สรท.ประเมินส่งออกปี2558 โตระดับต่ำ 2.5% เหตุตลาดหลักยังไม่ฟื้นตัว-อียูตัดจีเอสพี ชี้ศักยภาพส่งออกไทยร่วงต่ำสุดในอาเซียน จี้รัฐเร่งปรับยุทธศาสตร์เป็นเทรดดิ้งเนชั่น เพิ่มยอดส่งออก ด้านพาณิชย์ยังมั่นใจตามเป้า 4% ขณะ"กอบศักดิ์"มองปีหน้าเศรษฐกิจโลกผันผวน เหตุสหรัฐเตรียมดูดสภาพคล่องกลับ เชื่อ 2 ปีข้างหน้า ดอกเบี้ยขยับปีละ 2% ภาคส่งออกอาจไม่เป็นความหวังที่จะผลักดันเศรษฐกิจไทยในปีหน้า เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวและไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) รวมทั้งสินค้าไทยเผชิญกับการแข่งขันมากขึ้นจากจีนและอาเซียน นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่ามูลค่าการส่งออกในเดือนต.ค.ที่ผ่านมา มียอดส่งออกสูงขึ้นอย่างชัดเจน ทำให้ สรท. ปรับคาดการณ์การส่งออกในปีนี้ จากเดิมที่คาดว่าจะติดลบ 0.4% เป็นลบ 0.2% ถึงเป็นบวก 0.2% กระทรวงพาณิชย์แถลงตัวเลขการส่งออกล่าสุดในเดือนต.ค. 2557 มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น 3.97% เฉลี่ย 10 เดือนแรกติดลบ 0.36% นายนพพร กล่าวว่าในเดือนพ.ย.-ธ.ค.ยอดการส่งออกจะอยู่ในระดับปกติเดือนละประมาณ 19,500 ล้านดอลลาร์ เพราะสินค้าที่จะจำหน่ายในช่วงคริสต์มาส และปีใหม่จะต้องส่งมอบสินค้าภายในวันที่ 15 พ.ย. ดังนั้นมองว่าในช่วงเวลาที่เหลือยอดการส่งออกจะไม่เพิ่มอย่างผิดปกติ สรท.ประเมินว่าการส่งออกในปี 2558 คาดว่าจะขยายตัวต่ำเพียง 2.5% ต่ำกว่าที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้า 4% แม้ว่าการส่งออกไทยจะลดลงมาถึง 2 ปีติดต่อกัน ทำให้หลายฝ่ายมองว่ายอดการส่งออกจะขยายตัวเพิ่มขึ้นมาจากฐานที่ต่ำ โดยสรท. มองว่าในปี 2558 ตลาดโลกยังไม่ฟื้นตัว โดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรปยอดส่งออกจะค่อยๆลดลง และในไตรมาส 1-2 ของปีหน้า จะอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง จากการที่ไทยถูกตัดจีเอสพีและเศรษฐกิจยุโรปก็อยู่ในภาวะย่ำแย่ ขณะที่ตลาดญี่ปุ่น ไอเอ็มเอฟมองว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะลดลงกว่าปีนี้ รวมทั้งยังมีความเสี่ยงในการปรับภาษีมูลค่าเพิ่มขึ้น อาจจะส่งให้เกิดภาวะเงินฝืด ซึ่งจะทำให้ยอดการบริโภคลดลง ด้านตลาดจีนได้มีการปรับนโยบายภายในประเทศชะลอการเติบโต และพึ่งพาการค้าภายในประเทศเพิ่มขึ้น ทำให้ยอดการส่งออกไปจีนจะไม่ดีขึ้นมาก นอกจากนี้จีนยังประกาศว่าจะเพิ่มยอดส่งออกมายังอาเซียนเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 4 แสนล้านดอลลาร์ มาอยู่ที่ 1 ล้านล้านดอลลาร์ ภายใน 3-5 ปี ทำให้การส่งออกของไทยไปอาเซียนมีการแข่งขันเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อตลาดอาเซียน โดยเฉพาะเมียนมาร์ สปป.ลาว เวียดนาม กัมพูชา ที่ไทยคาดว่าจะมียอดส่งออกเพิ่มขึ้น อาจจะไม่ง่ายอย่างที่คิด ชี้ส่งออกของไทยต่ำกว่าอาเซียน ดังนั้นจึงเหลือเพียงตลาดสหรัฐฯ เพียงแห่งเดียวที่เศรษฐกิจขยายตัวอย่างเห็นได้ชัด ที่พอจะเพิ่มยอดส่งออกสินค้าไทยได้บ้าง แต่ก็ต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรง รวมทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยงในเรื่องโรงระบาด ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และความผันผวนทางเศรษฐกิจ "สรท.