เราทราบกันดีว่าระบบสาธารณสุขในไทยค่อนข้างมีปัญหา ไม่ว่าจะเรื่องการขาดแคลนบุคลากร การขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการบริการ ผู้ป่วยก็มากระจุกกันอยู่ที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ นำมาสู่ปัญหาความแออัดในโรงพยาบาล แพทย์และพยาบาลทำงานหนักอีกต่อหนึ่ง H Lab ตั้งขึ้นมาโดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่โรงพยาบาล แพทย์ พยาบาล และคนไข้กำลังประสบพบเจอ แม้หลายปัญหาจะต้องการการแก้ไขในเชิงโครงสร้างระบบสาธารณสุข แต่อีกหลายปัญหานั้นสามารถแก้ไขด้วยการแก้ไขเชิงระบบที่เป็นโซลูชันของ H Lab แต่เป้าหมายระยะยาวที่ต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไข้และบุคลาการทางการแพทย์ให้ดีขึ้นก็ยังคงอยู่ ทำให้บริษัทต้องการทีมงานอีกจำนวนมาก เพื่อมาช่วยสร้างโซลูชันและเครื่องมือที่นำไปสู่เป้าหมายดังกล่าว จากแล็บแก้ปัญหาโรงพยาบาลสู่บริษัทเทค จุดเริ่มต้นของ H Lab ต้องย้อนกลับไปราว 6-7 ปีที่แล้ว โดยเริ่มต้นจากแล็บที่ตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาให้โรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งโจทย์ของแต่ละแห่งก็จะแตกต่างกันไป ณกมลวัทน์ สุขสุเมฆ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ H Lab ที่จบวิศวกรรมอุตสาหการ เล่าว่าในช่วงแรกเป็นการนำแนวคิดด้าน industrial engineering และ system engineering เข้าไปแก้ปัญหาให้กับโรงพยาบาล แต่อุปสรรคตอนนั้นคือ ข้อมูลที่สามารถนำมาใช้ในการวิเคราะห์ยังมีน้อย จึงใช้เวลามากในการเข้าไปช่วยปรับปรุงระบบ รวมถึงการขยายผลไปใช้ต่อกับโรงพยาบาลอื่น ๆ ทำให้ตัดสินใจก่อตั้งบริษัท H Lab ในปี 2017 ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่มีความคล่องตัวมากกว่า สามารถทำออกมาเป็นโซลูชันเพื่อขยายไปให้โรงพยาบาลจำนวนมากได้ คุณกมลวัทน์ สุขสุเมฆ ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง H Lab H Lab จึงเป็นทั้งบริษัทที่ปรึกษาสำหรับแก้ปัญหากระบวนการทำงานในโรงพยาบาล และบริษัทเทคโนโลยีที่พัฒนาโซลูชันระบบการให้บริการสำหรับโรงพยาบาล ช่วยให้แพทย์และ พยาบาลจัดการคิวการรักษา สื่อสารกับคนไข้ จัดการความหนาแน่นในโรงพยาบาล ไปจนถึงระบบวิเคราะห์แนวโน้มที่คนไข้ที่เข้ามาใช้บริการ เพื่อการจัดสรรบุคลากรที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผลิตภัณฑ์ของ H Lab ตอนนี้มีอยู่ 4 ตัวหลัก ๆ VENTI เป็นโซลูชันสำหรับบริหารจัดการคนไข้ในห้องฉุกเฉินให้สามารถทำการรักษาได้อย่างรวดเร็ว และถูกต้องว่าคนไข้คนไหนกำลังรออยู่ คนไหนได้รับการดูแลแล้ว