กสิกรชี้สินเชื่อเอสเอ็มอีฟื้น

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 30 พฤษภาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    กสิกรไทยเผยเห็นสัญญาณบวกสินเชื่อเอสเอ็มอี หลังชาวนาได้รับเงินคืน ธุรกิจเริ่มมั่นใจและกลับมาสต็อกสินค้ามากขึ้น

    นายพัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาหลังจากที่มีการชำระคืนหนี้ชาวนาในโครงการจำนำข้าว ทำให้สัญญาณการฟื้นตัวของสินเชื่อเอสเอ็มอีปรับตัวดีขึ้น แม้ว่าเม็ดเงินดังกล่าวจะยังมาไม่ถึงผู้ประกอบการที่ชาวนาค้างจ่ายอยู่ แต่จากการสำรวจลูกค้าพบว่าเริ่มสั่งซื้อสินค้าที่จะนำไปสู่การใช้วงเงินกู้ตามมา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ทำให้เกิดความต้องการและผลักดันให้เศรษฐกิจหมุนไปได้ ขณะเดียวกันอีกหนึ่งปัจจัยคือการใช้จ่ายภาครัฐที่จะมีการลงทุนในโครงการต่าง ๆ เช่นโครงการลงทุนระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท จะทำให้กลุ่มวัสดุก่อสร้างกลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยในปัจจุบันธนาคารมีสัดส่วนลูกค้าในกลุ่มรับเหมาก่อสร้างประมาณ 20%

    “เศรษฐกิจเป็นเรื่องของความเชื่อมั่นของผู้ที่จับจ่ายใช้สอย พอบรรยากาศดีขึ้นก็กลับมาสต็อกสินค้า คนก็ใช้จ่าย เศรษฐกิจก็ดีขึ้น เราเข้าไปคุยกับลูกค้าเรื่อย ๆ ในช่วง 2-3 วันหลังนี้ความรู้สึกของลูกค้าก็สบายใจขึ้น หากงบการก่อสร้างถนนหนทางเริ่มออกมาอีกก็จะทำให้ผู้รับเหมาเริ่มมีงาน ลูกค้าเราก็ขายของได้มากขึ้น ถึงเวลาขยับขยายได้”

    ส่วนการขยายสินเชื่อโดยรวมในไตรมาสสองมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีกว่าไตรมาสแรกที่เติบโต 1% โดยอาจจะขยายตัวได้ 2-3% ในไตรมาสนี้ ส่งผลให้ครึ่งแรกของปีสินเชื่อเอสเอ็มอีของธนาคารจะขยายตัวได้ 3-4% ดังนั้นตลอดทั้งปีธนาคารคาดว่าสินเชื่อของธนาคารมีโอกาสเติบโตได้สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 6-8% เนื่องจากในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดีขึ้น

    ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนเมษายนสินเชื่อของธนาคารเติบโตแล้ว 2% ทำให้พอร์ตสินเชื่อเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 509,714 ล้านบาท จากสิ้นปีก่อนที่มี 499,519 ล้านบาท

    นายพัชรกล่าวว่า สินเชื่อที่เพิ่มขึ้นในไตรมาส 2 เป็นผลมาจากฐานลูกค้าใหม่ที่เพิ่มขึ้นกว่าที่คาดไว้ ในทุก ๆ อุตสาหกรรม หลังจากที่เศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งเข้มงวดในการให้สินเชื่อ ในขณะที่ความต้องการของลูกค้ายังมีอยู่จึงโยกมาขอสินเชื่อกับธนาคาร ด้วยเม็ดเงินหลักพันล้านบาทต่อราย รวมถึงลูกค้าที่ธนาคารเข้าไปจับห่วงโซ่ธุรกิจ ทำให้มีคู่ค้าของลูกค้าที่โยกมาอยู่กับธนาคารด้วย