มองว่าการส่งออกในปีหน้าจะขยายตัวในระดับกลางที่ 2.5% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอาเซียนที่ขยายตัวในระดับ 4%" อย่างไรก็ตามหากในปีหน้า ประเทศไทยมีการปฏิรูปเศรษฐกิจ ยกระดับศักยภาพการผลิต ก็อาจทำให้ในปี 2559 เป็นต้นไปประเทศไทยจะกลับขึ้นมามีการส่งออกที่ขยายตัวในระดับ 4-5% ได้ “จากการประเมินดัชนีศักยภาพการส่งออกของไทยกับคู่แข่งในอาเซียน พบว่าดัชนีของไทยต่ำที่สุดอยู่ในระดับ 180 ขณะที่ค่าเฉลี่ยของอาเซียนอยู่ที่ 205 โดยมูลค่าการส่งออกของไทยเติบโตต่ำสุดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นไทยควรรีบปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง” นายนพพร กล่าว ชี้ต้องปรับสู่"เทรดดิ้งเนชั่น" นายวัลลภ วิตนากร รองประธาน สรท. กล่าวว่า การส่งออกในไตรมาส 1-2 ปี 2558 จะเป็นอย่างไร จะต้องจับตาดูยอดขายสินค้าในช่วงคริสต์มาส และปีใหม่ของสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น ฮ่องกง ว่าจะเป็นอย่างไร ถ้ายอดขายดีขึ้น ก็มั่นใจว่ายอดคำสั่งซื้อในไตรมาส 1 และ 2 จะขยายตัวอย่างแน่นอน โดยเฉพาะในส่วนของสินค้าอุปโภค บริโภค และเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ในระยะยาว ประเทศไทยหนีไม่พ้นที่จะต้องปรับเปลี่ยนประเทศ มาสู่การเป็นเทรดดิ้งเนชั่น ที่มุ่งเน้นการค้าเป็นหลัก เพราะถ้าไม่ไปในแนวทางนี้ ก็ไม่สามารถขยายศักยภาพการผลิตและเพิ่มยอดส่งออกได้ สำหรับการส่งออกในเดือน ต.ค.ที่เพิ่มขึ้น มาจากมียอดการส่งออกในส่วนของสินค้าข้าว มันสำปะหลัง น้ำตาล แผงวงจรไฟฟ้า รถยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่วนตลาดยุโรปก็มียอดการนำเข้าสูงขึ้นถึง 18% เนื่องจากต้องเร่งนำเข้าสินค้าก่อนที่ไทยจะถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษี (จีเอสพี) ข้าวเป็นสินค้าที่มีอัตราการส่งออกสูงสุดด้วยนโยบายการเร่งระบายข้าว รวมถึงสถานการณ์ภัยแล้งในหลายประเทศทำให้มีการนำเข้าข้าวเพื่อเก็บสต็อกมากขึ้น ในกลุ่มประเทศ เช่น ไนจีเรีย จีน และมาเลเซีย ส่วนสินค้าอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูปขยายตัวขึ้นจากตลาดเวียดนามที่ประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ จึงนำเข้าจากไทยเพื่อนำไปแปรรูปเพื่อส่งออก สินค้าอุตฯสัญญาณส่งออกดี ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่มีทิศทางขยายตัวต่อเนื่อง อาทิ แผงวงจรไฟฟ้า เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ ยานพาหนะและส่วนประกอบ ขยายตัวที่ 19.8% 14.7% 14.5% และ 7.4% ตามลำดับ โดยการส่งออกสินค้าคอมพิวเตอร์ วิทยุโทรทัศน์และเครื่องจักรกลมีแนวโน้มสูงขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา และการขยายตัวของการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบในตลาด อาทิ ซาอุดีอาระเบีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ด้านสินค้าส่งออกที่ปรับตัวลดลง เช่น ยางพารา ผัก ผลไม้สดแช่แข็งและแปรรูป เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ปรับตัวลดลง 40% 5.5% และ 4.6% ตามลำดับ โดยเฉพาะยางพาราปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจากปัญหาเรื่องราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกลดลง นอกจากนั้นไทยยังเสียเปรียบทางการแข่งขันให้กับมาเลเซีย ที่นำเข้ายางจากไทยเพื่อไปแปรรูป อาทิ การทำถุงมือยางเพื่อส่งออก ซึ่งไทยเป็นประเทศที่มีวัตถุดิบที่มีคุณภาพแต่ไม่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการแปรรูปยางให้มีมูลค่าเพิ่มเพื่อการส่งออกจึงต้องประสบปัญหาเรื่องราคายางที่ตกต่ำ "ฉัตรชัย"จี้ทูตพาณิชย์ดันเป้า 4% พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่ายุทธศาสตร์การส่งออกไทยในปี 2558 ขณะนี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ อยู่ระหว่างการจัดทำร่วมกับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ คาดว่า จะได้ข้อสรุปภายในเดือนธ.ค.