ขณะที่คนไข้เองก็จะได้รับการสื่อสารที่ดีขึ้นว่ารอถึงจุดไหนแล้วและต้องไปไหนต่อ และระบบยังมีการนำข้อมูลไปช่วยจัดสรรทรัพยากรให้เหมาะสม FLOW โซลูชันบริหารจัดการผู้ป่วยสำหรับแผนกผู้ป่วยนอก (OPD) เปรียบเสมือนระบบเช็คอินของสนามบิน ที่จะแจ้งเตือนคนไข้และเช็คอินมาได้ตั้งแต่ที่บ้าน รวมถึงจะแจ้งเตือนด้วยว่าใกล้ถึงคิวตรวจแล้ว ทำให้การรอพบแพทย์มีจุดหมายมากขึ้น พยาบาลก็ลดภาระงานด้านการจัดการคนไข้ลงไป MANA เป็นสมุดบันทึกสุขภาพประจำตัวของคนไข้ ที่จะเก็บข้อมูลสุขภาพจากการไปตรวจและรับการรักษาจากโรงพยาบาลต่าง ๆ เอาไว้ ทำให้หากไปรักษาที่โรงพยาบาลใหม่ก็ไม่จำเป็นต้องเล่าประวัติการรักษาใหม่อีกครั้ง โรงพยาบาลสามารถดึงข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ได้เลย เพื่อให้คนไข้สามารถได้รับการรักษาที่เหมาะสมกับอาการของตน และที่สำคัญคือการเก็บข้อมูลจะเป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) และคนไข้ต้องอนุญาตโรงพยาบาลสำหรับเข้าถึงข้อมูล STETH เป็นโซลูชันสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ในแต่ละวัน ตั้งแต่การดูตารางเวลาการออกตรวจของแพทย์ จนถึงการจัดการตารางเวรของตนเอง ผ่านข้อมูลของทางโรงพยาบาล ปัจจุบัน H Lab เป็นที่ปรึกษาให้กับโรงพยาบาลมากกว่า 20 แห่ง และให้บริการโซลูชันซอฟต์แวร์กับโรงพยาบาลรัฐที่ใหญ่ระดับประเทศ 2 แห่ง ให้บริการคนไข้ไปแล้วกว่า 5 ล้านคน ช่วยคืนเวลาให้บุคลากรทางการแพทย์รวมกันแล้วกว่า300,000ชั่วโมงการทำงาน เป้าหมายถัดไปของ H Lab คือการทำ Resource management กล่าวคือ H Lab มีข้อมูลคนไข้จาก MANA อยู่แล้ว (แน่นอนว่าคนไข้ต้องอนุญาตก่อน) H Lab ก็สามารถนำอาการเจ็บป่วยไปช่วยค้นหาโรงพยาบาลและแพทย์เฉพาะทางในโรคนั้นๆ ที่มีคิวว่างตรงกัน หรือคนไข้คนไหนมีความจำเป็นต้องใช้งานอุปกรณ์อย่างเครื่อง CT Scan ก็จะช่วยหาโรงพยาบาลที่ว่างให้ คุณกมลวัทน์เล่าว่าเคยเจอกรณีที่คนไข้ต้องรอคิวแค่อัลตร้าซาวด์นานถึง 8 เดือน การจับคู่ทรัพยากรที่เหมาะสม จะช่วยลดเวลารอคอยตรงนี้ลงได้อีกมาก เมื่อ H Lab มีเป้าหมายเรื่องการแชร์ข้อมูล ปัญหาคือโรงพยาบาลในไทยยังไม่ได้มีมาตรฐานการเก็บข้อมูลคนไข้ที่เป็นมาตรฐานกลาง ต่างคนต่างเก็บในรูปแบบที่ต่างกันไป H Lab จึงพัฒนามาตรฐานข้อมูลตามแนวทางของสำนักพัฒนามาตรฐานระบบข้อมูลสุขภาพไทย (สมสท.) เพื่อให้การรับส่งข้อมูลระหว่างโรงพยาบาลเกิดขึ้นได้จริงในบ้านเรา วัฒนธรรมองค์กรและการทำงาน "Stay hungry; stay humble" คือ motto ของ H Lab ที่อยากให้ทุกคนมีพลัง เป็นน้ำครึ่งแก้วและมีความกระหายความรู้ตลอดเวลา เพื่อพัฒนาให้โซลูชันออกมาดีที่สุด