    นอกจากนี้ในช่วงที่ธนาคารมีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าด้วยการพักชำระหนี้ ทำให้ยอดสินเชื่อคงค้างไม่ได้ปรับลดลงไปด้วย เนื่องจากมีการชำระหนี้คืนน้อยลง ประกอบกับลูกค้าที่เร่งคืนเงินไปก่อนหน้านี้ แต่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวจริงก็กลับมากู้เพิ่ม

    “ยอมรับว่าเดิมเราไม่ได้มุ่งเน้นการขยายฐานลูกค้าใหม่ โดยเฉพาะลูกค้าที่ย้ายมาจากธนาคารแห่งอื่น เพราะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงที่เศรษฐกิจมีความร้อนแรงการที่ลูกค้ายังขยายธุรกิจในขณะนั้นถือเป็นความเสี่ยง แต่ในตอนนี้ เมื่อเศรษฐกิจมาถึงจุดต่ำสุด แต่ลูกค้ายังขยายธุรกิจอยู่ ถือว่าน่าสนใจ และเป็นการเข้ามาติดต่อขอสินเชื่อกับธนาคารเองเพราะไม่ได้รับการสนับสนุนสินเชื่อจากที่เก่า ซึ่งธนาคารก็ไม่ได้เข้าไปแข่งรีไฟแนนซ์ โดยยังคงนโยบายในการเลือกลูกค้าอยู่ รวมถึงดอกเบี้ยที่ให้ก็ยังเป็นดอกเบี้ยปกติ”

    ส่วนการขยายเวลาการเก็บค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) นั้นไม่ได้ช่วยการขยายสินเชื่อเอสเอ็มอีมากนัก เพราะลูกค้าส่วนใหญ่มีหลักประกันอยู่แล้ว

    สำหรับ สัญญาณหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ยังไม่เป็นปัญหา โดยหนี้ที่ขยายการผ่อนชำระออกไปกว่า 1 หมื่นล้านบาทก็เริ่มมีการขอคืนหนี้ก่อนกำหนด ทำให้เอ็นพีแอลล่าสุดอยู่ที่ 2.68% ลดลงจากสิ้นปี 2556 ที่มี 2.82% เป็นผลมาจากสินเชื่อใหม่ที่เพิ่มขึ้น และในสิ้นปีนี้ธนาคารยังคงเป้าหมายเอ็นพีแอลไว้ที่ระดับ 2.62%

    รายงานข่าวจาก บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ระบุว่า บริษัทประกาศคงอันดับเครดิตของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 แห่ง ของประเทศไทยและบริษัทลูกของธนาคาร 3 บริษัท อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term IDR) ของ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK และ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ได้รับการคงอันดับที่ ‘BBB+’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ได้รับการคงอันดับที่ ‘AA (tha)’ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ได้รับการคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ ‘BBB’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘AA+(tha)’ ธนาคารทั้ง 4 แห่งมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

    พร้อมกันนี้ ฟิทช์ ยังประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ 3 แห่ง ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KS บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด หรือ SCBS และ บริษัท กรุงไทยลีสซิ่ง จำกัด หรือ KTBL ที่ ‘AA-(tha)’

    ทั้งนี้ ฟิทช์คาดว่าสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานจะมีความท้าทายมากขึ้นในอนาคต ซึ่งอาจส่งผลต่อผลการดำเนินงานของธนาคารทั้ง 4 แห่ง เศรษฐกิจของประเทศไทยอาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในไตรมาสแรกของปี 2557 ได้เริ่มมีสัญญาณการปรับตัวแย่ลงของคุณภาพสินทรัพย์ในระบบธนาคาร อย่างไรก็ตาม ฟิทช์เชื่อว่าสถานะทางการเงินของธนาคารทั้ง 4 แห่งยังคงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้และน่าจะเพียงพอสำหรับการรับมือการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับปกติตามวัฏจักรเศรษฐกิจได้

    Tags : กสิกรไทย • เอสเอ็มอี • สินเชื่อ • ชาวนา

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้