่งยืนมากขึ้น รวมถึงผลักดันให้บริษัทจดทะเบียนเข้าร่วมการต่อต้านคอร์รัปชันมากขึ้น ผลักดันให้บริษัทจดทะเบียนไทย ได้รับการประมาณการต่อต้านคอร์รัปชันในระดับ 5 จากปัจจุบันที่มีบริษัทจดทะเบียนไทย ได้รับการประเมินสูงสุดที่ระดับ 4 เท่านั้น และเพิ่มบริษัทที่ได้รับการรับรองจากโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทย ในการต่อต้านการทุจริต (ซีเอซี) จากปัจจุบันที่ 46 บริษัทให้มีมากขึ้น นายวรพล กล่าวด้วยว่า ในการระดมทุนของภาครัฐบาลในการออกกองทุนโครงสร้างพื้นฐานนั้น ยังมีความต้องการต่อเนื่อง โดยในช่วงสัปดาห์หน้า ทางกระทรวงคมนาคมได้นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งบริษัทการท่าอากาศยานไทยจำกัด (มหาชน) กรมทางหลวง และหน่วยงานอื่นๆ ที่ต้องมีการระดมทุน จะเข้ามาหารือกับสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อหาแนวทางการระดมทุน โดยขนาดกองน่าจะอยู่ที่ 4-5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการพูดคุยในรายละเอียดการดำเนินงาน โดยหวังว่าจะมีกองทุนที่สามารถเสนอขายได้ในปีหน้า ด้านนางทิพยสุดา ถาวรามร รองเลขาธิการ สำนักงานก.ล.ต. เปิดเผยว่า ตลาดทุนไทยเป็นตลาดที่เหมาะสมที่จะเป็นศูนย์กลางการระดมทุนของกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง หรือ ซีแอลเอ็มวี เพราะตลาดทุนไทยมีการพัฒนาไปค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นประเทศเพื่อนบ้าน และอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการเติบโตสูงต้องการเงินทุนในการพัฒนาประเทศอย่างมาก สิ่งที่จะผลักดันให้ตลาดหุ้นไทยเป็นศูนย์กลาง คือ การปรับให้ตลาดทุนไทยเปิดกว้างกับการลงทุนมากขึ้น โดยเปิดให้บริษัทต่างประเทศ สามารถเข้ามาระดมทุนในตลาดทุนไทยได้ หรือใช้ตลาดหุ้นไทยเป็นตลาดที่ 2 ในการระดมทุน การเปิดให้กองทุนรวมในประเทศไทย สามารถไปลงทุนในกองโครงสร้างพื้นฐานต่างประเทศ โดยคาดว่ากฎระเบียบดังกล่าว จะเริ่มบังคับใช้ได้ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2558 นอกจากนี้ในไตรมาส 2 จะมีการผ่อนคล้ายให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน สามารถลงทุนในบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงได้เพิ่มขึ้น จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ไม่เกิน 15% เป็น 100% แต่ต้องมีการกระจายความเสี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์อื่น และการนำหุ้นในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง ที่มีการเติบโตมาเป็นหลักทรัพย์อ้างอิงในตลาดหุ้นไทย หรือดีอาร์ "สิ่งนี้จะช่วยให้ภาพของตลาดหุ้นไทย ในการเป็นตลาดหุ้นของจีเอ็มเอส เด่นชัดขึ้น และเป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาดหุ้นในประเทศเพื่อนบ้าน สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน"นางทิพยสุดา กล่าว นอกจาก สำนักงาน ก.ล.ต. ยังต้องการการสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน เพื่อให้ถึงเป้าหมายดังกล่าว อย่างในกรณีของการระดมทุนในตราสารหนี้ของต่างชาติเป็นรูปสกุลเงินบาท ยังมีการจำกัดวงเงินไว้ที่ 5 หมื่นล้านบาท หรือการลงทุนในกองทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างประเทศของต่างประเทศ ยังไม่ได้รับการยกเว้นภาษีเช่นเดียวกับกองทุนโครงสร้างพื้นฐานของไทย และต้องมีการพิจารณา เพื่อขอเข้ามาระดมทุนเป็นรอบลงทุนทำให้มีความล่าช้า และอาจไม่ทันการ ซึ่งต้องให้ภาครัฐบาลเข้ามาสนับสนุนให้มีความรวดเร็วมากขึ้น Tags : วรพล โสคติยานุรักษ์ • ก.ล.ต. • ตลาดหุ้น • อาเซียน