นี้ "ในเบื้องต้นได้ตั้งเป้าหมายมูลค่าการส่งออกไทยปี 2558 ไว้ที่ขยายตัว 4% จากปีนี้ แม้เศรษฐกิจโลกยังไม่ดีมาก แต่จะไม่นำประเด็นดังกล่าวมาเป็นปัญหา ได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์ พยายามเร่งเจาะตลาดให้มากขึ้น โดยสินค้าที่จะเจาะตลาดนั้นต้องเหมาะสม และตรงต่อความต้องการของตลาดมากที่สุด" แบงก์เตือนปีหน้าศก.โลกผันผวน นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL เปิดเผยว่า ในปีหน้าเศรษฐกิจโลกจะมีความผันผวนมากยิ่งขึ้น หลังสหรัฐได้ยุติการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบในปีนี้ และเตรียมที่จะถอนสภาพคล่องที่อัดฉีดเข้ามาก่อนหน้านี้ออกไปจากระบบเศรษฐกิจ พร้อมกับการจะประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้กดดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ "ช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา จะเห็นว่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องกว่า 8% ซึ่งเป็นการยืนยันว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะกลับมาดีอีกครั้ง และเป็นสัญญาณที่มีนัยสำคัญว่านักลงทุนเริ่มเตรียมพร้อมสำหรับการดูดสภาพคล่องกลับครั้งนี้ และที่สำคัญในกลางปีหน้าสหรัฐจะประกาศขึ้นดอกเบี้ยอย่างแน่นอน และจะประกาศขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องอีก 2 ปี ในอัตราปีละ 2% ทำให้ส่วนคนที่กู้เงินมาลงทุนก่อนหน้านี้ก็ต้องเริ่มทบทวนแผนการลงทุนมากยิ่งขึ้น" นายกอบศักดิ์ กล่าว ลงทุนภาครัฐปัจจัยเสี่ยงปีหน้า นายกอบศักดิ์ กล่าวว่าความเสี่ยงจากปัจจัยในประเทศ คือ การลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐจะเป็นสิ่งที่นักลงทุนจับตามองมากที่สุดว่าจะสามารถทำได้จริงตามกำหนดหรือไม่ เพราะที่ผ่านมามีนโยบายต่างๆ ออกมามาก แต่จะไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้เท่ากับการทำออกมาให้สำเร็จ "นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญสำหรับประเทศไทยในปีหน้า อาจจะไม่ใช่การมองไปที่อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ เพราะอย่างไรก็ตามเศรษฐกิจจะต้องเติบโตอย่างแน่นอน เนื่องจากในปีนี้เศรษฐกิจประสบปัญหาหลายๆ อย่าง เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญคือประเทศไทยควรจะฉวยโอกาสในการปฏิรูปเศรษฐกิจและแก้ไขปัญหาในด้านต่างๆ อาทิ การผลักดันเศรษฐกิจชายแดน การแก้ไขเรื่องภาษี เพราะเป็นสิ่งที่จะช่วยให้ประเทศเติบโตไปได้อีกขั้นหนึ่ง" นายกอบศักดิ์ กล่าว ชี้หุ้นไทยปีหน้าแพงกว่าภูมิภาค ด้านนายสมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ บลจ.ทหารไทย กล่าวว่า การลงทุนในปีหน้าควรมีการกระจายความเสี่ยงไปยังตลาดต่างประเทศมากยิ่งขึ้น เนื่องจากในขณะนี้มูลค่าของตลาดหุ้นไทยไม่ได้ถูกเหมือนเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาอีกแล้ว ถึงแม้จะมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในปีหน้าจะเติบโตได้ 4% แต่ค่าพี/อีของปีหน้าก็น่าจะอยู่ที่ระดับ 14 เท่า ซึ่งใกล้เคียงหรือแพงกว่าตลาดอื่นๆ "ปัจจุบันค่าพี/อีของดัชนี เอ็มเอสซีไอ ของตลาดเกิดใหม่อยู่ที่ 11 เท่า ดัชนีเอ็มเอสซีไอ ไชน่าอยู่ที่ 9 เท่า ฉะนั้นจะเห็นว่าตลาดหุ้นไทยอาจจะไม่ถูกอีกต่อไปแล้ว เพราะฉะนั้นการกระจายความเสี่ยงไปยังตลาดต่างประเทศน่าจะเป็นสิ่งที่เหมาะสม โดยส่วนตัวมองว่าตลาดหุ้นจีนเป็นจุดที่น่าสนใจ เพราะปัจจุบันรัฐบาลพยายามลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง และผลักดันให้บริษัทเอกชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น" นายสมจินต์ กล่าว Tags : เศรษฐกิจโลก • จีเอสพี • ส่งออก • สรท. • เทรดดิ้งเนชั่น • อุตสาหกรรม • พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ • กระทรวงพาณิชย์ • กอบศักดิ์ ภูตระกูล • ธนาคารกรุงเทพ • สมจินต์ ศรไพศาล • ดัชนี