สามารถเรียนรู้ได้จากทุกคน ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลและคนไข้ H Lab จะส่งทีมพัฒนาไปสัมผัสปัญหาหน้างานจริงในโรงพยาบาล เมื่อเห็นปัญหาด้วยตัวเองแล้ว นักพัฒนาจะเข้าใจและใส่ใจมากยิ่งขึ้นว่าสิ่งที่พวกเขากำลังสร้าง ก็เพื่อแก้ปัญหาที่พวกเขาไปประสบมา แนวคิดการเข้าอกเข้าใจคนอื่นหรือ empathy เป็นอีกหนึ่งแนวคิดหลักของ H Lab ไม่เพียงแต่เข้าใจบุคลากรโรงพยาบาลเท่านั้น แต่การเข้าอกเข้าใจเพื่อนร่วมงานก็เป็นสิ่งจำเป็น อย่างเช่นดีไซเนอร์และนักพัฒนาควรเข้าใจกระบวนการทำงานและวิธีคิดของกันและกัน เวลาออกแบบหรือทำงานของตัวเอง จะได้เข้าใจและทำให้เพื่อนร่วมงานทำงานง่ายขึ้น กระบวนการทำงานของทีมอยู่ในรูปของ Agile และ Squad ที่รวมเอาพนักงานจากหลาย ๆ ฝ่าย เช่น Business Analyst, User Experience และ Developer มาทำงานร่วมกัน มองหาคนแบบไหน คุณกมลวัทน์บอกว่าอยากได้คนที่มีลูกบ้าอยู่ในตัวเอง ไม่กลัวความผิดพลาด เป็นคนลงมือทำ กล้าคิดกล้าทำกล้าแสดงออก เพราะนวัตกรรมจะเกิดไม่ได้ถ้ายังอยู่ในกรอบเดิม ๆ ที่สำคัญคือเข้าใจคนอื่น เข้าใจตัวเองและมี empathy ที่ตั้งออฟฟิศ ออฟฟิศของ H Lab อยู่ที่ Safebox Office บนถนนบรรทัดทองตรงข้ามสวนจุฬา 100 ปี ใกล้กับ MRT หัวลำโพงและ BTS สนามกีฬาแห่งชาติ เสียงตอบรับของพนักงาน นีรนุช ลิมปนาวรวงศ์ (นุช) UI Designer คุณนีรนุชดีไซน์เนอร์ประจำ H Lab บอกว่าบรรยากาศการทำงานที่นี่นั้นช่วยให้ตัวเองดึงศักยภาพออกมาได้มาก เพราะบริษัทมีแนวคิดเสมอว่าคนที่จะตัดสินผลงานการออกแบบของเราคือ ผู้ใช้งาน คือลูกค้า ไม่ใช่หัวหน้า ไม่ใช่ซีอีโอ นอกจากนั้นยังรู้สึกว่าตัวเองมี empathy มากขึ้นมาก ๆ เพราะเราต้องดีไซน์จากการไปสัมผัสผู้ใช้งานจริง ๆ เนื่องจากเราไม่สามารถนั่งเทียนหรือคิดแทนว่าคนใช้จะเป็นแบบไหนได้อีกต่อไป “ประทับใจที่สุดคือรู้สึกว่างานดีไซน์ของเราได้แก้ปัญหาของผู้ใช้งานจริง ๆ เพราะการออกแบบไม่ได้เกิดจากความชื่นชอบของตัวเองหรือบริษัทเพียงอย่างเดียว แต่มาจากผู้ใช้งานเป็นหลัก” อิทธิพล ถิระสัตย์ (มิก) Senior Full-Stack Developer คุณอิทธิพล Developer มือฉมังของบริษัท ผู้พัฒนาระบบจัดการผู้ป่วยในห้องฉุกเฉินได้บอกกับเราว่า ประทับใจการทำงานที่เป็นระบบ มีการแบ่งงานกันอย่างชัดเจน และนึกถึงเพื่อนร่วมงานเสมอ นอกจากนี้ในบริษัททุกคนเป็นกันเอง ไม่หวงตัวไม่หวงวิชา แต่ตอนทำงานก็เต็มที่กันตลอด มีปัญหาหรือคำถาม คนอื่นจะพยายามหาคำตอบมาให้ เลยรู้สึกว่าอยากเก่งขึ้นเรื่อย ๆ “ความท้าทายของงานคือสิ่งที่เราทำต้องทำให้คนไข้ แพทย์ และพยาบาลมีชีวิตที่ดีขึ้น” Topics: Blognone WorkplaceHealth